แนวทางการพัฒนาด่านศุลกากรช่องเม็ก

Titleแนวทางการพัฒนาด่านศุลกากรช่องเม็ก
Publication Typeวิทยานิพนธ์/Thesis
Year of Publication2559
Authorsพิสมัย ทองมั่น
Degreeรัฐประศาสนศาสตรมหาบัณฑิต--สาขาวิชารัฐประศาสนศาสตร์
Institutionคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
Cityอุบลราชธานี
Call NumberHJ bพ773 2559
Keywordsด่านชายแดนไทย-ลาว, ด่านศุลกากร--การบริหาร--อุบลราชธานี, ด่านศุลกากรช่องเม็ก--การบริหาร, ศุลกากร--การบริหาร--อุบลราชธานี
Abstract

การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อ (1) ศึกษาสภาพแวดล้อมภายนอกและภายในองค์การ ที่มีผลต่อการพัฒนาของด่านศุลกากรช่องเม็ก และ (2) วิเคราะห์ทิศทางการพัฒนาการค้าชายแดนพรมแดนช่องเม็ก โดยใช้แนวคิดเกี่ยวกับการพัฒนาองค์การภาครัฐ และแนวคิดเกี่ยวกับการค้าชายแดนวิเคราะห์ด้วยเครื่องมือ SWOT Analysis โดยใช้กรอบแนวคิด 7s Frame work วิเคราะห์สภาพแวดล้อมภายใน และตัวแบบ PEST (LE) Analysis วิเคราะห์สภาพแวดล้อมภายนอก เป็นวิธีการวิจัยแบบผสมด้วยวิธีการวิจัยเชิงปริมาณ โดยการใช้แบบสอบถามผู้ที่เกี่ยวข้องจำนวน 120 คน และการวิจัยเชิงคุณภาพ โดยการสำรวจเอกสาร สัมภาษณ์และการสังเกตการณ์จากกลุ่มผู้ให้ข้อมูล รวมจำนวน 56 คน
ผลการศึกษาพบว่า การพัฒนาด่านศุลกากรช่องเม็ก มีโอกาสจากการที่หน่วยงานต่าง ๆ ส่งเสริมให้มีการพัฒนาการค้าชายแดน เพื่อยกระดับเศรษฐกิจทั้งในประเทศและระดับท้องถิ่น ซึ่งการค้าชายแดนมีแนวโน้มที่เพิ่มขึ้น จากจุดเด่นด้านภูมิศาสตร์ ความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐาน และประเทศลาว มีความต้องการสินค้าจากไทย อย่างไรก็ตามในการพัฒนา ได้ส่งผลกระทบต่อวิถีชาวบ้านซึ่งประชาชนได้ให้ข้อเสนอแนะว่า หากจะมีการพัฒนาก็อย่าลืมวิถีชีวิตชาวบ้าน
นอกจากนี้ จากภารกิตกรมศุลกากรที่ต้องเกี่ยวข้องกับหลายหน่วยงาน ทำให้เกิดปัญหาอุปสรรคในส่วนของผู้ปฏิบัติ ซึ่งหากเจ้าหน้าที่มีความรู้ความเข้าใจในเรื่องของกฎ ระเบียบ ข้อบังคับไม่เพียงพอ หรือมีระบบงานที่ยังไม่สอดรับกัน ก็ทำให้การปฏิบัติงานไม่เกิดประสิทธิภาพ สอดคล้องกับผลการศึกษาสภาพแวดล้อมภายในองค์การ พบว่า ปัญหา อุปสรรคในการพัฒนา ส่วนใหญ่เกิดจากปัญหาด้านบุคลากร เช่น การขาดทักษะ ความรู้ ความชำนาญ บุคลากรไม่เพียงพอ เป็นต้น และปัจจัยด้านการจัดสรรงบประมาณไม่เพียงพอ ทำให้ระบบงานไม่มีความต่อเนื่อง
จากข้อมูลดังกล่าวข้างต้น ผู้ศึกษาเสนอแนวทางการพัฒนาด่านศุลกากรช่องเม็ก โดยการจัดทำแผ่นงาน/โครงการ ในการพัฒนาพื้นที่ชายแดนร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ โดยขอรับจัดสรรพื้นที่ให้เหมาะสมต่อภารกิจ และกระทบต่อประชาชนให้น้อยที่สุด และแผนด้านการเตรียมความพร้อมในการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) และการพัฒนาด่านชายแดนให้เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ (SEZ) โดยการเตรียมความพร้อมด้านบุคลากรให้มีความรู้ในด้านการปฏิบัติงาน เช่น ด้านกฎ ระเบียบ ข้อบังคับ ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ ด้านภาษาและวัฒนธรรมของประเทศเพื่อนบ้าน เป็นต้น และเตรียมความพร้อมในการให้บริการ การอำนวยความสะดวกและการควบคุมทางศุลกากร โดยการจัดหาเครื่องมือช่วยในการตรวจสอบเพิ่มเติม เช่น เครื่องเอกซเรย์ตู้สินค้า เครื่องชั่งน้ำหนักรถบรรทุกสินค้า รวมทั้งการประชาสัมพันธ์ในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการศุลกากร เป็นต้น
ข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย รัฐบาลควรสนับสนุนให้ (1) มีการใช้เทคโนโลยีในการเชื่อมโยงข้อมูล และ (2) ให้มีการขยายการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษ เพื่อเป็นการยกระดับเศรษฐกิจให้กับชุมชนบริเวณชายแดน พร้อมให้คำแนะนำแก่ชุมชนให้รับทราบถึงผลประโยชน์ต่อส่วนรวมในระยะยาว

Title Alternate Direction of development of Chong Mek Customs House