สถาปัตย์ธรรมยุติในอุบลฯ

พุทธศาสนาฝ่ายธรรมยุติกนิกายเผยแผ่เข้ามาสู่อีสานครั้งแรกที่จังหวัดอุบลราชธานี ณ​ วัดสุปัฏนารามวรวิหาร นอกจากการนำแนวปฏิบัติมาสู่คณะสงฆ์แล้ว งานสถาปัตยกรรมก็มีสัญลักษณ์ที่บ่งชี้ว่าเป็นวัดในสังกัดธรรมยุติกนิกายอย่างมีเอกลักษณ์ นั่นคือ หน้าบันของอุโบสถแบบไม่มีไขราหน้าจั่วประดับเครื่องลำยองนาค การตกแต่งปูนปั้นลายพฤกษา และเจดีย์กลม อุโบสถของวัดสุปัฏนารามวรวิหารก็เป็นต้นแบบของอุโบสถวัดธรรมยุติกนิกายหลาย ๆ วัดในอุบลราชธานี

วัดสุปัฏนารามวรวิหาร
วัดสุปัฏนารามวรวิหาร วัดธรรมยุติกนิกายวัดแรกในอุบลราชธานีและภาคอีสาน

ธรรมยุติกนิกาย คือ อะไร

สุปรีดิ์ ณ นคร (2564) กล่าวว่า ธรรมยุตินิกาย หรือเรียกสั้น ๆ ว่า “ธรรมยุต” มีความหมายว่า ผู้ประกอบด้วยธรรม หรือชอบด้วยธรรม หรือยุติตามธรรม มีจุดเริ่มต้นขึ้นในช่วงรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 ที่พระสงฆ์มีความย่อหย่อนต่อพระวินัยอย่างต่อเนื่อง โดยที่อำนาจรัฐไม่สามารถควบคุมพระสงฆ์ได้อย่างสมบูรณ์ ประกอบกับความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองและเศรษฐกิจของบ้านเมือง ทำให้การทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาเป็นราชกิจสำคัญและโดดเด่นที่สุดในรัชกาลนี้ รวมทั้งการเคลื่อนไหวของพระวชิรญาณเถร หรือสมเด็จเจ้าฟ้ามงกุฎที่ได้ทรงผนวชตั้งแต่ต้นรัชกาล พระองค์ได้ทรงพยายามที่จะนำเสนอแนวทางในการฟื้นฟูพระพุทธศาสนาขึ้นเพื่อให้เกิดความบริสุทธิ์และสมบูรณ์ ทั้งในการพระศาสนาและคณะสงฆ์ ทั้งในเรื่องวัตรปฏิบัติและแนวทางการเข้าถึงแนวคิดทางศาสนาจากพระไตรปิฎก จนเกิดเป็นแบบแผน “ธรรมยุติกวัตร” ขึ้น ซึ่งส่งอิทธิพลออกไปสู่คณะสงฆ์ภายนอกอย่างกว้างขวางในเวลาต่อมา

เมื่อเสด็จฯ ขึ้นเถลิงถวัลย์เป็นพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 แล้วทรงมีบทบาทในการส่งเสริมการขยายตัวของคณะธรรมยุติกนิกายให้คณะสงฆ์ได้ซึมซับรับรู้แนวคิดทางพระศาสนาที่มีการปรับปรุงแก้ไขให้มีความเอื้อเฟื้อต่อพระธรรมวินัยมากยิ่งขึ้น จึงเกิดวัดวาอารามที่สังกัดคณะธรรมยุติกนิกายเพิ่มขึ้นพร้อมกับการขยายตัวของคณะธรรมยุติกนิกายทั้งในพระนครและหัวเมือง ซึ่งเป็นสิ่งบ่งชี้ถึงการยอมรับในอุดมการณ์หรือหลักการปฏิบัติของธรรมยุติกนิกาย

ความเหมือน ความต่างของมหานิกายและธรรมยุติกนิกาย

คมชัดลึกออนไลน์ (2564) ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับความเหมือนและความแตกต่างระหว่างพุทธศาสนาฝ่ายมหานิกายและธรรมยุติกนิกาย มีดังนี้

