การศึกษาฤทธิ์กระตุ้นการหายของแผลของพืชสมุนไพร Curcuma cf.comosa Roxb

Titleการศึกษาฤทธิ์กระตุ้นการหายของแผลของพืชสมุนไพร Curcuma cf.comosa Roxb
Publication Typeงานวิจัย/Research report
Year of Publication2559
Authorsชุตินันท์ ประสิทธิ์ภูริปรีชา, นงนิตย์ ธีระวัฒนสุข, ปรีชา บุญจูง, รัตนา เล็กสมบูรณ์
Institutionคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
Cityอุบลราชธานี
Call NumberRM666.H33 ช617ก 2559
Keywordsการรักษาแผล, การหายของบาดแผล, พืชสมุนไพร--แง่การแพทย์, ยาสมุนไพร, ว่านหมาว้อ
Abstract

งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาฤทธิ์กระตุ้นการหายของบาดแผลทั้งในหลอดทดลอง (in vitro) และในสัตว์ทดลอง (in vivo) ของสารสกัดหยาบด้วยเอธิลอะซิเตทของว่านหมาว้อ (Curcuma cf. comosa Roxb.) และทดสอบฤทธิ์กระตุ้นการหายของบาดแผลในสัตว์ทดลองของตำรับครีมที่มีส่วนผสมของสารสกัดด้วยเอธิลอะซิเตทของว่านหมาว้อ
การศึกษาฤทธิ์กระตุ้นการหายของบาดแผลในหลอดทดลอง (in vitro) ทำโดยทดสอบฤทธิ์การเพิ่มจำนวนเซลล์เพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อใต้ผิวหนังของหนูชนิด L929 และเซลล์มะเร็งปากมดลูกของมนุษย์ชนิด HeLa cell ด้วยวิธี WST-1 cell proliferation assay และทดสอบฤทธิ์กระตุ้นการหายของบาดแผลจากแบบจำลองการหายของบาดแผลด้วยวิธี Scratch assay ของสารสกัดหยาบด้วยเอธิลอะซิเตทของว่านหมาว้อที่ความเข้มข้น 25-400 g/ml ผลการวิจัยพบว่ สารสกัดว่านหมาว้อที่ความเข้มข้น 400 g/ml มีฤทธิ์เพิ่มจำนวนเซลล์เพาะเลี้ยงทั้งชนิด L929 และ HeLa cell อย่างมีนัยสำคัญเมื่อเปรียบเทียบกับตัวควบคุมที่ไม่มีสารสกัดสมุนไพร โดยมีค่า Proliferation index (P.I.) เท่ากับ 1.09 และ 1.19 ตามลำดับ และมีฤทธิ์ดีที่สุดในการเพิ่มจำนวนเซลล์ทั้งชนิด L929 และ HeLa cell ให้ชิดกันเร็วที่สุดที่เวลา 24 ชั่วโมง
การศึกษาฤทธิ์กระตุ้นการหายของบาดแผลในสัตว์ทดลอง (in vivo) ของสารสกัดหยาบด้วยเอธิลอะซิเตทของว่านหมาว้อที่ความเข้มข้น 0.1% w/v และ 0.2% w/v และตำรับครีมที่มีสารสกัดด้วยเอธิลอะซิเตทของว่านหมาว้อที่ความเข้มข้น 5% w/w และ 10% w/w ทำในหนูทดลองสายพันธุ์ C57BL/6 อายุ 8 สัปดาห์ จำนวน 6 กลุ่ม กลุ่มละ 6 ตัว โดยสร้างบาดแผลด้วยการเจาะให้เป็นรูที่ใบหูทั้งสองข้างด้วย metal ear punch ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 2 มิลลิเมตร ทาสารทดสอบที่ใบหูบริเวณบาดแผลทุกวัน วันละ 1 ครั้ง เป็นเวลา 30 วัน โดยให้ใบหูข้างซ้ายของหนูทุกตัวทาด้วยตัวควบคุม กลุ่มที่ 1-3 ทาด้วยเอธิลอะซิเตท และหนูกลุ่มที่ 4-6 ทาด้วย cream base ส่วนใบหูข้างขวาทาด้วยสารสกัดหยาบด้วยเอธิลอะซิเตทของว่านหมาว้อที่ความเข้มข้น 0.1% w/v (กลุ่มที่ 1), สารสกัดหยาบด้วยเอธิลอะซิเตทของว่านหมาว้อที่ความเข้มข้น 0.2% w/v (กลุ่มที่ 2), Oxoferin (กลุ่มที่ 3), ตำรับครีมที่มีสารสกัดด้วยเอธิลอะซิเตทของว่านหมาว้อที่ความเข้มข้น 5% w/w (กลุ่มที่ 4), ตำรับครีมที่มีสารสกัดด้วยเอธิลอะซิเตทของว่านหมาว้อที่ความเข้มข้น 10% w/w (กลุ่มที่ 5) และ Hirudoid (กลุ่มที่ 6) บันทึกภาพ และประเมินการหายของบาดแผลจากร้อยละจองการหายของบาดแผล (% wound healing) ผลการวิจัยพบว่า สารสกัดด้วยเอธิลอะซิเตทของว่านหมาว้อที่ความเข้มข้น 0.2% w/v มีร้อยละของการหายของบาดแผลดีที่สุด ดีกว่าตัวควบคุมและ Oxoferin อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<0.05) โดยทำให้บาดแผลปิดสนิทได้ในวันที่ 30 (ร้อยละ 100) ส่วนตำรับครีมที่มีสารสกัดด้วยเอธิลอะซิเตทของว่านหมาว้อที่ความเข้มข้น 5% และ 10% w/w มีร้อยละของการหายของบาดแผลใกล้เคียงกัน คือ ร้อยละ 66.67 และ 62.12 ในวันที่ 30 ตามลำดับ ซึ่งดีกว่าตัวควบคุมและ Hirudoid อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<0.05) เมื่อสุ่มตรวจชิ้นเนื้อทางจุลกายวิภาคศาสตร์ของเนื้อเยื่อบริเวณบาดแผลที่ใบหูของหนูที่ทดสอบฤทธิ์กระตุ้นการหายของบาดแผลเพื่อดูพยาธิสภาพของเนื้อเยื่อในวันที่ 0, 2, 5, 10 และ 20 โดยประเมินจากความหนาแน่นของ polymorphonuclear (PMN), fibroblast, collagen fiber และหลอดเลือด และการสร้างชั้นหนังกำพร้าเพื่อปิดปากแผล ผลการวิจัยพบว่าเนื้อเยื่อบริเวณบาดแผลที่ทาด้วยสารสกัดด้วยเอธิลอะซิเตทของว่านหมาว้อ และตำรับครีมที่มีสารสกัดด้วยเอธิลอะซิเตทของว่านหมาว้อ มีการเพิ่มขึ้นของ PMN, fibroblast, collagen fiber และหลอดเลือดมากกว่า Oxiferin, Hirudoid และกลุ่มควบคุม งานวิจัยนี้สรุปได้ว่า สารสกัดด้วยเอธิลอะซิเตทของว่านหมาว้อมีฤทธิ์กระตุ้นการหายของบาดแผนทั้งในหลอดทดลอง และในสัตว์ทดลอง จึงมีศักยภาพในการนำไปพัฒนาเป็นยาใหม่ในอนาคต

Title Alternate A study on wound healing effect of a herbal plant, Curcuma cf. comosa Roxb