ผ้าลายปลาอีด ลวดลายเอกลักษณ์ของบ้านชีทวน

ผ้าลายปลาอีด ผ้าลายเอกลักษณ์ของบ้านชีทวน อำเภอเขื่องใน จังหวัดอุบลราชธานี ลวดลายผ้าเกิดจากการลียนแบบลายของปลาอีด ปลาน้ำจืดขนาดเล็กที่นิยมรับประทาน เป็นงานหัตถกรรมพื้นบ้านของกลุ่มสตรีในชุมชนเพื่อหารายได้เพิ่มและรักษาเอกลักษณ์ของชุมชนไว้

ผ้าลายปลาอีด บ้านชีทวน อำเภอเขื่องใน จังหวัดอุบลราชธานี
ผ้าลายปลาอีด บ้านชีทวน อำเภอเขื่องใน จังหวัดอุบลราชธานี

ผ้าลายปลาอีด ลวดลายเอกลักษณ์ของบ้านชีทวน อำเภอเขื่องใน จังหวัดอุบลราชธานี

บ้านชีทวน ตำบลชีทวน อำเภอเขื่องใน จังหวัดอุบลราชธานี หมู่บ้านเก่าแก่ ดินแดนแห่งวัฒนธรรมของจังหวัดอุบลราชธานี ที่ยังคงอนุรักษ์และสืบสานศิลปวัฒนธรรมและประเพณีอันดีงามมาจวบจนปัจจุบัน เมื่อเดินทางมาที่บ้านชีทวนจะได้เรียนรู้วิถีชีวิตความเป็นอยู่ของคนในท้องถิ่นริมแม่น้ำชี  เรียนรู้ประวัติศาสตร์ชุมชนเก่าแก่ ไหว้พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ และชมศิลปกรรมงานช่างท้องถิ่นตามวัดต่าง ๆ

ภูมิปัญญาการทอผ้าพื้นเมืองของบ้านชีทวนก็มีความโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ มีการสืบทอดและสืบสานกันมาช้านาน นั่นคือ ผ้าลายปลาอีด ซึ่งเป็นการดัดแปลงมาจากลวดลายของปลาอีด ซึ่งเป็นปลาน้ำจืดขนาดเล็กที่พบในท้องถิ่น พบมากฤดูเก็บเกี่ยวข้าว ชาวอีสานนิยมนำมาทำเป็นอาหาร ประเภทอ่อมหรือห่อหมก เป็นสิ่งที่สะท้อนให้เห็นความอุดมสมบูรณ์

ผ้าลายปลาอีด สีม่วง ผ้าเอกลักษณ์ของบ้านชีทวน
ผ้าลายปลาอีด สีม่วง ผ้าเอกลักษณ์ของบ้านชีทวน

ผ้าลายปลาอีด มีลักษณะคล้ายผ้าลายขัดพื้นฐาน  ส่วนใหญ่จะทอด้วยฝ้ายหรือเส้นด้ายสำเร็จรูป หนึ่งผืนประกอบด้วย 2 สี คือ สีพื้นและตัดเป็นลวดลายด้วยสีขาว สีที่นิยมใช้มีหลากหลายสี เช่น ดำ น้ำเงิน เหลือง เขียว ชมพู ขึ้นกับความต้องการของตลาด ความยากของการทอผ้าลายนี้ คือ เป็นลายขนาดเล็ก ละเอียด ต้องอาศัยฝีมือและความชำนาญ รูปแบบการทอผ้าลายปลาอีดสีม่วง

ขาว 1 ม่วง 1 | ขาว 1 ม่วง 1 | ขาว 1 ม่วง 2 | สลับกันไปเรื่อย ๆ

ผ้าลายดาวที่ประยุกต์มาจากลายปลาอีด
ผ้าลายดาวที่ประยุกต์มาจากลายปลาอีดของบ้านชีทวน

ผ้าลายปลาอีดที่ทอจะใช้ฟืม 14 หน้า สำหรับผ้าหน้ากว้าง 80 เซนติเมตร ใช้ฟืม 20 22 หรือ 28 สำหรับผ้าหน้ากว้าง 1 เมตร ถ้าทอทั้งวันจะได้ผ้ายาวประมาณ 1 เมตร  ปัจจุบันมีการประยุกต์เป็นลายดาวด้วย ผลิตภัณฑ์ที่เกิดจากการแปรรูปผ้าลายปลาอีด เช่น ผ้าถุง ผ้าคลุมไหล่ ผ้าพันคอ ผ้าโพกหัว เสื้อ กระเป๋า เป็น

ตำบลชีทวน เป็นตำบลเก่าแก่ สมัยก่อนชาวบ้านจะทอผ้าใช้เอง ต่อมาแขกบ้าน แขกเมืองมาเที่ยวเห็นความสวยงามของผ้าเลยถามเพื่อที่จะซื้อ ชาวบ้านจึงรวมตัวกันจัดตั้งกลุ่มผลิตเพื่อจำหน่าย โดยเริ่มที่หมู่ 3 แต่ยังขายได้ไม่มากนัก จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2538 กรมการพัฒนาชุมชนได้สนับสนุนงบประมาณ 100,000 บาท เป็นวัสดุอุปกรณ์ให้กับกลุ่มสมาชิกซึ่งกลุ่มจะแบ่งงานกันทำ เช่น ฝ่ายทอ ฝ่ายการตลาด ฯลฯ และยังไปแนะนำให้หมู่บ้านอื่นในตำบลชีทวนทอผ้าเพื่อจำหน่ายและเน้นการทอผ้าลวดลายดั้งเดิมของหมู่บ้านเช่น ผ้าลายเกร็ดเต่า, ผ้าลายตาหม่อง, ผ้ามัดหมี่, หมี่ขั้น, หมี่ข้อ