  • สมณวงศ์ เป็นวงศ์เถรวาทเดียวกันจากลังกา และเป็นนิกายมหาวิหารของลังกาเหมือนกัน ข้อนี้ไม่มีความแตกต่างกัน
  • จำนวนพระสงฆ์ โดยคณะสงฆ์สายเถรวาทในประเทศไทยนั้น แบ่งย่อยเป็น 2 นิกายด้วยกัน คือ มหานิกาย ซึ่งมีพระสงฆ์อยู่จำนวนกว่า 80% ของพระสงฆ์ทั้งหมด ส่วนที่เหลืออีกกว่า 10% คือพระสงฆ์ในธรรมยุติกนิกาย
  • พัทธสีมา ในกรณีของพระสงฆ์ธรรมยุติ จะมีการผูกพัทธสีมาโดยพระสงฆ์ธรรมยุติเอง ไม่สามารถไปใช้พัทธสีมาลงอุโบสถ ทำสังฆกรรม อุปสมบทพระในพระอุโบสถที่เป็นพัทธสีมาของพระมหานิกายได้
  • การทำสังฆกรรม ลงอุโบสถ สวดปาฏิโมข์ร่วมกันไม่ได้ ต้องแยกกันทำคนละวัด ต่างก็ต้องมีพัทธสีมาของตนของตน
  • การออกเสียงในภาษาบาลีในการทำสังฆกรรม คณะสงฆ์ธรรมยุติกนิกาย เกรงว่า กรรมวาจาจะวิบัติ ก็เลยต้องสวดออกเสียงบาลีให้ถูกต้องตามสำเนียงภาษามคธ แต่พระสงฆ์มหานิกายออกเสียงบาลีตามสำนียงภาษาไทย
  • ปฏิทินจันทรคติในการทำสังฆกรรม โดยวันพระของวัด ธรรมยุติกนิกาย จะแตกต่างจากวันพระทั่ว ๆ ไป ซึ่งเป็นวันพระมหานิกาย และวันลงอุโบสถทำสังฆกรรมก็อาจจะต่างวันกัน อันเนื่องมาจากการคำนวณปฏิทินแตกต่างกัน เรียกว่าปฏิทินปักขคณนา 
  • วิธีการบวช แตกต่างกันเรื่องปลีกย่อยเล็กน้อย โดยการบวชแบบธรรมยุติกนิกายเรียกว่า การบวชแบบเอสาหัง ส่วนการบวชแบบมหานิกายเรียก การบวชแบบอุกาสะ
  • การรับปัจจัยเงินทอง ปกติพระทั้งหลาย ย่อมไม่รับปัจจัยอยู่แล้วโดยพระวินัย แต่พระธรรมยุติก็จะเปลี่ยนวิธีการรับโดยใช้ใบปวารณาแทน ไม่ได้รับโดยตรง แต่บางรูปก็ไม่รับเลยก็มีทั้งมหานิกายและธรรมยุติ
  • สีผ้า ส่วนมากมหานิกาย ครองผ้าสีเหลืองส้มสด พระนิกายธรรมยุติจะครองสีหม่นกว่า แต่ก็ไม่แน่นอนเสมอไป แล้วแต่ว่าจะเป็นวัดป่า หรือวัดบ้านก็จะครองสีกรัก หรือสีแก่นขนุน ซึ่งก็มีทั้งมหานิกายและธรรมยุติ
  • การครองจีวร ปัจจุบันนี้แยกค่อนข้างยาก ในเรื่องการห่มดองห่มคลุม ห่มมังกร ก็มีทั้งมหานิกายและธรรมยุติ แต่เวลาทำสังฆกรรม พระสงฆ์มหานิกาย ก็จะมีผ้ารัดอก ซึ่งเป็นแบบแผนของมหานิกายที่เห็นได้ชัดเจน
  • การฉัน ส่วนจริยาวัตรอื่น ๆ เช่น การฉันในบาตร ฉันมื้อเดียว ฯลฯ ก็เป็นวัตรปฏิบัติของทั้งธรรมยุติ และมหานิกาย แต่ธรรมยุติ จะไม่ฉันนมในเวลาหลังเพล หรือ น้ำผลไม้ที่มีกากปนลงไป ถือว่าเป็นอาหารไม่ใช่น้ำปานะ หรือน้ำอัฐบาล

