วิถีชีวิต การปรับตัว เครือข่ายความสัมพันธ์ทางสังคมข้ามชาติและบทบาทในฐานะทูตทางวัฒนธรรมของพระนักศึกษาข้ามแดนชาวกัมพูชาในประเทศไทย

Titleวิถีชีวิต การปรับตัว เครือข่ายความสัมพันธ์ทางสังคมข้ามชาติและบทบาทในฐานะทูตทางวัฒนธรรมของพระนักศึกษาข้ามแดนชาวกัมพูชาในประเทศไทย
Publication Typeงานวิจัย/Research report
Year of Publication2559
Authorsสมหมาย ชินนาค, กาญจนา ชินนาค
Institutionคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
Cityอุบลราชธานี
Call NumberDS575.5.C36 ส287 2559
Keywordsกัมพูชา -- ความสัมพันธ์กับต่างประเทศ -- ไทย, กัมพูชา -- ความสัมพันธ์ทางวัฒนธรรมกับต่างประเทศ, ไทย -- ความสัมพันธ์กับต่างประเทศ -- กัมพูชา, ไทย -- ความสัมพันธ์ทางวัฒนธรรมกับต่างประเทศ -- กัมพูชา
Abstract

งานวิจัยชิ้นนี้ มุ่งที่จะศึกษาวิถีชีวิต การปรับตัว กระบวนการสร้างเครือข่ายทางสังคมข้ามพรมแดน ตลอดจนบทบาทในฐานะทูตทางวัฒนธรรมของพระนักศึกษาข้ามแดนชาวกัมพูชาในประเทศไทย โดยเลือกศึกษากลุ่มพระนักศึกษาข้ามแดนชาวกัมพูชาที่ศึกษาอยู่ ณ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตอุบลราชธานี
ผลการศึกษาพบว่า พระนักศึกษาข้ามแดนชาวกัมพูชาที่เข้ามาศึกษาในเมืองไทยนั้น จะมีเงื่อนไขทั้งที่เป็น “ปัจจัยผลักดัน” และ “ปัจจัยดึงดูด” ประกอบกับบทบาทของเครือข่ายความสัมพันธ์ทางสังคมที่คอยให้ความช่วยเหลือในการข้ามแดนด้วย ส่วนการปรับตัวนั้น จะมีทั้งการปรับตัวทางด้านสังคมและการปรับตัวทางวัฒนธรรมโดยเฉพาะการปรับตัวด้านภาษา นอกจากนี้ในฐานะของ “คนต่างด้าว” พวกเขาก็ย่อมเผชิญกับปัญหาและอุปสรรคบางประการในการดำเนินชีวิต ฉะนั้น พวกเขาจึงมีการสร้างเครือข่ายความสัมพันธ์ทางสังคมเพื่อปรับเปลี่ยนตำแหน่งแห่งที่ทางสังคมของตน อย่างน้อย 3 รูปแบบ คือ การสร้างเครือข่ายความสัมพันธ์ทางสังคมกับชุมชนบ้านเกิด การสร้างเครือข่ายความสัมพันธ์ทางสังคมระดับบุคคล และการสร้างเครือข่ายความสัมพันธ์ทางสังคมข้ามพรมแดนผ่านประเพณีและพิธีกรรม “บ็อนปจุมบิณฑ์” ซึ่งเป็นการสร้างเครือข่ายความสัมพันธ์ทางสังคมที่อาศัย “พื้นที่ทางศาสนา” เป็นตัวอ้างอิงการเป็นสมาชิกชุมชนในจินตนาการเดียวกับคนไทยในพื้นที่
นอกจากนี้ พระนักศึกษาข้ามแดนชาวกัมพูชาในเมืองไทย โดยเฉพาะในจังหวัดอุบลราชธานี นับว่า มีบทบาทในฐานะทูตทางวัฒนธรรมที่โดดเด่นไม่ยิ่งหย่อนกว่าหน่วยงานภาครัฐเลยทีเดียว ในการส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างประเทศกัมพูชากับประเทศไทย และการสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับสังคมและวัฒนธรรมของประเทศกัมพูชาให้กับคนไทย ผ่านกิจกรรมด้านวิชาการและวัฒนธรรม ซึ่งส่วนใหญ่เป็นงานแบบกึ่งทางการและไม่เป็นทางการ บทบาท “ทูตทางวัฒนธรรม” ดังกล่าวของพระภิกษุนักศึกษาข้ามแดนชาวกัมพูชาจัดว่าเป็น “การทูตภาคประชาชน” รูปแบบหนึ่งที่แตกต่างไปจาก “การทูตแบบทางการ”

Title Alternate Way of life, adaptation, transnational social relation network and the roles as cultural diplomacy of Cambodian's student-monks in Thailand