ปัจจัยที่มีผลต่อการพัฒนาสีผิวและคุณภาพของผลมะม่วงพันธุ์มหาชนก

Titleปัจจัยที่มีผลต่อการพัฒนาสีผิวและคุณภาพของผลมะม่วงพันธุ์มหาชนก
Publication Typeวิทยานิพนธ์/Thesis
Year of Publication2561
Authorsนงลักษณ์ พยัคฆศิรินาวิน
Degreeปรัชญาดุษฎีบัณฑิต -- สาขาเกษตรศาสตร์
Institutionคณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
Cityอุบลราชธานี
Call NumberSB น148ป 2561
Keywordsการปลูกมะม่วงพันธุ์มหาชนก, คุณภาพของผลมะม่วงพันธุ์มหาชนก, มะม่วง -- พันธุ์มหาชนก -- การรักษา, มะม่วงพันธุ์มหาชนก, มะม่วงพันธุ์มหาชนก -- การปลูก, สีผิวของผลมะม่วงพันธุ์มหาชนก
Abstract

มะม่วงพันธุ์มหาชนกเป็นมะม่วงสายพันธุ์หนึ่งที่นิยมส่งออกไปจำหน่ายยังต่างประเทศ เพราะมี ลักษณะเด่นคือ ผิวผลมีพื้นที่แต้มสีแดง ซึ่งเป็นสารแอนโทไซยานินชนิดหนึ่ง อย่างไรก็ตาม ปัญหาสำคัญที่พบในการผลิตมะม่วงพันธุ์นี้คือ ผิวผลมักมีพื้นที่แต้มสีแดงน้อยและไม่สม่ำเสมอทั่วทั้งผล โดย ปัจจัยสำคัญที่ส่งเสริมการสะสมแอนโทไซยานินบนผิวผลไม้ในระยะก่อนการเก็บเกี่ยวมีหลายปัจจัย ได้แก่ แสงแดด สภาพแวดล้อม (อุณหภูมิและความชื้นของอากาศ) ฮอร์โมนพืช และสารควบคุมการ เจริญเติบโตของพืช จึงทำให้การจัดการคุณภาพเรื่องสีผิวผลระยะก่อนการเก็บเกี่ยวทำได้ยาก การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาอิทธิพลของ (1) ขนาดทรงพุ่มและตำแหน่งของผลบนต้น ซึ่งเป็น ปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ผลไม้ได้รับแสงแดดในระดับที่แตกต่างกัน (2) ฤดูการผลิตและตำแหน่งของผลบนต้น (3) การฉีดพ่น sucrose และสารควบคุมการเจริญเติบโตของพืช (methyl jasmonate และ benzyl adenine) ในระยะก่อนการเก็บเกี่ยวที่มีผลต่อการพัฒนาสีผิวและคุณภาพของผลมะม่วงพันธุ์นี้ ใน ระยะเก็บเกี่ยวทางการค้าและระยะผลสุก ผลการศึกษาพบว่าขนาดทรงพุ่มต้นไม่มีอิทธิพลต่อการเกิด พื้นที่แต้มสีแดง ปริมาณแอนโทไซยานิน และความเข้มของพื้นที่แต้มสีแดง (ค่า +a*) บนผิวผลมะม่วง ในระยะเก็บเกี่ยวในการผลิตนอกฤดูของปี 2556 ผลมะม่วงที่เก็บเกี่ยวจากต้นที่มีทรงพุ่มขนาดใหญ่มี น้ำหนักผลมากกว่า (P≤0.05) และต้นให้ผลผลิตมากกว่าต้นที่มีทรงพุ่มขนาดเล็กประมาณ 2.5 เท่า อย่างไรก็ตาม ผลมะม่วงระยะผลแก่ดิบที่เก็บเกี่ยวจากต้นที่มีทรงพุ่มแตกต่างกันมีน้ำหนักแห้ง ความ แน่นเนื้อ และคุณภาพทางเคมี (ค่าความเป็นกรดเป็นด่าง ปริมาณกรดที่ไทเทรตได้ ปริมาณของแข็ง ทั้งหมดที่ละลายน้ำได้ ปริมาณวิตามินซี และปริมาณแคโรทีนอยด์ทั้งหมด) ของเนื้อผลไม่แตกต่างกัน (P>0.05) ผลสุกในระยะเวลา 7.40 ถึง 8.20 วัน ที่อุณหภูมิ 25 องศาเซลเซียส และความชื้นสัมพัทธ์ 63 เปอร์เซ็นต์ ในระยะผลสุกพบว่าผลมะม่วงที่เก็บเกี่ยวจากตำแหน่งภายนอกทรงพุ่มมีปริมาณวิตามิน ซีในเนื้อผลมากกว่าผลที่เก็บเกี่ยวจากภายในทรงพุ่ม ฤดูการผลิตในปีที่ 1 (ปี 2556) และ 2 (ปี 