ผ้าขิด สะกิดลวดลายอีสาน

ผ้าขิด เป็นผ้าทอพื้นเมืองอีสานที่ใช้เทคนิคการสร้างลวดลายบนผืนผ้าด้วยการสะกิดช้อนเส้นด้ายเป็นจังหวะ เป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นอีสานที่สืบทอดกันมานาน ลวดลายผ้าขิดส่วนใหญ่เกิดจากการจินตนา การสร้างสรรค์ที่เลียนแบบธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และความเชื่อ ในอดีตนั้นชาวอีสานนิยมทอผ้าขิดเพื่อนำไปทำเป็นหัวซิ่น ตีนซิ่น หมอน ผ้าห่มสไบ ของสมมาหรือของที่ระลึกสำหรับผู้ใหญ่ที่เคารพ รวมทั้งผ้าห่อคัมภีร์ และธุงผะเหวด ซึ่งเกี่ยวข้องกับกิจกรรมทางพุทธศาสนา ภายหลังถูกปรับเปลี่ยนและนำไปใช้สอยมากขึ้น เช่น นำผ้าขิดไปเป็นผ้าคลุมเตียง ผ้าปูโต๊ะ ผ้ารองจาน กระเป๋า ฯลฯ ตามความต้องการและการเปลี่ยนแปลงทางสังคม

ผ้าขิดอีสาน
ผ้าขิดใช้ทำผ้าห่อคัมภีร์

ผ้าขิดนั้นเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นในการทอผ้าพื้นเมืองที่แพร่หลายในประเทศไทย โดยเฉพาะในภาคอีสานที่พบผ้าขิดมากว่าท้องถิ่นอื่น ซึ่งคำว่า “ขิด” นั้นเป็นคำพื้นบ้านอีสาน มาจากคำว่า “สะกิด” หมายถึง การช้อนงัดขึ้น การสะกิดขึ้น 

ผ้าขิดอีสาน
การใช้ไม้เก็บขิดสะกิดเส้นด้ายที่เป็นเส้นยืนขึ้นเพื่อสร้างลวดลายขิดบนผืนผ้า

อรพินท์ พานทอง และคณะ (2540) กล่าวว่า การทอผ้าด้วยวิธีการขิด คือ การใช้ด้ายพุ่งพิเศษ (Supplementary weft) มาทำให้เกิดลายในโครงสร้างผ้าที่มีด้ายยืนและด้ายพุ่งปกติสำหรับทำเนื้อผ้า โดยลายที่จะสอดด้ายพุ่งพิเศษจะถูกคัดและเก็บลายไว้ในไม้ค้ำหรือตะกอพิเศษอยู่ด้านหลัง แยกออกจากตะกอของด้ายพุ่งปกติ (ส่วนมากใช้ 2 ตะกอ ทำลายขัด) เวลาทอจะทอสลับกันระหว่างลายที่พุ่งด้วยด้ายพุ่งพิเศษ 1 ครั้ง เส้นด้ายพุ่งพิเศษจะเป็นเส้นที่มีสีเดียวกันตลอดหน้าผ้า หรือสลับสีในแนวเส้นพุ่งเดียวกัน

ในการทอขิดจะใช้ไม้เก็บขิดสะกิดช้อนเส้นด้ายยืนขึ้นและสอดกระสวยเส้นด้ายพุ่งเข้าไปตลอดเครือเส้นยืนที่ถูกงัดช้อนขึ้น การช้อนหรือสะกิดเส้นยืนขึ้นจะมีช่วงจังหวะ ความถี่ ความห่างแตกต่างกันไปตามรูปร่างหรือลวดลายที่วางไว้ ความแตกต่างของสีเส้นด้ายที่ทอขัดประสานกันตามความถี่ห่างรูปแบบต่าง ๆ ทำให้เกิดลวดลาย เรียกว่า ลายขิด โดยในการทอผ้าขิดนั้นจะต้องอาศัยความละเอียดและปราณีตเป็นอย่างมาก เพื่อให้เกิดลวดลายที่งดงามบนหน้าผ้าที่สามารถใช้งานหรือดูได้ทั้งด้านหน้าและด้านหลัง

