สาวไหม..เอาเส้นใย

การสาวไหม คือ การที่ดึงเอาเส้นไยซึ่งมีขนาดเล็ก ๆ นี้ออกจากรังไหม โดยใช้วิธีนำรังไหมไปต้มเพื่อทำลายกาวที่ผนึกเส้นไยที่อัดแน่นออกจากกัน แล้วดึงเอาเส้นไยออกมาตามกรรมวิธี เส้นไหมที่ได้นั้นจะได้มาจากการดึงเส้นใยจากหลาย ๆ รังรวมกันเป็นเส้นเดียวกันในการสาวคราวเดียวกัน เพื่อให้เส้นไหมของแต่ละรังพันกันเป็นเกลียว ทำให้เกิดการเกาะยึดซึ่งกันและกัน มีความเหนียวทนทาน เนื้อเส้นไหมกระชับแน่นและมีการสะท้อนแสงและหักเหไปในทิศทางต่างกัน ดูสวยงามเป็นมันวาวเมื่อทอเป็นผืนผ้าไหม

การสาวไหม บ้านสมพรรัตน์
เส้นไยไหมหลาย ๆ เส้น สาวขึ้นแล้วตีเกลียวให้แน่นเป็นเส้นเดียว

ก่อนที่จะทำการสาวไหมให้คัดเลือกรังไหมที่จะสาวก่อน โดยแยกรังดีออกจากรังเสีย เพื่อให้ได้เส้นไหมที่มีคุณลักษณะเส้นกลมและขนาดสม่ำเสมอ รังไหมที่พร้อมจะสาวนั้น จะต้องสาวภายใน 10 วัน เพราะถ้าหากทิ้งนานกว่านั้นดักแด้จะกลายเป็นผีเสื้อ หรือ บี้ ถ้าหากสาวไม่ทันชาวบ้านสมพรรัตน์มีวิธีการยืดระยะการเก็บรังไหมให้นานขึ้นโดยนำไปเก็บในตู้เย็น ซึ่งสามารถเก็บได้นานขึ้นโดยที่ยังไม่กลายเป็นผีเสื้อ แต่ถ้านำออกมาจากตู้เย็นมันจะกลายเป็นผีเสื้อเลย จึงต้องนำไปนึ่งก่อนค่อยนำไปสาว เส้นไหมที่สาวจากรังไหมแช่เย็นนี้จะมีความหยาบ และสาวยาก เพราะใยไหมได้รับความชื้นจากตู้เย็น

การสาวไหม บ้านสมพรรัตน์
รังไหมที่สุกเต็มที่ พร้อมสำหรับการนำไปต้มเพื่อสาวเอาเส้นไหม

หลักการสำคัญของการสาวไหม คือ การพันเกลียวระหว่างรอบสาวไหมเพื่อให้เส้นใยหลาย ๆ เส้นที่สาวมาจากหลาย ๆ รัง ดึงมารวมกันเป็นเส้นเดียวนั้นให้เกิดการรัดตัวแน่น เส้นไม่แตก และเส้นกลม

การสาวไหมของชาวบ้านสมพรรัตน์นั้น การสาวเส้นไหมพุ่งด้วยมือแบบพื้นบ้าน ซึ่งเป็นวิธีการสืบทอดต่อ ๆ กันมา สำหรับเครื่องมือและอุปกรณ์ที่ใช้สำหรับสาวเส้นไหม มีดังนี้

  1. เครื่องสาวไหมหรือพวงสาว
  2. หม้อดิน หรือหม้ออลูมิเนียม หรือหม้อเคลือบ สำหรับใส่น้ำต้มรังไหม
  3. เตาไฟ นิยมใช้เตาถ่าน สำหรับตั้งหม้อต้มรังไหม
  4. ไม้คีบ สำหรับเกลี่ยรังไหมและเส้นใยไหม
  5. กระด้ง สำหรับใส่รังไหม
  6. ถังน้ำ สำหรับใส่เติมน้ำลงในหม้อต้มรังไหม

