อาญาสี่ปกครองเมืองอุบล

ระบบการปกครองแบบอาญาสี่ เป็นระบบการปกครองที่เมืองอุบลราชธานีนำมาใช้เมื่อครั้งตั้งเมืองขึ้นครั้งแรก โดย สายตระกูลเจ้านายพื้นเมืองอุบลราชธานี ที่สืบเชื้อสายมาจากเมืองเชียงรุ้งแสนหวีฟ้าแห่งอาณาจักรล้านช้าง คำว่า “อาญา” หมายถึง เจ้านาย เจ้าชีวิต เจ้าผู้เป็นใหญ่เหนือกฎหมายเหนือชีวิต สามารถสั่งเป็นสั่งตายไพร่ฟ้าประชาราษฎร์ มีอำนาจสิทธิ์ขาดสูงสุดในการปกครองแผ่นดิน ประกอบด้วยตำแหน่งเจ้าเมือง อุปฮาด อุปราช และราชวงศ์ เช่นเดียวกับระบบสมบูรณาญาสิทธิราชของสยาม เป็นการปกครองที่สืบทอดเชื้อสายกันมา ทำให้ผู้ปกครองเมืองอุบลราชธานีในช่วงนั้นส่วนใหญ่จะเป็นญาติพี่น้องสายเลือดเดียวกัน 

เชื้อสายเจ้านายพื้นเมืองอุบลราชธานี

บำเพ็ญ ณ อุบล (2547) กล่าวถึงราชวงศ์เจ้านายพื้นเมืองอุบลราชธานีนั้นมีสายเลือดมาจาก 3 ราชสกุลวงศ์มารวมกัน คือ

  • สายต้น สืบเชื้อสายมาจากเจ้าเชียงรุ้งแสนหวีฟ้า โดย เจ้าปางคำผู้สร้างเมืองนครเขื่อนขันธ์กาบแก้วบัวบาน หรือหนองบัวลำภู
  • สายที่สอง ฝ่ายหญิงสืบเชื้อสายมาจากพระเจ้าสุริยวงศาธรรมิการาช (เจ้าสุริยกุมาร) เจ้ากรุงศรีสัตนาคนหุตล้านช้างเวียงจันทน์
  • สายที่สาม ฝ่ายหญิงสืบเชื้อสายมาจากเจ้าไชยกุมารองค์หลวง เจ้าพระมหาอุปฮาดธรรมเทโว อันสืบแต่เจ้าสร้อยสมุทพุทธางกูร เจ้านครจำปาศักดิ์ คือ เจ้านางตุ่ย ได้มาเป็นภรรยาของพระประทุมวรราชสุริยวงศ์ (คำผง) ผู้ตั้งเมืองอุบลราชธานีและสืบสายสกุลต่อมา

ธรรมเนียมการปกครองแบบอาญาสี่

ปวีณา ปกป้อง (2552) ได้รวบรวมข้อมูลและบันทึกไว้ในวิทยานิพนธ์เรื่อง การเมืองเรื่องพื้นที่และการสร้างตัวตนของสายตระกูลอดีตเจ้านายพื้นเมืองอุบลราชธานี ไว้ดังนี้

ระบบการปกครองแบบอาญาสี่ที่เจ้านายพื้นเมืองอุบลราชธานี ได้นำมาใช้ในการปกครองบ้านเมือง โดยได้รับอิทธิพลมาจากล้านช้าง ตำแหน่งและหน้าที่ต่าง ๆ ประกอบด้วย

