รูปแบบการจัดการการท่องเที่ยวเกษตรเชิงนิเวศแบบมีส่วนร่วมของชุมชน แหล่งท่องเที่ยวเกษตรเชิงนิเวศ ชุมชนบ้านบัวเทิง ตำบลท่าช้าง อำเภอสว่างวีระวงศ์ จังหวัดอุบลราชธานี

Titleรูปแบบการจัดการการท่องเที่ยวเกษตรเชิงนิเวศแบบมีส่วนร่วมของชุมชน แหล่งท่องเที่ยวเกษตรเชิงนิเวศ ชุมชนบ้านบัวเทิง ตำบลท่าช้าง อำเภอสว่างวีระวงศ์ จังหวัดอุบลราชธานี
Publication Typeวิทยานิพนธ์/Thesis
Year of Publication2553
Authorsกิติพจน์ แสนสิงห์
Degreeศิลปศาสตรมหาบัณฑิต -- สาขาวิชาสังคมศาสตร์และการพัฒนา
Institutionคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
Cityอุบลราชธานี
Call NumberG ก676
Keywordsการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ -- อุบลราชธานี, การท่องเที่ยวเชิงเกษตร -- อุบลราชธานี
Abstract

การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนารูปแบบการจัดการการท่องเที่ยวเกษตรเชิงนิเวศแบบมีส่วนร่วมของชุมชน และปัญหาการจัดการท่องเที่ยวเกษตรเชิงนิเวศที่ผ่านมาของชุมชนบ้านบัวเทิงโดยเก็บรวบรวมข้อมูลภาคสนามและข้อมูลเอกสาร และใช้วิธีการพัฒนากระบวนการเรียนรู้แก่สมาชิกในชุมชน เช่น จัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ร่วมแสดงความคิดเห็น ร่วมค้นหาสาเหตุของปัญหา วิเคราะห์ปัญหา แก้ไขปัญหา ฝึกอบรม ศึกษาดูงาน ทดลองการท่องเที่ยว เปิดเวทีให้คนในชุมชนได้วิพากษ์วิจารณ์ และรับฟังคำวิพากษ์วิจารณ์จากนักวิชาการและผู้ที่มีประสบการณ์ โดยให้ความสำคัญกับกระบวนการพัฒนาแบบมีส่วนร่วมในทุกขั้นตอน
ผลการศึกษาพบว่า ปัญหาการจัดการการท่องเที่ยวที่ผ่านมา การมีส่วนร่วมในการจัดการการท่องเที่ยวและการร่วมรับผลประโยชน์อยู่ในกลุ่มเกษตรกรกลุ่มเล็ก ๆ ที่ปลูกกุหลาบเท่านั้น และรูปแบบการนำเที่ยวที่จัดไว้ก็ไม่มีบทบรรยาย ไม่มีวิธีการต้อนรับ แต่มีการให้ความรู้ในแต่ละส่วน เมื่อชุมชนได้เข้ามาร่วมในการศึกษาวิจัยได้เน้นให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมทุกขั้นตอนในฐานะที่เป็นทีมวิจัยในพื้นที่ จึงได้รูปแบบการท่องเที่ยวเกษตรเชิงนิเวศ 6 ฐานการเรียนรู้ คือ มีพิธีการต้อนรับนักท่องเที่ยวที่ศาลากลางบ้าน มอบดอกไม้ให้นักท่องเที่ยว เสิร์ฟน้ำดื่มสมุนไพร และผลไม้ตามฤดูกาล พร้อมการแสดงฟ้อนรำต้อนรับนักท่องเที่ยว จากกลุ่มผู้สูงอายุและเด็กนักเรียน จากนั้นจึงนำนักท่องเที่ยวไปฐานที่ 1 สักการบูชาเสากลางบ้าน จุดเด่น คือ เสาไม้โบราณที่เป็นจุดเริ่มต้นของการตั้งหมู่บ้าน ขณะนั้นเกิดเหตุร้ายกับชุมชน ผู้นำหมู่บ้านไปนิมนต์ท่านพระครูวิโรจน์รัตโนบล (บุญรอด นนตฺโร) เจ้าอาวาสวัดทุ่งศรีเมืององค์แรก (พ.ศ.2397-2485) มาทำพิธี จึงตั้งเสากลางบ้านไว้ให้เกิดความสงบร่มเย็นตั้งแต่นั้นมา ฐานที่ 2 เยี่ยมชมศูนย์สาธิตการตลาด จุดเด่น คือ เป็นกองทุนที่เข้มแข็งบริหารจัดการแบบกลุ่มสัจจะของชุมชน มีการบริหารจัดการที่ดี เป็นที่ยอมรับของชุมชย ฐานที่ 3 สวนเกษตรผสมผสาน 3 แห่ง จุดเด่น คือ เป็นสวนเกษตรที่มีผลไม้หลากหลายชนิด สวนสมุนไพร ชุมชนนำเอาภูมิปัญญาท้องถิ่นมาปรับใช้กับการเกษตร การปลูกไม้ผล คือ สวนนายประสิทธิ์ บุญแก้ว สวนพุทรา 3 รส ของนายเป็ง ศรีสุข และสวนมะนาว ของนายโชคชัย มั่นพันธ์ ฐานที่ 4 สวนแก้วมังกร ของนายบัญญัติ มาลาหอม จุดเด่น คือ การปลูกแก้วมังกรร่วมกับเกษตรผสมผสาน เลี้ยงปลา กบ และมีโฮมสเตย์ไว้บริการนักท่องเที่ยว ฐานที่ 5 ไหว้เจ้าปู่ดอนปู่ย่า จุดเด่น คือ เป็นป่าดิบแล้งที่ยังมีสภาพดั้งเดิมและอยู่ใกล้เมือง มีความอุดมสมบูรณ์ มีสัตว์ป่า รวงผึ้ง และต้นไม้ขนาดใหญ่จำนวนมาก ฐานที่ 6 วิถีชีวิตคนริมมูล จุดเด่นคือ วิธีการลากอวนหาปลาในแม่น้ำมูล นักท่องเที่ยวจะได้ร่วมลากอวนจับปลามาประกอบอาหาร และรับประทานอาหารร่วมกับชุมชนที่ริมแม่น้ำมูล
จากการร่วมกับชุมชนทำการศึกษาวิจัยพบปัญหาต่าง ๆ ที่ทำให้การจัดการท่องเที่ยวในอดีตไม่ประสบผลสำเร็จแล้ว ชุมชนได้ทราบปัญหา และวิธีการในการแก้ไขปัญหาด้วยตนเอง จึงกำหนดรูปแบบการท่องเที่ยวขึ้นใหม่ ชุมชนได้ใช้กิจกรรมการท่องเที่ยวเกษตรเชิงนิเวศเป็นเครื่องมือในการส่งเสริมฟื้นฟูอนุรักษ์วัฒนธรรม ประเพณี วิถีชีวิต ภูมิปัญญาท้องถิ่น ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ให้สามารถใช้ได้ชั่วลูกชั่วหลาน ลดการใช้ทรัพยากรในชุมชนอย่างฟุ่มเฟือยที่ก่อให้เกิดความเสื่อมโทรมต่อสิ่งแวดล้อม และเกิดการกระจายรายได้ไปสู่กลุ่มต่าง ๆ ในชุมชนอย่างเป็นธรรม การให้ความรู่ด้านต่าง ๆ แก่นักท่องเที่ยว ยังเป็นการสร้างเครือข่ายเผยแพร่แนวคิดออกไปยังชุมชนอื่น ให้ชุมชนอื่นสามารถนำรูปแบบการท่องเที่ยวนี้ไปใช้

Title Alternate A study of agro-ecotourism practice with community involvement: a case of Bua-Theung village at Tha Chang, Sawangwirawong District, Ubon Ratchathani