การจัดการการท่องเที่ยวเชิงนิเวศในเขตพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติภูเขาควาย : กรณีศึกษาเส้นทางเดินป่าของชุมชนบ้านนา เมืองท่าพะบาด แขวงบอลิคำไซ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว

Titleการจัดการการท่องเที่ยวเชิงนิเวศในเขตพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติภูเขาควาย : กรณีศึกษาเส้นทางเดินป่าของชุมชนบ้านนา เมืองท่าพะบาด แขวงบอลิคำไซ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว
Publication Typeวิทยานิพนธ์/Thesis
Year of Publication2552
Authorsบุญมี นุดสะดาวงศ์
Degreeบริหารธุรกิจมหาบัณฑิต--สาขาวิชาการจัดการการท่องเที่ยว
Institutionคณะบริหารศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
Cityอุบลราชธานี
Call NumberG บ527ก
Keywordsการท่องเที่ยว--ลาว, การท่องเที่ยวเชิงนิเวศ, การท่องเที่ยวเชิงนิเวศ--ลาว, การท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์--ลาว, ป่าสงวนแห่งชาติภูเขาควาย, ลาว--ภูมิประเทศและการท่องเที่ยว, เส้นทางเดินป่า
Abstract

การศึกษาเกี่ยวกับการจัดการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ โดยมีวัตถุประสงค์หลัก 3 ประการ คือ 1) วิเคราะห์สภาพทั่วไปของการจัดกิจกรรมการเดินป่า เพื่อประเมินสถานภาพของชุมชนบ้านนาในการจัดกิจกรรมการเดินป่า 2) เพื่อศึกษามาตรฐานคุณภาพการจัดการการท่องเที่ยวเชิงนิเวศที่มีความสอดคล้องและเหมาะสมในระดับพื้นที่ และ 3) เพื่อศึกษาแนวทางและปัจจัยที่มีส่วนในการเสริมสร้างให้ชุมชนสามารถแก้ไขปัญหาและผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการจัดกิจกรรมการท่องเที่ยวเชิงนิเวศของชุมชร โดยใช้เครื่องมือในการเก็บรวบรวมข้อมูล คือ แบบสัมภาษณ์กึ่งโครงสร้างแบบประเมิน การสังเกตแบบมีส่วนร่วม และเอกสารที่เกี่ยวข้อง กลุ่มผู้ให้ข้อมูลหลักได้แก่ ผู้ใหญ่บ้าน รองผู้ใหญ่บ้าน ผู้จัดการท่องเที่ยว มัคคุเทศก์ท้องถิ่นและตัวแทนกลุ่มบ้านพักโฮมสเตย์ของชุมชนบ้านนา รวมทั้งหัวหน้าและรองหน่วยงานคุ้มครองป่าสงวนแห่งชาติภูเขาควาย และผู้ประสานงานระหว่างโครงการท่องเที่ยวเมืองท่าพะบาดกับชุมชนบ้านนา ข้อมูลที่ได้จากการศึกษาทั้งหมดได้รับการตรวจสอบความถูกต้องและแยกแยะออกจากหมวดหมู่ แล้วทำการวิเคราะห์เชิงเนื้อหา และใช้สถิติเชิงพรรณนาวิเคราะห์ แล้วนำเสนอโดยการบรรยายและในรูปแบบตารางประกอบความเรียง ผลการศึกษาพบว่า
1)ชุมชนบ้านนามีจุดเด่นที่ส่งผลให้การจัดการการท่องเที่ยวเชิงนิเวศได้รับความสนใจประกอบด้วยพื้นที่ที่มีศักยภาพต่อการท่องเที่ยวได้แก่ ป่าสงวนแห่งชาติภูเขาควายโดยเฉพาะพื้นที่อนุรักษ์ข้างหอดูช้างมีโป่งน้ำเค็มที่ลำห้วยซาย (ห้วยทรายในภาษาไทย) ซึ่งเป็นสถานที่ที่ช้างป่าลงกินน้ำเป็นประจำ โดยชุมชนได้สร้างหอดูช้างให้แก่นักท่องเที่ยวได้ส่องช้างป่า รวมทั้งมีผู้นำชุมชนที่มีความเข้มแข็ง สามารถจัดระบบการจัดการการท่องเที่ยวเป็นรูปธรรม โดยมีการจัดการบริการท่องเที่ยวเป็น 2 ส่วน คือ การบริการนำเที่ยวและบริการที่พักโฮมสเตย์ พร้อมทั้งมีการกำหนดเส้นทางเดินป่าศึกษาธรรมชาติ มี 3 เส้นทาง ตลอดจนมีการกำหนดอัตราค่าบริการอย่างชัดเจน ในขณะเดียวกันรายได้จากการบริการท่องเที่ยวได้มีการจัดสรรผลประโยชน์ให้แก่ชุมชนท้องถิ่นและภาคส่วนที่เกี่ยวข้องอย่างชัดเจน
