หลวงพ่อกับเณรน้อย นิทานพื้นบ้านอีสาน

หลวงพ่อกับเณรน้อย นิทานพื้นบ้านอีสานที่เล่าสืบต่อกันมาแบบปากต่อปาก เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับความฉลาดแกมโกงของสามเณรที่ชอบแกล้งและอยากเอาชนะหลวงพ่อที่รู้ไม่เท่าทัน มีหลายตอนหลายสถานการณ์ ไม่ปรากฏว่าใครเป็นผู้แต่งหรือใครเล่าเป็นคนแรก เป็นการเล่าเพื่อให้เกิดความสนุกสนานครื้นเครงหรือผ่อนคลายในโอกาสต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นในงานบุญ งานสังสรรค์ หรือเป็นนิทานก่อนนอนเล่าให้เด็ก ๆ ฟัง เนื้อเรื่องจึงอาจมีความเหมือนและแตกต่างกันไปตามแต่อารมณ์ของผู้เล่าและผู้ฟัง

นิทานพื้นบ้าน

อภิฤดี จันทะเดช (2560) ให้ความหมายของนิทานพื้นบ้าน วรรณกรรมท้องถิ่น หรือเรื่องเล่าพื้นบ้าน หมายถึง เรื่องราวที่ถูกเล่าขานหรือเรียกว่า มุขปาฐะที่มีอยู่ในท้องถิ่นต่าง ๆ นิทานพื้นบ้านหลายเรื่องมีโครงเรื่องคล้ายคลึงกัน แต่การสื่อความหมายหรือวัตถุประสงค์ในการเล่าแตกต่างกันตามแต่ละท้องถิ่นหรือกลวิธีการเล่าเรื่อง

ลักษณะของนิทานพื้นบ้านอีสาน

กรมศิลปากร กองโบราณคดี (2531) ได้สรุปลักษณะของตำนานและนิทานพื้นบ้านอีสาน ไว้ดังนี้

  • ตำนานและนิทานพื้นบ้านอีสานไม่นิยมระบุชื่อตำแหน่ง ทั้งนี้อาจะเป็นเพราะไม่ต้องการอวดอ้างชื่อ มีต้นกำเนิดมาจากการเป็นวรรณกรรมมุขปาฐะซึ่งไม่ทราบผู้เล่าต้นเรื่องแน่นอน ประกอบกับนิทานพื้นบ้านอีสานแทบทั้งสิ้นจะเป็นเรื่องอิงพุทธศาสนา ผู้แต่งจึงอาจจะถือว่าตนแต่งเป็นเรื่องศาสนบูชาและไม่กล้าออกชื่อตนไว้ในที่เดียวกับที่ซึ่งมีการออกชื่อพระพุทธเจ้าตามค่านิยมท้องถิ่น
  • ตำนานและนิทานพื้นบ้านอีสานนั้น ส่วนมากเป็นนิยายเล่าเรื่องที่เกิดจากจินตนาการ โดยอาศัยหลักการของเหตุและผลในตัวมันเอง ไม่คำนึงถึงเหตุผลตามความจริง ดังนั้นจึงมีเรื่องราวที่เป็นอภินิหารปรากฏอยู่โดยทั่วไป
  • ตำนานพื้นบ้านอีสาน มีส่วนเกี่ยวพันกับการเล่าเรื่องหรืออ้างถึงพุทธศาสนาเป็นอย่างมาก เช่น เล่าเรื่องพุทธศาสนา เล่าเรื่องชาดก เล่าเรื่องเหตุการณ์ในพุทธศาสนา หรือแม้ในตำนานที่กล่าวถึงเรื่องราวของชุมชนโบราณ เช่น อุรังคนิทานก็อ้างอิงถึงพุทธทำนานกล่าวคือเล่าเรื่อง เกริ่นนำตำนานไว้ว่าในสมัยพุทธกาล พระพุทธเจ้าได้เสด็จมาในดินแดนแถบนี้และได้พยากรณ์ถึงเหตุการณ์และสถานที่ต่าง ๆ ไว้แทบทุกเมือง
  • ตำนานหรือนิทานพื้นบ้านอีสานนั้น นอกจากจะอยู่ในฐานะตัวถ่ายทอดเรื่องรามตามปกติอยู่แล้ว ยังอยู่ในฐานะกำหนดค่านิยมทางสังคมและสภาพความเป็นอยู่อีกด้วย ทำให้เราทราบถึงพฤติการณ์ สภาพความเป็นอยู่ และค่านิยมทางสังคมของภาคอีสานได้เป็นอย่างดี
  • ตำนานและนิทานพื้นบ้านอีสานนนั้นได้รับการถ่ายทอดเรื่องราวและแนวคิดจากชุมชนในดินแดนแถบอื่นมาก จะเห็นได้ว่ามีนิทานพื้นบ้านอีสานหลายเรื่องที่ได้รับถ่ายทอดมาจากดินแดนใกล้เคียง

