ธรรมยุติวัดสุทัศนาราม

วัดสุทัศนาราม หนึ่งในวัดสังกัดธรรมยุตินิกายของจังหวัดอุบลราชธานี ที่มีอุโบสถที่มีรูปแบบสถาปัตยกรรมที่แสดงถึงเอกลักษณ์ของวัดธรรมยุติ ซึ่งมีต้นแบบมาจากอุโบสถวัดสุปัฏนารามวรวิหาร และเป็นสถานที่บรรจุอัฐิของหม่อมเจียงคำ ชุมพล ณ อยุธยา ผู้มีอุปการะคุณมอบพื้นที่ส่วนตัวให้เป็นพื้นที่สาธารณะที่สำคัญของจังหวัดอุบลราชธานี

วัดสุทัศนาราม อุบลราชธานี

ประวัติวัดสุทัศนาราม

วัดสุทัศนาราม เดิมชื่อ “วัดสุทัศน์” ถูกสร้างขึ้นที่ชายดงอู่ผึ้ง เมื่อ พ.ศ.2396 โดย ราชบุตรสุ่ย พร้อมด้วยญาติได้ร่วมกันสร้างขึ้น เป็นวัดธรรยุติกนิกายวัดที่ 3 ของเมืองอุบลราชธานี ในสมัยเจ้าพรหมเทวานุเคราะห์วงศ์ (เจ้าหน่อคํา) เป็นเจ้าเมือง ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อ พ.ศ.2477 เขตวิสุงคามสีมากว้าง 22 เมตร ยาว 40 เมตร 

อุโบสถวัดสุทัศนาราม อุบลราชธานีอุโบสถวัดสุทัศนาราม สถาปัตยกรรมธรรมยุติกนิกาย

สุพัตรา ทองกลม (2556) กล่าวถึง อุโบสถวัดสุทัศนารามในการศึกษาวัดธรรมยุตินิกายในจังหวัดอุบลราชธานีว่า หลังจากวัดสุปัฏนารามวรวิหาร ซึ่งเป็นวัดในสังกัดธรรมยุตินิกายแห่งแรกของจังหวัดอุบลราชธานี ได้สร้างอุโบสถหลังใหม่แล้วเสร็จ ก็กลายเป็นต้นแบบของงานสถาปัตยกรรมของวัดธรรมยุติในพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานี ที่มีรูปแบบเฉพาะไม่เหมือนกับวัดใด ๆ ในภาคอีสาน อุโบสถวัดสุทัศนาราม ที่สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ.2470 โดย พระสิริจันโท จันทร์ นั้น ก็เป็นหนึ่งอุโบสถที่ได้รับต้นแบบมาจากอุโบสถวัดสุปัฏนารามวรวิหาร 

อุโบสถของวัดสุทัศนาราม เป็นงานสถาปัตยกรรมธรรมยุติกนิกายของจังหวัดอุบลราชธานีหลังจากที่มีการสร้างอุโบสถวัดสุปัฏนารามวรวิหารให้เป็นต้นแบบแล้ว ลักษณะสถาปัตยกรรมจึงมีความคล้ายคลึงกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่หน้าบันแบบไม่มีไขราหน้าจั่ว ประดับด้วยเครื่องลำยองนาค ตกแต่งปูนปั้นลายพฤกษาและเจดีย์กลมที่เป็นสัญลักษณ์ของวัดธรรมยุติกนิกาย การประดับตกแต่งอุโบสถจะมีกลิ่นอายความเชื่อของจีนและญวนผสมผสานอยู่ ซึ่งสอดคล้องกับที่สมเด็จพระมหาวีระวงศ์ (ติสโส อ้วน) ได้กล่าวว่า แรงงานสำคัญในการสร้างอุโบสถวัดสุปัฏนารามนั้นเป็นช่างญวน ซึ่งเป็นเวลาใกล้เคียงกับการสร้างอุโบสถวัดสุทัศนารามเช่นกัน 