2557) ไม่มีอิทธิพลต่อการเกิดพื้นที่แต้มสีแดงและ ความเข้มของพื้นที่แต้มสีแดงบนผิวผลมะม่วงพันธุ์นี้ในระยะเก็บเกี่ยว อย่างไรก็ตาม ผิวผลมะม่วงด้าน ที่มีพื้นที่แต้มสีแดงที่เก็บเกี่ยวในฤดูการผลิตที่ 1 มีการสะสมสารแอนโทไซยานินที่ผิวผลในปริมาณ มากกว่าผลในฤดูการผลิตที่ 2 ต้นมะม่วงในฤดูการผลิตทั้งสองให้ผลผลิตที่ไม่แตกต่างกัน และผลมะม่วงที่เก็บเกี่ยวจากต้นดังกล่าวมีน้ำหนักผล ระยะเวลาการสุกของผล และคุณภาพทางเคมีของผล สุกไม่มีความแตกต่างกัน ตำแหน่งของผลบนต้นมีอิทธิพลต่อการเกิดพื้นที่แต้มสีแดงบนผิวผลมะม่วงพันธุ์มหาชนก โดยผล ที่อยู่ภายนอกทรงพุ่มมีพื้นที่แต้มสีแดงบนผิวผลเกิดขึ้นมากกว่าผลภายในทรงพุ่มประมาณ 5 เท่า ทั้งการผลิตนอกฤดูและในฤดู ผิวของผลที่อยู่ภายนอกทรงพุ่มมีปริมาณแอนโทไซยานินและความเข้ม ของพื้นที่แต้มสีแดงบนผิวผล (+a*) มากกว่าผลภายในทรงพุ่ม ผลระยะแก่ดิบที่เก็บเกี่ยวจากภายนอก ทรงพุ่มในการผลิตในฤดูมีปริมาณวิตามินซีในเนื้อผลมากกว่าผลภายในทรงพุ่ม แต่ไม่พบความแตกต่าง ในการผลิตนอกฤดู สารละลาย MJ ที่ใช้และไม่ใช้ร่วมกับ sucrose เป็นสารควบคุมการเจริญเติบโตของพืชที่มี อิทธิพลต่อการเกิดพื้นที่แต้มสีแดงและปริมาณแอนโทไซยานินที่สะสมบนผิวผลด้านที่มีพื้นที่แต้มสีแดง ในระยะก่อนการเก็บเกี่ยวของผลมะม่วงพันธุ์นี้ที่ติดผลภายในทรงพุ่ม การฉีดพ่นสารละลาย MJ ความเข้มข้น 50 ppm ร่วมกับ sucrose ความเข้มข้น 10% ให้แก่ผลมะม่วงภายในทรงพุ่มจำนวน 2 ครั้ง ในระยะก่อนการเก็บเกี่ยวทำให้ผิวผลมีความเข้มของแต้มสีแดงมากกว่าผลภายในทรงพุ่ม ชุดควบคุมประมาณ 1.6 เท่า ส่วนการฉีดพ่นสารละลาย sucrose ความเข้มข้น 10 เปอร์เซ็นต์ เพียงชนิดเดียวทำให้ผิวผลด้านที่มีพื้นที่แต้มสีแดงสะสมแอนโทไซยานินเพิ่มขึ้นมากกว่าผลภายใน ทรงพุ่มชุดควบคุมทั้งสองฤดูการผลิต แต่ผิวผลมีพื้นที่แต้มสีแดงปรากฏในระดับที่ไม่แตกต่างกับ ผลภายในทรงพุ่มชุดควบคุม การใช้สารละลาย BA เพียงชนิดเดียวและใช้ร่วมกับ sucrose ไม่สามารถ เพิ่มพื้นที่แต้มสีแดงและการสะสมปริมาณแอนโทไซยานินในผิวผลมะม่วงพันธุ์นี้ เมื่อเปรียบเทียบกับ ผลภายในทรงพุ่มชุดควบคุม ผลมะม่วงในระยะเก็บเกี่ยวทุกกรรมวิธี มีน้ำหนักผล น้ำหนักแห้ง ความแน่นเนื้อ และสมบัติทางเคมีไม่แตกต่างกัน ยกเว้นปริมาณสารต้านต้านอนุมูลอิสระ ซึ่งพบว่า ผลมะม่วงระยะแก่ดิบชุดควบคุมที่เก็บเกี่ยวจากภายนอกทรงพุ่มและผลที่ได้รับ MJ ร่วมกับ sucrose ในฤดูการผลิตปี 2557 มีสารต้านอนุมูลอิสระของเนื้อผลมากกว่าผลมะม่วงกรรมวิธีอื่น ๆ และเมื่อผล มะม่วงสุกหลังจากการเก็บรักษาที่ 25 องศาเซลเซียส เนื้อผลมะม่วงชุดควบคุมจากภายนอกทรงพุ่ม ยังคงมีปริมาณสารต้านอนุมูลอิสระมากกว่าผลในกรรมวิธีอื่น ๆ รองลงมาคือ ผลที่ได้รับ MJ ร่วมกับ sucrose

Title Alternate Factors influencing the improvement of skin colour and quality of Mahachanok mango fruit