การขยายธรรมยุติกนิกายสู่อุบลราชธานี

เปรมวิทย์ ท่อแก้ว (2534) กล่าวว่า ในปี พ.ศ.2394 ได้มีการก่อตั้งวัดธรรมยุติกนิกายขึ้นเป็นครั้งแรกในภาคอีสานที่จังหวัดอุบลราชธานี โดยได้รับการอุปถัมภ์จากพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 และได้อาราธนาพระสงฆ์จากภาคอีสานที่มาอุปสมบทในกรุงเทพฯ เดินทางกลับไปยังเมืองอุบลราชธานีเพื่อเผยแผ่วัตรปฏิบัติของธรรมยุติกนิกาย

สุพัตรา ทองกลม (2558 ) ได้กล่าวถึงเหตุปัจจัยในการตั้งธรรมยุติกนิกายขึ้นในเมืองอุบลราชธานี คือ

  1. อุบลราชธานีเป็นจุดยุทธศาสตร์ที่อยู่ใกล้กับจำปาศักดิ์ประเทศราชเมืองลาวและประเทศราชเมืองเขมร
  2. เมืองอุบลราชธานีมีผู้ปกครองที่มีความสามารถและจงรักภักดีต่อสยามมาโดยตลอด รัชกาลที่ 4 จึงทรงมั่นพระทัยว่าจะได้รับการสนับสนุนจากผู้ปกครองหรือชนชั้นนำในพื้นที่
  3. รัชกาลที่ 4 ทรงมีพระลูกศิษย์เป็นคนอุบลราชธานีที่เกิดในตระกูลที่รับราชการปกครองเมืองอุบลราชธานี และทรงมั่นพระทัยว่าเข้าใจความเป็นธรรมยุติกนิกายและจะได้รับการสนับสนุนจากคนในพื้นที่หากส่งตัวกลับไปที่อุบลราชธานี

ธรรมยุติกนิกายนั้นได้ขยายตัวได้ดีในภาคอีสานและได้รับความสนใจจากพระสงฆ์และประชาชนอย่างมาก เนื่องจากได้รับการอุปถัมภ์จากกลุ่มผู้ปกครองทั้งจากกรุงเทพฯ และในท้องถิ่น และการจัดการศึกษาของธรรมยุติกนิกายช่วยในการเลื่อนสถานะทางสังคมได้เป็นอย่างดี

สถาปัตยกรรมของวัดธรรมยุติกนิกายในจังหวัดอุบลราชธานี

จากการศึกษาของสุพัตรา ทองกลม (2558 ) ได้กล่าวไว้ว่า นโยบายการปกครองในแต่ละรัชกาลนั้นส่งผลต่อการกำหนดบทบาทของพระสงฆ์ธรรมยุติกนิกายในภาคอีสาน อันเป็นตัวแปรสำคัญต่อสถาปัตยกรรมในวัดธรรมยุติกนิกายเช่นกัน จึงแบ่งพัฒนาการของสถาปัตยกรรมออกได้เป็น 3 ยุค คือ

วัดธรรมยุติกนิกายยุคที่ 1 ยุคก่อตั้งวัดธรรมยุตินิกาย พ.ศ. 2394–2452 สมัยรัชกาลที่ 4-5 โดยเริ่มต้นที่วัดสุปัฏนารามวรวิหาร และได้รับการสนับสนุนให้สร้างเพิ่มอีก 3 วัด คือ วัดศรีอุบลรัตนาราม (วัดศรีทอง) วัดสุทัศนาราม และวัดไชยมงคล ในเขตอำเภอเมืองอุบลราชธานี วัดสระแก้ว อำเภอพิบูลมังสาหาร และวัดหอก่อง (ปัจจุบันอยู่ในจังหวัดยโสธร) มีบางวัดที่เปลี่ยนมาเป็นวัดในธรรมยุติกนิกาย ได้แก่ วัดเลียบ และวัดใต้ ซึ่งตั้งอยู่ในเขตอำเภอเมืองอุบลราชธานี ภาระกิจที่โดดเด่นของธรรยุติกนิกายในยุคนี้อีกอย่างคือ การส่งเสริมการศึกษา ซึ่งในมณฑลอีสาน (อุบลราชธานี) โดยมีพระญาณรักขิต (สิริจันโท จัน) เป็นผู้อำนวยการ ด้านสถาปัตยกรรมยุคนี้จะยังไม่มีลักษณะเฉพาะ แต่มีลักษณะอย่างพื้นถิ่นในท้องที่นั้น ๆ 