กุหลาบ มัลลิกะมาศ (2518) กล่าวว่า นิทานพื้นบ้านนั้นมีลักษะเป็นเรื่องเล่าด้วยถ้อยคำธรรมดา เป็นร้อยแก้ว เล่ากันด้วยปากสืบกันมาเป็นเวลานาน ในระยะหลังมีการบันทึกไว้แต่ก็ยังเขียนตามเค้าโครงเดิมที่เล่าต่อกันมา นิทานพื้นบ้านจะไม่ปรากฏว่าผู้เล่าดั้งเดิมนั้นเป็นใคร อ้างแต่ว่าเป็นของเก่า ฟังมาจากผู้เล่า

นิทานเรื่องหลวงพ่อกับเณรน้อย

นิทานเรื่องหลวงพ่อกับเณรน้อย นั้นเป็นนิทานตลกขบขัน ตามทฤษฏีการจัดประเภทของนิทานตามแนวของสติธ ทอมป์สันที่กุหลาบ มัลลิกะมาศ (2518) กล่าวไว้ คือ เป็นนิทานที่มีเนื่อหาสั้น ๆ ความขบขันของเรื่องคือพฤติกรรมควาไม่น่าจะเป็นไปได้ อาจจะเป็นเรื่องเกี่ยวกับความโง่ การแก้เผ็ด กลโกง ตัวละครเอกไม่จำเป็นต้องเป็นคนที่ฉลาด แต่อาจจะเป็นคนที่โง่อย่างที่สุดก็ได้

นิทานเรื่องนี้ไม่มีหลักฐานการเล่าที่แน่นอน เป็นเป็นเพียงเรื่องที่คนเก่าแก่เล่ให้ลูกหลายฟังสืบต่อกันมา ซึ่งไม่ได้ระบุสถานที่เกิดจริงว่าเป็นที่ไหนหรือผู้แสดงจริงเป็นใคร บอกแต่เพียงสถานภาพว่าเป็นหลวงพ่อและสามเณรเท่านั้น ชื่อและสถานที่เป็นเพียงการสมมติให้เห็นชัดเจนเท่านั้น การเล่าต่อ ๆ กันมาอาจจะมีการประยุกต์เนื้อหาเพิ่มเติมเพื่อให้เกิดความเหมาะสมและให้เกิดประโยชน์ด้านต่าง ๆ

จากการวิเคราะห์ของสมศักดิ์ พันธ์ศิริ (2560) พบว่า นิทานเรื่องหลวงพ่อกับเณรน้อยนั้นสร้างอารมณ์ขันจากปมความขัดแย้งของสองตัวละครหลัก คือ หลวงพ่อและเณรน้อย ซึ่งเป็นไปตามทฤษฎีการข่มท่าน ทฤษฎีการผิดฝาผิดตัว และทฤษฎีการปลดปล่อย ปมเรื่องที่ก่อให้เกิดอารมณ์ขัน ได้แก่ การถูกหลอก ความโง่เขลา การใช้กลอุบาย ความบังเอิญ การเอาเปรียบ การทำผิดศีล ส่วนการใช้ภาษาเพื่อสร้างอารมณ์ขัน พบว่า มีการใช้คำผวน การใช้สัญลักษณ์เพศ การพูดเล่นคารม การใช้ปริศนา และการใช้คำที่มีความหมายอ้อม