  1. เจ้าเมือง หรือ ผู้ว่าราชการเมือง เป็นตำแหน่งที่ต้องได้รับโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งจากพระมหากษัตริย์ไทย จึงต้องมีเครื่องยศเจ้าเมืองและมีสารตราตั้งจากราชสำนักกรุงเทพฯ เป็นผู้มีอำนาจในการปกครองสูงสุดของเมืองและอยู่ในตำแหน่งตลอดชีวิต ทำหน้าที่ดูแลทุกข์สุขของพลเมือง มีอำนาจสิทธิ์ขาดในการบังคับบัญชาสั่งการโดยทั่วไป ยกเว้นอำนาจสิทธิขาดในราชการบางอย่าง เช่น การตัดสินประหารชีวิตโจรผู้ร้ายในคดีอุกฉกรรจ์ (นอกจากเวลาที่มีสงคราม) เรื่องที่เกี่ยวข้องกับเขตแดนเมือง แต่มีอำนาจแต่งตั้งกรมการเมืองระดับรองลงมา ตั้งแต่เมืองแสน เมืองจันทร์ ลงไปจนถึงจ่าบ้าน
  2. อุปฮาด หรือ ปลัดเมือง มีอำนาจหน้าที่แทนเจ้าเมืองได้ทุกอย่าง ขณะที่เจ้าเมืองไม่อยู่หรือไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ ส่วนหน้าที่โดยตรง คือ รวบรวมสำมะโนครัว ตัวเลก จัดทำรวบรวมบัญชีส่วย อากร เร่งรัดการจัดเก็บส่วยในแต่ละปี พร้อมทั้งจัดส่งส่วยอากรให้เมืองราชธานีให้ทันตามกำหนด ตลดจนการเกณฑ์ไพร่พลเมืองไปทำสงคราม เมื่อเจ้าเมืองสิ้นชีวิต อุปฮาดมักจะได้รับตำแหน่งเจ้าเมือง จึงจะเห็นว่ามีการแต่งตั้งน้องชายหรือบุตรชายของเจ้าเมืองให้เป็นอุปฮาดเป็นส่วนใหญ่
  3. ราชวงศ์ หรือ ยกกระบัตรเมือง ในยามบ้านเมืองปกติสุข ราชวงศ์จะทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยของเจ้าเมืองและอุปฮาดและผลัดเปลี่ยนกับราชบุตรในการนำเงินส่วยและสิ่งของส่งส่วยส่งเมืองราชธานี  ตลอดจน รวบรวมบัญชีไพร่พลเมืองที่เป็นชายฉกรรจ์ที่ควรจะจัดเข้าเป็นพลทหารสำหรับเมืองในยามสงคราม ราชวงศ์ทำหน้าที่เป็นแม่ทัพที่สำคัญควบคุมไพร่พลออกทำการศึกและอาจทำหน้าที่เกณฑ์ไพร่พลจัดหาเสบียงอาหารและอาวุธยุทโธปกรณ์ต่าง ๆ เพิ่มเติม นอกจากนั้นแล้วยังมีหน้าที่ในการสอบสวนและตัดสินคดี มักจะถูกเลื่อนขึ้นเป็นอุปฮาด ผู้ดำรงตำแหน่งนี้ก็มักจะเป็นบุตรหรือน้องชายเจ้าเมือง
  4. ราชบุตร หรือ ผู้ช่วยราชการเมือง มีอำนาจหน้าที่เช่นเดียวกับราชวงศ์ กล่าวคือ ทำหน้าที่ผลัดเปลี่ยนกับราชวงศ์ ทั้งในการส่งส่วยของหลวง การสงครามอื่น ๆ เป็นต้นว่า ถ้าราชวงศ์เป็นผู้ควบคุมกำลังไพร่พลออกไปทำสงคราม ราชบุตรก็จะทำหน้าที่เกณฑ์ไพร่พลจัดหาอาวุธยุธโธปกรณ์และเสบียงอาหารเพิ่มเติม มักจะถูกเลื่อนเป็นราชวงศ์

ผู้ปกครองเมืองอุบลราชธานีตามระบบอาญาสี่

ปวีณา ป้องกัน (2552 ) ได้รวบรวมข้อมูลการปกครองเมืองของเจ้านายเมืองอุบลราชธานีที่พระมหากษัตริย์แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเจ้าเมืองอุบลราชธานี มีจำนวน 6 คน ดังนี้

เจ้าเมืองอุบลราชธานี
แผนผังผู้ปกครองเมืองอุบลราชธานีในระบบการปกครองแบบอาญาสี่ ดัดแปลงจาก ปวีณา ปกป้อง (2552)

