วัดสุภรัตนาราม บ้านหวาง

อุโบสถวัดสุภรัตนาราม หรือวัดบ้านหวาง อำเภอวารินชำราบ เป็นหนึ่งในรูปแบบอุโบสถของวัดในสังกัดธรรมยุติกนิกาย ที่ได้รับอิทธิพลต้นแบบมาจากอุโบสถวัดสุปัฏนารามวรวิหาร สันนิษฐานว่าเป็นผลงานการสร้างของช่างพื้นถิ่นและชาวญวนที่ถนัดงานปูนปั้น สร้างขึ้นในยุคที่ 2 ของการขยายตัวของพุทธศาสนาธรรมยุตินิกายในอุบลราชธานีและภาคอีสาน หรือราวสมัยรัชกาลที่ 6-8 (พ.ศ.2453–2480) โดยขณะนั้นมีสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (ติสโส อ้วน) เป็นผู้นําพระธรรมยุติกนิกายในอีสาน 

วัดสุภรัตนาราม บ้านหวาง วารินชำราบ
ทางเข้าวัดสุภรัตนาราม ตำบลคูเมือง อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี

ประวัติบ้านหวางออก ที่ตั้งวัดสุภรัตนาราม

ซียูอะเกน (ม.ป.ป.) ให้ข้อมูลว่า บ้านหวางออก ตำบลคูเมือง อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งเป็นที่ตั้งของวัดสุภรัตนาราม เดิมชื่อ “บ้านค้อหวาง” ตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2439 โดย พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (จันทร์ สิริจันโท) เจ้าอาวาสวัดสุปัฏนารามและเจ้าคณะมณฑลอีสานในขณะนั้น ได้ออกมาตรวจราชการตามท้องที่ต่าง ๆ และได้มาพบพื้นที่แห่งนี้ซึ่งมีสภาพอุดมสมบูรณ์เหมาะแก่การตั้งหมู่บ้านสร้างภูมิลำเนาใหม่ แต่หลวงสุโภรสุประการ (สอน สุภสร) บิดาของท่านพระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (จันทร์ สิริจันโท) ผู้ดำรงตำแหน่งกรมการเมืองอุบลราชธานี ฝ่ายสังฆการี และมารดาของท่านไม่ประสงค์จะย้ายมาอยู่ที่นี่เนื่องจากไม่มีวัด ท่านจึงได้สร้างวัดสุภรัตนารามขึ้นบนพื้นที่ระหว่างบ้านค้อหวางกับบ้านหวาง และให้โยมบิดามารดาและลูกหลานย้ายจากตําบลหนองไหล อําเภอเมืองอุบลราชธานี มาตั้งภูมิลําเนาที่บ้านหวางแห่งนี้ ตั้งแต่ปี พ.ศ.2449 เป็นต้นมา ภายหลังได้มีการสร้างหุ่นขี้ผึ้งและรูปเหมือนพระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (จันทร์ สิริจันโท) ไว้ที่วัดนี้ด้วย เพื่อให้ชาวบ้านได้ระลึกถึงและเคารพสักการะ

วัดสุภรัตนาราม บ้านหวาง วารินชำราบ
รูปเหมือนพระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (จันทร์ สิริจันโท) ประดิษฐานอยู่ภายในวัดให้ชาวบ้านได้เคารพบูชา

การสร้างวัดสุภรัตนาราม หรือวัดบ้านหวาง ได้เริ่มลงมือปรับพื้นที่ดิน ถางป่า เมื่อกลางปี พ.ศ.2440 ขอตั้งเป็นสำนักสงฆ์ ในปี พ.ศ.2442 และขอพระราชทานวิสุงคามสีมาและผูกพัทธสีมาในปี พ.ศ.2450 เป็นวัดในสังกัดธรรมยุติกนิกายที่มีอายุมากกว่า 100 ปี แห่งหนึ่งของจังหวัดอุบลราชธานี ภายในวัดประกอบด้วยศาสนาคารที่สำคัญ ได้แก่ อุโบสถที่สร้างในราวปี พ.ศ.2475 หอแจกไม้หรือศาลาการเปรียญ รวมทั้งหุ่นขี้ผึ้งและรูปเหมือนพระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (จันทร์ สิริจันโท)

วัดสุภรัตนาราม บ้านหวาง วารินชำราบ
อุโบสถวัดสุภรัตนาราม ขนาดกะทัดรัด โอบล้อมด้วยกำแพงแก้ว
วัดสุภรัตนาราม บ้านหวาง วารินชำราบ
หอแจกไม้ หรือศาลาการเปรียญวัดสุภรัตนาราม อยู่ในสภาพที่ใช้งานได้