จากการรวบรวมของพระมหาสุนทร เสนาซุย อาจารย์ประจำคณะพุทธศาสตร์ มหาวิทยาลัยจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตขอนแก่น เมื่อปี 2546 พบว่ามีนิทานเรื่องหลวงพ่อกับเณรน้อยตอนต่าง ๆ และวิเคราะห์ความขบขันโดย สมศักดิ์ พันธ์ศิริ (2560) ดังนี้

1. โลภมากมักลาภหาย

หลวงพ่อได้รับกิจนิมนต์เจ้าภาพไว้สองแห่ง เจ้าภาพแรกเป็นพ่อเจ้าสาวมานิมนต์ไปงานแต่งเอาเขยเข้าบ้านและหลวงพ่อจึงถามว่ามีอะไรเลี้ยงฉลองได้รับคำตอบว่า มีคั่วงาฉลอง เจ้าภาพที่สองเป็นพ่อเจ้าบ่าวมานิมนต์หลวงพ่อไปงานแต่งเอาสะใภ้เข้าบ้าน หลวงพ่อถามว่าได้อะไรเลี้ยงฉลองได้รับคำตอบว่า “มีบักแดงเขาโขงฉลอง” หลวงพ่อเข้าใจว่าบักแดงเขาโขง คือ ควายสีแดงตัวโต ๆ เป็นลาภปาก จึงเรียกเณรน้อยมาปรึกษาเรื่องไปงานกิจนิมนต์อย่างไรก็ตาม เณรน้อยยังไม่ได้กล่าวตอบเลยหลวงพ่อก็ชิงตัดหน้าพูดไปก่อนว่า งานของพ่อเจ้าสาวให้เณรน้อยไป ส่วนงานพ่อเจ้าบ่าวหลวงพ่อจะไปเอง พอถึงวันงาน เจ้าภาพทั้งสองมารับหลวงพ่อและเณรน้อยไปงาน ขากลับเจ้าภาพงานหลวงพ่อมาส่งหลวงพ่อก่อน ถึงวัดหลวงพ่อแสดงสีหน้าผิดหวัง ส่วนเจ้าภาพของเณรน้อยมาส่งเณรน้อยทีหลัง แต่เณรน้อยแสดงสีหน้ายินดี หลวงพ่อจึงถามเณรน้อยว่า เณรน้อยได้ฉันอะไรในงานแต่ง เณรน้อยบอกว่า “ได้ฉันฆ่าวัว” และเณรน้อยจึงถามหลวงพ่อกลับไปว่า “หลวงพ่อได้ฉันอะไรในงานแต่ง” หลวงพ่อตอบด้วยความโมโหว่า “ได้ฉันพริกกับมะขาม” 

ความขบขันในเรื่องนี้เกิดจากการใช้ภาษา คำผวนว่า “คั่วงา” ก็คือ “ฆ่าวัว” และการตีความผิดของหลวงพ่อที่ว่า “บักแดงเขาโขง” คือ ควายสีแดงตัวโต แต่แท้จริงแล้วคือ บักแดง คือ พริก และ เขาโขง คือ มะขาม ในภาษาอีสานนั่นเอง ความขบขันจึงเกิดจากการที่หลวงพ่อเสียเปรียบเณรน้อยเพราะความละโมบของตัวเอง

2. เณรน้อยไม่รู้จักศีล

เป็นธรรมเนียมของพระที่จะต้องให้ศีลเณรน้อยหลังทำวัตรเย็น หลวงพ่อจำเป็นต้องให้ศีลแก่เณรน้อยอยู่เป็นประจำจึงเกิดความขี้เกียจขึ้น วันหนึ่งหลังจากทำวัตรเย็นเสร็จหลวงพ่อจึงเอ่ยถามเหล่าเณรน้อยว่า “พวกเณรน้อยรู้หรือไม่ว่าศีลมีลักษณะอย่างไร ศีลเป็นสีแดงหรือว่าสีขาว” เมื่อพวกเณรน้อยบอกว่า “ยังไม่ทราบ” หลวงพ่อได้ทีจึงคิดอุบายจะกลั่นแกล้งเณรน้อยโดยบอกพวกเณรน้อยว่า “วันนี้หลวงพ่อจะให้พวกเณรน้อยรู้ว่าศีลนั้นเป็นตัวเป็น ๆ” ว่าเสร็จแล้วหลวงพ่อก็เข้าไปในห้องแล้วเอามือแคะจมูกได้ขี้มูกแข็งเป็นก้อนออกมาแล้ว แจกให้เณรน้อยไปคนละก้อน พร้อมพูดสำทับไปว่าให้ “ทุกคนไปเปิดดูในห้องและให้อมไว้ในปาก” เมื่อเณรน้อยรับก้อนศีลไปเปิดดูในห้องและอมไว้ในปากปรากฏว่ามีรสชาติเค็ม ๆ วันต่อมาหลวงพ่อจึงถามเณรน้อยว่า “ตัวศีลมีลักษณะอย่างไร” เณรน้อยจึงบอกว่า “ศีลมีลักษณะเค็ม ๆ มัน ๆ อร่อยดี”

