ความขัดแย้งในการใช้ทรัพยากรที่ดินในพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาพระวิหาร : กรณีศึกษาตำบลภูผาหมอก อำเภอกันทรลักษ์ จังหวัดศรีสะเกษ

Titleความขัดแย้งในการใช้ทรัพยากรที่ดินในพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาพระวิหาร : กรณีศึกษาตำบลภูผาหมอก อำเภอกันทรลักษ์ จังหวัดศรีสะเกษ
Publication Typeวิทยานิพนธ์/Thesis
Year of Publication2558
Authorsธนกฤษ ปองไป
Degreeรัฐประศาสนศาสตรมหาบัณฑิต -- สาขาวิชารัฐประศาสนศาสตร์
Institutionคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
Cityอุบลราชธานี
Call NumberHD ธ132ค 2558
Keywordsการใช้ที่ดิน--ศรีสะเกษ, ที่ดิน--การจัดการ--นโยบายของรัฐ--ปัญหาและข้อพิพาท, อุทยานแห่งชาติเขาพระวิหาร, อุทยานแห่งชาติเขาพระวิหาร--การใช้ที่ดิน--การวางแผน
Abstract

การศึกษาความขัดแย้งในการใช้ทรัพยากรที่ดินในพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาพระวิหาร: กรณีศึกษาตำบลภูผาหมอก อำเภอกันทรลักษ์ จังหวัดศรีสะเกษ การศึกษานี้เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) เพื่อศึกษาสาเหตุของความขัดแย้งในการใช้ทรัพยากรที่ดินในพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาพระวิหาร และ 2) เพื่อหาแนวทางที่เหมาะสมและยั่งยืนแก้ไขปัญหาในการใช้ทรัพยากรที่ดินในพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาพระวิหาร โดยผู้ศึกษาได้รวบรวมข้อมูลซึ่งเป็นการรวบรวมข้อมูลทุติยภูมิ ซึ่งประกอบด้วยรายงานการศึกษา งานวิจัยต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับความขัดแย้งในการใช้ทรัพยากรที่ดินในพื้นที่ป่าไม้ แผนที่ขอบเขตอุทยานแห่งชาติเขาพระวิหาร รายงานผลการตรวจสอบพิสูจน์การครอบครองที่ดินในพื้นที่ป่าไม้อุทยานแห่งชาติเขาพระวิหาร และแผนที่ที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา ส่วนการรวบรวมข้อมูลปฐมภูมิ ผู้ศึกษาได้เก็บข้อมูลจากปรากฏการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในพื้นที่ด้วยการสัมภาษณ์แบบไม่เป็นทางการ การสังเกตการณ์หรือการเข้าร่วมกิจกรรม และการจัดประชุมกลุ่มย่อย เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ผู้ศึกษาได้แบ่งเป็น 1) การสัมภาษณ์แบบไม่เป็นทางการ 2) การสังเกตการณ์หรือการเข้าร่วมกิจกรรม และ 3) การสนทนากลุ่มย่อย
การศึกษาพบว่าสาเหตุของความขัดแย้ง เกิดจากความคิดในการบริหารจัดการที่ดินที่แตกต่างกันระหว่างนโยบายของภาครัฐกับประชาชน และเจ้าหน้าที่ภาครัฐกับประชาชน ซึ่งภาครัฐมีแนวคิดในการอนุรักษ์คุ้มครองพื้นที่ป่าไม้ จึงประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติ ซึ่งปรากฏว่าการประกาศอุทยานแห่งชาตินั้น ซ้อนทับที่อยู่อาศัยและทำกินของประชาชน ทำให้ประชาชนถูกเจ้าหน้าที่จับกุมดำเนินคดีในข้อหาบุกรุกเขตอุทยานฯ ประชาชนได้รับความเดือดร้อนจนเกิดความขัดแย้งระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐกับประชาชน ถึงแม้ภาครัฐจะออกนโยบายเพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนแล้วก็ตาม แต่ความขัดแย้งด้านที่ดินในพื้นที่ยังคงมีอยู่และประชาชนพยายามเรียกร้องถึงสิทธิอันชอบธรรม แต่ภาครัฐยังไม่ได้ให้ความสำคัญกับข้อเรียกร้องดังกล่าว และยังคงมุ่งแก้ไขปัญหาโดยใช้แนวคิดของภาครัฐเพียงฝ่ายเดียว ซึ่งในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งนั้น ภาครัฐควรให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน กระจายอำนาจให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการบริหารจัดการทรัพยากรของชุมชนเอง ปรับปรุงและแก้ไขกฎหมายหรือนโยบายที่เกี่ยวกับที่ดินให้ทันต่อสถานการณ์ปัจจุบัน สร้างจิตสำนึกในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและส่งเสริมการดำรงชีวิตแบบเศรษฐกิจพอเพียงให้กับชุมชน เพื่อเป็นการป้องกันการทำลายทรัพยากรที่ดินในพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาพระวิหารอย่างยั่งยืน ต่อไป

Title Alternate The conflict in the use of land resources in Khao Phra Wihan national park : a case study of Phuphamok sub-district, Kantharalak district, Si Sa Ket province