บทบาทขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการพัฒนาท้องถิ่นให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ยั่งยืน กรณีศึกษาองค์การบริหารส่วนตำบลกุดชมภู อำเภอพิบูลมังสาหาร จังหวัดอุบลราชธานี

Titleบทบาทขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการพัฒนาท้องถิ่นให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ยั่งยืน กรณีศึกษาองค์การบริหารส่วนตำบลกุดชมภู อำเภอพิบูลมังสาหาร จังหวัดอุบลราชธานี
Publication Typeวิทยานิพนธ์/Thesis
Year of Publication2556
Authorsนพวรรณ เชื้อโชติ
Degreeบริหารธุรกิจมหาบัณฑิต -- สาขาวิชาการจัดการการท่องเที่ยว
Institutionคณะบริหารศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
Cityอุบลราชธานี
Call NumberG น188บ 2556
Keywordsการท่องเที่ยว, การท่องเที่ยวโดยชุมชน--อุบลราชธานี, องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น, องค์การบริหารส่วนตำบลกุดชมภู (อุบลราชธานี)--การบริหาร, อุบลราชธานี
Abstract

ในการศึกษาบทบาทขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการพัฒนาท้องถิ่นให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ยั่งยืน กรณีศึกษา องค์การบริหารส่วนตำบลกุดชมภู อำเภอพิบูลสังสาหาร จังหวัดอุบลราชธานีนั้น มีวัตถุประสงค์หลัก 3 ประการ คือ 1) เพื่อศึกษาบทบาทในการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติทั้ง 7 แห่ง ขององค์การบริหารส่วนตำบลกุดชมภู 2) เพื่อศึกษาถึงจุดแข็ง จุดอ่อน โอกาส และอุปสรรคของบทบาทขององค์การบริหารส่วนตำบลกุดชมภูในการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติทั้ง 7 แห่ง และ 3) เพื่อเสนอแนะแนวทางในการส่งเสริมบทบาทขององค์การบริหารส่วนตำบลกุดชมภูในการพัฒนาการท่องเที่ยวที่ยั่งยืน ซึ่งทำการเก็บรวบรวมข้อมูลจากการศึกษาเอกสารต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องและการจัดทำแนวคำถามในการสัมภาษณ์โดยวิเคราะห์จากแนวคิดบทบาทองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการพัฒนาด้านการท่องเที่ยวและแนวคิดการท่องเที่ยวโดยชุมชน ทั้งนี้ ได้ใช้วิธีการสังเกตการณ์แบบไม่มีส่วนร่วมและการสัมภาษณ์เชิงลึกในกลุ่มประชากรเป้าหมาย 4 กลุ่ม ได้แก่ 1) ตัวแทนจากองค์กรบริหารส่วนตำบลกุดชมภูฝ่ายบริหารจำนวน 1 คน 2) ตัวแทนของชุมชนท้องถิ่นจำนวน 61 คน 3) ตัวแทนนักท่องเที่ยวจำนวน 8 คน และ 4) ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับบทบาทการพัฒนาด้านการท่องเที่ยวขององค์การบริหารส่วนตำบลกุดชมภูจำนวน 5 คน โดยข้อมูลที่ได้จากการศึกษาทั้งหมด ได้รับการตรวจสอบถูกต้องและนำมาแยกแยะตามประเด็นที่ศึกษาในการวิเคราะห์และการนำเสนอข้อมูล
ผลการศึกษาพบว่า บทบาทองค์การบริหารส่วนตำบลกุดชมภูในการพัฒนาท้องถิ่นให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ยั่งยืนนั้น ถูกกำหนดจากแนวคิด บทบาทองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการพัฒนาด้านการท่องเที่ยวและแนวคิดการท่องเที่ยวโดยชุมชน ซึ่งได้นำการวิเคราะห์ SWOT ANALYSIS มาวิเคราะห์เพื่อหาจุดแข็ง จุดอ่อน โอกาส และอุปสรรคของบทบาทดังกล่าว หลังจากนั้น ได้ใช้กระบวนการ TOWS MATRIX มาวิเคราะห์ตามแนวทางการมีส่วนร่วมของชุมชน ก่อให้เกิดข้อเสนอแนะที่ปรากฏในรูปแบบของกลยุทธ์หลักทั้ง 4 ด้าน ได้แก่ (1) กลยุทธ์เชิงรุก (SO) ได้แก่ การดำเนินการขยายและบูรณะเส้นทางเข้าถึงแหล่งท่องเที่ยว การสนับสนุนการจัดตั้งกลุ่มอาชีพ การสนับสนุนการบูรณาการองค์ความรู้ด้านภูมิปัญญาท้องถิ่น เป็นต้น (2) กลยุทธ์เชิงรับ (WT) ได้แก่ การจัดทำป้ายบอกทางเข้าถึงแหล่งท่องเที่ยวที่มีราคาต้นทุนต่ำ การสนับสนุนให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการดูแลรักษาแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ การสนับสนุนให้ชุมชนให้ชุมชนจัดเตรียมอาหารพื้นบ้านในการรองรับนักท่องเที่ยว เป็นต้น (3) กลยุทธ์เชิงแก้ไข (WO) ได้แก่ การก่อสร้างหรือการจัดหาสิ่งอำนวยความสะดวกในแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ การสนับสนุนและพัฒนาปราชญ์ท้องถิ่น การแสวงหาแนวทางการพัฒนาการท่องเที่ยวร่วมกับคณะผู้มาศึกษางานเป็นต้น และ (4) กลยุทธ์เชิงป้องกัน (ST) ได้แก้ การให้คำแนะนำแก่กลุ่มอาชีพในการลกปริมาณการผลิต การศึกษาและรวบรวมข้อมูลจากชุมชนเพื่อพัฒนาการท่องเที่ยว เป็นต้น ทั้งนี้กลยุทธ์หลักดังกล่าวนั้น ประกอบด้วยกลยุทธ์ย่อย 3 กลยุทธ์ คือ กลยุทธ์ด้านงบประมาณ กลยุทธ์การส่งเสริมการท่องเที่ยวชุมชนและกลยุทธ์การประสานความร่วมมือ
จากผลการศึกษา สามารถสรุปได้ว่า กลยุทธ์ดังกล่าวแสดงถึงการส่งเสริมบริบทการพัฒนาที่ยั่งยืนและสะท้อนถึงการพัฒนาที่ยั่งยืนในมิติทั้ง 5 ด้าน ได้แก่ มิติด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมือง วัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม โดยประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับการกลยุทธ์ดังกล่าวนั้น เป็นประโยชน์ต่อชุมชนท้องถิ่นและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในการพัฒนาการท่องเที่ยวของตำบลกุดชมภู เช่น ก่อให้เกิดการสร้างงาน สร้างรายได้ ก่อให้เกิดการเผยแพร่และอนุรักษ์วัฒนธรรมของชุมชนท้องถิ่นก่อให้เกิดกระแสการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ก่อให้เกิดการส่งเสริมความเป็นประชาธิปไตยในชุมชน เป็นต้น

Title Alternate The roles of local government in developing community for sustainable tourism: a case study of Tambol Kudchompu, Phibun Mangsahan district, Ubon Ratchathani province