การสาวไหมแบบพื้นบ้าน

การต้มรังไหม มีวัตถุประสงค์เพื่อทำให้ sericin หรือ กาวไหมอ่อนตัวแล้วจะดึงเอาเส้นใยออกจากรังไหมได้ง่ายขึ้น เส้นใยสามารถคลายตัวออกอย่างเป็นระเบียบ และสางหาเงื่อนได้สะดวก น้ำที่ใช้ต้มรังไหมควรเป็นน้ำสะอาด ไม่ขุ่น มีความเป็นกรด-ด่างปานกลาง เช่น น้ำฝน น้ำประปาที่ใส่โอ่งเก็บไว้นาน ต้มให้ร้อนแต่ไม่เดือด โดยสังเกตเห็นไอน้ำที่ปากหม้อ และฟองอากาศเล็ก ๆ ลอยออกมาทั่วปากหม้อ หรือใช้นิ้วจุ่มดู รู้สึกว่าร้อน มีอุณหภูมิประมาณ 82-89 องศาเซลเซียส นำรังไหมที่เตรียมไว้ลงต้มในหม้อ 2 กำมือใหญ่ (ประมาณ 120-150 รัง) ใช้ไม้คีบกดรังไหมให้จมน้ำไปมา 4-5 ครั้ง นาน 1-2 นาที เรียกว่า การต้มรังไหม จากนั้นยกไม้คีบเกลี่ยรังไหมขึ้น ปมเส้นไหมจะหลุดจากรังไหมติดไม้คีบขึ้นมา

การสาวไหม บ้านสมพรรัตน์
การตั้งพวงสาวไหมกับหม้อต้มรังไหม

การพันเกลียวเส้นไหม เมื่อเส้นไหมติดไม้คีบเกลี่ยรังไหมขึ้นมา ใช้มือรวบเส้นไหมที่ติดกับไม้คีบดึงขึ้นมา แล้วสอดเส้นไหมใส่รูตรงกลางพวงสาว ดึงขึ้นไปพันกับลูกรอกของพวงสาว 1 รอบ และพันเกลียวเส้นไหม 7-9 รอบ แล้วดึงเส้นไหมผ่านพวงสาวไหมลงภาชนะที่เตรียมไว้ และทำการสาวไหม หรือดึงเส้นไหม จนเส้นไหมเปลือกนอกหมด ภาชนะที่เตรียมไว้ใส่เส้นไหมโดยมีวัสดุที่มีน้ำหนักพอประมาณทับไว้ เช่น เมล็ดนุ่น ข้าวสาร เม็ดมะขาม เพื่อช่วยให้เส้นไหมไม่พันกันเวลากรอเส้นไหมไปทำเข็ดหรือไจไหม

ถ้าเป็นพวงสาวไหมแบบปรับปรุง (เด่นชัย 1) เมื่อสอดเส้นไหมใส่รูตรงกลางพวงสาวแล้ว ให้ดึงขึ้นไปพันกับลูกรอกของพวงสาวตัวล่างสุด 2 รอบ แล้วจึงพันเกลียวไหม 7-9 รอบ

การสาวไหม บ้านสมพรรัตน์
การร้อยเส้นไหมเข้าไปตีเกลียวในพวงสาวไหม
การสาวไหม บ้านสมพรรัตน์

ชาวบ้านสมพรรัตน์ที่มีความชำนาญในการสาวไหม ในขณะที่พันเกลียวเส้นไหมนั้นจะสังเกตดูว่าเส้นไหมตึงไหม ถ้าเส้นไหมตึงแล้วจึงจะสาวเส้นไหมขึ้น การพันเกลียวเส้นไหมถ้าพันหลายรอบจะทำให้เส้นไหมกลมและไม่แตก ไม่ฟู พวงสาวก็จะเป็นอุปกรณ์หนึ่งที่ช่วยให้การพันเกลียวเส้นไหมให้แน่นขึ้นด้วย

ข้าวสารรองตะกร้า ช่วยไม่ให้เส้นไหมยุ่งจนพันกัน

เมื่อสาวไหมหลืบ ซึ่งเป็นไหมเปลือกออกหมดแล้ว โดยสังเกตเห็นเส้นไหมที่ออกจากรังไหมในหม้อต้มสาวมีลักษณะละเอียด สม่ำเสมอและนุ่มมือ ผิวรังไหมเรียบและมีสีจางลง ให้หยุดสาว แล้วใช้ช้อนหรือทัพพี ตักรังไหมออกจากหม้อต้ม ครั้งละประมาณ 15-20 รัง และเพิ่มรังไหมใหม่ลงในหม้อต้มครั้งละ 15-20 รัง เพื่อสาวต่อไป

