การจัดการทรัพยากรธรรมชาติโดยชุมชน: กรณีศึกษาป่าชุมชนในจังหวัดอุบลราชธานี

Titleการจัดการทรัพยากรธรรมชาติโดยชุมชน: กรณีศึกษาป่าชุมชนในจังหวัดอุบลราชธานี
Publication Typeวิทยานิพนธ์/Thesis
Year of Publication2558
Authorsกาญจนา คุ้มทรัพย์
Degreeปรัชญาดุษฎีบัณฑิต--สาขาวิชาพัฒนบูรณาการศาสตร์
Institutionคณะบริหารศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
Cityอุบลราชธานี
Call NumberSD ก425 2558
Keywordsการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ--การมีส่วนร่วมของชุมชน, การจัดการทรัพยากรธรรมชาติ--อุบลราชธานี, การจัดการป่าไม้--อุบลราชธานี, ป่าชุมชน--อุบลราชธานี
Abstract

ปัญหาการลดลงของพื้นที่ป่าไม้อย่างต่อเนื่อง ทำให้รัฐบาลโดยกรมป่าไม้นำแนวคิดของการจัดการป่าไม้แบบมีส่วนร่วมในรูปป่าชุมชนเป็นทางเลือกหนึ่งของการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้และการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน ทางปฏิบัติมีปัญหาความขัดแย้งในเชิงหลักการและแนวคิดของการจัดการป่าชุมชนระหว่างภาครัฐและภาคประชาชน งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาแนวคิดและกระบวนการจัดการป่าชุมชนในประเทศไทย และวิเคราะห์กระบวนการจัดการป่าชุมชนและนำเสนอรูปแบบสถาบันเพื่อการจัดการป่าชุมชนให้ยั่งยืน เป็นงานวิจัยเชิงคุณภาพ จากกรณีศึกษาป่าชุมชนสี่แห่งในจังหวัดอุบลราชธานี ได้แก่ ชุมชนบ้านชาด ชุมชนบ้านดอนหมู ชุมชนบ้างวังอ้อ และชุมชนบ้านโนนแดง โดยวิธีการสังเกต สัมภาษณ์เชิงลึกผู้ให้ข้อมูลหลัก ได้แก่ เจ้าหน้าที่ภาครัฐ เจ้าหน้าที่จากองค์กรพัฒนาเอกชน นักวิชากร นักวิจัย ผู้นำชุมชน กรรมการป่าชุมชน และชาวบ้าน โดยใช้กระบวนการวิเคราะห์ สังเคราะห์ข้อมูล จากภาคสนามและเอกสาร งานวิจัยที่เกี่ยวข้อง ภายใต้กรอบแนวคิดบูรณาการศาสตร์
ผลการศึกษา พบว่าแนวคิดของกระบวนการจัดการป่าชุมชนในประเทศไทย รัฐรวมศูนย์อำนาจการจัดการทรัพยากรป่าไม้ มองมิติการจัดการเชิงพื้นที่ การบริหารจัดการในเชิงวิชาการป่าไม้ มากกว่าการจัดการความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ ขาดการบูรณาการระหว่างการพัฒนาด้านเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม ขาดการบูรณาการระหว่างทรัพยากรป่าไม้กับทรัพยากรธรรมชาติอื่นในเชิงระบบนิเวศที่เป็นองค์รวม ทำให้การกำหนดนโยบายขาดความสอดคล้องกับความเป็นจริงก่อให้เกิดปัญหาความขัดแย้งยังคงดำรงอยู่ ดังนั้น การจัดการป่าชุมชนจึงเป็นขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม ที่เรียกร้องให้ภาครัฐมีนโยบายและแนวปฏิบัติที่สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงของสังคมภายใต้กรอบของกฎหมาย และบทบัญญัติรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 ว่าด้วยเรื่องของสิทธิชุมชน