ผ้าขิดอีสาน
หูกทอผ้าขิด

สีสันและลวดลายผ้าขิด

ไวพจน์ ดวงจันทร์, พงษ์พิพัฒน์ สายทอง. (2560) กล่าวว่า ชาวอีสานนั้นจะนิยมทอผ้าขิดด้วยฝ้ายที่ย้อมด้วยคราม หรือสีจากธรรมชาติอื่น ๆ ที่ได้จากเปลือกไม้ ใบไม้ เป็นต้น ก่อนจะนำเส้นด้ายมาทอจะเลือกคู่สีของเส้นยืนและเส้นพุ่งให้มีสีสันตัดกัน เพื่อให้เกิดความคมชัดของลวดลาย เช่น พื้นสีขาวเหลือง เก็บลายสีดำ หรือสีคราม อาจจะวางลายขิดพาดกลาง แล้วต่อข้างทั้งสองออกไปด้วย สีขาว แดง คราม หรือดำ เป็นต้น

ผ้าขิดอีสาน
ด้ายเส้นพุ่งที่จะถูกบรรจุในกระสวยเพื่อสอดพุ่งเข้าไปสานในด้ายเส้นยืนที่ถูกยกขึ้น

การสร้างสรรค์ลวดลายผ้าขิด ส่วนใหญ่เกิดจากการจินตนาการเพื่อเลียนแบบธรรมชาติหรือสิ่งแวดล้อมใกล้ตัว เช่น พืชพรรณ สัตว์ สิ่งของ การจินตนาการตามความคิด ความรู้สึก การลอกเลียนแบบผ้าเก่าลวดลายดั้งเดิม การสร้างสรรค์ลวดลายที่เกิดจากความเชื่อ ความศรัทธาในศาสนา รวมทั้งการสร้างสรรค์ลวดลายทางเรขาคณิต ลวดลายผ้าขิดที่สร้างสรรค์ขึ้น เช่น ลายแมงงอด ลายอึ่ง ลายช้าง ลายม้า ลายพญานาค ลายดอกแก้ว ลายดอกจันทร์ ลายตะเภาหลงเกาะ ลายขอ ลายสิงห์ ลายคชสีห์อองน้อย ลายแมงมุม ลายกาบ ลายหอปราสาท หรือธรรมาสน์ เป็นต้น

ผ้าขิดอีสาน
การทอผ้าธุงผะเหวด หรือธุงปราสาทผึ้งของบ้านโพนทราย ตำบลบ้านไทย อำเภอเขื่องใน จังหวัดอุบลราชธานี

วราพรรณ ชัยชนะศิริ. (2540) กล่าวว่า การทอผ้าขิดนั้น สามารถแสดงอารมณ์ความรู้สึกของผู้ทอได้ตามลวดลายที่สร้างสรรค์ขึ้นได้ โดยมักจะมีการเลือกลวดลายที่แสดงความรู้สึกกับการนำผ้าไปใช้งานต่างกัน เช่น ผ้าขิดสำหรับใช้เป็นของสมมา (สมนาคุณ) สำหรับผู้ใหญ่ จะลือกใช้ลวดลายที่แสดงออกถึงความกตัญญู ผ้าขิดที่นำไปทำหมอนถวายพระจะเลือกลวดลายที่แสดงออกถึงด้านบาปบุญคุณโทษ คุณความดีในพุทธศาสนา ผ้าขิดที่เป็นผ้าคลุมไหล่หรือโพกศีรษะที่เป็นของฝากระหว่างหนุ่มสาวก็จะเลือกลวดลายที่แสดงออกถึงความรัก ความสันติสุข เป็นต้น