อุโบสถวัดสุทัศนาราม อุบลราชธานี

อุโบสถวัดสุทัศนาราม มีรูปทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีขนาดความกว้างน้อยกว่าอุโบสถวัดสุปัฏนารามแต่มีขนาดความสูงมากกว่า ตั้งอยู่ใจกลางวัดในแนวเหนือใต้ มีศาลาการเปรียญและศาลาอเนกประสงค์ขนาบ 2 ข้าง โดยจำแนกส่วนประกอบทางสถาปัตยกรรมต่าง ๆ ไว้ ดังนี้

  • อุโบสถมีกำแพงโดยรอบ ทางเข้าออกอยู่ด้านหน้าและหลังตรงกับทางขึ้นลงอุโบสถ มีทั้งหมด 4 ประตู ทางเข้าอุโบสถและทวารบาลมีรูปปั้นสิงโตคล้ายกับอุโบสถวัดสุปัฏนารามวรวิหาร ตั้งอยู่ในตำแหน่งด้านสกัดทั้งหน้าและหลัง มีด้านละ 2 ข้าง ตรงกับห้องเสาของทั้งสองข้าง 
อุโบสถวัดสุทัศนาราม อุบลราชธานี
ด้านหน้าอุโบสถวัดสุทัศนาราม
อุโบสถวัดสุทัศนาราม อุบลราชธานี
ด้านหลังอุโบสถวัดสุทัศนาราม
อุโบสถวัดสุทัศนาราม อุบลราชธานี
รูปปั้นสิงโต ตั้งอยู่ที่บริเวณทางขึ้นอุโบสถทั้งด้านหน้าและด้านหลัง
  • บันไดทางขึ้นอุโบสถมี 6 ขั้น มีขนาดความกว้างเท่ากับห้องเสาหนึ่ง สูงประมาณ 1 เมตร 
  • อุโบสถมีหลังคาจั่วไม่ซ้อนชั้น มีหลังคาปีกนกเป็นชั้นลดด้านข้าง
อุโบสถวัดสุทัศนาราม อุบลราชธานี
หน้าบันวัดสุทัศนาราม
อุโบสถวัดสุทัศนาราม อุบลราชธานี
เครื่องลำยอง ช่อฟ้า หางหงส์ และใบระกาอุโบสถวัดสุทัศนาราม
  • หน้าบันอุโบสถไม่มีไขราหน้าจั่ว เครื่องลำยองเป็นตัวนาค ช่อฟ้าและหางหงส์เป็นหัวนาค ใบระกาเป็นครีบนาค ตกแต่งหน้าบันด้วยปูนปั้นลายพฤกษา
อุโบสถวัดสุทัศนาราม อุบลราชธานี
ปูนปั้นลวดลายพฤกษาตกแต่งหน้าบันอุโบสถวัดสุทัศนาราม
  • ภายในอุโบสถมีเสารับโครงสร้างหลังคาขนาด 12*24 เมตร ร่วมกับโครงสร้างผนังผนัง ด้านยาวแบ่งเป็น 10 ห้องเสา (นับรวมมุขด้านหน้าและหลัง) ด้านกว้างแบ่งเป็น 4 ห้องเสา เท่า ๆ กัน พื้นที่ใช้งานดูกว้างและสูง แต่ไม่โล่งเนื่องจากมีแนวเสารับโครงสร้างเป็นเสาร่วมในอุโบสถ 
  • ลักษณะผังพื้นอุโบสถ มีปีกนกด้านข้างอาคารเหมือนอุโบสถวัดสุปัฏนารามวรวิหาร ไม่มีเฉลียง ความสูงจากพื้นถึงยอด 14 เมตรอุโบสถวัดสุทัศนาราม อุบลราชธานี
  • การตกแต่งอุโบสถมีการคาดเส้นเป็นแนวเดียวกับหน้าบันของปีกนกต่อเนื่องโดยรอบอาคาร ทำให้มีพื้นที่ผนังส่วนบนที่ต่อเนื่องลงมาจากหน้าบันอยู่ระหว่างเสาใน การประดับตกแต่งด้วยปูนปั้นลายพฤกษา การออกแบบเป็นเส้นตรงแบบเรขาคณิต การประดับตกแต่งมีลักษณะคล้ายแบบกรุงเทพฯ ทั้งการตกแต่งเสาอิงด้วยบัวหัวเสาแบบเหลี่ยมเป็นกลีบบัวซ้อนสามชั้น มีลูกแก้วคาดทั้งบนและล่างหัวเสาต่อเนื่องโดยรอบอาคาร ทำให้มีพื้นที่ประดับดาวตกแต่งเป็นจังหวะทุกห้องเสา รายละเอียดประดับตกแต่งนั้นต่างจากวัดสุปัฏนารามวรวิหาร คือ ไม่มีกลิ่นอายของอิทธิพลตะวันตก มีการใช้ปูนปั้นตกแต่งงานสถาปัตยกรรมที่แฝงไปด้วยความหมายอันเป็นสิริมงคลอย่างแจกัน กระถางดอกไม้ ที่เป็นเครื่องมงคลบูชาตามความเชื่อของจีนที่มักจะเกิดในผลงานของช่างญวนที่ปรากฏให้เห็นในช่วงปี พ.ศ.2460-2500
อุโบสถวัดสุทัศนาราม อุบลราชธานี
พระประธานในอุโบสถวัดสุทัศนาราม