ในเรื่องนี้ความขบขันเกิดจากเข้าใจผิดของเณรน้อยที่คิดว่าศีลเป็นรูปธรรมแท้ที่จริงแล้วศีลเป็นนามธรรมและเกิดจากการที่เณรน้อยถูกหลอกกินขี้มูกตัวเองเป็นการได้เปรียบของตัวละครหลักคือ หลวงพ่อที่เอาชนะเณรน้อยได้ที่ตกเป็นฝ่ายเสียเปรียบในครั้งนี้

3. ใกล้เกลือกินด่าง

หลวงพ่อเป็นพระเคร่งครัดในวินัย ถ้าไม่มีใครประเคนจะไม่ฉัน วันหนึ่งกลับจากบิณฑบาต หลวงพ่อก็นั่งรอให้เณรน้อยไปจัดสำรับกับข้าว แต่ส่วนเณรน้อยกลับไปวิ่งเล่นตามประสาเด็กใต้ถุนกุฏิยังไม่ไปจัดสำรับกับข้าวถวายหลวงพ่อ รอนานเข้าหลวงพ่อก็เริ่มหิว แต่เณรน้อยก็ยังไม่ยอมมาประเคนสักที หลวงพ่อจึงเรียกให้เณรน้อยขึ้นมาที่กุฏิและบอกให้รีบประเคน เณรน้อยเพิ่งบวชใหม่ไม่รู้จักคำว่าประเคนคือทำอย่างไรจึงนิ่งเฉย หลวงพ่อด้วยความโมโหจึงหยิบไข่เค็มทุบที่หัวเณรน้อย แล้วบอกสำทับว่า “นี่คือการประเคนจำไว้ให้ดี” เณรน้อยจึงจำการประเคนได้เป็นอย่างดี วันต่อมา หลวงพ่อไปบิณฑบาตได้ทุเรียนมา อยากฉันเต็มที และรออย่างใจจดใจจ่อให้เณรน้อยรีบมาประเคน พอได้เวลาจึงเรียกเณรน้อยให้มาประเคน เณรน้อยพอมาถึงก็ถามหลวงพ่อว่า “จะให้ประเคนเลยหรือไม่” หลวงพ่อตอบให้ประเคนเลย เณรน้อยก็หยิบทุเรียนขึ้นมา แล้วทุบหัวหลวงพ่อจนแตก 

ความขบขันในเรื่องนี้จึงเกิดจากตัวละครหลัก คือ หลวงพ่อเสียเปรียบเณรน้อยซึ่งเกิดจากการที่ไม่รู้จักวิธีประเคนว่าคืออะไร ซึ่งตามหลักการของพระการถวายของของแก่พระ คือ การประเคนไม่ใช่การทุบที่หัว และการที่หลวงพ่อบอกวิธีประเคนแบบผิด ๆ ให้ด้วยความโมโหของตนเองเป็นเหตุให้ตัวเองต้องหัวแตกเจ็บตัว

