การป้องกันการทำลายเซลล์เมลาโนไซท์ และฤทธิ์กระตุ้นการสังเคราะห์เมลานินของสารสกัดสมุนไพรไทยพื้นบ้านที่ใช้สำหรับผมหงอก

Titleการป้องกันการทำลายเซลล์เมลาโนไซท์ และฤทธิ์กระตุ้นการสังเคราะห์เมลานินของสารสกัดสมุนไพรไทยพื้นบ้านที่ใช้สำหรับผมหงอก
Publication Typeวิทยานิพนธ์/Thesis
Year of Publication2555
Authorsกฤตติญารัตน์ สมวงศ์
Degreeวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต--สาขาวิชาเภสัชเคมีและผลิตภัณฑ์ธรรมชาติ
Institutionคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
Cityอุบลราชธานี
Call NumberQK ก274ก 2555
Keywordsการสังเคราะห์สารเมลานิน, บัวบก, ผมหงอก, ยาสมุนไพร, ย่านาง, สมุนไพร--เภสัชฤทธิวิทยา, สมุนไพรพื้นบ้าน, อัญชัน
Abstract

การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาฤทธิ์กระตุ้นการสังเคราะห์เมลานินของสารสกัดด้วยน้ำ เมทธานอล เอทธิลอะซิเตท และเฮกเซนของสมุนไพรไทย จำนวน 5 ชนิด คือ อัญชัน ย่านาง บัวบก หม่อน และกวาวเครือขาว โดยศึกษาฤทธิ์ต้านออกซิเดชัน ฤทธิ์ป้องกันเซลล์เมลาโนไซท์ ฤทธิ์กระตุ้นเอนไซม์ไทโรซิเนส และฤทธิ์กระตุ้นการสร้างเมลานิน ผลการทดสอบฤทธิ์ต้านออกซิเดชันด้วยวิธี DPPH assay, ABTS assay และ FRAP assay พบว่า สารสกัดด้วยเมทธานอลและน้ำย่านางมีฤทธิ์ต้านออกซิเดชันดีที่สุด โดยมีค่า EC50, VEAC, TEAC และ FRAP value เท่ากับ 61.8 µg/ml, 2.00 mM, 0.77 mM แบะ 546.9 mM ตามลำดับ และมีปริมาณสารประกอบฟีนอลิกโดยรวมเท่ากับ 82.8 µg, 83.14% แบะ 80.62% ตามลำดับ ผลการทดสอบฤทธิ์กระตุ้นการเพิ่มจำนวนของเซลล์เมลาโนไซท์ ด้วยวิธี MTT assay พบว่า สารสกัดด้วยเมทธานอลของอัญชัน สารสกัดด้วยน้ำย่านาง และสารสกัดด้วยเฮกเซนของบัวบกมีฤทธิ์ที่ดี โดยมีค่าดัชนีการเพิ่มจำนวนเท่ากับ 1.73, 1.59 และ 1.25 ตามลำดับ ผลการทดสอบฤทธิ์กระตุ้นเอนไซม์ไทโรซิเนสด้วยวิธี tyrosinase activity assay พบว่า สารสกัดด้วยเอทธิลอะซิเตทของย่านางและบัวบก และสารสกัดด้วยเฮกเซนของอัญชันมีฤทธิ์ที่ดี โดยมีค่าดัชนีการกระตุ้น เท่ากับ 12.78, 12.72 และ 9.92 ตามลำดับ ในขณะที่ผลการทดสอบฤทธิ์กระตุ้นเอนไซม์ไทโรซิเนสในเซลล์เพาะเลี้ยง ด้วยวิธี DOPA oxidase activity assay พบว่า สารสกัดด้วยเมทธานอลของอัญชัน และบัวบก และสารสกัดด้วยเอทธิลอะซิเตทของย่านาง มีฤทธิ์ที่ดี โดยมีค่าร้อยละ เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มควบคุมเท่ากับ 157.97, 147.01 และ 144.61 ตามลำดับ ผลการทดสอบฤทธิ์กระตุ้นหารสร้างเมลานิน ด้วยการวัดปริมาณเมลานิน พบว่า สารสกัดด้วยน้ำของบัวบกและย่านาง และสารสกัดด้วยเอทธิลอะซิเตทของอัญชันมีฤทธิ์ที่ดีโดยมีค่าร้อยละ เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มควบคุม เท่ากับ 231.11, 183.33 และ 166.66 ตามลำดับ และเมื่อทดสอบสาระสำคัญเบื้องต้นในพืชพบว่า สมุนไพรส่วนใหญ่มีสาระสำคัญในกลุ่ม alkaloids, anthraquinones, anthrones, coumarines, cardiac glycosides, flavonoid, carotenoid, tannin, xanthone และ cardenolides งานวิจัยนี้สรุปได้ว่าสารสกัดพืชสมุนไพรที่มีฤทธิ์กระตุ้นกระบวนการสังเคราะห์เมลานิน มีศักยภาพในการนำไปพัฒนาให้อยู่ในรูปแบบเวชสำอางสำหรับผมหงอกก่อนวัยได้ในอนาคต คือ สารสกัดด้วยน้ำ เมทธานอล เอทธิลอะซิเตท และเฮกเซนของย่านาง อัญชัน และบัวบก

Title Alternate Protection of melanocyte damage and melanogenesis stimulation activity of Thai traditional plant extracts using in gray hair