ผลของระดับคาร์โบไฮเดรตในอาหารต่อการเจริญเติบโต องค์ประกอบทางเคมีและคุณภาพเนื้อของปลาโมง (Pangasius bocourti)

Titleผลของระดับคาร์โบไฮเดรตในอาหารต่อการเจริญเติบโต องค์ประกอบทางเคมีและคุณภาพเนื้อของปลาโมง (Pangasius bocourti)
Publication Typeวิทยานิพนธ์/Thesis
Year of Publication2551
Authorsจิตรา สิมาวัน
Degreeวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต -- สาขาวิชาเกษตรศาสตร์
Institutionคณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
Cityอุบลราชธานี
Call NumberSH จ456ผ
Keywordsการเจริญเติบโตของปลา, คาร์โบไฮเดรต, คุณภาพเนื้อปลา, ปลาโมง, ปลาโมง--การเจริญเติบโต, ปลาโมง--อาหาร, องค์ประกอบทางเคมี
Abstract

ปลาโมงหรือปลาเผาะ (Pangasius bocourti) เป็นปลาน้ำจืดที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจทั้งในและต่างประเทศ แต่ปัจจุบันอุตสาหกรรมการเพาะเลี้ยงปลายังประสบปัญหาทางด้านต้นทุนการผลิต ดังนั้น การศึกษาครั้งนี้จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาผลของคาร์โบไฮเดรตต่อการเจริญเติบโตและคุณภาพเนื้อของปลาโมง โดยใช้มันสำปะหลังเป็นแหล่งคาร์โบไฮเดรตเพื่อลดต้นทุนค่าอาหาร โดยวางแผนการทดลองแบบสุ่มตลอด (Completely Randomized Design, CRD) มี 4 ชุดการทดลอง (Treatment) แต่ละชุดการทดลองมีจำนวน 3 ซ้ำ (Replication) ปัจจัยที่ศึกษา คือ ระดับของคาร์โบไฮเดรตในอาหารทดลอง 4 ระดับ (36, 46, 56 และ 66 เปอร์เซ็นต์) และที่ระดับโปรตีน 20 เปอร์เซ็นต์ เท่ากันทุกชุดการทดลอง เลี้ยงปลาที่น้ำหนักเริ่มต้นเฉลี่ย 242.75?22.8 กรัม สุ่มลงในกระชังละ 40 ตัว เป็นจำนวน 12 กระชัง เลี้ยงเป็นเวลา 7 เดือน ให้อาหารแบบกินจนอิ่มวันละ 2 ครั้ง ทำการชั่งน้ำหนักและวัดความยาวทุกเดือนตลอดการทดลอง เมื่อสิ้นสุดการเลี้ยงทำการวิเคราะห์หาองค์ประกอบทางเคมีและวัดคุณภาพเนื้อปลาสด และวัดคุณภาพเนื้อปลาแช่แข็งที่อุณหภูมิ -18 องศาเซลเซียส ในวันที่ 0, 15, 30, 45 และ 60 วัน ตามลำดับ ในกลุ่มปลาที่เลี้ยงด้วยสูตรที่มีระดับคาร์โบไฮเดรต 66 เปอร์เซ็นต์ วิเคราะห์ความแปรปรวนของข้อมูลแบบทางเดียว (One way analysis of variance) และใช้ Least Significant Difference (LSD) เปรียบเทียบความแตกต่างของค่าเฉลี่ยที่ระดับความเชื่อมั่น 95 เปอร์เซ็นต์ (P<0.05) ด้วยโปรแกรม SPSS for window version 12.0 จากผลการศึกษา พบว่า เมื่อนำข้อมูลการเจริญเติบโต ประสิทธิภาพการใช้อาหาร องค์ประกอบทางเคมีและต้นทุนค่าอาหารมาพิจารณาร่วมกัน พบว่า อาหารที่มีระดับคาร์โบไฮเดรต 66 เปอร์เซ็นต์ มีความเหมาะสมสำหรับการเลี้ยงปลาโมง โดยมีน้ำหนักสุดท้ายเท่ากับ 781 กรัม น้ำหนักเพิ่มต่อวันเท่ากับ 2.47 กรัมต่อวัน อัตราการเปลี่ยนอาหารเป็นเนื้อเท่ากับ 2.11 และประสิทธิภาพการใช้โปรตีนเท่ากับ 2.35 โดยปลาที่ได้รับอาหารที่ระดับคาร์โบไฮเดรต 36, 46 และ 56 เปอร์เซ็นต์ มีน้ำหนักเพิ่มต่อวันเท่ากับ 1.97, 2.65 และ 2.35 กรัมต่อวัน ตามลำดับ และอัตราการเปลี่ยนอาหารเป็นเนื้อเท่ากับ 3.14, 2.53 และ 2.34 ตามลำดับ และปลาที่ได้รับอาหารมีคาร์โบไฮเดรต 46, 56 และ 66 เปอร์เซ็นต์ มีองค์ประกอบทางเคมีไม่แตกต่างกันทางสถิติ ซึ่งมีค่าเปอร์เซ็นต์โปรตีนเท่ากับ 16.22, 16.20 และ 15.25 เปอร์เซ็นต์ ตามลำดับ และเปอร์เซ็นต์ไขมันเท่ากับ 9.08, 9.14 และ 9.45 เปอร์เซ็นต์ ตามลำดับ ปลาที่ได้รับอาหารที่มีคาร์โบไฮเดรต 36 เปอร์เซ็นต์ มีเปอร์เซ็นต์โปรตีนและไขมันในเนื้อปลาต่ำแตกต่างกันทางสถิติกับปลาที่ได้รับอาหารที่มีระดับคาร์โบไฮเดรต 46, 56 และ 66 เปอร์เซ็นต์ และพบค่าดัชนีตับของปลาทุกกลุ่มไม่มีความแตกต่างกันทางสถิติ จากการศึกษาคุณภาพเนื้อของปลาโมง พบว่า ค่าความเป็นกรด-ด่างและค่าความแข็งของเนื้อปลามีแนวโน้มลดลง เมื่อปลาได้รับอาหารที่มีคาร์โบไฮเดรตสูงขึ้น และค่าความสว่างมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ขณะที่ค่าสีแดง ค่าสีเหลืองและการประเมินทางด้านประสาทสัมผัสไม่มีค่าแตกต่างกันทางสถิติ สำหรับการเปลี่ยนแปลงของคุณภาพเนื้อปลาโมงขณะแช่แข็ง พบว่า เมื่อระยะเวลาในการเก็บรักษาเพิ่มขึ้นส่งผลทำให้คุณภาพเนื้อปลาโมงเสื่อมลงอย่างแตกต่างกันทางสถิติ โดยพบแนวโน้มของค่าความชื้นที่เกิดจากแรงกดทับเพิ่มขึ้น และค่าความแข็งของเนื้อสัมผัสเพิ่มขึ้นในช่วงแรกและลดลงในช่วงหลัง แต่ค่าความเป็นกรด-ด่าง และมีความสว่างมีแนวโน้มลดลง แต่ไม่พบความแตกต่างทางสถิติในการประเมินทางด้านประสาทสัมผัส

Title Alternate Effects of dietary carbonhydrate levels in growth fillet composition and flesh quality of Pangasius bocourti
Fulltext: