การประเมินผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการสร้างเขื่อนต่อความหลากหลายและความชุกชุมของปลาน้ำจืดในแม่น้ำสาขาของแม่น้ำโขงตอนล่าง ประเทศไทย

Titleการประเมินผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการสร้างเขื่อนต่อความหลากหลายและความชุกชุมของปลาน้ำจืดในแม่น้ำสาขาของแม่น้ำโขงตอนล่าง ประเทศไทย
Publication Typeวิทยานิพนธ์/Thesis
Year of Publication2557
Authorsพิสิฐ ภูมิคง
Degreeปรัชญาดุษฎีบัณฑิต -- สาขาวิชาเกษตรศาสตร์
Institutionคณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
Cityอุบลราชธานี
Call NumberQH พ778ก 2557
Keywordsการสร้างเขื่อน, ความชุกชุมของปลา, ความหลากหลายของชนิดพันธุ์, ความหลากหลายของปลา, ทรัพยากรสัตว์น้ำ, นิเวศวิทยา, ปลา--พันธุ์, ปลาน้ำจืด, เขื่อน, แม่น้ำโขง
Abstract

การศึกษาผลกระทบของเขื่อนต่อความหลากหลายของชนิด และการเปลี่ยนแปลงประชมคมสัตว์น้ำ ได้ดำเนินการเปรียบเทียบระหว่างแม่น้ำสาขา 3 สายของแม่น้ำโขงตอนล่างได้แก่ แม่น้ำมูลตอนล่างที่มีเขื่อนกั้นทางน้ำขนาดใหญ่ (large dam) แม่น้ำสงครามซึ่งเป็นแม่น้ำที่มีความสมบูรณ์และไม่มีเขื่อนขวางกั้นแม่น้ำ และแม่น้ำก่ำซึ่งมีการสร้างฝายทดน้ำ (low-head dam) ตลอดลำน้ำ โดยรวบรวมตัวอย่างปลาเต็มวัยด้วย 2 เครื่องมือสำรวจ คือ เครื่องมือกระแสไฟฟ้า (Honda EM 650, 650 watt, 220 V) และเครื่องมืออวนลากทับตลิ่งและปลาวัยอ่อนด้วยอวนลากทับตลิ่งตาถี่ ทำการเก็บตัวอย่างจุดสำรวจละ 2 ซ้ำ ทุก 2 เดือน เป็นเวลา 1 ปี ระหว่างเดือนสิงหาคม 2552 ถึงเดือนมิถุนายน 2553
ชนิดความหลากหลายและประชาคมของปลาเต็มวัย จำนวนปลาทั้งหมดจากการสำรวจ 36,388 ตัว (คิดเป็นน้ำหนักรวม 1,144 กิโลกรัม) 124 ชนิด 71 สกุล (Genera) จาก 25 วงศ์ (Family) โดยแม่น้ำสงครามมีความหลากหลายของชนิดปลาสูงสุด 112 ชนิด 23 วงศ์ รองลงมาแม่น้ำมูลพบปลาพันธุ์ทั้งหมด 97 ชนิด 24 วงศ์ และแม่น้ำก่ำพบจำนวนชนิดปลาน้อยที่สุด 54 ชนิด 19 วงศ์ ตามลำดับ ค่าดัชนีความหลากหลายของชนิดพันธุ์ (Diversity index) มีค่าสูงสุดในแม่น้ำสงคราม มีเท่ากับ 2.73 ในเดือนตุลาคม (ฤดูน้ำหลาก) และผลการวิเคราะห์ Abundances-Biomass Comparison พบว่าเส้นกราฟ biomass อยู่เหนือเส้นกราฟ abundance (ค่า W มีค่าเป็นบวก) มีลักษณะโครงสร้างของขนาดปลาเหมือนกันในทุกเดือนที่สำรวจทั้งสามแม่น้ำยกเว้นในแม่น้ำสงครามในเดือนกุมภาพันธ์ เดือนมิถุนายน และแม่น้ำมูลในเดือนมิถุนายนเส้นกราฟ biomass อยู่ใกล้เส้นกราฟ abundances (ค่า W statistic มีค่าเป็นลบ) แสดงถึงโครงสร้างโดยรวมมีกลุ่มปลาขนาดเล็กหรือกลุ่มปลาเข้ามาแทนที่กลุ่มปลาเต็มวัยช่วงฤดูแล้งจนถึงช่วงเปลี่ยนฤดูจากฤดูแล้งเข้าสู่ฤดูฝน ส่วนผลการวิเคราะห์การจัดกลุ่มความคล้ายคลึง (Cluster analysis) สามารถจัดกลุ่มความคล้ายคลึง 6 กลุ่ม สอดคล้องกับผลการศึกษาการวิเคราะห์ความสัมพันธ์คาโนนิคอล (Canonical Correlation Analysis; CA) กลุ่มปลาขาว (white fish) มีความสัมพันธ์กับจุดสำรวจแม่น้ำสงครามระหว่างเดือนสิงหาคมถึงเดือนธันวาคมซึ่งครอบคลุมฤดูฝนหรือฤดูน้ำหลาก เช่นเดียวกับลูกปลาวัยอ่อนที่เป็นกลุ่มปลาขาวมีความสัมพันธ์กับจุดสำรวตแม่น้ำสงครามสอดคล้องในทิศทางเดียวกับปลาเต็มวันแสดงถึงความเป็นอิสระในการอพยพเคลื่อนย้ายของกลุ่มปลาขาว ไปยังแหล่งที่ต่าง ๆ ในรอบปีในพื้นที่ไม่มีการสร้างเขื่อนขวางกั้นแม่น้ำส่วนกลุ่มปลาดำ (black fish) และกลุ่มปลาเทา (grey fish) มีความสัมพันธ์กับแม่น้ำก่ำระหว่างเดือนธันวาคม-เดือนกุมภาพันธ์ และแม่น้ำมูลในเดือนธันวาคม-เดือนเมษายน (ช่วงฤดูแล้ง) ส่วนลูกปลาวัยอ่อนที่เป็นปลาดำมีความสัมพันธ์กับแม่น้ำก่ำในระหว่างเดือนสิงหาคม-เดือนตุลาคม และเดือนเมษายน ในแม่น้ำมูลเดือนมิถุนายนและลูกปลาวัยอ่อนที่เป็นกลุ่มปลาเทามีความสัมพันธ์เด่นชัดกับจุดสำรวจแม่น้ำสงครามและแม่น้ำมูล ในระหว่างเดือนสิงหาคม-เดือนตุลาคม ดังนั้นเขื่อนกั้นน้ำมีผลต่อความหลากหลายของชนิดโดยเฉพาะกลุ่มที่มีการอพยพย้ายถิ่น เนื่องการอพยพมีความเชื่อมโยงกับอุทกวิทยาและระบบนิเวศของแหล่งน้ำ และสำคัญต่อความหลากหลายของชนิดและการเพิ่มประชากรหรือผลผลิตสัตว์น้ำในอนาคต
ผลกระทบของเขื่อนต่อความหลากหลาย การแพร่กระจายและการรวมกลุ่มของลูกปลาวัยอ่อนในบริเวณแม่น้ำสาขาลุ่มน้ำสาขาลุ่มน้ำโขงตอนล่าง พบว่า จำนวนชนิดลูกปลาทั้งหมด จำนวน 97 ชนิด 61 สกุล (Genera) จาก 28 วงศ์ (Family) โดยแม่น้ำสงครามมีความหลากหลายของลูกปลาวัยอ่อนสูงสุด 83 ชนิด 53 สกุล 24 วงศ์ รองลงมาคือแม่น้ำมูลพบพันธุ์ปลาทั้งหมด 64 ชนิด 31 สกุล 21 วงศ์ และแม่น้ำก่ำ พบพันธุ์ปลาทั้งหมด 47 ชนิด 29 สกุล 18 วงศ์ ตามลำดับ ผลการสำรวจความหนาแน่นของลูกปลาวัยอ่อน ลูกปลาทั้งหมดที่พบ 5,202 ตัวอย่าง แม่น้ำสงครามมีจำนวนตัวสูงที่สุดในเฉลี่ย 92 ตัวต่อ 100 ตารางเมตร เมื่อเปรียบเทียบค่าทางสถิติ จำนวนชนิดสะสม (cumulative species richness) และจำนวนตัวสะสม (cumulative abundance) ระหว่างเดือนที่สำรวจของสามแม่น้ำ พบว่า จำนวนชนิดพันธุ์และจำนวนตัวสะสมมีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (F=3.71, P<0.01) และ (F=5.14, P<0.01) ตามลำดับ และผลการวิเคราะห์กลุ่มลูกปลาวัยอ่อน โดยวิธี Self-Organizing Map (SOM) สามารถจัดกลุ่มลูกปลาได้อย่างชัดเจนเป็น 5 กลุ่ม (cluster) ตามพื้นที่ศึกษาและฤดูกาลต่าง ๆ โดยให้ผลสอดคล้องกับการจัดกลุ่มปลาเต็มวัย
การศึกษาผลกระทบของเขื่อนต่อการอพยพของปลา 3 กลุ่ม ในลุ่มแม่น้ำโขง ตามลักษณะการอพยพย้ายถิ่นได้แก่ กลุ่มปลาขาวกลุ่มปลาดำ และกลุ่มปลาเทา ด้วยวิธีการศึกษาผลกระทบก่อนหลังของพื้นที่ควบคุมและพื้นที่ได้รับผลกระทบ (before-after control-impact quasi-experimental sampling) ทำการเก็บตัวอย่างทุก 2 เดือน เป็นเวลา 1 ปี ระหว่างเดือนสิงหาคมถึงตุลาคม 2552 ซึ่งเป็นช่วงก่อนได้รับผลกระทบ (ช่วงเวลาเปิดประตูเขื่อนปากมูล) และระหว่างเดือนธันวาคม 2552 ถึงมิถุนายน 2553 (ช่วงเวลาปิดประตูเขื่อนปากมูล) เป็นช่วงหลังได้รับผลกระทบ โดยพื้นที่ควบคุมได้แก่ แม่น้ำสงคราม และพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบได้แก่แม่น้ำมูล โดยตัวแปรที่ใช้ในการศึกษามี 2 ตัวแปร ได้แก่ ความหลากชนิดและจำนวนตัวของปลาในแต่ละกลุ่ม โดยทำการวิเคราะห์ข้อมูลด้วยวิธีการวิเคราะห์การแทรกแซงแบบสุ่ม (randomized intervention analysis; RIA) พบว่าการปิดประตูระบายน้ำเขื่อนก่อให้เกิดผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญยิ่ง (P-value <0.01) ต่อปลาในกลุ่มปลาขาวในการอพยพเข้าและออกระหว่างแม่น้ำโขงและแม่น้ำสาขา ในขณะที่ไม่เกิดผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่ออีก 2 กลุ่มปลาที่เหลือ ผลการศึกษาเป็นประโยชน์ในการบริหารจัดการประตูระบายน้ำของเขื่อนปากมูลที่มีต่อปลาในกลุ่มปลาขาว และวิธีการบริหารจัดการประตูระบายน้ำดังกล่าว สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการสร้างเขื่อนขวางกั้นลำน้ำอื่น ๆ ได้

Title Alternate Assessment of the effects of dam construction schemes on freshwater fish diversity and abundance in the lower Mekong tributaries, Thailand