1. พระประทุมวรราชสุริยวงศ์ (คำผง) เป็นบุตรของเจ้าพระตา ปกครองเมืองอุบลราชธานีซึ่งอยู่ในฐานะเมืองประเทศราช ระหว่างปี พ.ศ. 2335-2338 ภาระกิจสำคัญคือ โปรดให้สร้างป้อมปราการ คู ค่าย สร้างประตูเมือง 4 ประตู ซึ่งอยู่บริเวณสี่แยกถนนหลวง สี่แยกถนนอุปราช สี่แยกถนนราชบุตร และสี่แยกถนนราชวงศ์ในปัจจุบัน หอโฮง เจ้านาย สร้างวัดหลวง และเสนาสนะ อาทิ สิม อาราม หอระฆัง พระพุทธรูป สิ่งก่อสร้างต่าง ๆ ล้วนได้ต้นแบบมาจากศิลปะหลวงพระบาง มีการตัดถนนสายแรกของเมืองอุบลราชธานี คือ ถนนเขื่อนธานี

ณ ปัจจุบันทุกวันที่ 10 พฤศจิกายน ของทุกปี จังหวัดอุบลราชธานีจัดให้มีพิธีบวงสรวงและสดุดีวีรกรรม พระประทุมวรราชสุริยวงศ์ (คำผง) ผู้ครองเมืองอุบลราชธานีคนแรกขึ้น โดยจะมีขบวนอัญเชิญเครื่องยศเจ้าเมืองโบราณ จากวัดหลวงมายังบริเวณอนุสาวรีย์พระประทุมวรราชสุริยวงษ์ ทุ่งศรีเมือง จากนั้นเป็นพิธีวางขันหมากเบ็งและรำถวายมือ

พระประทุมวรราชสุริยวงศ์ (คำผง)
อนุสาวรีย์พระประทุมวรราชสุริยวงศ์ (คำผง) ณ วัดหลวง
วิหารวัดหลวง
วิหารวัดหลวง วัดแรกของอุบลราชธานี สร้างโดยพระประทุมวรราชสุริยวงศ์ (คำผง) ปัจจุบันถูกรื้อถอนไปแล้ว

2. พระพรหมวรราชสุริยวงศ์ (ท้าวทิดพรหม) เป็นน้องชายของพระประทุมวรราชสุริยวงศ์ (คำผง) เป็นผู้ปกครองเมืองอุบลราชธานี ตั้งแต่ พ.ศ. 2338-2388 รวมเวลา 45 ปี เป็นผู้มีบทบาทสำคัญร่วมกับท้าวก่ำ ในการช่วยกองทัพกรุงธนบุรีสู้รบกับเวียงจันทน์ ในช่วงสมัยที่ได้ร่วมสงครามปราบเจ้าอนุวงศ์และได้เป็นผู้ที่มีความซื่อสัตย์ จงรักภักดีต่อองค์พระมหากษัตริย์เจ้าเป็นอย่างมาก สภาพสังคมของเมืองอุบลราชธานีนั้นได้ก่อสร้างวัดป่าหลวง สร้างพระเจ้าใหญ่อินทร์แปง สร้างวัดป่าน้อย

พระเจ้าใหญ่อินทร์แปง วัดมหาวนาราม
พระเจ้าใหญ่อินทร์แปง วัดมหาวนาราม

3. ราชบุตรสุ่ย ท่านได้ช่วยราชการศึกสงคราม ไปปราบศึกเมืองเขมรเป็นเวลานานถึง 15 ปี เมื่อเสร็จศึก รัชกาลที่ 3 ทรงโปรดเกล้าแต่งตั้งให้เป็นเจ้าเมืองอุบลราชธานี แต่ระหว่างที่พักผ่อนในกรุงเทพพระนครได้ 7 วัน ก่อนเดินทางกลับเมืองอุบลราชธานีท่านได้ล้มป่วยติดเชื้ออหิวาตกโรคจนถึงแก่กรรม ภายหลังญาติมิตรผู้ติดตามได้นำอัฐิมาบรรจุไว้ที่เจดีย์วัดสุทัศนาราม ซึ่งเป็นวัดที่ท่านเป็นหัวหน้าสร้างวัดประจำตระกูลมาจนทุกวันนี้

