สถานการณ์การเลี้ยงปลานิลในกระชังและปรสิตภายนอกบริเวณแม่น้ำมูล จังหวัดอุบลราชธานี

Titleสถานการณ์การเลี้ยงปลานิลในกระชังและปรสิตภายนอกบริเวณแม่น้ำมูล จังหวัดอุบลราชธานี
Publication Typeวิทยานิพนธ์/Thesis
Year of Publication2557
Authorsบัวแก้ว วงอำนาจ
Degreeวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต--สาขาวิชาเกษตรศาสตร์
Institutionคณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
Cityอุบลราชธานี
Call NumberSH บ274 2557
Keywordsปรสิต, ปลานิล--การเลี้ยง--อุบลราชธานี, อุบลราชธานี, แม่น้ำมูล
Abstract

การศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อรวบรวมข้อมูลสถานการณ์การเลี้ยงปลานิลในกระชังในแม่น้ำมูล และการเกิดปรสิตภายนอกของปลานิลที่เลี้ยงในกระชัง ในพื้นที่ 3 อำเภอของจังหวัดอุบลราชธานี ผลการสัมภาษณ์เกษตรกรผู้เลี้ยงปลานิลจำนวน 237 ราย พบว่า เกษตรกรส่วนใหญ่เป็นเพศชาย มีอายุ 51 ปีขึ้นไป จบการศึกษาในระดับชั้นประถมเป็นส่วนใหญ่ ประสบการณ์ในการเลี้ยง 6-10 ปี มีรายได้ต่อเดือนอยู่ที่ 8,001-10,000 บาท ส่วนใหญ่เลี้ยงปลาด้วยทุนจากบริษัท มีการใช้กระชังขนาด 3*6*3 4*6*5 5*6*3 เมตร แต่ละรายมีจำนวนกระชังต่ำกว่า 10 กระชัง ลูกพันธุ์ที่เลี้ยงส่วนใหญ่ซื้อจากบริษัทเอกชนขนาดใหญ่ ขนาดลูกปลาที่ปล่อยโดยเฉลี่ย 21-40 กรัม ใช้อาหารปลานิลสำเร็จรูปในการเลี้ยง ต้นทุนเฉลี่ยมากกว่า 50 บาท/กก. ผลผลิตเฉลี่ยต่อกระชังแต่ละรุ่นอยู่ที่ 801-1200 กก./กระชัง อัตรารอดเฉลี่ยต่อกระชังร้อยละ 51-70 และ 1 ปี เลี้ยงปลาได้ 2 รุ่น มีการใช้เครื่องเติมออกซิเจนระหว่างการเลี้ยง ความรู้เกี่ยวกับเรื่องปรสิตภายนอกของเกษตรกรอยู่ในระดับปานกลาง และเคยประสบปัญหาโรคที่เกิดจากปรสิตภายนอก ฤดูกาลที่พบปรสิตภายนอกมากที่สุดได้แก่ฤดูร้อน อาการที่สังเกตและสันนิษฐานได้ว่าปลาเป็นโรค คือ ปลามีอาการลอยหัวเป็นส่วนใหญ่ ร่วมกับการที่ปลาไม่กินอาหารหรือกินอาหารน้อยลง ปรสิตภายนอกที่พบตลอดการเลี้ยงและส่งผลกระทบต่อการเลี้ยงมากที่สุด คือ เห็บระฆัง เกษตรกรส่วนใหญ่ไม่มีการแจ้งเจ้าหน้าที่ประมงและไม่ได้ทำการรักษาอาการเบื้องต้น ปัญหาคุณภาพน้ำที่ทำให้ปลาตายมากที่สุด ได้แก่ ออกซิเจนที่ละลายได้ในน้ำต่ำ เกษตรกรส่วนใหญ่ได้รับความรู้ในการเลี้ยงปลาจากตัวแทนขายเวชภัณฑ์
จากการสุ่มเก็บตัวอย่างปลานิลที่เลี้ยงระหว่างเดือนสิงหาคม 2556 – เมษายน 2557 และตรวจวัดคุณภาพน้ำ พบปรสิตภายนอก 5 สกุล ได้แก่ Trichodina sp. Gyrodactylus sp. Dactylogyrus sp. Oodinium sp. และ Epistylis sp. ชนิดที่พบตลอดช่วงการศึกษาได้แก่ Trichodina sp. Gyrodactylus sp. และ Dactylogyrus sp. ชนิดที่พบมากที่สุดได้แก่ Trichodina sp. รองลงมาได้แก่ Dactylogyrus sp. ชนิดที่พบจำนวนน้อยที่สุดได้แก่ Epistylis sp. เมื่อวิเคราะห์ความแปรปรวนของจำนวนปรสิตกับคุณภาพน้ำพบว่าค่าความโปร่งใสที่เพิ่มขึ้นส่งผลให้ค่าเฉลี่ยความชุกชุมของ Dactylogyrus sp. และ Epistylis sp. มีแนวโน้มสูงขึ้น อุณหภูมิของน้ำต่ำและค่าไนไตรท์-ไนโตรเจนที่สูงขึ้น ส่งผลให้ค่าเฉลี่ยความชุกชุมของ Gyrodactylus sp. สูงขึ้น และความกระด้างที่ต่ำจะส่งผลให้ความชุกชุมของ Oodinium sp. สูงขึ้น

Title Alternate Cage culture of Nile tilapia (Oreochromis niloticus) and ectoparasite in Mun river, Ubon Ratchathani province