การเพิ่มคุณค่าเส้นใยพืชชุ่มน้ำด้วยกระบวนการพัฒนาการออกแบบและแปรรูป

Titleการเพิ่มคุณค่าเส้นใยพืชชุ่มน้ำด้วยกระบวนการพัฒนาการออกแบบและแปรรูป
Publication Typeวิทยานิพนธ์/Thesis
Year of Publication2556
Authorsจุฑาทิพย์ นามวงษ์
Degreeปรัชญาดุษฏีบัณฑิต--สาขาวิชาออกแบบผลิตภัณฑ์
Institutionคณะศิลปประยุกต์และการออกแบบ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
Cityอุบลราชธานี
Call NumberNK จ623 2556
Keywordsการแปรรูปผลิตภัณฑ์, ผลิตภัณฑ์พืช--การออกแบบ, พืชชุ่มน้ำ, พืชเส้นใย--การออกแบบผลิตภัณฑ์
Abstract

การพัฒนากระบวนการแปรรูปเส้นใยพืชชุ่มน้ำด้วยกระบวนการพัฒนาการออกแบบและแปรรูปนี้ ผู้วิจัยได้กำหนดวัตถุประสงค์ในการวิจัยไว้ 3 ประการ คือ 1) เพื่อศึกษาและคัดเลือกเส้นใย พืชชุ่มน้ำในประเทศไทยที่มีคุณสมบัติเหมาะสมในการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์สิ่งทอ 2) เพื่อพัฒนากระบวนการแปรรูปสิ่งทอจากเส้นใยพืชชุ่มน้ำได้คุณภาพมาตรฐาน สอดคล้องกับสภาวะการผลิตและจำหน่าย 3) เพื่อออกแบบผลิตภัณฑ์สิ่งทอจากเส้นใยพืชชุ่มน้ำให้สามารถเพิ่มมูลค่าทางการตลาด โดยดำเนินการวิจัยในลักษณะผสมระหว่างการวิจัยและพัฒนา การวิจัยเชิงคุณภาพ มีกลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในงานวิจัย จำนวน 2 กลุ่ม ตามวัตถุประสงค์ในการวิจัย คือ กลุ่มตัวอย่างในการศึกษาทดลองและพัฒนาคุณสมบัติเส้นใยพืชชุ่มน้ำ เป็นกลุ่มผู้ผลิตงานหัตถกรรมจากเส้นใยพืชชุ่มน้ำซึ่งจดทะเบียนในโครงการหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ในจังหวัดศรีสะเกษ อุบลราชธานีและยโสธร ในปี 2553 จำนวน 9 กลุ่ม เพื่อคัดเลือกและประเมินความเหมาะสมของเส้นใยพืชชุ่มน้ำ และกลุ่มตัวอย่างผู้บริโภคซึ่งเป็นผู้สนใจงานหัตถกรรมเส้นใยพืชทั้งชาวไทยและต่างประเทศที่มาชมนิทรรศการโครงการหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ (OTOP) ในระดับประเทศ จำนวน 375 คน โดยกำหนดจำนวนตามหลักทฤษฎีของยามาเน่ (Yamane, 1973) ด้วยวิธีการเลือกกลุ่มตัวอย่างแบบบังเอิญ เพื่อประเมินความเหมาะสมของรูปแบบผลิตภัณฑ์และใช้เครื่องมือในการเก็บรวบรวมข้อมูล ได้แก่ แบบสัมภาษณ์แบบเจาะลึก แบบบันทึกการสนทนา และการสัมภาษณ์กลุ่ม แบบบันทึกการทดลองและแบบสอบถาม และวิเคราะห์ข้อมูลด้วยสถิติ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย และค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน
ผลการวิจัย พบว่า ในการคัดเลือกพืชชุ่มน้ำเพื่อนำไปพัฒนากระบวนการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์สิ่งทอสำหรับกลุ่มผู้ผลิตสินค้าโครงการหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ (OTOP) ในพื้นที่ 3 จังหวัด คือ ศรีสะเกษ อุบลราชธานี และยโสธรนั้น สามารถคัดเลือกพืชชุ่มน้ำที่มีคุณสมบัติเหมาะสมได้ 5 ชนิด ได้แก่ 1) กกจันทบูรณ์หรือกกกลม (Cyperus corymbosus Rotth) 2) กกรังกาหรือไหล (Cyperus involucratus Rottb.) 3) กกสามเหลี่ยมหรือผือ (Actinoscirpus grossus.) 4) ธูปฤาษี (Typha angustifolia L.) และ 5) เตยหนาม (Pandanus capusii Mart.) ซึ่งผู้วิจัยได้ศึกษาทดลองและพัฒนากระบวนการแปรรูปเส้นใยโดยใช้กรรมวิธีดั้งเดิม 5 วิธี ได้แก่ การรีดแบน การจัด การกรีด การทุบและการต้ม และพัฒนากรรมวิธีใหม่ 2 วิธี ได้แก่ การลอกเปลือก และการแกะเปลือก จากนั้นทดลองนำเส้นใยไปขึ้นรูปเป็นผลิตภัณฑ์ในหลากหลายวิธี เช่น การทอ การสาน การมัดผูก การถัก และการเย็บ ผลการวิจัย พบว่า กระบวนการแปรรูปที่เหมาะสมกับพืชชุ่มน้ำแต่ละชนิดซึ่งได้คัดเลือกมานั้น มีความแตกต่างกัน โดยเศษเส้นใยหรือฝุ่นผงจากกระบวนการผลิตสามารถนำไปแปรรูปเป็นกระดาษได้
จากการสรุปวิเคราะห์ข้อมูล การออกแบบ ร่างแบบและคัดเลือกแบบโดยผู้เชี่ยวชาญได้ผลิตภัณฑ์รูปแบบใหม่ จำนวน 5 รูปแบบ คือ หมอนอิง โคมไฟ กระจกฉาก โต๊ะกาแฟ และตะกร้า ซึ่งผู้วิจัยได้นำไปให้กลุ่มตัวอย่างผู้บริโภค 375 คน ทำการประเมินความเหมาะสมของผลิตภัณฑ์ ผลจากการประเมินพบว่า โดยภาพรวมผู้บริโภคมีความพึงพอใจต่อผลิตภัณฑ์ที่ออกใหม่ ในระดับ 4.25 โดยมีลำดับความพึงพอใจมากที่สุดไปหาน้อยที่สุดและมีค่าคะแนนเฉลี่ยของแต่ละผลิตภัณฑ์ ดังนี้ 1) กระจกฉาก (ค่าเฉลี่ย = 4.45) หมอนอิง (ค่าเฉลี่ย=4.28) โคมไฟ (ค่าเฉลี่ย=4.28) 4) โต๊ะกาแฟ (ค่าเฉลี่ย= 4.23) และ 5)ตะกร้า (ค่าเฉลี่ย= 4.00) ซึ่งผู้วิจัยจะได้นำองค์ความรู้จากการวิจัยไปเผยแพร่และถ่ายทอดให้กับกลุ่มผู้ผลิตสินค้าในโครงการหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ในพื้นที่ศึกษา เพื่อให้ได้แนวทางในการพัฒนากระบวนการแปรรูปเส้นใยพืชชุ่มน้ำให้สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มในการขยายโอกาสทางการตลาด

Title Alternate Adding value to wetland plant fiber by design development process and production