การศึกษาพฤติกรรมการซื้อสินค้าสมุนไพรแปรรูปของผู้บริโภคในจังหวัดอุบลราชธานี

Titleการศึกษาพฤติกรรมการซื้อสินค้าสมุนไพรแปรรูปของผู้บริโภคในจังหวัดอุบลราชธานี
Publication Typeงานวิจัย/Research report
Year of Publication2561
Authorsกมลพร นครชัยกุล
Institutionคณะบริหารศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
Cityอุบลราชธานี
Call NumberHF5415.32 ก136ก 2561
Keywordsการซื้อสินค้า--อุบลราชธานี, การเลือกซื้อสินค้า--พฤติกรรม, ผู้บริโภค, พฤติกรรมผู้บริโภค--อุบลราชธานี, สมุนไพร
Abstract

การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ 1) เพื่อศึกษาลักษณะทางประชากรศาสตร์ที่มีผลต่อการซื้อสินค้าสมุนไพรแปรรูปของผู้บริโภคในจังหวัดอุบลราชธานี 2) เพื่อศึกษาพฤติกรรมการซื้อและปัจจัยอื่น ๆ เช่น อิทธิพลของกลุ่มอ้างอิง ความเชื่อและทัศนคติ สภาพแวดล้อมภายนอกที่มีผลการต่อการซื้อสินค้าสมุนไพรแปรรูปของผู้บริโภคในจังหวัดอุบลราชธานี 3) เพื่อศึกษาแนวทางกลยุทธ์ส่วนประสมทางการตลาดสินค้าสมุนไพรแปรรูปสำหรับกลุ่มผู้บริโภคในจังหวัดอุบลราชธานี กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในงานวิจัยในครั้งนี้ คือ ผู้บริโภคที่ใช้หรือเคยใช้สินค้าสมุนไพรแปรรูปที่มีอายุตั้งแต่ 20 ปีขึ้นไป จำนวน 400 คน ผู้ผลิตและผู้ประกอบการธุรกิจสินค้าสมุนไพรแปรรูป รวมถึงเจ้าหน้าที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจสินค้าสมุนไพรแปรรูป โดยใช้วิธีการแจกแบบสอบถาม การสัมภาษณ์เชิงลึก และการจัดประชุมแสดงความคิดเห็น สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ ได้แก่ ค่าความถี่ ค่าร้อยละ ค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน สถิติไคสแควส์ และหาระดับความสัมพันธ์โดยใช้ Cremer’s V
ผลการวิจัยพบว่า ผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่เป็นเพศหญิง อายุของผู้ตอบแบบสอบถามมีอายุ 31-40 ปีมากที่สุด มีระดับการศึกษาสูงสุดในระดับมัธยมศึกษาตอนปลายหรือต่ำกว่า ผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่มีอาชีพเป็นเกษตรกร มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือนต่ำกว่าหรือเท่ากับ 10,000 บาท และจำนวนสมาชิกในครัวเรือนมีจำนวน 2-3 คน ส่วนใหญ่ซื้อสินค้าสมุนไพรแปรรูปเพราะมีความเชื่อในสรรพคุณมากที่สุด ประเภทสินค้าสมุนไพรแปรรูปที่ซื้อบ่อยที่สุดคือ เครื่องสำอางสมุนไพร ส่วนใหญ่วัตถุประสงค์ในการซื้อคือ ซื้อเพื่อใช้หรือบริโภคเอง ปกติจะซื้อน้อยกว่า 1 ครั้งต่อเดือน ค่าใช้จ่ายในการซื้อต่อครั้งต่ำกว่า 500 บาท สถานที่ที่นิยมซื้อคือ ร้านขายยาปัจจุบัน แหล่งในการค้นหาข้อมูลส่วนใหญ่จะสอบถามข้อมูลจากคนรู้จักรวมถึงสื่ออินเตอร์เน็ต และจะมีรูปแบบการตัดสินใจซื้อจากประสบการณ์ของตนเอง การให้ความสำคัญต่อปัจจัยส่วนประสมทางการตลาด พบว่า ผู้ตอบแบบสอบถามให้ความสำคัญโดยรวมต่อปัจจัยด้านผลิตภัณฑ์อยู่ในระดับมากที่สุด รองลงมา ได้แก่ ปัจจัยด้านราคาอยู่ในระดับมาก ปัจจัยด้านช่องทางการจัดจำหน่ายอยู่ในระดับมาก และปัจจัยด้านการส่งเสริมการตลาดอยู่ในระดับมาก ตามลำดับ ส่วนการให้ความสำคัญต่อปัจจัยอื่น ๆ พบว่า ผู้ตอบแบบสอบถามให้ความสำคัญโดยรวมต่อปัจจัยด้านทัศนคติและความเชื่ออยู่ในระดับมากที่สุด รองลงมา ได้แก่ ปัจจัยด้านสภาพแวดล้อมภายนอกอยู่ในระดับมาก และปัจจัยด้านกลุ่มอ้างอิงอยู่ในระดับมาก ตามลำดับ
แนวทางกลยุทธ์ด้านการตลาดของสินค้าสมุนไพรแปรรูป 1) ด้านผลิตภัณฑ์ สินค้าสมุนไพรแปรรูปควรให้ความสำคัญในเรื่องคุณภาพ ความสะอาดของสินค้า รวมถึงการรับรองคุณภาพสินค้าจากผู้ผลิตหรือผู้จำหน่วย ผลิตภัณฑ์ได้รับการรองรับมาตรฐานจากหน่วยงานต่าง ๆ ให้ความสำคัญกับรูปลักษณ์ภายนอกของสินค้ามากขึ้น โดยเฉพาะการเลือกบรรจุภัณฑ์และการออกแบบฉลากที่มีรายละเอียดที่ชัดเจน 2) ด้านราคา สินค้าสมุนไพรแปรรูปควรกำหนดราคาเหมาะสมกับคุณภาพ และมีป้ายราคาบอกอย่างชัดเจน 3) ด้านช่องทางการจัดจำหน่าย สินค้าสมุนไพรแปรรูปควรมีวางจำหน่ายหลากหลายช่องทางให้มากขึ้น 4) ด้านการส่งเสริมการตลาด สินค้าสมุนไพรแปรรูปควรมีการโฆษณาผ่านสื่อดั้งเดิม ไม่ว่าจะเป็นวิทยุ แผ่นพับ นิตยสาร เป็นต้น และสื่ออินเตอร์เน็ต และนอกจากนี้ การใช้การส่งเสริมการขายเข้ามาช่วยจะเป็นการกระตุ้นให้เกิดการทดลองซื้อและกระตุ้นการขาย เช่น การแจกของแถม การให้ส่วนลด การแจกสินค้าตัวอย่าง การให้สมัครสมาชิกเพื่อเข้าร่วมกิจกรรม เป็นต้น

Title Alternate Studying of consumer's buying behavior for finished herbal product in Ubonratchathani province