ในการทอผ้าขิดนั้น จึงจำเป็นจะต้องมีการวางแผนการสร้างลวดลายเป็นอย่างดี ว่าจะสะกิดเส้นยืนขึ้นกี่เส้น ห่างกันกี่เส้น จะใช้เส้นพุ่งสีไหนสอดพุ่งเข้าไปถักทอเพื่อให้เกิดลวดลายตามที่ต้องการ ยิ่งมีประสบการณ์และความเชี่ยวชาญมากเท่าใด ลวดลายผ้าขิดยิ่งมีความวิจิตรงดงาม และซับซ้อนมากขึ้นตามไปด้วย เป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นที่สืบทอดกันจากอย่างยาวนาน

ลวดลายผ้าขิด

  • ผ้าขิดลวดลายเลียนแบบพรรณไม้ธรรมชาติ
  • ผ้าขิดลวดลายเลียนแบบพรรณไม้ธรรมชาติ
    • ผ้าขิดลวดลายเกี่ยวกับสิ่งของ
  • ผ้าขิดลวดลายเบ็ดเตร็ด

ความเชื่อเกี่ยวกับผ้าขิด

อรพินท์ พานทอง และคณะ (2540) ชาวอีสานนั้นเมื่อก่อน มีความเชื่อว่าผ้าลายขิดบางลายเป็นของสูง ห้ามนำมาใช้ต่ำกว่าเอว เช่น ลายนาค ลายธรรมาสน์ ลายปราสาท จะใช้ทำเป็นหมอนถวายพระ ผ้าห่อคัมภีร์ ธุงผะเหวด หรือธุงงานบุญ จะไม่นิยมนำมาใช้เป็นตีนซิ่น เป็นต้น

การนำผ้าขิดไปใช้ประโยชน์

ชาวอีสานทอผ้าขิดขึ้นมานั้นเพื่อใช้สอยส่วนตัวมากกว่าค้าขาย อรพินท์ พานทอง และคณะ (2540) ได้แบ่งประเภทการใช้ประโยชน์จากผ้าขิดไว้ ดังนี้ 

1.ประเภทที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมทางศาสนา ชาวอีสานมีประเพณีการทอผ้าลายขิด เพื่อถวายวัดในโอกาสงานบุญประเพณีต่าง ๆ ตามความเชื่อทางพุทธศาสนา ในรูปแบบที่เป็นเครื่องใช้สำหรับพระสงฆ์ คือ หมอนลายขิด ผ้าห่มนอนลายขิด ผ้าในพิธีบวชนาค ซึ่งนิยมทอขิดเป็นลวดลายนาค ลายปราสาท ลายธรรมาสน์ ผ้าห่มคัมภีร์ ซึ่งเป็นผ้าทอลายขิด มีทั้งแบบที่ใช้เส้นด้ายหรือแบบที่ใช้ซี่ไม้ไผ่ในการสร้างลาย ธุงหรือธงที่ใช้ตกแต่งในโอกาสงานบุญผะเหวดเพื่อสร้างบรรยากาศงานบุญ มีลักษณะเป็นผ้าหน้าแคบ ผืนยาว ใช้ห้อยโยงลงมาจากที่สูงหรือแขวนไว้กับไม้ไผ่ซึ่งปักตั้งในแนวดิ่ง วัสดุที่ใช้ทอให้เกิดลาย มี 2 ชนิด คือ แบบใช้เส้นด้ายพุ่งสร้างลายขิด และแบบที่ใช้ซี่ไม้ไผ่ที่ฝานเป็นแผ่นแบนมาสอดในแนวเส้นพุ่ง มีทั้งแบบที่สร้างลายโดยการตัดและเรียงแผ่นไม้ให้เกิดรูปทรง แล้วนำมาสอดในแนวเส้นพุ่ง ประเภทและที่มาของลายที่เกิดจากการส้รางลายทั้ง 2 แบบนี้ เหมือนกันจะต่างกันในเรื่องขนาด รายละเอียดของลายและกรรมวิธีการทอ ลักษณะการวางลายเป็นแถบหรือช่วงเรียงตัดต่อกันตามตั้ง ตัวลายที่นำมาทอ เป็นลายที่เกี่ยวข้องกับเนื้อหาในเรื่องพระเวสสันดรชาดก โดยลายจะสื่อถึงบรรยากาศและสิ่งแวดล้อมในกัณฑ์ต่าง ๆ เช่น ลายคน ลายสัตว์ ลายต้นไม้ที่สื่อถึงบรรยากาศในป่าที่พระเวสสันดรเสด็จผ่าน เป็นต้น เป็นการสร้างลายจากองค์ประกอบเรขาคณิตง่าย ๆ ให้เกิดรูปทรงที่มีความหมาย ตามจินตนาการของช่างทอ การสร้างลายด้วยเส้นด้ายพุ่ง โดยการขิดนั้นทำให้เกิดลักษณะการกลับหน้า/หลัง (POSITIVE AND NEGATIVE) ของลาย เช่น ลายม้า ด้านหน้าเป็นม้าสีเหลืองบนพื้นสีเขียว แต่กลับด้านหลังม้าจะเป็นสีเขียวบนพื้นสีเหลือง ซึ่งการกลับหน้า/หลังของลายนี้ทำให้การห้อยแขวนธงสามารถมองเห็นได้โดยรอบ 

