การออกแบบและพัฒนาเฟอร์นิเจอร์ไม้ไผ่

Titleการออกแบบและพัฒนาเฟอร์นิเจอร์ไม้ไผ่
Publication Typeวิทยานิพนธ์/Thesis
Year of Publication2549
Authorsสุทนต์ ซองเหล็กนอก
Degreeศิลปประยุกต์มหาบัณฑิต
Institutionคณะศิลปประยุกต์และการออกแบบ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
Cityอุบลราชธานี
Call NumberNK ส777ก
Keywordsการออกแบบเครื่องเรือน, ผลิตภัณฑ์ไม้ไผ่, เครื่องเรือน, เฟอร์นิเจอร์ไม้ไผ่
Abstract

จากการศึกษาปัญหาต่าง ๆ ในการทำเฟอร์นิเจอร์ของกลุ่มชาวบ้านจากกลุ่มตัวอย่าง 2 กลุ่ม ประกอบด้วย กลุ่มผู้ผลิตเฟอร์นิเจอร์ไม้ไผ่ระดับชาวบ้านและผู้ผลิตในระดับอุตสาหกรรมขนาดย่อม พบว่า 1.บ้านดอนชาด อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี ปัญหาโดยรวมเกิดจากวิธีการประกอบชิ้นส่วนต่าง ๆ ของเฟอร์นิเจอร์ เนื่องจากการใช้เครื่องมือและอุปกรณ์ที่ใช้ในการผลิต เป็นเครื่องมือแบบพื้นฐานในการทำงานทั่ว ๆ ไปที่มีข้อจำกักในการทำงานส่งผลให้ชิ้นงานที่ได้ไม่มีความประณีตเท่าที่ควร อีกทั้งวิธีการป้องกันแมลงและเชื้อราในเนื้อไม้ไผ่ กลุ่มชาวบ้านไม่ได้ใช้วิธีการใด ๆ เลยในการป้องกันอาศัยเพียงวานิช (Vanish) ที่เคลือบผิวบาง ๆ ภายนอกเท่านั้น ทำให้อายุการใช้งานของเฟอร์นิเจอร์ไม่ยาวนาน 2.ร้านบารายแกลลอรี่ อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานีจัดอยู่ในกลุ่มผู้ผลิตระดับอุตสาหกรรมขนาดย่อม ที่เน้นคุณภาพในทุกขั้นตอนในการผลิตตั้งแต่การคัดเลือกลำไม้ไผ่ การอบไม้ไผ่ การใช้เครื่องมือช่างที่ทันสมัยมาใช้ในการผลิต การเก็บรายละเอียด การทำสีให้กับชิ้นงาน จากสภาพปัญหาในการผลิต พบว่า ยังขาดความเข้าใจในเรื่องของขนาดสัดส่วนและประโยชน์ใช้สอยของเครื่องเรือน ในส่วนของปัญหาเรื่องการรักษาเนื้อไม้ที่เกิดจากแมลงและเชื้อรา วิธีการที่ใช้อยู่ปัจจุบันที่ทำได้ดีในระดับหนึ่งเท่านั้น จากการศึกษาเรื่องการป้องกันแมลงและเชื้อราที่เกิดขึ้นกับไม้ไผ่ที่นำมาผลิตเฟอร์นิเจอร์มีวิธีป้องกัน 3 วิธี คือ 1. การอบไม้ไผ่ 20 การต้มไม้ไผ่ 3. การใช้สารเคมี
ผลจากการวิจัยพบว่า กลุ่มช่างฝีมือในระดับชาวบ้านยังขาดความรู้ความเข้าใจในด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์ มีทักษะความชำนาญในการเข้าไม้ในระดับที่พอใช้เท่านั้น การพัฒนารูปแบบเฟอร์นิเจอร์ในระดับชาวบ้านได้วิเคราะห์ข้อมูลจากปัญหาดังกล่าว เพื่อที่จะสร้างความรู้ความเข้าใจในการผลิตและการออกแบบเฟอร์นิเจอร์ให้สอดคล้องกับกลุ่มผู้ผลิตและผู้ซื้อ ดังนี้ 1.การพัฒนารูปแบบจากผลิตภัณฑ์เดิม 2.สัดส่วนของเฟอร์นิเจอร์ที่เหมาะสมในการใช้งาน 3.วิธีการเข้าไม้และวิธีการประกอบโครงสร้าง 4.วิธีการออกแบบเฟอร์นิเจอร์ประเภทต่าง ๆ 5.การนำเอาวัสดุอื่น ๆ มาใช้ร่วมงานเฟอร์นิเจอร์เพื่อให้เกิดความสวยงามและมีรูปแบบที่แปลกใหม่น่าสนใจมากยิ่งขึ้น ในการวิจัยครั้งนี้ ได้เสนอแนะแนวทางการออกแบบและพัฒนาเฟอร์นิเจอร์ไม้ไผ่แบบพับเก็บได้ให้กับกลุ่มชาวบ้านและในระดับกลุ่มผู้ผลิตในระดับอุตสาหกรรมขนาดย่อม ได้ทดลองทำการพัฒนาเฟอร์นิเจอร์ 1.แบบถอดประกอบได้ 2. แบบพับเก็บได้ รูปแบบของเฟอร์นิเจอร์ประเภทนี้ช่วยให้เกิดความสะดวกต่อการขนส่ง อีกทั้งมีความเหมาะสมกับการผลิตและจำหน่ายตามรายทางสอดคล้องกับแหล่งผลิตและแหล่งจำหน่ายในปัจจุบัน จากการทดลองและการทดสอบผลิตภัณฑ์ต้นแบบสามารถนำไปใช้เป็นแนวทางในการผลิตเฟอร์นิเจอร์ไม้ไผ่ได้

Title Alternate Design and development of bamboo furniture
Fulltext: