การพัฒนาแบบประเมินการทำงานบริเวณมือโดยราสซ์โมเดล

Titleการพัฒนาแบบประเมินการทำงานบริเวณมือโดยราสซ์โมเดล
Publication Typeวิทยานิพนธ์/Thesis
Year of Publication2562
Authorsสุภารัตน์ สุขโท
Degreeปรัชญาดุษฎีบัณฑิต -- สาขาวิชาเภสัชศาสตร์
Institutionคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
Cityอุบลราชธานี
Call NumberRC ส838ก 2562
Keywordsการดูแลสุขภาพด้วยตนเอง, ข้อ -- โรค -- การป้องกันและควบคุม, ระบบกล้ามเนื้อและโครงกระดูก, ราสซ์โมเดล, โรคเกิดจากอาชีพ
Abstract

หลักการและวัตถุประสงค์: พยาธิสภาพที่มือเป็นอุปสรรคกับการทำงานและส่งผลกระทบต่อการทำกิจวัตรประจำวัน ซึ่งนักกายภาพบำบัดมีบทบาทเป็นผู้ตรวจประเมิน วางแผนและให้การรักษา แต่ในปัจจุบันยังไม่มีมาตรฐานของการประเมินการทำงานของมือที่เป็นรูปแบบเดียวกันในการให้บริการวัตถุประสงค์เพื่อสำรวจสถานการณ์ของแบบสอบถามที่ใช้ในการประเมินการทำงานของมือโดยนักกายภาพบำบัด และสร้างและทดสอบแบบประเมินการทำงานของมือฉบับภาษาไทย วิธีการศึกษา: งานวิจัยนี้มีวิธีการศึกษาแบ่งตามวัตถุประสงค์เป็น 2 ส่วน ได้แก่ 1) การศึกษาเชิงสำรวจแบบภาคตัดขวาง กลุ่มตัวอย่าง คือ นักกายภาพบำบัดที่ดูแลรักษาผู้ป่วยและมีประสบการณ์การทำงานในโรงพยาบาลของรัฐอย่างน้อย 1 ปี จำนวน 336 คน และ 2)การสร้างและทดสอบแบบประเมินการทำงานของมือฉบับภาษาไทย แบบประเมินฉบับร่างสร้างจากการทบทวนวรรณกรรมฉบับต่างประเทศ 7 ฉบับ และฉบับภาษาไทย 2 ฉบับ พร้อมกับปรับเนื้อหาให้เหมาะสมกับบริบทของคนไทย จากนั้นให้ผู้เชี่ยวชาญจำนวน 3 ท่าน ตรวจสอบความตรงเชิงเนื้อหา และปรับปรุงแบบประเมินอีกครั้ง จนได้ฉบับสุดท้ายจำนวน 33 ข้อ มาตรวัด 5 รายการคำจอบ จากทำไม่ได้เลย (1) ไปยังไม่ยาก (5) ซึ่งแบบประเมินผ่านการประเมินเนื้อหาโดยผู้ทรงคุณวุฒิจำนวน 3 คน กลุ่มตัวอย่าง คือ ผู้ป่วยจำนวน 250 คนที่ประเมินแบบสอบถามด้วยตนเอง โดยมีนักการภาพบำบัดช่วยชี้แจงวัตถุประสงค์การศึกษาและอำนวยความสะดวกด้วยการอ่านข้อคำถามให้ผู้ป่วยฟัง ผลการศึกษา: จากแบบสอบถามที่ส่งออกจำนวน 336 ฉบับ มีผู้ตอบแบบสอบถามที่สมบูรณ์จำนวน 163 ฉบับ (ร้อยละ 48.51) ผลการศึกษา พบว่า โรคที่ผู้ปวยระบบกระดูกและกล้ามเนื้อบริเวณมือที่มารับการรักษาบ่อยที่สุด คือ โรคหลอดเลือดสมองขาดเลือด แบบประเมินหรือเครื่องมือที่ใช้มากที่สุด คือ การตรวจการทำงานของมือ และการประเมินกำลังกล้ามเนื้อมือ (ร้อยละ 25.80) แบบประเมินการทำงานของมือที่สร้างขึ้นประกอบด้วยข้อคำถามที่มีมาตรวัด 5 รายการคำตอบระดับ จำนวน 33 ข้อ การทดสอบคุณสมบัติของแบบประเมินโดยราสซ์โมเดล พบว่า แบบประเมินมีความเป็นเอกมิติจากค่าความแปรปรวนที่อธิบายได้จากโมเดลการวัด (มีค่าร้อยละ 60.24) และความแปรปรวนขององค์ประกอบแรกของส่วนเหลือ (มีค่าร้อยละ 3.42) มีค่ามากกว่าร้อยละ 40 และน้อยกว่าร้อยละ 15 ตามลำดับ ข้อคำถามทุกข้อมีความเป็นอิสระของข้อคำถาม โดยมี [erson reliability และ person separation มีค่า 0.94 และ 3.80 ตามลำดับ ส่วน item reliability และ item separation มีค่า 0.97 และ 5.29 ซึ่งทุกค่าอยู่ในเกณฑ์เป็นที่ยอมรับ นอกจากนั้นหลังจากปรับลดรายการคำตอบเหลือ 3 รายการคำตอบ และตัดกลุ่มตัวอย่างไม่เหมาะสมกับราสซ์โมเดลจำนวน 52 รายออก พบว่า คำถามทั้ง 33 ข้อ มีค่า infit mean-squares และค่า outfit mean-squares อยู่ในเกณฑ์เหมาะสม อย่างไรก็ตามข้อคำถามมีระดับความยากไม่กระจายตัวเมื่อเทียบกับการกระจายตัวของระดับความสามารถในการทำงานของมือของกลุ่มตัวอย่าง โดยพบว่ากลุ่มตัวอย่างส่วนหนึ่งมีความสามารถในการทำงานของมือน้อยกว่าข้อคำถามที่ง่ายที่สุด และกลุ่มตัวอย่างอีกส่วนหนึ่งมีระดับความสามารถในการทำงานของมือมากกว่าข้อคำถามที่ยากที่สุด โดยข้อคำถามมีระดับความยากระหว่ง -1.37 ถึง 1.56 logist ในขณะที่คะแนนระดับความสามารถในการทำงานของมือระหว่าง -6.69 ถึง 5.99 logits สรุป: รูปแบบการตรวจประเมินการทำงานของมือโดยนักกายภาพบำบัดมีความหลากหลาย จึงควรกำหนดเครื่องมือที่เป็นมาตรฐานในการประเมินการทำงานของมือเพื่อส่งเสริมการใช้ข้อมูลร่วมกันระหว่างสถานบริการที่อาจช่วยให้คุณภาพการบริการนั้นดีขึ้นตามนโยบายของกระทรวงสาธารณสุข สำหรับแบบประเมินการทำงานของมือฉบับภาษาไทยที่สร้างขึ้นมีความเป็นเอกมิติและความเป็นอิสระของข้อคำถาม มีความตรงและความเที่ยงที่ดี แต่ในการศึกษาครั้งต่อไปควรเพิ่มจำนวนข้อคำถามที่วัดระดับการทำงานของมือในระดับยากและง่ายขึ้นกว่าเดิม เพื่อให้ครอบคลุมระดับความสามารถในการทำงานของมือของกลุ่มตัวอย่าง

Title Alternate Development of hand function questionnaire using Rasch model