การจัดการพลังงานชุมชน กรณีศึกษา ตำบลน้ำปลีก อำเภอเมือง และตำบลไม้กลอน อำเภอพนา จังหวัดอำนาจเจริญ

Titleการจัดการพลังงานชุมชน กรณีศึกษา ตำบลน้ำปลีก อำเภอเมือง และตำบลไม้กลอน อำเภอพนา จังหวัดอำนาจเจริญ
Publication Typeวิทยานิพนธ์/Thesis
Year of Publication2556
Authorsเย็นใจ พันธ์วงค์
Degreeบริหารธุรกิจมหาบัณฑิต -- สาขาวิชาบริหารธุรกิจ
Institutionคณะบริหารศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
Cityอุบลราชธานี
Call NumberHD ย515ก 2556
Keywordsการจัดการพลังงาน, การพัฒนาพลังงาน, การอนุรักษ์พลังงาน, นโยบายพลังงาน, พลังงาน--การจัดการ
Abstract

ภาวะวิกฤตพลังงานและสิ่งแวดล้อมโลก รวมทั้งความต้องการในการจัดการพลังงานให้มีประสิทธิภาพเป็นที่มาของงานวิจัยนี้ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ศึกษาเปรียบเทียบการใช้พลังงานในครัวเรือนของตำบลน้ำปลีก อำเภอเมือง และตำบลไม้กลอน อำเภอพนา จังหวัดอำนาจเจริญ 2) ศึกษาเปรียบเทียบปัจจัยที่มีผลต่อพฤติกรรมการใช้พลังงานในครัวเรือนระหว่างสองตำบล และ 3) ศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยที่มีผลต่อพฤติกรรมการใช้พลังงานกับการใช้พลังงานในสองตำบล การวิจัยเป็นการวิจัยเชิงปริมาณ โดยมีการเก็บข้อมูลด้วยแบบสอบถามจากกลุ่มตัวอย่าง 360 คน ซึ่งอาศัยอยู่ในเขตตำบลน้ำปลีก อำเภอเมือง และตำบลไม้กลอน อำเภอพนา จังหวัดอำนาจเจริญ สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล คือ สถิติเชิงพรรณนา ได้แก่ ค่าความถี่ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย และค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน และสถิติเชิงอนุมาน ได้แก่ ค่าสหสัมพันธ์ของเพียร์สัน (Pearson’s correlation)
ผลการวิจัย พบว่า กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ มีอาชีพหลักในด้านเกษตรกรรม มีรายได้ต่อเดือน เท่ากับ 2,000-4,000 บาท มีตำนวนสมาชิกในครัวเรือนไม่เกิน 5 คน มีระยะเวลาที่อาศัยอยู่ในชุมชน มากกว่า 25 ปีขึ้นไป กลุ่มตัวอย่างทั้งสองตำบลมีค่าใช้จ่ายด้านพลังงานในครัวเรือนมากที่สุด คือ น้ำมันเชื้อเพลิง เมื่อเปรียบเทียบการใช้พลังงานเป็นรายด้าน พบว่า ค่าใช้จ่ายด้านไฟฟ้า น้ำมันเชื้อเพลิงและถ่าย ระหว่างตำบลน้ำปลีกและตำบลไม้กลอน มีความแตกต่างกัน ด้วยความเชื่อมั่นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05
นอกจากนี้ การศึกษาปัจจัยที่มีผลต่อพฤติกรรมการใช้พลังงานในครัวเรือน โดยภาพรวมของสองตำบลพบว่า กลุ่มตัวอย่างมีความรู้ด้านพลังงานอยู่ในระดับปานกลาง มีทัศนคติในการใช้พลังงานอยู่ในระดับมาก มีการได้รับข้อมูลข่าวสารด้านพลังงานอยู่ในระดับมาก มีทรัพยากรพลังงานในท้องถิ่น อยู่ในระดับน้อยมีเทคโนโลยรที่ได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ อยู่ในระดับปานกลาง ผลการศึกษาเปรียบเทียบเป็นรายด้านระหว่างสองตำบล พบว่า ปัจจัยด้านความรู้ด้านพลังงาน ด้านทัศนคติในการใช้พลังงาน ด้านการได้รับข้อมูลข่าวสารด้านพลังงาน ด้านทรัพยากรในท้องถิ่นของสองตำบลมีความแตกต่างกัน ด้วยความเชื่อมั่นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05 ในส่วนปัจจัยด้านเทคโนโลยีที่ได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ ของสองตำบลไม่มีความแตกต่างกัน
ความสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยที่มีผลต่อพฤติกรรมการใช้พลังงานกับการใช้พลังงานในครัวเรือน พบว่า ในตำบลน้ำปลีก ปัจจัยความรู้ด้านพลังงาน มีความสัมพันธ์กับการใช้พลังงาน ถ่าน (r=0.159) โดยมีความสัมพันธ์กันในระดับต่ำและในทิศทางเดียวกัน ด้วยความเชื่อมั่นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05 ปัจจัยด้านการได้รับข้อมูลข่าวสารด้านพลังงาน มีความสัมพันธ์กับการใช้พลังงาน ถ่าน (r=0.158) โดยมีความสัมพันธ์กันในระดับต่ำและในทิศทางเดียวกัน ด้วยความเชื่อมั่นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05 ปัจจัยด้านทรัพยากรในท้องถิ่นมีความสัมพันธ์กับการใช้พลังงาน ถ่าน (r=0.241) โดยมีความสัมพันธ์กันในระดับต่ำและในทิศทางเดียวกันดเวยความเชื่อมั่นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05 ปัจจัยด้านเทคโนโลยีที่ได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ มีความสัมพันธ์กับการใช้พลังงานไฟฟ้า (r=0.152) โดยมีความสัมพันธ์กันในระดับต่ำและในทิศทางเดียวกัน ด้วยความเชื่อมั่นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05 และมีความสัมพันธ์กับการใช้พลังงานน้ำมันเชื้อเพลิง (r=-0.239) โดยมีความสัมพันธ์กันในระดับต่ำและในทิศทางตรงกันข้าม ด้วยความเชื่อมั่นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.01
ในตำบลไม้กลอน ปัจจัยด้านทัศนคติในการใช้พลังงาน มีความสัมพันธ์กับการใช้พลังงาน ไฟฟ้า (r=0.168) โดนทีความสัมพันธ์กันในระดับต่ำและในทิศทางเดียวกัน ด้วยความเชื่อมั่นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05 ปัจจัยด้านทรัพยากรในท้องถิ่นมีความสัมพันธ์กับการใช้พลังงาน น้ำมันเชื้อเพลิง (r=-0.184) โดยมีความสัมพันธ์กันในระดับต่ำและในทิศทางตรงกันข้ามด้วยความเชื่อมั่นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05 ปัจจัยด้านเทคโนโลยีที่ได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ มีความสัมพันธ์กับการใช้พลังงาน ก๊าซหุงต้ม (r=0.270) โดยมีความสัมพันธ์กันในระดับ 0.01 นอกจากนั้นยังมีความสัมพันธ์กับการใช้พลังงาน น้ำมันเชื้อเพลิง (r=-0.151) โดยมีความสัมพันธ์กันในระดับต่ำและในทิศทางตรงกันข้าม ด้วยความเชื่อมั่นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05 มีความสัมพันธ์กับการใช้พลังงาน ถ่าน (r=-0.269) โดยมีความสัมพันธ์กันในระดับปานกลางและในทิศทางตรงกันข้าม ฟืน (r=-0.271) โดยมีความสัมพันธ์กันในระดับปานกลางและในทิศทางตรงกันข้าม ด้วยคตวามเชื่อมั่นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.01

Title Alternate Community energy management: a case study of Nam Plik subdistrict, Mueng district and Mai Klon subdistrict, Phana district in Amnat charoen province