ผ้าขิดอีสาน
ธุงผะเหวด บ้านโพนทราย ตำบลบ้านไทย อำเภอเขื่องใน จังหวัดอุบลราชธานี

2.ประเภทเครื่องแต่งกาย โดยเฉพาะเครื่องแต่งกายสำหรับงานบุญประเพณีต่าง ๆ ซึ่งจะตกแต่งประดับประดาเป็นพิเศษ พบผ้าขิดในรูปแบบของผ้าซิ่น (ผ้านุ่ง) โดยเฉพาะในส่วนของหัวซิ่นและตีนซิ่น 

ผ้าขิดตีนซิ่นนั้นจะใช้เพื่อต่อชายล่างของผ้าซิ่น (ผ้านุ่ง) ซึ่งจะเป็นผ้าหน้าแคบตามข้อจำกัดของขนาดฟืมที่ใช้ทอ เวลานุ่งซิ่นผ้าจะสั้นมาก จึงต้องใช้วิธีต่อตีนและต่อหัวจนกลายเป็นค่านิยมหนึ่งทางวัฒนธรรมอีสาน ตีนซิ่นจะทอด้วยเส้นด้ายแบบเดียวกันกับผ้าซิ่นแต่มักจะมีสีสีนและลวดลายมากกว่า ขนาดความกว้างของขิดนั้นไม่แน่นอนขึ้นอยู่กับขนาดความกว้างหรือความสูงของตัวซิ่นและความต้องการของผู้ใช้เป็นสำคัญ ส่วนผ้าขิดหัวซิ่นจะใช้ต่อชายบนของตัวซิ่น ส่วนใหญ่นิยมทอด้วยผ้าไหมเป็นหลัก เนื่องจากมีความอ่อนนุ่มทำให้ไม่เจ็บเวลานุ่งป้ายพับและขมวดที่เอว นอกจากนั้นยังพบผ้าขิดในรูปแบบของ ผ้าคลุมไหล่ ผ้าโพกผม ผ้าสไบ เสื้อ กระโปรง และอื่น ๆ