อุโบสถวัดสุภรัตนาราม

สุพัตรา ทองกลม (2556) กล่าวถึง อุโบสถวัดสุภรัตนาราม (วัดบ้านหวาง) ในการศึกษาวัดธรรมยุตินิกายในจังหวัดอุบลราชธานี ว่า อุโบสถหลังนี้ตั้งอยู่บริเวณกลางวัด เป็นสถาปัตยกรรมประธานของวัดและมีหอแจก (ศาลาการเปรียญ) ตั้งอยู่คู่กัน เป็นแผนผังวัดรูปแบบหนึ่งของวัดธรรมยุติกนิกายที่พบในยุคนั้น

วัดสุภรัตนาราม บ้านหวาง วารินชำราบ
แผนผังวัดสุภรัตนาราม

อุโบสถหลังนี้เป็นอาคารขนาดเล็กขนาด 6*8 เมตร มี 2 ห้องเสา เคยมีการต่อเติมมุขไม้ทึบที่บริเวณด้านหน้า ลักษณะเป็นห้องขนาด 6* 4.80 เมตร ปัจจุบันได้รื้อออกและสร้างชานพักและมุขก่ออิฐถือปูนขึ้น มีกำแพงแก้วล้อมรอบและเปิดให้มีทางเข้า 2 ทางที่กึ่งกลางทั้งด้านหน้าและด้านหลังอุโบสถ ปัจจุบันได้ทาสีขาวทั้งอุโบสถและกำแพงแก้ว ทำให้มีความโดดเด่นและสวยงามมากขึ้น

วัดสุภรัตนาราม บ้านหวาง วารินชำราบ
มุขไม้ด้านหน้าอุโบสถก่อนที่จะมีการปรับปรุงเทียบกับสภาพปัจจุบัน

อุโบสถนี้มีขนาดกะทัดรัดและเหมาะสมกับการใช้งานของภิกษุสงฆ์ในช่วงนั้น สันนิษฐานว่าอาจจะเป็นผลงานการสร้างของช่างพื้นถิ่นและช่างญวนที่ถนัดในการปั้นสัตว์ต่าง ๆ ด้วยปูน ดังจะเห็นได้จากความโดดเด่นของการปั้นหัวนาคที่ช่อฟ้าหางหงส์และการปั้นลวดลายหน้าบัน จนเกิดความสวยงามแบบผสมผสานแปลกตาอีกแบบหนึ่ง

โครงสร้างอุโบสถเป็นอาคารก่ออิฐถือปูนที่ใช้ผนังในการรับน้ำหนักของหลังคา โดยผนังด้านข้างจะมีหน้าต่างด้านละ 2 ช่อง เมื่อก่อนเป็นหน้าต่างไม้ ปัจจุบันเปลี่ยนเป็นวงกบอลูมิเนียมติดกระจก กรอบหน้าต่างประดับตกแต่งด้วยปูนปั้น ด้านหน้าตรงประตูทางเข้าที่สร้างขึ้นใหม่หลังรื้อมุขไม้ทึบออก เป็นมุขก่ออิฐถือปูนตกแต่งด้วยปูนปั้นลวดลายหงส์ ก้านขด และธรรมจักร ตรงช่องประตูทางเข้าอุโบสถ 1 ช่อง มีบันไดทางขึ้นไปสู่ชานพักหน้าทางเข้าอุโบสถ 2 ด้าน ราวบันไดเป็นรูปปั้นคล้ายมกร

วัดสุภรัตนาราม บ้านหวาง วารินชำราบ
ด้านหน้าอุโบสถวัดสุภรัตนาราม
วัดสุภรัตนาราม บ้านหวาง วารินชำราบ
กรอบหน้าต่างอุโบสถ
วัดสุภรัตนาราม บ้านหวาง วารินชำราบ
บันไดทางขึ้นอุโบสถ

หลังคา เป็นหลังคาจั่วไม่ซ้อนชั้น ด้านสกัดไม่มีชายคายื่นออกมา แต่ช่างได้ใช้วิธีสร้างผนังเข้าด้านในให้เหลือพื้นที่ทำเป็นชายคาได้ และตกแต่งชายคานี้ด้วยดาวเพดาน หลังคามุงด้วยกระเบื้อง

เครื่องประดับหลังคาใช้เครื่องลำยองเป็นตัวนาค ใบระกาเป็นครีบนาค ช่อฟ้าและหางหงส์เป็นหัวนาค  แต่สัดส่วนของหัวนาคมีขนาดใหญ่ไม่สมส่วนเมื่อเทียบกับตัวอาคาร ทำให้สัดส่วนด้านบนดูหนักแต่ก็ดูเด่นชัดแปลกตา

วัดสุภรัตนาราม บ้านหวาง วารินชำราบ
เครื่องลำยองนาค ช่อฟ้าและหางหงส์เป็นหัวนาค และหน้าบันด้านหน้าอุโบสถวัดสุภรัตนาราม
วัดสุภรัตนาราม บ้านหวาง วารินชำราบ
หลังคาอุโบสถวัดสุภรัตนาราม

หน้าบันเป็นแบบไม่มีไขราหน้าจั่ว ซึ่งเป็นที่ชัดเจนว่าได้รับอิทธิพลจากอุโบสถของวัดสุปัฏนารามวรวิหาร หน้าบันด้านหน้าประดับด้วยปูนปั้นลายพฤกษาและปูนปั้นเจดีย์ทรงระฆังที่อยู่กึ่งกลางของหน้าบันซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของวัดในสังกัดธรรมยุติกนิกาย หน้าบันด้านหลังประดับด้วยปูนปั้นลายพฤกษาและนกล้อมรอบปูนปั้นรูปเจดีย์ทรงระฆังเช่นกัน 

วัดสุภรัตนาราม บ้านหวาง วารินชำราบ
ลวดลายปูนปั้นลายพฤกษาและปูนปั้นเจดีย์ทรงระฆังสัญลักษณ์ของวัดสังกัดธรรมยุติกนิกายบนหน้าบันด้านหน้าอุโบสถ
วัดสุภรัตนาราม บ้านหวาง วารินชำราบ
ลวดลายปูนปั้นลายพฤกษาและนกที่หน้าบันด้านหลังอุโบสถ
วัดสุภรัตนาราม บ้านหวาง วารินชำราบ
เครื่องลำยองนาค หางหงส์รูปหัวนาค และใบระกาเกล็ดนาค
วัดสุภรัตนาราม บ้านหวาง วารินชำราบ
ด้านหน้าอุโบสถวัดสุภรัตนาราม
วัดสุภรัตนาราม บ้านหวาง วารินชำราบ
ด้านหลังอุโบสถวัดสุภรัตนาราม

ชุมชนชาวบ้านหวางและใกล้เคียง ได้ให้ความสำคัญกับวัดสุภรัตนาราม โดยส่งเสริมและประชาสัมพันธ์ให้เป็นหนึ่งในสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญประจำพื้นที่ เพื่อให้นักท่องเที่ยวและผู้ที่สนใจได้มาเรียนรู้วิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชุมชนแบบนวัตวิถีและชมความสวยงามของพุทธศาสนาคารที่มีเรื่องราวและอายุเก่าแก่กว่า 100 ปี ที่ยังคงความสมบูรณ์ เป็นหนึ่งในงานสถาปัตยกรรมของวัดในสังกัดธรรมยุติกนิกายที่ยังรอให้ทุกคนได้เข้าไปชื่นชม

อ่านเรื่องราวเกี่ยวกับสถาปัตยกรรมของวัดในสังกัดธรรมยุติกนิกายได้ที่นี่ 

ที่ตั้ง วัดสุภรัตนาราม

บ้านหวาง ตำบลคูเมือง อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี

พิกัดภูมิศาสตร์ วัดสุภรัตนาราม

15.126079314249303, 104.86177673861759

บรรณานุกรม

ซียูอะเกน. (ม.ป.ป.). บ้านหวางออก ต.คูเมือง. เข้าถึงเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2566, http://www.seeyouagain-ubon.com/view.aspx?id=1005

พระดังเมืองอุบลราชธานี. (2554). พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (จันทร์ สิริจันฺโท). เข้าถึงเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2566, http://www.esanpedia.oar.ubu.ac.th/monkubon/?p=166

สุพัตรา ทองกลม. (2556). การศึกษาวัดธรรมยุตินิกายในจังหวัดอุบลราชธานี. วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรม. กรุงเทพฯ: ภาควิชาศิลปสถาปัตยกรรม มหาวิทยาลัยศิลปากร.

Tag

การทอผ้าไหม การทำต้นเทียนพรรษา การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม การปฏิบัติธรรม การแกะสลักเทียนพรรษา ครูภูมิปัญญาไทย บุญมหาชาติ บุญเดือนแปด ชุมชนทำเทียนพรรษา บ้านชีทวน พักผ่อนหย่อนใจ พิพิธภัณฑ์พื้นบ้าน พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น ดนตรีพื้นบ้าน ดนตรีพื้นเมืองอีสาน ต้นเทียนพรรษาประเภทติดพิมพ์ ต้นเทียนพรรษาประเภทแกะสลัก ประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ประเพณีท้องถิ่น ประเพณีอีสาน ประเพณีแห่เทียนพรรษา วัดหนองป่าพง วิถีชีวิตคนอีสาน วิปัสสนากรรมฐาน ศิลปกรรมญวน ศิลปกรรมท้องถิ่นอีสาน ศิลปะญวน สถาปัตยกรรมท้องถิ่น สถาปัตยกรรมท้องถิ่นอีสาน สถาปัตยกรรมในพุทธศาสนา สาขาวัดหนองป่าพง สิม หัตถกรรมการทอผ้า อำเภอพิบูลมังสาหาร อำเภอตระการพืชผล อำเภอน้ำยืน อำเภอม่วงสามสิบ อำเภอวารินชำราบ อำเภอเขมราฐ อำเภอเขื่องใน อำเภอเดชอุดม อำเภอเมืองอุบลราชธานี อุบลราชธานี อุโบสถ ฮีตสิบสอง