ผลของกระบวนการผลิตต่อความคงตัวของแคปซูลสมุนไพร

Titleผลของกระบวนการผลิตต่อความคงตัวของแคปซูลสมุนไพร
Publication Typeงานวิจัย/Research report
Year of Publication2547
Authorsวิภาวี เสาหิน, ปรีชา บุญจูง, กรชนก แก่นคำ, เบญจภรณ์ เศรษฐบุปผา, อารี วังมณีรัตน์, ทรงพร จึงมั่นคง, ชลลัดดา พิชญาจิตติพงษ์
Institutionคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
Cityอุบลราชธานี
Call NumberQK99.T5 ว657
Keywordsกระบวนการผลิต, การผสมยา, ขมิ้นชัน, ขิง, ความคงตัว, ชุมเห็ดเทศ, ฟ้าทะลาย, สมุนไพร--การใช้ประโยชน์ทางการแพทย์, เครื่องยา, แคปซูล
Abstract

งานวิจัยตอนที่ 1 มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาผลของสภาวะการอบแห้งด้านอุณหภูมิและความชื้นคงเหลือที่มีผลต่อความคงตัวทางกายภาพ เคมี และจุลชีววิทยาของแคปซูล ขิง ขมิ้นชัน ฟ้าทะลายและชุมเห็ดเทศ โดยขั้นแรกหาอุณหภูมิที่เหมาะสมโดยนำสมุนไพรสดมาทำความสะอาด บดลดขนาด แล้วอบที่อุณหภูมิในช่วงตั้งแต่ 40 ถึง 60 องศาเซลเซียส จนทำให้ความชื้นคงเหลือในผงสมุนไพรไม่เกินร้อยละ 10.0 นำผงสมุนไพรไปตรวจหาปริมาณสารสำคัญ คุณสมบัติในการไหล (วัดจากความสามารถในการตอกอัดได้และมุมทรงตัว) และการปนเปื้อนของจุลินทรีย์ จากนั้นเลือกอุณหภูมิที่ให้ปริมาณสาระสำคัญคงเหลือสูงสุดไปทดสอบต่อ การหาความชื้นที่เหมาะสมทำเช่นเดียวกับขั้นตอนหาอุณหภูมิที่เหมาะสมเพียงแต่ใช้อุณหภูมิเดียวในการทดสอบและอบแห้งจนได้ผงสมุนไพรที่มีความชื้นแตกต่างกันสามช่วง (น้อยกว่าร้อยละ 4.0 ถึงร้อยละ 10.0) พบว่าสภาวะการอบแห้งที่เหมาะสมกับสมุนไพรแต่ละชนิดเป็นดังนี้ อุณหภูมิ 60 องศาเซลเซียส และความชื้นคงเหลือร้อยละ 6.0-8.9 (ขิง) อุณหภูมิ 50 องศาเซลเซียส และความชื้นคงเหลือร้อยละ 8.0-10.0 (ขมิ้นชัน) อุณหภูมิ 60 องศาเซลเซียส และความชื้นคงเหลือร้อยละ 8.0-10.0 (ฟ้าทะลายโจร) และอุณหภูมิ 50 องศาเซลเซียส และความชื้นคงเหลือร้อยละ 8.0-10.0 (ชุมเห็ดเทศ) สภาวะการอบแห้งดังกล่าว ทำให้ได้ผลสมุนไพรที่มีลักษณะที่มีการไหลเหมาะสมกับบรรจุแคปซูล เมื่อบรรจุเป็นแคปซูลทำให้ผ่านมาตรฐานด้านการแตกตัวของ United States Pharmacopoeia แต่ไม่ผ่านเกณฑ์มาตรฐานด้านจุลินทรีย์ของ Thai Herbal Pharmacopoeia ซึ่งแสดงให้เห็นว่าควรมีการลดปริมาณจุลินทรีย์ในกระบวนการผลิต