รังไหมที่ตักขึ้นให้ผึ่งและพักไว้ในกระด้งให้มีความชื้นเล็กน้อยอย่าปล่อยให้รังไหมแห้ง เพราะถ้ารังไหมแห้งแล้วจะทำให้สาวยาก ในช่วงฤดูฝนซึ่งอากาศมีความชื้นสูง รังไหมที่พักไว้ก็จะมีความชื้นสูงด้วย ชาวบ้านจะพักรังไหมนี้ไว้โดยการห่อผ้าแล้วนำไปวางบนพื้นดินที่แห้ง เพื่อให้ดินช่วยซับน้ำบางส่วนออก ซึ่งจะทำให้รังไหมไม่ชื้นและไม่แห้งจนเกินไป

การสาวไหม บ้านสมพรรัตน์
รังไหมที่สาวเอาไหมเปลือก หรือ ไหมหลืบ ออกไปแล้ว เตรียมนำไปสาวเอาไหมน้อยต่อไป

การสาวไหมน้อย น้ำที่ใช้ต้มรังไหมสำหรับสาวไหมน้อย ต้องสะอาดและมีคุณสมบัติเช่นเดียวกับน้ำที่ใช้ต้มรังไหมสาวไหมหลืบ และทุกครั้งที่จะสาวไหมน้อยต้องเปลี่ยนน้ำต้มใหม่ ไม่ควรใช้น้ำที่ต้มสาวไหมหลืบมาสาวไหมน้อยต่อ เพราะจะทำให้เส้นไหมไม่สวยมีสีคล้ำ แข็งกระด้าง ต้มน้ำให้ร้อนอุณหภูมิประมาณ 89-90 องศาเซลเซียส หรือสังเกตมีไอน้ำและฟองอากาศทั่วปากหม้อต้ม หรือใช้นิ้วมือจุ่มดูรู้สึกร้อน

นำรังไหมที่ผ่านการสาวไหมหลืบออกแล้ว ใช้มือกำรังไหมบีบน้ำออกพอหมาด ๆ ใส่ลงไปในหม้อต้มประมาณ 70-100 รัง ใช้ไม้คีบกดรังไหมให้จมน้ำ พลิกไปมา 3-4 ครั้ง นาน 1-2 นาที แล้วยกไม้คีบเกลี่ยรังไหมขึ้น ปมเส้นไหมจะหลุดออกจากรังไหมและติดปลายไม้คีบมาด้วย ร้อยเส้นไหมใส่พวงสาว พันเกลียว 10-12 รอบ และทำการสาวไหม

ถ้าสาวด้วยพวงสาวแบบปรับปรุง (เด่นชัย 1) จะต้มรังไหมครั้งละ 80-90 รัง และดึงเส้นไหมเข้าไปในรูของพวงสาวดึงขึ้นไปพันลูกรอก 1 รอก 2 รอบ แล้วพันเกลียวไม่น้อยกว่า 80 เกลียว แล้วพันเส้นไหมไปยังรอกที่ 3

การสาวจะต้องดึงเส้นไหมลงภาชนะให้สม่ำเสมอ ความเร็วประมาณ 60-65 ครั้งต่อนาที และช่วงของการดึงเส้นไหมมีระยะจากการจับเส้นไหมถึงช่วงการปล่อยเส้นไหมลงภาชนะประมาณ 40-45 เซนติเมตร จะทำให้เส้นไหมวางเรียงในภาชนะสวยงามเมื่อนำมาเหล่งมัดไจไหมจะตรง

การสาวไหม บ้านสมพรรัตน์
สาวไหมใส่ในตะกร้า
การสาวไหม บ้านสมพรรัตน์
ตักรังเก่าออก เพิ่มรังใหม่เข้าไป

ขณะสาวไหมให้ใช้ไม้คีบเกลี่ยรังไหมเข้ารวมกัน และบังคับรังไหมไม่ให้ลอยขึ้นตามเส้นไหมเพราะจะทำให้เส้นไหมติด สาวไม่ได้ พยายามอย่าเกลี่ยรังไหมบ่อยเกินไปจะทำให้เส้นไหมมีปุ่มปมติดออกมามากและทำให้เส้นไหมขาด