วัดสุทัศนาราม
วัดสุทัศนาราม

4. พระพรหมราชวงศา (กุทอง) ท่านเป็นบุตรของพระประทุมวรราชสุริยวงศ์ (คำผง) ได้เป็นผู้ปกครองเมืองอุบลราชธานี ตั้งแต่ พ.ศ.2388-2406 รวมเวลา 18 ปี เป็นช่วงเวลาที่ธรรมยุตินิกายแพร่หลายในเมืองอุบลราชธานีเพื่อสนองพระประสงค์ของรัชกาลที่ 4 โปรดฯ ให้สร้างวัดสุปัฏนาราม วัดศรีทอง (วัดศรีอุบลรัตนาราม) และวัดสุทัศน์ เป็นต้น การตั้งเจ้าเมืองในช่วงเวลานี้ได้มีเครื่องยศเจ้าเมืองที่ทรงพระราชทาน

วัดสุปัฏนารามวรวิหาร
วัดสุปัฏนารามวรวิหาร วัดธรรมยุตินิกายวัดแรกของอุบลราชธานี

พระราชทานเครื่องยศฐานนันดรศักดิ์ พระพรหมราชวงศา (กุทอง) เจ้าครองเมืองอุบลราชธานี มีพานถมเครื่องในทองเหลืองสำรับหนึ่ง ลูกประคำทองคำสายหนึ่ง กระบี่บั้งถมหนึ่ง คนโททองคำใบหนึ่ง กระโถนถมใบหนึ่ง สัปทนปัสตูคันหนึ่ง ปืนคาบศิลาคอลายกระบอกหนึ่ง เสื้อเขมขาบริ้วมะลิเลื้อยหนึ่ง ส่วนไทปักทองขวางผืนหนึ่ง แพรขาวห่มผืนหนึ่ง ผ้าปูมผืนหนึ่ง

  • พระราชทานแก่อุปฮาดแก่น สัปทนแพรคันหนึ่ง เสื้อเขมขาบริ้วขอหนึ่ง ส่วนไทปักทองคำผืนหนึ่ง ผ้าคำปักทองคำมีซับผืนหนึ่ง แพรมีทับทิมคิตขลิบผืนหนึ่ง ผ้าขาวผินหนึ่ง ผ้าปูมผืนหนึ่ง
  • พระราชทานแก่ ท้าวโพธิสาร (โท) ผู้เป็นราชวงศ์ มีคันโทเงินสำรับหนึ่ง ผ้าขาวผืนหนึ่ง ผ้าปูมผืนหนึ่ง
  • พระราชทานแก่ ท้าวสุริยะ (สุ่ย) ผู้เป็นราชบุตร มีเสื้อเขมขาบสะเทิ้นหนึ่ง แพรสีทับทิมติดขลิบผืนหนึ่ง ผ้าคำปักไหมมีซับผืนหนึ่ง แพรขาวห่มผืนหนึ่ง ผ้าปูมผืนหนึ่งให้เอาถาดหมาก คนโทเงิน เครื่องเงิน ซึ่งอุปฮาดผู้เป็นอุปฮาดใหม่ รับพระราชทานเป็นเครื่องยศฐานนันดรศักดิ์สืบไป

เครื่องยศดังกล่าวเจ้านายเมืองอุบลราชธานี ได้รับพระราชทานมานั้น เมื่อพ้นตำแหน่งแล้วจะมอบให้ผู้มารับตำแหน่งใหม่หรือไม่ แล้วแต่ส่วนกลางจะเป็นผู้กำหนดและต้องส่งคืนเมื่อถึงแก่กรรมแล้ว ด้วยเหตุนี้จึงมีเครื่องยศที่ตกทอดมายังลูกหลานน้อย

5. เจ้าพระพรหมเทวานุเคราะห์วงศ์ นามเดิม คือ เจ้าหน่อคำ ปกครองเมืองอุบลราชธานี ตั้งแต่ พ.ศ.2409-2429 รวมเวลา 20 ปี มีศักดิ์เป็นพี่ชายเจ้าจอมมารดาด้วงคำ ในรัชกาลที่ 4 เป็นบุตรเจ้าเสือ และเป็นหลานเจ้าอนุวงศ์แห่งเมืองเวียงจันทน์ และเป็นเหลนของพระเจ้าสิริบุญสาร สายเวียงจันทร์ การแต่งตั้งเจ้าเมืองในครั้งนี้ทำให้เกิดความขัดแย้งกันขึ้นระหว่างเจ้าผู้ครองเมืองสายตระกูลเวียงจันทน์และฝ่ายอุปฮาด ราชวงศ์ และราชบุตร ตลอดระยะเวลาปกครอง และเกิดการกล่าวหาการฉ้อราษฎร์บังหลวง จนต้องไปสู้ความกันที่กรุงเทพฯ

6.เจ้าราชบุตรคำ รับราชการตั้งแต่ พ.ศ.2429-ถึงแก่อนิจกรรม ในปี พ.ศ.2434 เป็นช่วงที่กรุงเทพฯ ขยายอำนาจการปกครองไปยังอีสานตะวันออก ทำให้เจ้าราชบุตร (คำ) ต้องร่วมรับราชการกับพระยามหาอำมาตยาธิบดีและพระยาศรีสิงหเทพ (ทัด)

ลูกหลานสายตระกูลเจ้านายเมืองอุบลราชธานีที่สืบเชื้อสายมาจากพระประทุมวรราชสุริยวงศ์ (คำผง) สืบต่อกันเป็นชนชั้นปกครองมาตลอด ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 1 ต้องถูกยกเลิกการปกครองระบบอาญาสี่ในสมัยกรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ มาเป็นข้าหลวงต่างพระองค์อย่างเด็ดขาดตำแหน่งต่าง ๆ ของระบบการปกครองใหม่ เป็นการคัดเลือกให้ดำรงตำแหน่งในระบบราชการที่ต้องใช้ความรู้ความสามารถส่วนบุคคลไม่ได้สืบทอดตำแหน่งการปกครองเมือง ตามสายตระกูลที่เคยปฏิบัติสืบมา

โครงสร้างระบบราชการในเมืองอุบลราชธานี ภายหลังการปฏิรูปการปกครองระยะแรกยังคงมีเครือญาติของตระกูลเจ้าเมือง เช่น ณ อุบล สุวรรณกูฎ พรหมวงศานนท์ บุตโรบล เข้ามาอยู่ในคณะบริหารเมืองอุบลราชธานี ตามตำแหน่งหลัก ได้แก่ ได้แก่ ท้าวโพธิสารราช (เสือ ณ อุบล) เป็นพระอุบลเดชประชารักษ์ ผู้ว่าราชการเมือง ท้าวไชยกุมาร (กุคำ สุวรรณกูฏ) เป็นพระอุบลศักดิ์ประชาบาล ยกบัตรเมือง ท้าวสิทธิสาร (บุญชู พรหมวงศานนท์) เป็นพระอุบลการประชานิตย์ ปลัดเมือง และท้าวบุญเพ็ง (บุญเพ็ง บุตโรบล) เป็นพระอุบลกิจประชากร ผู้ช่วยราชการเมือง และได้มีการจ่ายเงินเดือนข้าราชการทุกตำแหน่งเป็นครั้งแรกของประเทศไทย ถือได้ว่าเป็นการปฏิรูปการปกครองที่สำคัญ เพราะทำให้ข้าราชการในท้องถิ่นกลายเป็นคนของรัฐบาลทั้งหมดตั้งแต่นั้นมา

แผนผังสายสกุลเจ้านายพื้นเมืองอุบลราชธานี

เจ้านายพื้นเมืองอุบลราชธานี
แผนผังสายสกุลเจ้านายพื้นเมืองอุบลราชธานี ผู้สืบทอดการปกครองในระบบอาญาสี่ ดัดแปลงจาก ปวีณา ป้องกัน (2552)

อาญาสี่และชื่อถนนในเมืองอุบลราชธานี

ชื่อถนนหลายสายในเมืองอุบลราชธานีนั้น ได้มีการนำชื่อและตำแหน่งของบุคคลสำคัญมาตั้งเป็นชื่อถนน เพื่อแสดงถึงความสำคัญ ให้เกียรติ และให้เป็นประวัติศาสตร์แก่เมือง ระบบการปกครองและผู้ปกครองในแบบอาญาสี่ของเมืองอุบลราชธานี ก็ได้ถูกนำมาตั้งเป็นชื่อถนนเช่นกัน ดังนี้

  • ถนนอุปราช ตั้งชื่อตามตำแหน่งอุปราชหรือปลัดเมือง
  • ถนนราชบุตร ตั้งชื่อตามตำแหน่งราชบุตรหรือผู้ช่วยราชการเมือง
  • ถนนราชวงศ์ ตั้งชื่อตามตำแหน่งราชวงศ์หรือยกกระบัตรเมือง
  • ถนนอุบลเดช ตั้งชื่อตามราชทินนามพระอุบลเดชประชารักษ์ (เสือ ณ อุบล) ผู้ว่าราชการเมือง
  • ถนนอุบลศักดิ์ ตั้งชื่อตามราชทินนามพระอุบลศักดิ์ประชาบาล (กุคำ สุวรรณกูฎ) ยกกระบัตรเมือง หรือ ราชวงศ์ (เดิม)
  • ถนนอุบลกิจ ตั้งชื่อตามราชทินนามพระอุบลกิจประชากร (ท้าวบุญเพ็ง บุตโรบล) ผู้ช่วยราชการเมือง
  • ถนนพรหมราช ตั้งชื่อตามราชทินนามพระพรหมราชวงศา (กุทอง) เจ้าเมืองอุบลราชธานีลำดับที่ 4 ระหว่าง พ.ศ. 2388-2406
  • ถนนพรหมเทพ ตั้งชื่อตามราชทินนาม เจ้าพระพรหมเทวานุเคราะห์วงษ์ (เจ้าหน่อคำ) เจ้าเมืองอุบลราชธานี อันดับที่ 5 ระหว่าง พ.ศ. 2409-2425
  • ถนนสุริยาตร์ ตั้งชื่อตามราชทินนาม พระประทุมวรราชสุริยวงศ์ (คำผง) เจ้าเมืองอุบลราชธานี ลำดับที่ 1  ระหว่างปี พ.ศ. 2335-2338
แผนที่ถนนในเมืองอุบลราชธานี
แผนที่ถนนในเขตเทศบาลนครอุบลราชธานี ที่มา : www.guideubon.com

บรรณานุกรม

บำเพ็ญ ณ อุบล. (2547). เล่าเรื่องเมืองอุบล. อุบลราชธานี: สำนักวิทยบริการ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี.

ปวีณา ป้องกัน. (2552). การเมืองเรื่องพื้นที่และการสร้างตัวตนของสายตระกูลอดีตเจ้านายเมืองอุบลราชธานี. วิทยานิพนธ์ ศิลปศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาวิชาสังคมศาสตร์และการพัฒนา. อุบลราชธานี : คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี.

เอี่ยมกมล จันทะประเทศ. (2538). สถานภาพเจ้านายพื้นเมืองอุบลราชธานี ระหว่างปี พ.ศ. 2425-2476. วิทยานิพนธ์ การศึกษามหาบัณฑิต สาขาวิชาประวัติศาสตร์. มหาสารคาม: มหาวิทยาลัยมหาสารคาม.

 

Tag

การทอผ้าไหม การทำต้นเทียนพรรษา การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม การปฏิบัติธรรม การแกะสลักเทียนพรรษา ครูภูมิปัญญาไทย บุญมหาชาติ บุญเดือนแปด ชุมชนทำเทียนพรรษา บ้านชีทวน พักผ่อนหย่อนใจ พิพิธภัณฑ์พื้นบ้าน พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น ดนตรีพื้นบ้าน ดนตรีพื้นเมืองอีสาน ต้นเทียนพรรษาประเภทติดพิมพ์ ต้นเทียนพรรษาประเภทแกะสลัก ประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ประเพณีท้องถิ่น ประเพณีอีสาน ประเพณีแห่เทียนพรรษา วัดหนองป่าพง วิถีชีวิตคนอีสาน วิปัสสนากรรมฐาน ศิลปกรรมญวน ศิลปกรรมท้องถิ่นอีสาน ศิลปะญวน สถาปัตยกรรมท้องถิ่น สถาปัตยกรรมท้องถิ่นอีสาน สถาปัตยกรรมในพุทธศาสนา สาขาวัดหนองป่าพง สิม หัตถกรรมการทอผ้า อำเภอพิบูลมังสาหาร อำเภอตระการพืชผล อำเภอน้ำยืน อำเภอม่วงสามสิบ อำเภอวารินชำราบ อำเภอเขมราฐ อำเภอเขื่องใน อำเภอเดชอุดม อำเภอเมืองอุบลราชธานี อุบลราชธานี อุโบสถ ฮีตสิบสอง