การค้นหาผู้ป่วยโรคเรื้อนรายใหม่โดยการคัดกรองจากผู้ป่วยโรคผิวหนัง (Active search in dermatological disease patient: ADP) ที่โรงพยาบาลกันทรลักษ์ จังหวัดศรีสะเกษ

Titleการค้นหาผู้ป่วยโรคเรื้อนรายใหม่โดยการคัดกรองจากผู้ป่วยโรคผิวหนัง (Active search in dermatological disease patient: ADP) ที่โรงพยาบาลกันทรลักษ์ จังหวัดศรีสะเกษ
Publication Typeวิทยานิพนธ์/Thesis
Year of Publication2552
Authorsปัญญา จิรมหาศาล
Degreeวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต--สาขาวิชาการบริหารบริการสุขภาพ
Institutionคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
Cityอุบลราชธานี
Call NumberRC ป524
Keywordsโรคเรื้อน--การวินิจฉัย, โรคเรื้อน--ผู้ป่วย
Abstract

การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงปฏิบัติการ (Operational epidemiology) มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนารูปแบบการค้นหาผู้ป่วยโรคเรื้อนรายใหม่ โดยการคัดกรองจากผู้ป่วยโรคผิวหนังที่โรงพยาบาลกันทรลักษ์ จังหวัดศรีสะเกษ เหมาะสมกับสถานการณ์ความชุกของโรคต่ำและมีต้นทุนประสิทธิภาพที่เหมาะสม ศึกษาค่าใช้จ่ายในการค้นหาผู้ป่วยโรคเรื้อนรายใหม่ โดยการคัดกรองจากผู้ป่วยผิวหนังที่โรงพยาบาลกันทรลักษ์ จังหวัดศรีสะเกษ โดยคัดเลือกจากผู้ป่วยโรคผิวหนังที่มารับบริการที่โรงพยาบาลกันทรลักษ์มากกว่า 2 ครั้ง และมีที่อยู่ในอำเภอกันทรลักษ์ และอำเภอเบญจลักษ์ ทำการแจ้งติดตามผู้ป่วยโรคผิวหนังด้วยจดหมาย ให้เข้ารับการตรวจคัดกรองหาโรคเรื้อนจากกลุ่มประชากรผู้ป่วยโรคผิวหนัง จำนวน 5,730 คน เข้าเกณฑ์ 769 คน ในช่วงเดือนตุลาคม 2551 – กุมภาพันธ์ 2552
ผลการศึกษาพบว่า กลุ่มตัวอย่างมารับการตรวจ 567 คน คิดเป็นร้อยละ 73.73 ส่วนใหญ่เป็นเพศหญิงร้อยละ 54.10 อายุต่ำสุด 2 ปี อายุสูงสุด 95 ปี ส่วนใหญ่อยู่ในหมู่บ้านปกติ ร้อยละ 69.83 พบเป็นโรคเรื้อน 3 คน อยู่ในหมู่บ้านปกติ 1 ราย อยู่ในหมู่บ้านที่มีผู้ป่วยเก่าในระยะมากกว่า 5 ปี 2 ราย อัตราการพบผู้ป่วยโรคเรื้อนรายใหม่ 1 ราย เฉลี่ยค่าใช้จ่ายต่อการพบผู้ป่วยโรคเรื้อนรายใหม่ 1 ราย คิดเป็นเงิน 2,887.67 บาท ใช้บุคลากรในการดำเนินการ 1 คน
จากผลการศึกษา ชี้ให้เห็นว่าแนวทางการค้นหาผู้ป่วยโรคเรื้อนรายใหม่ยังคงเน้นการค้นหาเชิงรุกมากกว่าตั้งรับ เพียงแต่ในสภาวการณ์ปัจจุบันการจัดสรรงบประมาณเปลี่ยนไปอาจจำเป็นต้องหันกลับมาค้นหาเชิงรุกจากทะเบียนผู้ป่วยที่มารับบริการที่หน่วยงานของตนเอง โดยการคัดกรองจากผู้ป่วยโรคผิวหนังที่โรงพยาบาล และยังเป็นตัวสะท้อนให้เห็นว่า ไม่ควรปล่อยปละละเลยหมู่บ้านปกติและหมู่บ้านที่มีผู้ป่วยโรคเรื้อนเก่าในช่วงมากกว่า 5 ปี การคัดกรองเป็นรูปแบบง่าย ๆ สามารถบูรณาการเข้ากับงานตรวจรักษาโรคทั่วไป (แผนกผู้ป่วยนอก) ของสถานบริการสาธารณสุขทั่วไปได้ หรือเป็นรูปแบบง่าย ๆ ที่สามารถนำไปใช้ในสถานบริการระดับปฐมภูมิซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีช่องทางที่ผู้ป่วยเข้ารับบริการได้สะดวก จึงควรส่งเสริมให้สามารถคัดกรองและส่งต่อผู้ที่สงสัยไปรับการตรวจวินิจฉัยโรคเรื้อนตามระบบต่อไป

Title Alternate A study of new leprosy case finding by active search in dermatological disease patient (ADP) in Kantaraluk hospital, Sisaket