ผ้าขิดอีสาน
ผ้าขิดนำมาห่มเป็นสไบ

3.ประเภทเครื่องใช้ เครื่องตกแต่งภายในบ้าน เป็นผ้าลายขิดที่ทอขึ้นเพื่อใช้สอยภายในครัวเรือน และเพื่อใช้เป็นสื่อสัมพันธ์ต่อกันในด้านสังคม เช่น ของสมมา (ของสมนาคุณ) ของที่ระลึกในโอกาสพิเศษต่าง ๆ ได้แก่ ผ้าห่มลายขิด หมอนหนุน หมอนอิง เช่น หมอนสี่เหลี่ยม หมอนเก้า (หมอนสี่เหลี่ยมแต่มีขนาดใหญ่) หมอนสามเหลี่ยม (หมอนขวานหรือหมอนท้าว) และหมอนช่อง (หมอนสามเหลี่ยมที่ยัดนุ่นช่องเว้นช่อง) เป็นต้น นิยมทอโดยใช้พื้นสีขาวเหลือง เก็บลายสีดำ หรือสีคราม และวางลายขิดพาดกลางตัวหมอน แล้วต่อข้างทั้งสองออกไปด้วย สีขาว แดง คราม หรือดำ เหมือนกันทั้งสองข้าง

เอกสารอ้างอิง

คณะกรรมการอนุรักษ์หัตถกรรมไทย. (2531). ผลิตภัณฑ์หัตถกรรมไทยที่ควรอนุรักษ์ประเภทสิ่งทอ. กรุงเทพฯ : กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม

วราพรรณ ชัยชนะศิริ. (2540). วิวัฒนาการทอผ้าขิดบ้านคำพระ อำเภอหัวตะพาน จังหวัดอำนาจเจริญ. วิทยานิพนธ์ ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชา ไทยคดีศึกษา (เน้นมนุษยศาสตร์). อุบลราชธานี:  มหาวิทยาลัยมหาสารคาม.

ไวพจน์ ดวงจันทร์, พงษ์พิพัฒน์ สายทอง. (2560). การพัฒนาสื่อปฏิสัมพันธ์การถ่ายทอดภูมิปัญญาการออกแบบลวดลายผ้าไหมขิด ตำบลหนองอ้อ อำเภอหนองวัวซอ จังหวัดอุดรธานี. วารสารวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา 9(3). 175-189

อรพินท์ พานทอง, นวลน้อย บุญวงษ์, ปัณฑิตา ตันติวงศ์. (2540). การศึกษาเพื่ออนุรักษ์ลายผ้าขิตจังหวัดยโสธร. กรุงเทพฯ. ; จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

Tag

การทอผ้าไหม การทำต้นเทียนพรรษา การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม การปฏิบัติธรรม การแกะสลักเทียนพรรษา ครูภูมิปัญญาไทย บุญมหาชาติ บุญเดือนแปด ชุมชนทำเทียนพรรษา บ้านชีทวน พักผ่อนหย่อนใจ พิพิธภัณฑ์พื้นบ้าน พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น ดนตรีพื้นบ้าน ดนตรีพื้นเมืองอีสาน ต้นเทียนพรรษาประเภทติดพิมพ์ ต้นเทียนพรรษาประเภทแกะสลัก ประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ประเพณีท้องถิ่น ประเพณีอีสาน ประเพณีแห่เทียนพรรษา วัดหนองป่าพง วิถีชีวิตคนอีสาน วิปัสสนากรรมฐาน ศิลปกรรมญวน ศิลปกรรมท้องถิ่นอีสาน ศิลปะญวน สถาปัตยกรรมท้องถิ่น สถาปัตยกรรมท้องถิ่นอีสาน สถาปัตยกรรมในพุทธศาสนา สาขาวัดหนองป่าพง สิม หัตถกรรมการทอผ้า อำเภอพิบูลมังสาหาร อำเภอตระการพืชผล อำเภอน้ำยืน อำเภอม่วงสามสิบ อำเภอวารินชำราบ อำเภอเขมราฐ อำเภอเขื่องใน อำเภอเดชอุดม อำเภอเมืองอุบลราชธานี อุบลราชธานี อุโบสถ ฮีตสิบสอง