กระบวนการจัดการป่าชุมชนในจังหวัดอุบลราชธานี พบว่า ชุมชนรวมกลุ่มกันเป็นองค์กรเพื่อดูแลรักษาป่าและร่วมกันกำหนดกฎกติกาหรือสถาบันเพื่อควบคุมพฤติกรรมการใช้ประโยชน์เป็นไปตาม หลักการออกแบบกฎกติกาสำหรับการจัดการทรัพยากรส่วนรวมที่ยั่งยืน อาศัยความเชื่อ จารีต ประเพณี วัฒนธรรมชุมชน ภูมิปัญญาท้องถิ่นและความรู้การจัดการป่าไม้จากการเข้าอบรมและเรียนรู้จาเจ้าหน้าที่ป่าไม้ภายใต้กรอบของกฎหมาย มีคณะกรรมการป่าชุมชน ทำหน้าที่เป็นผู้ดูแลให้เป็นไปตามกฎกติกา ร่วมกันดูแลรักษาและร่วมรับประโยชน์ที่เกิดขึ้นอย่างทั่วถึงและเป็นธรรม โดยมีการปรับปรุงกฎกติกาให้สอดคล้องกับสภาพการเปลี่ยนแปลงของทรัพยากรและบริบทของชุมชน มีกลไกการจัดการความขัดแย้ง มีระบบการติดตามตรวจสอบสภาพของทรัพยากรและการใช้ประโยชน์ในป่าชุมชน มีการลงโทษหากมีการละเมิดกฎกติกา มีการเชื่อมโยงเครือข่ายทั้งในระดับชุมชน ระดับจังหวัด และระดับประเทศ กฎกติกาในระดับชุมชนมีความสอดคล้องกับกฎหมายและรัฐธรรมนูญ โดยอาศัยกระบวนการมีส่วนร่วมทั้งจากภายในและภายนอกชุมชน การสนับสนุนจากองค์กรพัฒนาเอกชน หน่วยงานของรัฐ และนำกระบวนการเรียนรู้มาใช้ เพื่อให้ชุมชนพึ่งตนเองและจัดการตนเองได้อย่างเป็นองค์รวม มีการคัดกรองและคัดเลือกโครงการกิจกรรมจากภายนอกเพื่อให้สอดคล้องตรงตามความต้องการของสมาชิกในชุมชน มีการบูรณาการเรื่องป่าชุมชนเข้ากับการพัฒนาด้านอื่น ๆ ของชุมชน มีการจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้ในชุมชนเพื่อเป็นแหล่งแลกเปลี่ยนเรียนรู้และสร้างกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง มีการประยุกต์ใช้แนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงมาเป็นแนวทางบริหารจัดการป่าชุมชน โดยบูรณาการเข้ากับวิถีปฏิบัติ วิถีความคิดและวิถีการดำเนินชีวิต
รูปแบบสถาบันเพื่อการจัดการป่าชุมชนให้ยั่งยืน ต้องมีการกำหนดให้ครบทั้งในระดับที่ก่อให้เกิดผลต่อการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม ด้วยการมีกฎกติกาทั้งทางศีลธรรมและกฎหมายเพื่อควบคุมพฤติกรรมของสมาชิกให้เป็นไปในทางที่เกื้อกูลต่อการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ และได้รับผลจากการกระทำเป็นความสุขใจ พอใจอันเป็นผลต่อการเปลี่ยนแปลงในระดับจิตใจที่เต็มใจและยินดีที่จะกระทำโดยไม่ต้องมีการบังคับ และมีการพิจารณาไตร่ตรองถึงเหตุผล เห็นคุณและโทษของสิ่งที่กระทำจนเกิดการเปลี่ยนแปลงในระดับปัญญาเห็นแจ้งในการกระทำส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตไปในทางที่เกื้อกูลต่อธรรมชาติ

Title Alternate Community natural resource management: case study of community forest, Ubon Ratchathani