การประยุกต์ใช้หลักการออกแบบเชิงนิเวศในกระบวนการออกแบบเพื่อเพิ่มมูลค่าให้แก่ไม้เหลือทิ้งจากการก่อสร้างโดยเปลี่ยนให้เป็นผลิตภัณฑ์สีเขียว

Titleการประยุกต์ใช้หลักการออกแบบเชิงนิเวศในกระบวนการออกแบบเพื่อเพิ่มมูลค่าให้แก่ไม้เหลือทิ้งจากการก่อสร้างโดยเปลี่ยนให้เป็นผลิตภัณฑ์สีเขียว
Publication Typeวิทยานิพนธ์/Thesis
Year of Publication2557
Authorsพัชริดา ปรีเปรม
Degreeปรัชญาดุษฎีบัณฑิต--สาขาวิชาการออกแบบผลิตภัณฑ์
Institutionคณะศิลปประยุกต์และการออกแบบ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
Cityอุบลราชธานี
Call NumberNK พ522 2557
Keywordsการออกแบบ--แง่สิ่งแวดล้อม, การออกแบบเชิงนิเวศ, ผลิตภัณฑ์สีเขียว, วัสดุและอุปกรณ์ก่อสร้าง--แง่สิ่งแวดล้อม, ไม้เหลือทิ้งจากการก่อสร้าง
Abstract

งานวิจัย “การประยุกต์ใช้หลักการออกแบบเชิงนิเวศในกระบวนการออกแบบเพื่อเพิ่มมูลค่าให้แก่ไม้เหลือทิ้งจากการก่อสร้างโดยเปลี่ยนให้เป็นผลิตภัณฑ์สีเขียว” เกิดขึ้นจากปัญหาการใช้ทรัพยากรป่าไม้อย่างไม่คุ้มค่าของงานก่อสร้างที่อยู่ในเขตเมือง และความขาดแคลนครุภัณฑ์ทางการศึกษาของโรงเรียนในชุมชนขนาดเล็กที่อยู่ชนบทซึ่งนำมาสู่การกำหนดเป้าหมายการแก้ปัญหาทั้งสองด้านนี้ไปพร้อมกัน ด้วยแนวทางการเปลี่ยนไม้ใช้แล้วไปเป็นครุภัณฑ์สีเขียวใช้ในโรงเรียนด้วยหลักการออกแบบเชิงนิเวศและการมีส่วนร่วมของชุมชน วัตถุประสงค์ในการวิจัยนี้ ประกอบด้วย (1) เพื่อศึกษาวงจรชีวิตปัจจุบันของไม้ที่ใช้ในงานก่อสร้าง และแสวงหาวงจรที่ยั่งยืนของไม้ เปรียบเทียบกับวงจรชีวิตปัจจุบัน (2) เพื่อพัฒนากระบวนการออกแบบเชิงนิเวศที่สอดคล้องกับบริบทชุมชน ผ่านการผลิตจริงด้วยการมีส่วนร่วมของชุมชนต้นแบบ และ (3) เพื่อประเมินมูลค่าเชิงรูปธรรมเชิงนามธรรม ด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม เปรียบเทียบระหว่างวงจรชีวิตเดิมของไม้และถอดบทเรียนจากการวิจัย เป็นแนวทางการประยุกต์และขยายผลออกไป
การวิจัยมี 4 ขั้นดังนี้ (1) ศึกษาและสำรวจเบื้องต้น เพื่อทราบวงจรชีวิตของไม้ที่ใช้ในงานก่อสร้างปัจจุบัน และเพื่อทราบข้อมูลพื้นที่ซึ่งนำไปสู่การคัดเลือกชุมชนต้นแบบสำหรับการวิจัย (2) เริ่มกิจกรรมการมีส่วนร่วม โดยการศึกษาบริบทของชุมชนและโรงเรียนต้นแบบและพัฒนาความพร้อมของชุมชนโดยจัดเสวนาและกิจกรรมภาคปฏิบัติเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และแสวงหาแนวทางการทำงานร่วมกัน (3) ปฏิบัติการพัฒนาผลิตภัณฑ์สีเขียวด้วยการมีส่วนร่วม มีการระบุรายการผลิตภัณฑ์ออกแบบและสร้างผลิตภัณฑ์ด้วยภูมิปัญญา ทักษะ เครื่องมือ-อุปกรณ์ที่จัดหาภายในชุมชน และ (4) ประเมินผลสัมฤทธิ์ในการดำเนินงาน ถอดบทเรียน และสรุปผล
ข้อค้นพบจากการวิจัยมีดังนี้ (1) เส้นทางชีวิตใหม่ที่ยั่งยืนของไม้ใช้แล้วจากการก่อสร้างโดยการเปลี่ยนเป็นผลิตภัณฑ์สีเขียวใช้ในโรงเรียนด้วยการมีส่วนร่วมของชุมชน แทนที่เส้นทางชีวิตเดิมที่จบด้วยการทำฟืนปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่บรรยากาศ (2) กระบวนการพัฒนาความพร้อมของชุมชนเพื่อกิจกรรมการมีส่วนร่วมที่มีประสิทธิผล และกระบวนการพัฒนาผลิตภัณฑ์สีเขียวด้วยภูมิปัญญา ทักษะและเครื่องมือในชุมชน และ (3) คุณค่าที่เกิดขึ้นจากกิจกรรมทั้งทางตรงและทางอ้อม ด้านเศรษฐกิจสังคม และสิ่งแวดล้อม ที่เป็นรูปธรรมและนามธรรมซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญของความยั่งยืนรวมถึงบทเรียนที่ได้จากการดำเนินงานชุมชนมีส่วนร่วมที่สามารถนำไปปรับใช้กับชุมชนอื่น ๆ ได้ต่อไป

Title Alternate Application of eco-design principles in the design processes to add values to construction waste wood by converting to green product