วัดธรรมยุติกนิกายยุคที่ 2 ช่วง พ.ศ. 2453–2480 สมัยรัชกาลที่ 6 จนกระทั่งการเปลี่ยนแปลงการปกครองและรัชกาลที่ 8 เป็นช่วงที่มีการปลูกฝังแนวคิด “ชาตินิยม” เป็นช่วงที่วัดธรรมยุติกนิกายขยายตัวมากที่สุดทั้งทั้งภาคอีสาน โดย สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (ติสโส อ้วน) ได้ดำเนินการปกครองคณะสงฆ์ด้วยหลัก 3 ประการ คือ  1) การจัดระเบียบวัดในมณฑลอีสานให้เป็นหมวดหมู่ 2) การศึกษา 3) ส่งเสริมให้ผู้คนอยู่ในศีลธรรม และได้จำกัดความเรียกว่าภาคอีสานว่า “ถิ่นไทยดี” เพื่อให้สอดรับกับนโยบายชาตินิยม

สถาปัตยกรรมของวัดธรรมยุติกนิกายเริ่มมีเอกลักษณ์โดยใช้รูปแบบวัดธรรมยุติกนิกายจากกรุงเทพฯ ผสมตะวันตก พื้นถิ่น และงานช่างจีนและญวน ลักษณะสถาปัตยกรรม คือ มีหน้าบันแบบไม่มีไขราหน้าจั่ว ประดับเครื่องลำยองนาค ตกแต่งปูนปั้นลายพฤกษาและเจดีย์กลมที่เป็นสัญลักษณ์ของวัดธรรมยุติกนิกาย เอกลักษณ์และรูปแบบนี้ช่วยย้ำบทบาทของวัดธรรมยุติกนิกายในอุบลราชธานีว่าเป็นผู้นำทางศาสนาและส่งเสริมงานช่างสนองแนวทางของรัชกาลที่ 6 ได้เป็นอย่างดี สถาปัตยกรรมยุคนี้ได้แก่ อุโบสถวัดสุปัฏนารามวรวิหาร และวัดที่สร้างโดยมีต้นแบบจากวัดสุปัฏนารามวรวิหาร ได้แก่ วัดสุทัศนาราม วัดสุภรัตนาราม (อำเภอวารินชำราบ) และวัดบ้านหนองเป็ด (อำเภอนาตาล)

วัดสุปัฏนารามวรวิหาร
วัดสุปัฏนารามวรวิหาร อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี
วัดสุทัศนาราม
วัดสุทัศนาราม อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี
วัดสุภรัตนาราม บ้านหวาง วารินชำราบ
วัดสุภรัตนาราม อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี
วัดบ้านหนองเป็ด อ.นาตาล
วัดบ้านหนองเป็ด อำเภอนาตาล จังหวัดอุบลราชธานี
วัดสุทัศนาราม อุบลราชธานี
ทวารบาลสิงโต ตรงบันไดทางขึ้นอุโบสถวัดสุทัศนาราม องค์ประกอบที่ได้แบบมาจากวัดสุปัฏนารามวรวิหาร

วัดธรรมยุติกนิกายยุคที่ 3 พ.ศ.2481-ปัจจุบัน หรือต้ังแต่สมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นต้นมา งานสถาปัตยกรรมของวัดธรรมยุติกนิกายในยุคนี้เน้นความทันสมัยตามกระแสโลก มีการกำหนดให้สร้างอุโบสถตามแบบมาตรฐาน ก ข ค เพื่อให้เป็นรูปแบบในทางเดียวกันทั้งชาติ และการสร้างอุโบสถที่คงองค์ประกอบอุโบสถแบบวัดสุปัฏนารามวรวิหารไว้ จึงเห็นงานสถาปัตยกรรมเกิดขึ้น 2 ลักษณะ คือ การตกแต่งหน้าบันด้วยรูปปั้นเจดีย์ทรงระฆัง ได้แก่ วัดศรีอุบลรัตนาราม วัดแสนสำราญ (อำเภอวารินชำราบ) วัดบ้านแคน (อำเภอตาลสุม) และการใช้องค์ประกอบของอุโบสถวัดสุปัฏนารามวรวิหารตกแต่งอุโบสถ เช่น ซุ้มเสมา ได้แก่ วัดสระแก้ว (อำเภอพิบูลมังสาหาร) วัดเลียบ วัดใต้

