ธุงผะเหวด ผ้านำทางสู่สวรรค์ ศรัทธาพบพระศรีอริยเมตไตร บ้านโพนทราย

ธุง หรือ ธุงผะเหวด หรือ ธุงผาสาด (ประสาท) ของบ้านโพนทราย อำเภอเขื่องใน จังหวัดอุบลราชธานี ผ้าทอผืนยาวที่ถวายเป็นพุทธบูชาในช่วงบุญผะเหวดหรือบุญเทศน์มหาชาติ เพื่อเสริมสิริมงคลและอุทิศส่วนกุศลแก่ผู้ล่วงลับ นำทางไปสู่สรวงสวรรค์เพื่อถึงแก่พระศรีอริยเมตไตร และประกาศให้เทวดาอารักษ์ได้รับรู้เจตนารมณ์ของงานบุญประเพณี

ธุงผาสาด หรือ ธุงปราสาท ของบ้านโพนทราย อำเภอเขื่องใน จังหวัดอุบลราชธานี
ธุงผาสาด หรือ ธุงปราสาท ของบ้านโพนทราย อำเภอเขื่องใน จังหวัดอุบลราชธานี

ธุงผาสาด หรือ ธุงปราสาท บ้านโพนทราย อำเภอเขื่องใน จังหวัดอุบลราชธานี

ชาวอีสานนิยมถวายธุงเป็นพุทธบูชา และอุทิศถวายด้วยความเชื่อและศรัทธา วัตถุประสงค์ในการถวายธุง เพื่อให้เกิดความเป็นสิริมงคลแก่ตนเอง ผู้เกี่ยวข้อง และอุทิศส่วนกุศลให้กับญาติผู้ล่วงลับไปแล้ว ปัจจุบันการใช้ธุงนอกจากใช้เพื่อวัตถุประสงค์ดังกล่าวแล้ว ชาวอีสานยังนิยมนำธุงมาใช้ในการประดับตกแต่งสถานที่เนื่องในงานพิธีหรือเทศกาลต่าง ๆ ที่ไม่ใช่เป็นพุทธบูชาหรือเกี่ยวข้องกับพิธีกรรมทางศาสนา แต่เพื่อประดับตกแต่งให้เกิดความสวยงาม

ธุงเป็นงานหัตถศิลป์ที่ชาวอีสานสร้างสรรค์ขึ้นด้วยพลังศรัทธาในพระพุทธศาสนา โดยมีความเชื่อว่า ถ้าได้ทอธุงถวายแล้ว จะอยู่เย็นเป็นสุข เกิดสิริมงคลในชีวิต การให้ทานด้วยการถวายธุงและอุทิศแก่ผู้ล่วงลับจะช่วยให้วิญญาณผู้ตายหลุดพ้นจากนรกหรือวิบากกรรมทั้งหลาย ในงานบุญต่าง ๆ จะพบว่า มีการแขวนหรือประดับธุงเพื่อเป็นทั้งสัญลักษณ์ของงานบุญประเพณีและประกาศให้เทวดาอารักษ์ได้รับรู้เจตนารมณ์ของงานบุญประเพณี การทอธุงในภาคอีสานแต่ละท้องที่จะมีเทคนิคการทอและลวดลายแตกต่างกันไป

บ้านโพนทราย ตำบลบ้านไทย อำเภอเขื่องใน จังหวัดอุบลราชธานี เป็นหมู่บ้านที่ยึดมั่นในขนบประเพณีทางพระพุทธศาสนาอย่างเหนี่ยวแน่นแห่งหนึ่ง มีขนบในการทอธุงด้วยฝีมือของสตรีในหมู่บ้านสืบทอดกันมาหลายรุ่น และนำมาถวายวัดประจำหมู่บ้าน คือ วัดบ้านโพนทราย เพื่อทำบุญในโอกาสต่าง ๆ เช่น บุญกฐิน บุญสังฆทาน บุญอุทิศส่วนกุศล และจะนำมาแขวนประดับในโอกาสบุญผะเหวดหรือบุญมหาชาติ (บุญเดือน 4 ตามฮีต 12 ของประเพณีอีสาน) เทศน์มหาชาติ ธุงผะเหวดบ้านโพนทรายมีลักษณะโดดเด่นด้านความงามในการทอ ที่สะท้อนความเชื่อความศรัทธาในการทำความดี ละเว้นความชั่ว เชื่อในอานิสงค์ในการทำบุญและการฟังเทศน์มหาชาติ เพื่อจะได้ขึ้นสวรรค์ไปพบพระศรีอริยเมตไตร ตามความเชื่อเรื่องอานิสงส์ของการฟังเทศน์มหาชาติที่ยึดถือกันสืบมา

