ความเชื่อพื้นบ้าน เงื่อนไขทางเศรษฐกิจ สังคมในการเข้าถึงงานอนามัยแม่และเด็ก กรณีศึกษา ชุมชนแห่งหนึ่งในภาคตะวันออกเฉียงเหนือประเทศไทย

Titleความเชื่อพื้นบ้าน เงื่อนไขทางเศรษฐกิจ สังคมในการเข้าถึงงานอนามัยแม่และเด็ก กรณีศึกษา ชุมชนแห่งหนึ่งในภาคตะวันออกเฉียงเหนือประเทศไทย
Publication Typeวิทยานิพนธ์/Thesis
Year of Publication2556
Authorsอภิกนิษฐา นาเลาห์
Degreeรัฐประศาสนศาสตรดุษฎีบัณฑิต -- สาขาวิชารัฐประศาสนศาสตร์
Institutionคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
Cityอุบลราชธานี
Call NumberJQ อ249ค 2556
Keywordsความเชื่อพื้นบ้าน, งานอนมามัยแม่และเด็ก, บริการสาธารณะ, ประชากร--ทัศนคติ--บริการทางการแพทย์, เงื่อนไขทางสังคม, เงื่อนไขทางเศรษฐกิจ
Abstract

การวิจัยงานอนามัยแม่และเด็กนี้ เน้นศึกษากระบวนการนำนโยบายไปสู่การปฏิบัติการเข้าถึงบริการอนามัยแม่และเด็ก รวมทั้งความเชื่อพื้นบ้าน และเงื่อนไขทางสังคมและเศรษฐกิจที่มีผลต่อการเข้าถึงบริการอนามัยแม่และเด็กในพื้นที่บ้านตาลโกน อำเภอสว่างแดนดิน จังหวัดสกลนคร ระเบียบวิธีการศึกษาใช้การวิจัยเชิงคุณภาพ เก็บข้อมูลโดยการสัมภาษณ์เชิงลึก การสังเกต และการสนทนากลุ่ม ในกลุ่มตัวอย่างจำนวนทั้งสิ้น 58 คน โดยแบ่งออกเป็น 4 กลุ่ม คือ กลุ่มประชาชนที่ใช้บริการอนามัยแม่และเด็ก กลุ่มอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน กลุ่มเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล และกลุ่มผู้นำท้องถิ่น
ผลการวิจัยพบว่า ชุมชนที่ศึกษาโดยเฉพาะโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพระดับตำบลเป็นผู้มีบทบาทหลักในการนำนโยบายอนามัยแม่และเด็กไปปฏิบัติ โดยได้ผนวกกิจกรรมอนามัยแม่และเด็กเข้าใจการดำเนินงานตามแผนงานปกติ ในขณะที่อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านมีบทบาทเป็นผู้ประสานงานและส่งต่อการบริการจากโรงพยาบาลไปสู่ประชาชนในพื้นที่ นอกจากนั้นยังพบว่า เงื่อนไขทางการเมืองและการรณรงค์ด้านสุขภาพที่กำหนดจากส่วนกลางมีผลกระต้นการดำเนินงานในพื้นที่มากขึ้น
สำหรับการเข้าถึงบริการงานอนมัยแม่และเด็กในชุมชน กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ สามารถเข้าถึงบริการอนามัยแม่และเด็ก แต่อย่างไรก็ดียังมีกลุ่มตัวอย่างจำนวนหนึ่งไม่สามารถเข้าถึงบริการได้ อันเนื่องมาจากความเชื่อพื้นบ้าน เงื่อนไขทางเศรษฐกิจ และสังคม กล่าวคือ ข้อมูลความรู้ประสบการณ์การตั้งครรภ์ ความยากจนและเงื่อนไขการประกอบอาชีพของบุคคล มีผลต่อการใช้บริการอนามัยแม่และเด็ก ในขณะที่สัมพันธภาพระหว่างผู้ใช้บริการและผู้ให้บริการ ความไว้วางใจเชื่อใจ ส่งผลต่อการใช้บริการอนามัยแม่และเด็กมากขึ้น นอกจากนั้นความเชื่อพื้นบ้านโดยเฉพาะความเชื่อพื้นบ้านในการดูแลเด็กทารกเมื่อเจ็บป่วย เช่น การเป่า การใช้ยากลางบ้าน ส่งผลต่อการไม่ไปใช้บริการแม่และเด็ก ความเชื่อพื้นบ้านในการบริโภคอาหารของแม่ระหว่างตั้งครรภ์ หลังคลอดและของเด็กทารกส่งผลต่อการไม่ใช้บริการอนามัยแม่และเด็กและมีพฤติกรรมที่ไม่เป็นไปตามแนวคิดทางการแพทย์
เนื่องจากความยากจนและความเชื่อพื้นบ้านโดยเฉพาะความเชื่อในการรักษาพยาบาลและการบริโภคอาหารมีผลสำคัญต่อการใช้บริการอนามัยแม่และเด็ก จึงควรส่งต่อข้อมูลเหล่านี้แก่บุคลากรสาธารณสุขในพื้นที่เพื่อให้เกิดการตระหนักและเข้าใจในพฤติกรรมอันจะส่งผลต่อสัมพันธภาพและการใช้บริการอนามัยแม่และเด็ก นอกจากนั้น การจัดตั้งศูนย์รับเลี้ยงเด็กแรกเกิดจนถึงวัยเรียนในชุมชนจะช่วยผ่อนคลายปัญหาด้านเศรษฐกิจในกลุ่มผู้ยากจน อีกทั้งยังช่วยสร้างโอกาสในกลุ่มเด็กด้อยโอกาสในการมีพัฒนาการที่เหมาะสมอีกด้วย

Title Alternate Traditional beliefs socio-economic conditions and accessibility to maternal and child health care: a case study in a community in the Northeast, Thailand