การสาวให้สังเกตรังไหมที่อยู่ในหม้อต้ม ถ้ามีรังเสีย รังเน่าให้ตักออก ถ้าสังเกตรังไหมบางจนมองเห็นตัวดักแด้ชัดเจนให้ตักรังไหมหรือดักแด้นั้นออกจากหม้อต้ม ตักออกครั้งละประมาณ 5-10 รัง แล้วเติมรังไหมใหม่เข้าไป 5-10 รัง/ครั้ง เช่นกัน แล้วใช้ไม้คีบกดรังไหมที่เติมเข้าไปให้จมน้ำแล้วทำการสาวต่อ การสาวไหมถ้าจะให้ดีควรทำช่วยกัน 2 คน คือ มีคนสาวไหมและมีคนตักรังไหมออกและเพิ่มรังไหมในหม้อต้ม

การสาวไหม บ้านสมพรรัตน์
สาวเส้นไหมออกจากรังจนเห็นตัวดักแด้ จึงตักรังไหมออก
การสาวไหม บ้านสมพรรัตน์

ในระหว่างการสาวไหมให้สังเกตเส้นไหมที่ผ่านพวงสาวว่ามีปุ่มปมหรือขี้ไหมติดมาหรือไม่ ถ้ามีให้หยุดสาวและแกะปุ่มปมออกก่อน

เมื่อเส้นไหมที่สาวได้มีขนาดเล็กลงให้หยุดสาวก่อน แล้วเติมรังไหมลงต้มเพิ่มครั้งละไม่เกิน 10 รัง ถ้ารู้สึกว่าเส้นไหมมีขนาดใหญ่ขึ้น ให้ตักรังไหมในหม้อต้มออกหรือใช้ไม้คีบเกลี่ยรังไหมในหม้อต้มออกด้านข้าง

การควบคุมอุณหภูมิน้ำต้มรังไหม ถ้าน้ำร้อนรังไหมจะเปื่อยเส้นไหมออกมาก บางทีหลุดออกมาทั้งรังให้เติมน้ำเย็นลงไป ถ้าน้ำเย็นเกินไปจะสาวไม่ค่อยออก ให้เพิ่มไปให้แรงขึ้นและคอยควบคุมความร้อนของน้ำในหม้อต้มให้สม่ำเสมอตลอดเวลาการสาวไหม

เมื่อสาวเสร็จแล้ว ให้นำเส้นไหมออกจากภาชนะที่ใส่ออกมาตากผึ่งลมให้แห้ง โดยนำเส้นไหมไปกรอทำเข็ดไหมหรือไจไหม โดยแยกชนิดต่าง ๆ ของเส้นไหม เช่น ไหมหลืบ ไหมสาวเลย หรือไหมน้อย โดยใช้เครื่องทำไจไหม ซึ่งชาวบ้านเรียกว่า “เหล่ง” เพื่อให้สะดวกแก่ผู้ใช้ เหล่งที่ใช้ส่วนใหญ่จะมีขนาดมาตรฐาน คือ เส้นรอบวง 150 เซนติเมตร เมื่อทำเป็นไจแล้วจะได้เส้นไหมหนักใจละประมาณ 100 กรัม

การสาวไหม บ้านสมพรรัตน์
เหล่ง สำหรับพันเส้นไหมให้เป็นไจ
การสาวไหม บ้านสมพรรัตน์
การพันเส้นไหมเข้าเหล่ง
การสาวไหม บ้านสมพรรัตน์
เส้นไหมที่พันด้วยเหล่งจะทำให้ง่ายต่อการคำนวณความยาวและน้ำหนักของเส้นไหม ทำให้ได้เส้นไหมขนาดไจเท่า ๆ กัน
การสาวไหม บ้านสมพรรัตน์
เส้นไหมที่สาวได้ จะนำมาผึ่งลมให้แห้งในที่อากาศถ่ายเท

บรรณานุกรม

  • คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.เส้นไหมและการสาวไหม. [ออนไลน์]. สืบค้นข้อมูลจาก http://mis.agri.cmu.ac.th/course/course_lecture_download.asp?CourseNO=357427&CID=1002
  • ศิริพร บุญชู และนันทวรรณ รักพงษ์. (2555). ภูมิปัญญาการผลิตเส้นไหมไทยพื้นบ้านอีสาน. กรุงเทพฯ : กรมหม่อนไหม
  • สมโพธิ อัครพันธุ์. (2539). การพัฒนาหม่อนไหมในประเทศไทย. กรุงเทพฯ : สถาบันวิจัยหม่อนไหม กรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์