วัดศรีอุบลรัตนาราม
หน้าบันอุโบสถวัดศรีอุบลรัตนาราม อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี
วัดแสนสำราญ วารินชำราบ
จำลองเจดีย์ทรงระฆังที่หน้าบันนำมาประดิษฐานไว้ที่หน้าอุโบสถ วัดแสนสำราญ อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี
วัดสระแก้ว พิบูลมังสาหาร
ซุ้มเสมาวัดสระแก้ว อำเภอพิบูลมังสาหาร จังหวัดอุบลราชธานี
วัดเลียบ อุบลราชธานี
ซุ้มประดับกำแพงแก้วของวัดเลียบ อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี

บรรณานุกรม

คมชัดลึกออนไลน์. (2564).มหานิกาย-ธรรมยุติกนิกาย ความเหมือนที่แตกต่าง การเมืองในศาสนจักร. เข้าถึงเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2566, https://www.komchadluek.net/scoop/491603

เปรมวิทย์ ท่อแก้ว. (2534). การก่อตั้งและขยายตัวของธรรมยุติกนิกายในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (พ.ศ.2394-2473). วิทยานิพนธ์อักษรศาสตรมหาบัณฑิต. กรุงเทพฯ: ภาควิชาประวัติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

สุปรีดิ์ ณ นคร. (2564). ความเปลี่ยนแปลงของคณะสงฆ์มหานิกายภายใต้อิทธิพลของธรรมยุติกนิกายในช่วงการประกาศใช้พระราชบัญญัติลักษณะการปกครองคณะสงฆ์ ร.ศ.121 (พ.ศ.2445-2484). วิทยานิพนธ์ ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาประวัติศาสตร์. กรุงเทพฯ: คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ.

สุพัตรา ทองกลม. (2558 ).วัดธรรมยุติกนิกายในจังหวัดอุบลราชธานี. หน้าจั่ว ฉ.12. หน้า 354-383

ธรรมยุต (Dhammayut). (2566). ธรรมเนียมและแบบแผนของธรรมยุติกนิกาย. เข้าถึงเมือวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2566, https://dhammayut.org/role/#begin

Tag

การทอผ้าไหม การทำต้นเทียนพรรษา การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม การปฏิบัติธรรม การแกะสลักเทียนพรรษา ครูภูมิปัญญาไทย บุญมหาชาติ บุญเดือนแปด ชุมชนทำเทียนพรรษา บ้านชีทวน พักผ่อนหย่อนใจ พิพิธภัณฑ์พื้นบ้าน พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น ดนตรีพื้นบ้าน ดนตรีพื้นเมืองอีสาน ต้นเทียนพรรษาประเภทติดพิมพ์ ต้นเทียนพรรษาประเภทแกะสลัก ประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ประเพณีท้องถิ่น ประเพณีอีสาน ประเพณีแห่เทียนพรรษา วัดหนองป่าพง วิถีชีวิตคนอีสาน วิปัสสนากรรมฐาน ศิลปกรรมญวน ศิลปกรรมท้องถิ่นอีสาน ศิลปะญวน สถาปัตยกรรมท้องถิ่น สถาปัตยกรรมท้องถิ่นอีสาน สถาปัตยกรรมในพุทธศาสนา สาขาวัดหนองป่าพง สิม หัตถกรรมการทอผ้า อำเภอพิบูลมังสาหาร อำเภอตระการพืชผล อำเภอน้ำยืน อำเภอม่วงสามสิบ อำเภอวารินชำราบ อำเภอเขมราฐ อำเภอเขื่องใน อำเภอเดชอุดม อำเภอเมืองอุบลราชธานี อุบลราชธานี อุโบสถ ฮีตสิบสอง