มุมมองของคนในชุมชนเกี่ยวกับกิจกรรมการท่องเที่ยว : กรณีศึกษา บ้านนาอวน เมืองหลวงพระบาง แขวงหลวงพระบาง สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว

Titleมุมมองของคนในชุมชนเกี่ยวกับกิจกรรมการท่องเที่ยว : กรณีศึกษา บ้านนาอวน เมืองหลวงพระบาง แขวงหลวงพระบาง สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว
Publication Typeวิทยานิพนธ์/Thesis
Year of Publication2552
Authorsเยียล่อ เยี่ยวือ
Degreeบริหารธุรกิจมหาบัณฑิต--สาขาวิชาการจัดการการท่องเที่ยว (หลักสูตรนานาชาติ)
Institutionคณะบริหารศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
Cityอุบลราชธานี
Call NumberG ย573ม
Keywordsการท่องเที่ยว--การมีส่วนร่วมของประชาชน--ลาว, การท่องเที่ยว--ลาว, กิจกรรมการท่องเที่ยว, ลาว--ภูมิประเทศและการท่องเที่ยว, สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว, หลวงพรบาง, อุตสาหกรรมท่องเที่ยว--การจัดการ--การมีส่วนร่วมของประชาชน
Abstract

การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษา ทัศนคติของคนในชุมชนชาวม้งที่มีต่อการดำเนินกิจกรรมการท่องเที่ยวโดยชุมชนมีส่วนร่วมในชุมชนบ้านนาอวน เมืองหลวงพระบาง แขวงหลวงพระบาง สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) ซึ่งเป็นหมู่บ้านที่ได้รับการพัฒนาให้เป็นชุมชนที่มีกิจกรรมการท่องเที่ยว เมื่อปี พ.ศ. 2548 จากการสนับสนุนของหน่วยงานองค์การท่องเที่ยวแห่งชาติลาว และธนาคารพัฒนาแห่งเอเชีย โดยใช้วิธีการวิจัยเชิงคุณภาพ ที่ผู้ให้ข้อมูลหลัก คือ ผู้ที่อาศัยอยู่ในหมู่บ้าน โดยเป็นหัวหน้าครอบครัวจากทุกครัวเรือนที่มีในหมู่บ้านรวมทั้งสิ้น 60 ครัวเรือน ใช้วิธีการเก็บรวบรวมข้อมูล โดยการสัมภาษณ์แบบกึ่งโครงสร้างและได้ใช้การวิเคราะห์ข้อมูลโดยการเปรียบเทียบเนื้อหาและตีความการสัมภาษณ์ มีการตรวจสอบข้อมูลแบบหลายมุมมอง เพื่อนำมาสู่การเสนอผลการวิจัยแบบพรรณนา
ผลการศึกษา พบว่า การท่องเที่ยวไม่มีผลกระทบต่อการดำรงชีวิตของชุมชนที่สามารถเห็นได้ชัดเจนเนื่องจากจำนวนนักท่องเที่ยวที่เช้าไปในชุมชนในระยะเวลาสั้น ชุมชนมีทัศนคติที่ดีต่อการเข้าไปพัฒนาของภาครัฐ อย่างไรก็ตามชุมชนมองว่า การท่องเที่ยวมีทั้งผลดี และผลเสียต่อด้านเศรษฐกิจ สังคมวัฒนธรรม และสิ่งแวดล้อม ผลดีด้านเศรษฐกิจพบว่า ชุมชนได้รับการพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวก เช่น ไฟฟ้า น้ำประปาและถนน ชุมชนมีรายได้โดยมีอาชีพเสริมจากการจำหน่ายสินค้าที่ระลึก และมีการส่งเสริมสินค้าผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น ผลเสียด้านเศรษฐกิจพบว่า มีปัญหารายได้ที่เป็นฤดูกาล รายได้ไม่ตกเป็นของชุมชนทั้งหมด ผลดีด้านสังคมและวัฒนธรรมพบว่า สังคมมีความเจริญสะดวกสบายมากขึ้น มีการใช้เครื่องมือที่ใช้ทันสมัย เช่น ครอบครัวมีโอกาสได้ใช้รถยนต์และมีเครื่องใช้ไฟฟ้า เป็นผลให้ครอบครัวมีเวลาอยู่ด้วยกันมากขึ้น ซึ่งคนในชุมชนตระหนักถึงคุณค่าทางวัฒนธรรม เพราะเห็นว่าวัฒนธรรมเป็นสิ่งดึงดูดใจและสร้างความสนใจ ให้นักท่องเที่ยว การท่องเที่ยวมีผลต่อการเพิ่มบทบาทของผู้หญิง ผู้สูงอายุ เด็ก และคนพิการ การท่องเที่ยวมีผลต่อการอนุรักษ์วัฒนธรรมของชุมชน และเป็นการส่งเสริมให้เด็กกลับมาเรียนรู้วัฒนธรรม ผลเสียด้านสังคมและวัฒนธรรมพบว่า เกิดปัญหาข้อขัดแย้งระหว่างคนในชุมชนด้วยกันเอง และระหว่างคนในกับคนนอกชุมชนที่เข้ามาทำกิจกรรมในหมู่บ้าน คนในหมู่บ้านเริ่มเห็นการเปลี่ยนแปลงในด้านสิ่งปลูกสร้างโดยเฉพาะมีการสร้างบ้านอยู่อาศัย ที่นำเอาวัสดุที่ทันสมัยมาใช้ในการก่อสร้าง มีนักท่องเที่ยวบางกลุ่มได้แสดงพฤติกรรมไม่เหมาะสมต่อเด็กในชุมชน ผลดีด้านสิ่งแวดล้อมพบว่า การท่องเที่ยวทำให้สิ่งแวดล้อมในชุมชนดีขึ้น เนื่องจากมีแนวทางและกฎระเบียบต่าง ๆ ในการรักษาสภาพแวดล้อมของชุมชนและทำให้คนในชุมชนได้ตระหนักถึงคุณค่าของสิ่งแวดล้อม ผลเสียด้านสิ่งแวดล้อมพบว่า เกิดปัญหาฝุ่นละออง มลพิษทางอาหาร และเสียง ซึ่งผลของการศึกษานี้ ได้แสดงให้เห็นว่า การใช้ชุมชนเป็นแหล่งท่องเที่ยว โดยนำวัฒนธรรม ชีวิตความเป็นอยู่ของท้องถิ่น เป็นสิ่งดึงดูดใจนักท่องเที่ยว อาจทำให้วัฒนธรรมที่แท้จริงของชุมชน มีการบิดเบือนและถูกทำลายลงอย่างช้า ๆ แนวทางแก้ไข จึงควรเน้นการส่งเสริมให้คนในชุมชน ได้เข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการตัดสินใจมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะในช่วงเริ่มต้นของการพัฒนากิจกรรมการท่องเที่ยว เพื่อนำไปสู่การพัฒนาการท่องเที่ยวที่ยั่งยืนต่อไป

Title Alternate Local resident perspectives toward tourism activities : a case study of Naouan Village, Luangprabang District, Luangprabang Province, Lao PDR
Fulltext: