ต้นสกุลเก่าแก่เมืองอุบล

นามสกุลเก่าแก่ของเมืองอุบลราชธานีนั้น ส่วนใหญ่ต้นสกุลจะสืบสายสกุลมาจากเจ้านายพื้นเมืองผู้อยู่ในฐานะผู้ปกครองเมืองในระบบอาญาสี่ ที่มีธรรมเนียมการสืบทอดตำแหน่งและอำนาจจากพ่อสู่ลูก จากพี่สู่น้อง ทั้งเจ้าเมือง อุปฮาด ราชบุตร ราชวงศ์ นับตั้งแต่สมัยพระประทุมวรราชสุริยวงศ์ (คำผง) ถูกแต่งตั้งให้เป็นเจ้าเมืองคนแรกของเมืองอุบลราชธานีศรีวนาไลประเทศราช ในสมัยรัชกาลที่ 1 จนกระทั่งมีการปฏิรูปการปกครองในช่วงรัชกาลที่ 5 จึงถูกลดบทบาทลงและปรับเปลี่ยนสถานภาพไป บ้างก็เปลี่ยนสถานภาพเป็นเจ้านายชั้นสูง บ้างก็เข้ารับราชการ บ้างก็ประกอบอาชีพเกษตรกรรม หรือประกอบธุรกิจ หรืออุปสมบท และส่วนใหญ่ก็ยังคงอาศัยและทำมาหากินอยู่ในเมืองอุบลราชธานี สืบทอดเชื้อสายสกุลและขนบธรรมเนียมประเพณีอันดีงามมาจนถึงปัจจุบัน

นามสกุลเก่าแก่ของเมืองอุบลราชธานี

Guideubon.com และ wikipedia ได้รวบรวมและเผยแพร่เกี่ยวกับนามสกุลเก่าแก่ของเมืองอุบลราชธานี ทั้งที่สืบเชื้อสายมาจากเจ้านายพื้นเมือง และเชื้อสายจากพ่อค้าพาณิชย์ชาวจีนที่มาทำมาหากินอยู่ในเมืองอุบลราชธานี ไว้ดังนี้

สกุล ณ อุบล เป็นที่สืบเชื้อสายมาจากพระประทุมวรราชสุริวงศ์ (คำผง) เจ้าเมืองคนแรกของเมืองอุบลราชธานี และเจ้าธรรมเทโว แห่งนครจำปาศักดิ์ทางฝ่ายมารดา สายอุปฮาดสุดตา อุปฮาดสุดโท ผู้ที่ขอรับพระราชทานนามสกุล คือ พระอุบลเดชประชารักษ์ (เสือ) กรมการเมืองพิเศษเมืองอุบลราชธานีในสมัยรัชกาลที่ 5

ต้นสกุล ณ อุบล
แผนผังต้นสกุล ณ อุบล ที่มา : พระอุบลเดชประชารักษ์ (ท้าวโพธิสาร เสือ ณ อุบล) (2530) ปรากฏใน เอี่ยมกมล จันทะประเทศ (2538)

สกุล สุวรรณกูฏ เป็นสกุลที่สืบเชื้อสายมาจากพระพรหมราชวงศา (กุทอง)  เจ้าเมืองอุบลราชธานีลำดับที่ 4 ซึ่งเป็นบุตรของพระประทุมวรราชสุริยวงศ์ (คำผง) ผู้ที่ขอรับพระราชทานนามสกุล รองอำมาตย์เอก พระบริคุฏคามเขต (โหง่นคำ)

ต้นสกุลสุวรรณกูฏ
แผนผังต้นสกุลสุวรรณกูฏ ที่มา : หนังสืองานฌาปนกิตศพนางบุญศรี ประมุขกุล ปรากฏใน เอี่ยมกมล จันทะประเทศ (2538)

สกุล พรหมวงศานนท์ เป็นสกุลที่สืบสายมาจากราชวงศ์ พระโพธิสาร และราชวงศ์ทางฝ่ายมารดา ผู้ที่ขอรับราชทานนามสกุล คือ พระอุบลการประชานิตย์ (บุญชู) ซึ่งเป็นหลานพระพรหมราชวงศา (พรหม)

ต้นสกุลพรหมวงศานนท์
แผนผังต้นสกุลพรหมวงศานนท์ ที่มา : หนังสืองานพระราชทานเพลิงศพนายพิทยา พรหมวงศานนท์ ณ เมรุวัดมกุฏกษัตริยาราม 20 พ.ย.2529 ปรากฏใน เอี่ยมกมล จันทะประเทศ (2538)

สกุล บุตโรบล เป็นสกุลที่สืบเชื้อสานมาจากท้าวโคตซึ่งเป็นบุตรในพระตา และเป็นอนุชาในพระปทุมวรราชสุริยวงศ์ (ท้าวคำผง) ผู้รับพระราชทานสกุลคือ ร้อยโท พระอุบลกิจประชากร (บุญเพ็ง) สายสกุลนี้เป็นสายสกุลของอัญญานางเจียงคำ บุตโรบล (หม่อมเจียงคำ ชุมพล ณ อยุธยา) ในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าชุมพลสมโภช กรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์

ต้นสกุลบุตโรบล
แผนผังต้นสกุลบุตโรบล ฝ่ายบิดา ที่มา : เอกสารส่วนตัวของคุณอรอินทร์ ภูมิพัฒน์ และของคุณมาลีศักดิ์ เจริญศรี อนุญาตให้ใช้อ้างอิงได้ ปรากฏใน เอี่ยมกมล จันทะประเทศ (2538)

สกุล สิงหัษฐิต เป็นสกุลที่สืบเชื้อสายจากพระเกษโกมนสิงห์ขัตติยะ ซึ่งเป็นหลานพระพรหมราชวงศา (กุทอง) ผู้ที่ขอรับพระราชทานนามสกุล คือ อำมาตย์ตรี พระวิภาคย์พจนกิจ (เล็ก)

สกุล ทองพิทักษ์ เป็นสกุลที่สืบเชื้อสายจากอุปฮาดสุดตา ซึ่งเป็นพี่ชายของพระพรหมราชวงศา (กุทอง) ผู้ที่ขอพระราชทานนามสกุล คือ ท้าวไกรยราช (พู) บุตรของอุปฮาดสุดตาและหลานของพระพรหมราชวงศา (กุทอง) 

สกุล อมรดลใจ เป็นสกุลที่สืบเชื้อสายมาจากพระอมรดลใจ (อ้ม สุริยวงศ์) ซึ่งเป็นบุตรของพระพรหมราชวงศา (กุทอง) ที่ขอรับพระราชทานแต่งตั้งให้เป็นเจ้าเมืองระกาพืชผลท่านแรก ท่านเป็นบุตรในพระพรหมวรราชสุริยวงศ์ (กุทอง สุวรรณกูฏ) เจ้าเมืองอุบลราชธานีลำดับที่ 4 และเป็นเขยในเจ้าผู้ครองนครจำปาศักดิ์ ผู้ที่รับพระราชทานนามสกุล คือ นายกองโทเก่ง

อาญาสี่ปกครองอำเภอ
แผนผังการปกครองระบบอาญาสี่ผู้ปกครองเมือง (อำเภอ) ที่มา : เอกสารส่วนตัวของอาจารย์โสตดิ์ ขัมภรัตน์ อนุญาตให้ใช้อ้างอิงได้ ปรากฏใน เอี่ยมกมล จันทะประเทศ (2538)

สกุล โทนุบล เป็นสกุลที่สืบเชื้อสายผ่านทางเจ้าเมืองมหาชนะชัย หรือท้าวคำพูน สุวรรณกูฏ ผู้เป็นบุตรในพระพรหมวรราชสุริยวงศ์ (กุทอง สุวรรณกูฏ) เจ้าเมืองอุบลราชธานีลำดับที่ 3 โดยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานนามท้าวคำพูนว่า พระเรืองชัยชนะ เจ้าเมืองมหาชนะชัย ขึ้นตรงต่อเมืองอุบลราชธานี ต่อมาภายหลังเมืองมหาชนะชัยได้ถูกลดฐานะเป็นอำเภอภายใต้การปกครองของเมืองอุบลราชธานี โดยมีหลวงวัฒนวงศ์ โทนุบล (โทน สุวรรณกูฏ) ผู้เป็นนัดดาในพระเรืองชัยชนะ เป็นนายอำเภอคนแรก

สกุล แสนทวีสุข เป็นสกุลที่สืบมาจากเสนาเมืองในตำแหน่งแสน ซึ่งเป็นนายทหารคู่ใจของพระวอ ที่ได้อพยพมาจากเมืองหนองบัวลุ่มภูพร้อมกัน คือ ท่านแสนเทพ และท่านแสนนาม ตำแหน่งแสนนี้ เป็นตำแหน่งชั้นพญากำกับการทหารและพลเรือน มีตำแหน่งพญาเมืองแสน และตำแหน่งพญาเมืองจันทร์ เป็นนามสกุลของสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ สกุล ศุภสร เป็นสกุลที่สืบมาจากพระเถระผู้ใหญ่เมืองอุบลราชธานี ได้แก่ พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (จันทร์) ผู้นำการศึกษาภาษาไทยเข้ามาเผยแพร่ในดินแดนอีสาน

สกุล โสมะเกษตริน เป็นสกุลของชาวอำเภอเหล่าเสือโก้ก ที่สืบมาจากขุนเทพวงษาที่ขอพระราชทานนามสกุลร่วมกับพระไพศาลเวชกรรมซึ่งเป็นบุตรบุญธรรม ซึ่งขุนเทพวงษามิได้เป็นชาวเหล่าเสือโก้ก แต่พระไพศาลเวชกรรมมีภูมิลำเนาเกิดที่บ้านเหล่าเสือโก้ก มีหลักฐานว่าดำรงตำแหน่งเป็นเทศาปกครองมณฑลร้อยเอ็ด และต่อมาได้เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรคนแรกของจังหวัดร้อยเอ็ด

นอกจากนี้ยังมีอีกหลายสกุล เช่น บัวขาว วนะรมย์ ไชยกาล บุญรมย์ บุณยรัตพันธุ์ สายแวว แสนอ้วน อมรสิน

สำหรับพ่อค้าพาณิชย์นั้น ก็มีพ่อค้าใหญ่ชั้นเศรษฐีเมืองอุบลราชธานีอยู่หลายท่าน เช่น สกุล โกศัลวัฒน์ ซึ่งเป็นนามสกุลของหลวงวัฒน์ สกุล ศรีธัญรัตน์ ของหลวงศรีโภคา และสกุล โกศัลวิทย์ สกุล สุรพัฒน์ ของขุนพิพัฒน์ ซึ่งล้วนแต่พ่อค้าชาวจีนที่มาค้าขายในเมืองอุบลราชธานี ได้ช่วยเหลือทางราชการจนได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นนายภาษีอากร นับว่าชาวจีนท่านเหล่านี้ ได้สร้างคุณงามความดีให้แก่บ้านเมือง ตามที่ปรากฏชาวจีน แซ่แต้ และแซ่ตั้ง เป็นผู้ที่มาตั้งการทำมาหากินในเมืองอุบลราชธานีครั้งแรก

บรรณานุกรม 

ไกด์อุบล. (2548). นามสกุลเก่าแก่ของคนอุบล. https://www.guideubon.com/2.0/ubon-story/2418/. เข้าถึงเมื่อ 14 กุมภาพันธ์ 2567.

เจ้าพระประทุมวรราชสุริยวงศ์ (เจ้าคำผง ณ อุบล). (2566). https://th.wikipedia.org/wiki/เจ้าพระประทุมวรราชสุริยวงศ์_(เจ้าคำผง_ณ_อุบล) เข้าถึงเมื่อ 14 กุมภาพันธ์ 2567.

เอี่ยมกมล จันทะประเทศ. (2538). สถานภาพเจ้านายพื้นเมืองอุบลราชธานี ระหว่างปี พ.ศ. 2425-2476. วิทยานิพนธ์ การศึกษามหาบัณฑิต สาขาวิชาประวัติศาสตร์. มหาสารคาม: มหาวิทยาลัยมหาสารคาม.

Tag

การทอผ้าไหม การทำต้นเทียนพรรษา การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม การปฏิบัติธรรม การแกะสลักเทียนพรรษา ครูภูมิปัญญาไทย บุญมหาชาติ บุญเดือนแปด ชุมชนทำเทียนพรรษา บ้านชีทวน พักผ่อนหย่อนใจ พิพิธภัณฑ์พื้นบ้าน พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น ดนตรีพื้นบ้าน ดนตรีพื้นเมืองอีสาน ต้นเทียนพรรษาประเภทติดพิมพ์ ต้นเทียนพรรษาประเภทแกะสลัก ประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ประเพณีท้องถิ่น ประเพณีอีสาน ประเพณีแห่เทียนพรรษา วัดหนองป่าพง วิถีชีวิตคนอีสาน วิปัสสนากรรมฐาน ศิลปกรรมญวน ศิลปกรรมท้องถิ่นอีสาน ศิลปะญวน สถาปัตยกรรมท้องถิ่น สถาปัตยกรรมท้องถิ่นอีสาน สถาปัตยกรรมในพุทธศาสนา สาขาวัดหนองป่าพง สิม หัตถกรรมการทอผ้า อำเภอพิบูลมังสาหาร อำเภอตระการพืชผล อำเภอน้ำยืน อำเภอม่วงสามสิบ อำเภอวารินชำราบ อำเภอเขมราฐ อำเภอเขื่องใน อำเภอเดชอุดม อำเภอเมืองอุบลราชธานี อุบลราชธานี อุโบสถ ฮีตสิบสอง