กลุ่มทอผ้าลายปลาอีด หมู่ 2 บ้านชีทวน มีสมาชิกรวมกลุ่มกันประมาณ 20 คน โดยมีนางมี จันทร์เขียว เป็นประธานกลุ่ม ซึ่งมีประสบการณ์ในการทอผ้าไหมมาก่อน สามารถทำงานหัตถกรรมทอผ้าไหมได้ทุกขั้นตอน ตั้งแต่การปลูกหม่อนเลี้ยงไหม การสาวไหม การย้อม การสืบ การค้น การมัดหมี่ การทอ กลุ่มทอผ้าลายปลาอีดหมู่ 2 นี้ เริ่มต้นจากโครงการขององค์การบริหารส่วนตำบลชีทวนได้จัดให้มีการอบรมการทำผ้าลายปลาอีดขึ้น เมื่อวันที่ 12 กันยายน 2559 ชาวบ้านจึงได้รวมกลุ่มกันและและสร้างศูนย์ OTOP ของหมู่บ้านในบริเวณวัดศรีนวลสว่างอารมณ์ขึ้น เพื่อสร้างช่องทางการขายให้กับนักท่องเที่ยวที่มาเยี่ยมชมธรรมาสน์เทินบุศบกที่มีชื่อเสียงอยู่แล้วอีกทางหนึ่ง

ปัจจุบันในตอนกลางวันจะมีสมาชิกที่มาทอผ้าที่ศูนย์นี้ 4 คน ที่เหลือจะทอที่บ้านของตนเอง หากมีความต้องการจะสั่งซื้อผ้าลายปลาอีด สามารถติดต่อได้ที่ประธานกลุ่ม ซึ่งจะเป็นผู้ดำเนินการบริหารจัดการให้สมาชิกทอผ้าตามความต้องการของตลาด ผ้าที่สมาชิกทอได้นั้น สามารถตัดขายเองหรือฝากขายกับทางกลุ่มก็ได้ โดยทางกลุ่มจะหักรายได้เข้ากลุ่มร้อยละ 3 เพื่อนำไปซื้ออุปกรณ์และเครื่องมือต่าง ๆ ให้กับสมาชิก

ผ้าลายปลาอีด

ปลาอีด
ปลาอีด

ปลาอีด มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Lepidocephalichthys hasselti (Val. In Cuv.&Val., 1846) เป็นปลาน้ำจืดขนาดเล็ก ตัวค่อนข้างยาวโคนหางเป็นแถบสีเข้ม ไม่มีจุด ลายเปราะเลาะ ขนาดเมื่อโตเต็มวัย ประมาณ 7-8 เซนติเมตร อาศัยอยู่เป็นฝูงตามแหล่งน้ำที่น้ำไหลไม่แรงนัก หรือแหล่งน้ำบริเวณหน้าดิน กินสัตว์หน้าดินขนาดเล็กและซากสัตว์ต่าง ๆ เป็นอาหาร

ที่ตั้ง ผ้าทอลายปลาอีด

บ้านชีทวน หมู่ 2 ตำบลชีทวน อำเภอเขื่องใน จังหวัดอุบลราชธานี

พิกัดภูมิศาสตร์ ผ้าทอลายปลาอีด

15.283291, 104.661445118

บรรณานุกรม

กลุ่มอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพและสิ่งแวดล้อม. (2542). ดัชนีสิ่งมีชีวิต, วันที่ 6 มีนาคม 2560. http://siamensis.org

มี จันทร์เขียว. สัมภาษณ์, 15 ธันวาคม 2559

ศูนย์ข้อมูลกลางทางวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม. (2555). กลุ่มทอผ้าลายปลาอีด, 8 มีนาคม 2560. http://www.m-culture.in.th/album/129501

Tag

การทอผ้าไหม การทำต้นเทียนพรรษา การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม การปฏิบัติธรรม การแกะสลักเทียนพรรษา ครูภูมิปัญญาไทย บุญมหาชาติ บุญเดือนแปด ชุมชนทำเทียนพรรษา บ้านชีทวน พักผ่อนหย่อนใจ พิพิธภัณฑ์พื้นบ้าน พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น ดนตรีพื้นบ้าน ดนตรีพื้นเมืองอีสาน ต้นเทียนพรรษาประเภทติดพิมพ์ ต้นเทียนพรรษาประเภทแกะสลัก ประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ประเพณีท้องถิ่น ประเพณีอีสาน ประเพณีแห่เทียนพรรษา วัดหนองป่าพง วิถีชีวิตคนอีสาน วิปัสสนากรรมฐาน ศิลปกรรมญวน ศิลปกรรมท้องถิ่นอีสาน ศิลปะญวน สถาปัตยกรรมท้องถิ่น สถาปัตยกรรมท้องถิ่นอีสาน สถาปัตยกรรมในพุทธศาสนา สาขาวัดหนองป่าพง สิม หัตถกรรมการทอผ้า อำเภอพิบูลมังสาหาร อำเภอตระการพืชผล อำเภอน้ำยืน อำเภอม่วงสามสิบ อำเภอวารินชำราบ อำเภอเขมราฐ อำเภอเขื่องใน อำเภอเดชอุดม อำเภอเมืองอุบลราชธานี อุบลราชธานี อุโบสถ ฮีตสิบสอง