งานวิจัยตอนที่ 2 มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความคงตัวทางกายภาพ เคมี และจุลินทรีย์ ของแคปซูลสมุนไพร เมื่อเก็บในสภาวะเร่งและสภาวะปกติหรือระยะยาว โดยผลิตแคปซูลขิง ขมิ้นชัน ฟ้าทะลายและชุมเห็ดเทศในห้องปฏิบัติการจากผงสมุนไพรแห้งตามหลักเกณฑ์วิธีการที่ดีในการผลิตยาจากสมุนไพร แล้วเก็บในสภาวะเร่ง (อุณหภูมิ 45 องศาเซลเซียส และความชื้นสัมพัทธ์ร้อยละ 75) เป็นเวลา 120 วัน และเก็บที่อุณหภูมิ 4 องศาเซลเซียส อุณหภูมิห้อง (เฉลี่ย 27 องศาเซลเซียส ตลอดระยะเวลาการทดลอง) และอาบรังสีแกมม่าแล้วเก็บที่อุณหภูมิห้อง เป็นเวลา 360 วัน ผงสมุนไพรทุกชนิดมีความชื้นคงเหลือเปลี่ยนแปลงไปจากเมื่อเริ่มต้นผลิต แต่ส่วนใหญ่มีค่าไม่เกินร้อยละ 10.0 ตลอดระยะเวลาของการเก็บ แต่ลักษณะทางภายภาพโดยเฉพาะความเหนียวและคุณสมบัติในการไหล (วัดจากความสามารถในการตอกอัดได้และมุมทรงตัว) เปลี่ยนแปลงมากขึ้นตามระยะเวลาของการเก็บ ดังนั้นควรบรรจุผงสมุนไพรลงในแคปซูลในเวลาสั้นที่สุดหลังจากการอบแห้ง แคปซูลสมุนไพรทุกชนิดที่ผลิตไม่ผ่านมาตรฐานด้านความแปรปรวนของน้ำหนักผงยาของ United States Pharmacopoeia ตั้งแต่วันที่ 45 ของการเก็บที่สภาวะเร่ง และตั้งแต่วันที่ 12
ของการเก็บทุกสภาวะ
ปริมาณสาระสำคัญในแคปซูลขิงลดลงอย่างรวดเร็ว โดยการเก็บที่สภาวะเร่งทำให้ร้อยละของน้ำมันระเหยง่ายคงเหลือ เท่ากับ 11.0 ในเวลา 120 วัน ส่วนการเก็บที่อุณหภูมิ 4 องศาเซลเซียส อุณหภูมิห้อง อาบรังสีแล้วเก็บที่อุณหภูมิห้อง เป็นเวลา 360 วัน มีร้อยละของน้ำมีนระเหยง่ายคงเหลือ เท่ากับ 75.5, 41.1 และ 40.53 ตามลำดับ สาระสำคัญอีกชนิดหนึ่งในแคปซูลขมิ้นชัน คือ เคอร์คูมินอยด์ มีปริมาณไม่เปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญตลอดระยะเวลาการเก็บทุกสภาวะ โดยเมื่อสิ้นสุดการทดลองปริมาณเคอร์คูมินอยด์คงเหลือในทุกตัวอย่างอยู่ในช่วงร้อยละ 7.04 ถึง 8.90 ปริมาณสาระสำคัญในแคปซูลฟ้าทะลาน คือ แอนโดรกราโฟไลด์ มีการลดลงค่อนข้างน้อยในทุกสภาวะการเก็บเช่นกัน โดยการเก็บที่สภาวะเร่งมีร้อยละของแอนโดรกราโฟไลด์คงเหลือ เท่ากับ 80.0 ในเวลา 120 วัน ส่วนการเก็บที่อุณหภูมิ 4 องศาเซลเซียส อุณหภูมิห้อง อาบรังสีแล้วเก็บอุณหภูมิห้อง เป็นเวลา 360 วัน ทำให้ร้อยละของแอนโดกราโฟไลด์คงเหลือ เท่ากับ 92.5, 82.8 และ 96.4 ตามลำดับ ปริมาณสาระสำคัญในแคปซูลชุมเห็ดเทศมีการลดลงมากกว่าปริมาณสาระสำคัญในแคปซูลฟ้าทะลาย โดยการเก็บที่สภาวะเร่งทำให้ร้อยละของอนุพันธ์ hydroxyanthracene คงเหลือเท่ากับ 63.6, 44.0 และ 34.9 ตามลำดับ
แคปซูลสมุนไพรเกือบทุกชนิดที่ผลิตมีการปนเปื้อนจุลินทรีย์เกินเกณฑ์มาตรฐานของ Thai Herbal Pharmacopoeia ตั้งแต่วันแรกของการเก็บ ยกเว้นตัวอย่างที่ส่งไปอาบรังสีก่อนนำมาเก็บที่อุณหภูมิห้อง ดังนั้นการผลิตแคปซูลสมุนไพรจึงควรมีการทำลายจุลินทรีย์ทั้งในกระบวนการผลิตและภายหลังบรรจุในภาชนะบรรจุสุดท้าย

Title Alternate Effect of production process on the stability of herbal capsules