การทอธุงผะเหวด บ้านโพนทราย
การทอธุงผะเหวด บ้านโพนทราย

ธุงผะเหวดบ้านโพนทราย นิยมทอด้วยไหมแกมฝ้ายมีความกว้างประมาณ 30 เซนติเมตร ความยาวประมาณ 3-4 เมตรขึ้นไป  ส่วนมากจะใช้ฟืม 30 ซึ่งเป็นฟืมช้า (มีเส้นยืน 300 เส้น) สีที่ใช้นิยมใช้สีสดใส เช่น สีแดง สีส้ม สีเหลือง เทคนิคการทอใช้วิธีการขิด การจก ซึ่งเป็นศิลปะที่ชาวบ้านโพนทรายมีความเชี่ยวชาญและสืบทอดกันช้านาน ศิลปะนี้สะท้อนถึงความศรัทธา ความเพียร และฝีมือเชิงช่างที่งดงาม ละเอียดลออ แม้ช่างทอรุ่นหลังก็ไม่สามารถทำได้เหมือน ลักษณะลวดลายที่พบอันเป็นเอกลักษณ์ของธุงรุ่นแรก ๆ ของบ้านโพนทราย คือ การทอเป็นรูปเจดีย์ ปราสาท ซึ่งมักปรากฏทุกผืน จนบางทีเรียกว่า “ธุงผาสาท” มีรูปคน สัตว์ต่าง ๆ เช่น ช้าง ม้า ดอกไม้ ต้นไม้ วัตถุ สิ่งของ รูปทรงเรขาคณิต ตามจินตนาการของผู้ทอและระบุชื่อผู้ทอผ้าสร้างธุงและชื่อญาติที่ถวายธุงอุทิศทำบุญไปให้ โดยใช้การทอหรือปักลงในผืนธุง

ลวดลายธุงผะเหวด บ้านโพนทราย

ปักชื่อไว้บนธุงผะเหวด เพื่อบอกกล่าวเจตนา
ปักชื่อไว้บนธุงผะเหวด เพื่อบอกกล่าวเจตนา
ขบวนสรรพสัตว์ ลวดลายบนธุงผะเหวด บ้านโพนทราย
ขบวนสรรพสัตว์ ลวดลายบนธุงผะเหวด บ้านโพนทราย
ลวดลายดอกไม้ เครื่องถวายสักการะ บนผ้าผะเหวดบ้านโพนทราย
ลวดลายดอกไม้ เครื่องถวายสักการะ บนผ้าผะเหวดบ้านโพนทราย
ลวดลายคน บริวาร ทหาร บนธุงผะเหวดบ้านโพนทราย
ลวดลายคน บริวาร ทหาร บนธุงผะเหวดบ้านโพนทราย
ขบวนม้า เครื่องสักการะ บนผ้าผะเหวดบ้านโพนทราย
ขบวนม้า เครื่องสักการะ บนผ้าผะเหวดบ้านโพนทราย
ขบวนช้าง บนผ้าผะเหวด บ้านโพนทราย
ขบวนช้าง บนผ้าผะเหวด บ้านโพนทราย

ปัจจุบันการทอธุงในชุมชนเริ่มลดน้อยลง จากที่ทอด้วยเส้นไหมแกมฝ้ายหันมาใช้เส้นด้ายสำเร็จรูปแทน แต่อย่างไรก็ตาม คนในชุมชนได้รักษาขนบการแขวนธุงในบุญผะเหวดและถวายธุงสืบมา สะท้อนจิตวิญญาณ ความศรัทธา ความมุ่งมั่นต่อการทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา ทำให้บ้านโพนทรายแห่งนี้เป็นหมู่บ้านที่สุขสงบร่มเย็น โดดเด่นในงานศิลปหัตถกรรมควรแก่การรักษา สืบทอดให้คงอยู่คู่กับจังหวัดอุบลราชธานีสืบไป

ชาวบ้านและวัดบ้านโพนทรายได้ทำการเก็บรักษาและอนุรักษ์ธุงไว้ มีประมาณ 70-80 ผืน ซึ่งเป็นธุงที่มีทั้งแบบลวดลายดั้งเดิมและลวดลายแบบใหม่ ชาวบ้านโพนทรายมีความตระหนักและหวงแหนศิลปะหัตถกรรมนี้ นอกจากเก็บรักษาไว้อย่างดีแล้ว ยังได้มีความพยายามในการสืบทอดโดยการทอธุงผืนใหม่ด้วยลวดลายดั้งเดิม การสืบสานและถ่ายทอดวิธีการและขั้นตอนการทอผ้าจกและผ้าขิดให้กับเยาวชน สามารถติดต่อขอชมได้ที่วัดบ้านโพนทราย

ธุงผะเหวดบ้านโพนทราย
วิธีการอ่านความหมายของธุงจะอ่านจากข้างล่างขึ้นข้างบน เช่น ดงป่ามีสัตว์ต่าง ๆ  มีสัตว์หิมพานต์ที่แสดงถึงความอุดมสมบูรณ์ ขบวนทหาร แสดงถึงความเข้มแข็ง ขบวนช้างขบวนม้า ขบวนพลเดินเท้า ขบวนข้าวปลาอาหาร ขบวนพระสงฆ์ แสดงถึงการทำมาหากิน การอยู่ดีกินดี ทั้งหมด คือ ความพร้อมเพียงและอุดมสมบูรณ์เพื่อไปไหว้พระธาตุเกศแก้วจุฬามณี ซึ่งเป็นสิ่งบูชาสูงสุด
ธุงผะเหวดบ้านโพนทราย
นางสมศรี วงศ์ตรี ผู้มีประสบการณ์ในการทอผ้าขิดมากว่า 40 ปี กำลังทอธุงผืนใหม่ลวดลายดั้งเดิมเพื่อถวายวัดบ้านโพนทราย ในงานบุญผะเหวดที่จะมาถึง
ผลงานฝีมือการทอธุงผะเหวด นางสมศรี วงศ์ตรี บ้านโพนทราย
ผลงานฝีมือการทอธุงผะเหวด นางสมศรี วงศ์ตรี บ้านโพนทราย

ที่ตั้ง แหล่งสะสมธุงผะเหวด บ้านโพนทราย

วัดบ้านโพนทราย ตำบลบ้านไทย อำเภอเขื่องใน จังหวัดอุบลราชธานี

พิกัดภูมิศาสตร์ แหล่งสะสมธุงผะเหวด บ้านโพนทราย

15.457119, 104.446220000

บรรณานุกรม

กลุ่มงานอนุรักษ์เอกสารโบราณ สถาบันวิจัยศิลปะและวัฒนธรรมอีสาน มหาวิทยาลัยมหาสารคาม. ธุงผะเหวดบ้านโพนทราย. (ป้ายประชาสัมพันธ์)

บุญธรรม กากแก้ว. สัมภาษณ์, 22 ธันวาคม 2559

ประทับใจ สิกขา. (2555). ธุงอีสาน. อุบลราชธานี: ศิริธรรมออฟเซ็ท

สมศรี วงศ์ตรี. สัมภาษณ์, 22 ธันวาคม 2559

Tag

การทอผ้าไหม การทำต้นเทียนพรรษา การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม การปฏิบัติธรรม การแกะสลักเทียนพรรษา ครูภูมิปัญญาไทย บุญมหาชาติ บุญเดือนแปด ชุมชนทำเทียนพรรษา บ้านชีทวน พักผ่อนหย่อนใจ พิพิธภัณฑ์พื้นบ้าน พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น ดนตรีพื้นบ้าน ดนตรีพื้นเมืองอีสาน ต้นเทียนพรรษาประเภทติดพิมพ์ ต้นเทียนพรรษาประเภทแกะสลัก ประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ประเพณีท้องถิ่น ประเพณีอีสาน ประเพณีแห่เทียนพรรษา วัดหนองป่าพง วิถีชีวิตคนอีสาน วิปัสสนากรรมฐาน ศิลปกรรมญวน ศิลปกรรมท้องถิ่นอีสาน ศิลปะญวน สถาปัตยกรรมท้องถิ่น สถาปัตยกรรมท้องถิ่นอีสาน สถาปัตยกรรมในพุทธศาสนา สาขาวัดหนองป่าพง สิม หัตถกรรมการทอผ้า อำเภอพิบูลมังสาหาร อำเภอตระการพืชผล อำเภอน้ำยืน อำเภอม่วงสามสิบ อำเภอวารินชำราบ อำเภอเขมราฐ อำเภอเขื่องใน อำเภอเดชอุดม อำเภอเมืองอุบลราชธานี อุบลราชธานี อุโบสถ ฮีตสิบสอง