ฮิวริสติกสำหรับการแก้ปัญหาการจัดเส้นทางพาหนะขนส่ง กรณีที่ศุนย์กระจายสินค้ากลางมีมากกว่าหนึ่งแห่ง โดยที่มีเงื่อนไขขนาดการบรรทุกและระยะทางการขนส่งที่จำกัด

Titleฮิวริสติกสำหรับการแก้ปัญหาการจัดเส้นทางพาหนะขนส่ง กรณีที่ศุนย์กระจายสินค้ากลางมีมากกว่าหนึ่งแห่ง โดยที่มีเงื่อนไขขนาดการบรรทุกและระยะทางการขนส่งที่จำกัด
Publication Typeวิทยานิพนธ์/Thesis
Year of Publication2551
Authorsสุพรรณ สุดสนธิ์
Degreeปรัชญาดุษฎีบัณฑิต--สาขาวิชาวิศวกรรมอุตสาหการ
Institutionคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
Cityอุบลราชธานี
Call NumberT ส828ฮ
Keywordsการขนส่ง--โปรแกรมคอมพิวเตอร์, การปรับปรุงคุณภาพผลเฉลย, คลังสินค้า, ปัญหาการจัดเส้นทางพาหนะขนส่ง, วิธีระบบมดแบบแม๊ก-มิน, ฮิวริสติก
Abstract

งานวิจัยฉบับนี้ผู้วิจัยทำการพัฒนาขั้นตอนการจำลองพฤติกรรมการหาอาหารของมดที่เรียกว่า ระบบมดแบบแม๊ก-มิน (Max-min Ant System: MMAS) สำหรับการแก้ปัญหาการจัดเส้นทางพาหนะขนส่ง กรณีที่ศูนย์กระจายสินค้ากลางมีมากกว่าหนึ่งแห่ง (Multi-Depot Vehicle Pouting Problem; MDVRP) ให้สามารถค้นหาผลเฉลยที่ดีอย่างมีประสิทธิภาพและใช้เวลาประมวลผลที่เหมาะสม ขั้นตอนของวิธีระบบมดแบบแม๊ก-มินที่ทำการพัฒนาแบ่งออกเป็น 2 ระยะ คือ ระยะการจัดสรรลูกค้าแต่ละรายให้กับศูนย์กระจายสินค้ากลางพร้อมกับการสร้างเส้นทางพาหนะขนส่งเริ่มต้นและระยะการปรับปรุงเส้นทางพาหนะขนส่ง โดยการย้ายตำแหน่งลูกค้าแบบสลับเปลี่ยนตำแหน่งและการผสมผสานการย้ายตำแหน่งลูกค้าแบบสองรายหรือสามราย เพื่อพยายามหาคำตอบที่ดีกว่าคำตอบ ณ เวลาปัจจุบันที่มีอยู่เดิม
สำหรับขั้นตอนการวิเคราะห์การสร้างเส้นทางพาหนะขนส่งเริ่มต้นของวิธีระบบมดแบบแม๊ก-มินที่มีผลกระทบต่อการแก้ปัญหาการจัดเส้นทางพาหนะขนส่ง กรณีที่ศูนย์กระจายสินค้ากลางมากกว่าหนึ่งแห่ง โดยใช้กระบวนการทางสถิติทดสอบความเชื่อมั่นที่ระดับ 95 เปอร์เซ็นต์ กับปัจจัยการทดลองที่สำคัญ 3 ปัจจัย คือค่าถ่วงน้ำหนักของปริมาณฟีโรโมน อัตราการระเหยของฟีโรโมนและจำนวนรอบกระทำซ้ำ พบว่า วิธีการสร้างผลเฉลยเริ่มต้นแบบคู่ขนาน สำหรับการแก้ปัญหา การจัดเส้นทางพาหนะขนส่ง กรณีที่ศูนย์กระจายสินค้ากลางมีมากกว่าหนึ่งแห่ง ทุกปัญหาการทดลอง และนอกจากนั้นยังพบค่าระดับการใช้ของพารามิเตอร์ที่เหมาะสมกับปัญหาแต่ละขนาด คือ ปัญหาขนาดเล็กค่าถ่วงน้ำหนักของปริมาณฟีโรโมนเท่ากับ 2.0 อัตราการระเหยของฟีโรโมนเท่ากับ 0.545 และจำนวนรอบกระทำซ้ำเท่ากับ 300 รอบ กระทำซ้ำ สำหรับปัญหาขนาดกลางค่าถ่วงน้ำหนักของปริมาณฟีโรโมนเท่ากับ 3.5 อัตราการระเหยของฟีโรโมนเท่ากับ 0.10 และจำนวนรอบกระทำเท่ากับ 300 รอบกระทำซ้ำ และปัญหาขนาดใหญ่ค่าถ่วงน้ำหนักของปริมาณฟีโรโมนเท่ากับ 3.5 อัตราการระเหยของฟีโรโมนเท่ากับ 0.545 และจำนวนรอบกระทำซ้ำเท่ากับ 500 รอบกระทำซ้ำ
ผลการทดลองสำหรับการแก้ปัญหา MDVRP ทั้งหมด 33 ปัญหา พบว่า วิธีระบบมดแบบแม๊ก-มิน สามารถให้ผลเฉลยในการแก้ปัญหาเป็นที่น่าพอใจ โดยที่มีเปอร์เซ็นต์ความผิดพลาดเมื่อเปรียบเทียบกับคำตอบที่ทราบโดยทั่วไปใน OR-Library เฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 0.179 เปอร์เซ็นต์ นอกจากนั้นก็ยังสามารถให้คุณภาพผลเฉลยที่ดีถึง 15 ปัญหา โดยที่มีเปอร์เซ็นต์ความผิดพลาดเท่ากับ 0.00 เปอร์เซ็นต์ และให้คุณภาพผลเฉลยในระดับที่ดีกว่า 8 ปัญหา ปัญหาทั้งหมดที่วิธีระบบมดแบบแม๊ก-มิน สามารถให้คุณภาพผลเฉลยที่ดีและที่ดีกว่า จำนวน 23 ปัญหา คิดเป็นเปอร์เซ็นต์ที่ประสบผลสำเร็จอยู่ที่ระดับ 69.69 เปอร์เซ็นต์ ดังนั้นผู้วิจัยสรุปได้ว่าวิธีระบบมดแบบแม๊ก-มินที่ผู้วิจัยทำการพัฒนาสามารถให้ผลเฉลยในการแก้ปัญหา MDVRP ได้อย่างมีประสิทธิภาพและใช้เวลาประมวลผลที่เหมาะสม โดยมีเปอร์เซ็นต์ความผิดพลาดไม่เกิน 3 เปอร์เซ็นต์ และใช้เวลาประมวลผลโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 587.41 วินาที หรือ 0.16 ชั่วโมงต่อหนึ่งปัญหา

Title Alternate Heuristic for multi-depot vehicle routing problems with vehicle capacity and route length constraints
Fulltext: