แนวทางการออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชน จังหวัดศรีสะเกษ

Titleแนวทางการออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชน จังหวัดศรีสะเกษ
Publication Typeงานวิจัย/Research report
Year of Publication2550
Authorsศักดิ์ชาย สิกขา
Institutionคณะศิลปประยุกต์และการออกแบบ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
Cityอุบลราชธานี
Call NumberTS171 ศ325
Keywordsการออกแบบผลิตภัณฑ์, ผลิตภัณฑ์ชุมชน, ศรีสะเกษ, โครงการหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์
Abstract

การพัฒนาเครือข่ายองค์ความรู้ (Knowledge-Base OTOP: KBO) เป็นแนวคิดที่กรมพัฒนาชุมชน ได้กำหนดเป็นแนงทางในการให้ความช่วยเหลือและพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชนสู่การพึ่งพาตนเองอย่างยั่งยืน โดยอาศัยการผนึกองค์ความรู้จากทุกภาคส่วน พัฒนาต่อยอดผลิตภัณฑ์ชุมชนให้มีคุณภาพได้มาตรฐาน พร้อมสู่ตลาดภายนอกและตลาดสากล การวิจัยเพื่อศึกษาแนวทางการออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชนจังหวัดศรีสะเกษในครั้งนี้ ผู้วิจัยได้กำหนดวัตถุประสงค์ในการวิจัยไว้ 4 ประการคือ 1) วิเคราะห์สภาพปัจจุบันปัญหาและความต้องการของกลุ่มผู้ผลิตสินค้าชุมชน 2) ออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชนให้มีรูปแบบที่เหมาะสมกับการจัดจำหน่าย 3) ผลิตต้นแบบผลิตภัณฑ์และเผยแพร่ความรู้ให้กับกลุ่มอาชีพ 4) สร้างแนวทางในการพัฒนารูปแบบผลิตภัณฑ์ที่กลุ่มอาชีพสามารถต่อยอดได้ด้วยตนเอง กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้ ผู้วิจัยเลือกสุ่มกลุ่มตัวอย่างแบบเจาะจง จำนวน 55 กลุ่ม จากกลุ่มที่มีระดับค่าคะแนน 1-2 ดาว ตามเกณฑ์การประเมินของคณะกรรมการหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ในรอบปีที่ผ่านมา ผลจากการศึกษาข้อมูลในพื้นที่พบว่า กลุ่มอาชีพที่มีจำนวนมากที่สุดเรียงโดยลำดับคือ กลุ่มผู้ผลิตผ้าทอมือ กลุ่มแปรรูปผลิตภัณฑ์จากผ้ากลุ่มผลิตของใช้ ของตกแต่งและของที่ระลึก และกลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม สภาพปัญหาโดยรวมยังขาดการพัฒนาบรรจุภัณฑ์ให้มีความหลากหลาย สอดคล้องกับความต้องการทางการตลาดและขาดการพัฒนาบรรจุภัณฑ์ รวมทั้งตราสัญลักษณ์และฉลาก ส่งผลให้บางกลุ่มได้เปลี่ยนอาชีพไปประกอบอาชีพอื่นแทน แต่เมื่อมองในภาพรวมไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 จาก 55 กลุ่ม ยังคงต้องการการสนับสนุนในการพัฒนาผลิตภัณฑ์จากภาครัฐ ในการนี้ผู้วิจัยได้ดำเนินการออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชน และผลิตต้นแบบผลิตภัณฑ์เพื่อเป็นแนวทางในการพัฒนาต่อ จำแนกผลิตภัณฑ์ออกเป็น 3 ประเภท คือ 1) ประเภทของตกแต่ง 2) ประเภทของใช้ 3) ประเภทบรรจุภัณฑ์ รวมผลิตภัณฑ์ที่ผ่านการประเมินต้นแบบผลิตภัณฑ์เพื่อใช้เป็นแนวทางในการพัฒนาผลิตภัณฑ์จำนวนทั้งสิ้น 62 รายการและภาพร่างแนวคิดในการออกแบบ จำนวน 14 รายการ ซึ่งทุกรายการจะได้นำเผยแพร่ข้อมูลและถ่ายทอดความรู้ต่อไป

Title Alternate A guide line for Srisaket community product design and development