ความเครียดในการปฏิบัติหน้าที่และแนวทางแก้ไขปัญหาของกำลังพลหน่วยเฉพาะกิจที่ 1 กองกำลังสุรนารี

Titleความเครียดในการปฏิบัติหน้าที่และแนวทางแก้ไขปัญหาของกำลังพลหน่วยเฉพาะกิจที่ 1 กองกำลังสุรนารี
Publication Typeวิทยานิพนธ์/Thesis
Year of Publication2557
Authorsเอื้อพร คิดคินสัน
Degreeศิลปศาสตรมหาบัณฑิต--สาขาวิชาสังคมศาสตร์และการพัฒน
Institutionคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
Cityอุบลราชธานี
Call NumberBF อ933 2557
Keywordsความเครียด (จิตวิทยา)--การจัดการ, ความเครียดในการทำงาน
Abstract

การศึกษาเรื่อง ความเครียดในการปฏิบัติหน้าที่และแนวทางการแก้ไขปัญหาของกำลังพลหน่วยเฉพาะกิจที่ 1 กองกำลังสุรนารี เป็นการศึกษาในรูปแบบงานวิจัยเชิงปริมาณ และเชิงคุณภาพโดยมีวัตถุประสงค์ 3 ประการ คือ ประการแรกเพื่อศึกษาระดับความเครียดที่เป็นผลมาจากการปฏิบัติหน้าที่ของกำลังพล หน่วยเฉพาะกิจที่ 1 กองกำลังสุรนารี ประการที่สอง เพื่อศึกษาปัจจัยแวดล้อมและปัจจัยส่วนบุคคลที่ทำให้กำลังพล หน่วยเฉพาะกิจที่ 1 กองกำลังสุรนารี เกิดความเครียดและประการที่สาม เพื่อศึกษาวิธีการจัดการ เพื่อขจัดหรือขจัดความเครียดของกำลังพลเมื่อเกิดความเครียด โดยกลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัย คือ กำลังพลระดับพลทหาร นายทหารชั้นประทวนและนายทหารชั้นสัญญาบัตร หน่วยเฉพาะกิจที่ 1 กองกำลังสุรนารี ที่ปฏิบัติหน้าที่บริเวณชายแดนไทย-กัมพูชา อำเภอกันทรลักษ์ จังหวัดศรีสะเกษ จำนวน 222 นาย ได้จากการสุ่มตัวอย่างแบบบังเอิญ โดยใช้แบบสอบถาม และการสัมภาษณ์ เป็นเครื่องมือในการเก็บรวบรวมข้อมูล ผลการวิจัยพบว่า
(1) กำลังพลส่วนใหญ่มีความเครียดในระดับน้อย โดยมีอาการหรือความรู้สึกเบื่อ เซ็ง มากที่สุด (ค่าเฉลี่ย = 2.83)
(2) ปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อมและปัจจัยส่วนบุคคล ในภาพรวมส่งผลให้กำลังเกิดความเตรียด ในระดับน้อย (ค่าเฉลี่ย=2.28) โดยปัจจัยที่มีค่าเฉลี่ยมากที่สุด คือ ด้านครอบครัว ความผาสุก ในการดำรงชีวิต
(3) การจัดการแก้ไขปัญหาเมื่อกำลังพลเกิดความเครียดกำลังพลได้ใช้วิธีการต่าง ๆ ในการจัดการความเครียดเป็นบางครั้ง (ค่าเฉลี่ย=2.37) โดยวิธีที่ใช้ในการจัดการความเครียดมากที่สุด 3 ลำดับ คือ การหลีกเลี่ยงการปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่ที่เสี่ยงภัยและหาวิธีป้องกันอันตราย การพูดคุยกับเพื่อและหัวเราะสร้างอารมณ์ขันและการอ่านหนังสือ ดูหนัง ฟังเพลง ซึ่งเป็นการจัดการแบบการมุ่งแก้ไขปัญหา และการแสวงหาการสนับสนุนทางสังคม
การศึกษาครั้งนี้ชี้ให้เห็นว่าการสนับสนุนให้กำลังพลใช้วิธีการที่เหมาะสมในการจัดการเมื่อเกิดความเครียดเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง โดยเฉพาะการเน้นการสร้างความสัมพันธ์ทางสังคมระหว่างผู้บังคับบัญชาและผู้ใต้บังคับบัญชา รวมทั้งการสร้างความเข้าใจในบทบาทหน้าที่ของกำลังพล ในการปฏิบัติภารกิจเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยของพื้นที่ชายแดน ให้บรรลุเป้าหมาย อันจะส่งผลให้กำลังพลมีความเครียดจากการปฏิบัติหน้าที่ลดลงด้วย

Title Alternate Stress relating to the conduct of operational duties among the personnel of task force 1 Suranaree field force and solutions to deal with the problem