ที่ตั้ง วัดสุทัศนาราม

234 ถนนชยางกูร ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี

พิกัดภูมิศาสตร์ วัดสุทัศนาราม

15.231901, 104.856438

บรรณานุกรม

มะลิวัลย์ สินน้อย, ผู้รวบรวม. ฐานข้อมูลเลื่องลือเล่าขานพระดังเมืองอุบลราชธานี, วันที่ 17 กรกฎาคม 2566. http://www.esanpedia.oar.ubu.ac.th/monkubon.

สุพัตรา ทองกลม. (2556). การศึกษาวัดธรรมยุตินิกายในจังหวัดอุบลราชธานี (วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต). กรุงเทพฯ : มหาวิทยาลัยศิลปากร.

 

Tag

การทอผ้าไหม การทำต้นเทียนพรรษา การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม การปฏิบัติธรรม การแกะสลักเทียนพรรษา ครูภูมิปัญญาไทย บุญมหาชาติ บุญเดือนแปด ชุมชนทำเทียนพรรษา บ้านชีทวน พักผ่อนหย่อนใจ พิพิธภัณฑ์พื้นบ้าน พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น ดนตรีพื้นบ้าน ดนตรีพื้นเมืองอีสาน ต้นเทียนพรรษาประเภทติดพิมพ์ ต้นเทียนพรรษาประเภทแกะสลัก ประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ประเพณีท้องถิ่น ประเพณีอีสาน ประเพณีแห่เทียนพรรษา วัดหนองป่าพง วิถีชีวิตคนอีสาน วิปัสสนากรรมฐาน ศิลปกรรมญวน ศิลปกรรมท้องถิ่นอีสาน ศิลปะญวน สถาปัตยกรรมท้องถิ่น สถาปัตยกรรมท้องถิ่นอีสาน สถาปัตยกรรมในพุทธศาสนา สาขาวัดหนองป่าพง สิม หัตถกรรมการทอผ้า อำเภอพิบูลมังสาหาร อำเภอตระการพืชผล อำเภอน้ำยืน อำเภอม่วงสามสิบ อำเภอวารินชำราบ อำเภอเขมราฐ อำเภอเขื่องใน อำเภอเดชอุดม อำเภอเมืองอุบลราชธานี อุบลราชธานี อุโบสถ ฮีตสิบสอง