2)มาตรฐานคุณภาพการจัดการท่องเที่ยวเชิงนิเวศในชุมชน โดยพิจารณาจากองค์ประกอบหลักทั้ง 4 ด้านของการท่องเที่ยวเชิงนิเวศในทุกดัชนีที่เกี่ยวข้องได้แก่ 1)พื้นที่ป่าของชุมชนมีศักยภาพในการเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศระดับสูง 2)ชุมชนได้มีการจัดการใช้ประโยชน์ของพื้นที่อย่างชัดเจนเพื่อให้เกิดความยั่งยืน 3)ชุมชนมีการจัดการด้านการให้ความรู้และสร้างจิตสำนึกในภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง และ 4)ชุมชนมีส่วนร่วมในกิจกรรมการท่องเที่ยว โดยมีการชี้วัดมาตรฐานคุณภาพการจัดการท่องเที่ยวเชิงนิเวศประเภทกิจกรรมเดินป่าได้คะแนนเฉลี่ย 68 คะแนน ในจำนวนคะแนนเต็ม 100 คะแนน ซึ่งจัดว่ามีมาตรฐานในการเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศอยู่ในระดับดีมา อย่างไรก็ตามยังมีปัญหาและอุปสรรคในการจัดการการท่องเที่ยวเชิงนิเวศในชุมชร คือ ช้างป่าถูกฆ่าตายและพื้นที่ป่าซึ่งเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของช้างป่ามีแนวโน้มลดลง เนื่องจากได้รับผลกระทบจากการลักลอบตัดไม้ทำลายป่าของกลุ่มคนที่เห็นแก่ผลประโยชน์ส่วนตน ตลอดจนยังขาดมาตรการในการจำกัดจำนวนนักท่องเที่ยวทั้งในการพักแรมบนหอดูช้างและในเส้นทางเดินป่า รวมทั้งขาดการเก็บข้อมูลและประเมินผลกระทบจากการท่องเที่ยวอย่างเป็นรูปธรรม ขาดอุปกรณ์เดินป่า สื่อปรากฏในศูนย์ข้อมูลข่าวสารยังขาดการปรับปรุงให้เป็นข้อมูลปัจจุบันทั้งในลักษณะรูปภาพและเนื้อหา
3)แนวทางและปัจจัยที่มีส่วนในการเสริมสร้าง ให้ชุมชนสามารถแก้ไขปัญหาและผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการจัดกิจกรรมการท่องเที่ยวเชิงนิเวศของชุมชน คือ ควรใช้มาตรการทางกฎหมายอยางเข้มงวดต่อกลุ่มคนที่ฆ่าช้างป่าและกลุ่มคนที่ลักลอบตัดไม้ทำลายป่า ควรมีการออกลาดตระเวนและเฝ้าระวังเขตพื้นที่ป่าสงวนอย่างเข้มงวด เพื่อการอนุรักษ์ทรัพยากรการท่องเที่ยวและสิ่งแวดล้อม ตลอดจนรักษาความอุดมสมบูรณ์ของระบบนิเวศป่าไว้อย่างยั่งยืน และเอื้อประโยชน์ต่อชุมชน พร้อมทั้งเป็นผลประโยชน์ต่อการอนุรักษ์พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติภูเขาควาน เพื่อเป็นแหล่งศึกษาทางธรรมชาติของนักศึกษา นักวิจัย เยาวชน นักท่องเที่ยว และประชาชนทั่วไป ในอนาคต นอกจากนี้ควรมีการเก็บข้อมูลและประเมินผลกระทบจากการท่องเที่ยวอย่างเป็นรูปธรรม ควรจัดซื้ออุปกรณ์สำหรับใช้ในกิจกรรมเดินป่า ควรปรับปรุงสื่อต่าง ๆ ในศูนย์ข้อมูลข่าวสารให้เป็นข้อมูลปัจจุบันทั้งในลักษณะรูปภาพและเนื้อหา

Title Alternate Ecotourism management in Phou Khao Khouay National Protected Area : a case study of Ban Na Trekking Trail, Thaphabhat District, Bolikhamxay Province, Lao People's Democratic Republic