4. หลวงพ่ออยากกินหน่อไม้

หลวงพ่อป่วยออกบิณฑบาตไม่ได้ จึงบอกให้เณรน้อยไปบิณฑบาตแทน ชาวบ้านใส่อาหารและหน่อไม้มากเป็นพิเศษ ขากลับเณรน้อยคิดจะเก็บหน่อไม้ไว้ฉันคนเดียว จึงแอบซ่อนหน่อไม้ไว้ เหลือไว้ในบาตรแค่หน่อเดียว จึงไม่จำเป็นต้องแบ่งให้หลวงพ่อ วันต่อมาหลวงพ่อไปบิณฑบาตเองไม่ได้อะไรเลย กลับมาเห็นเณรน้อยฉันหน่อไม้จึงถามว่า “ได้มาจากไหน” เณรน้อยตอบว่า “ได้เพราะบุญวาสนา” หลวงพ่ออยากฉันมากจึงขอเณรน้อยจึงออกอุบายว่าจะให้ของดีแก่เณรน้อย ส่วนเณรน้อยจึงยอมแต่มีข้อแม้ว่าตนจะให้ส่วนโคนแก่หลวงพ่อ ส่วนปลายตนเองจะกินหลวงพ่อไม่มีฟันเคี้ยวไม่ได้จึงเสียเปรียบ หลวงพ่อป่วยยังไม่หายดี จึงอยากหายป่วยเร็ว ๆ ได้ปรึกษาเณรน้อย ส่วนเณรน้อยได้ทีจึงออกอุบายว่าให้ไปนอนในหลุมจึงจะหาย พอชาวบ้านมานิมนต์หลวงพ่อ เณรน้อยก็บอกโยมว่า “หลวงพ่อเข้ากรรมไม่รับแขก” แทนที่หลวงพ่อจะหายป่วยกลับมีตุ่มขึ้นตามตัว วันต่อมา หลวงพ่ออยากฉันหน่อไม้อีกจึงถามเณรน้อยว่า “ทำอย่างไรจึงจะได้” เณรน้อยบอกว่า “ต้องให้เณรน้อยนั่งเป็นหัวหน้าในงาน” หลวงพ่อจึงตกลงตามนั้น วันต่อมาเมื่อรับกิจนิมนต์เณรน้อยจึงได้นั่งข้างหน้าแทนหลวงพ่อและหลวงพ่อมานั่งแทนที่เณรน้อยข้างหลัง

ความขบขันในเรื่องนี้เกิดจากการที่หลวงพ่อถูกเณรน้อยหลอกให้กินหน่อไม้ที่โคนที่แข็งกว่าส่วนตนกินที่ปลายที่อ่อนกว่า และการที่เณรน้อยหลอกให้หลวงพ่อไปนอนในหลุมเพื่อรักษาไข้หวัดแต่กลับเกิดเป็นตุ่มขึ้นแทนเป็นการเชื่อแบบผิด ๆ ของหลวงพ่อ การที่เณรน้อยหลอกหลวงพ่อเพื่อนั่งหน้าหลวงพ่อเพราะความโลภของหลวงพ่ออยากกินหน่อไม้หลวงพ่อจึงยอม ตามปกติพระจะนั่งก่อนส่วนสามเณรน้อยนั่งหลังตามลำดับอาวุโสเป็นการสร้างอารมณ์ขันแบบทฤษฎีผิดฝาผิดตัว

5. หลวงพ่ออยากกินมะเขือ 

หลวงพ่ออยากกินมะเขือ แต่กลัวว่าเณรน้อยจะมาแย่งกิน จึงคิดว่าจะไปบิณฑบาตรูปเดียว บังเอิญวันนั้นเป็นวันคืนพระจันทร์เต็มดวง หลวงพ่อจำวัดนอนหลับแต่เนิ่น ๆ และตื่นขึ้นมาตอนดึกเห็นดวงจันทร์คิดว่าเป็นเวลาสว่างแล้วจึงเข้าถือบาตรจีวรไปบิณฑบาตในหมู่บ้าน แต่พอไปถึงไม่เห็นใครลุกขึ้นมาใส่บาตร จะกลับวัดก็กลัวว่าจะหลับยาวแล้วเณรน้อยไม่ปลุกบิณฑบาตจึงไปหลบนอนใต้พุ่มมะเขือของบ้านหลังหนึ่ง ใกล้สว่าง เจ้าบ้านตื่นขึ้นมาเรียกลูกสาวไปเก็บมะเขือ บอกให้เลือกเอาลูกอ่อน ๆ ลูกสาวจึงเลือกลูกมะเขือโดยหยิกดูไปทีละลูก จนไปหยิกหัวหลวงพ่อ ส่วนหลวงพ่อจะร้องก็กลัวหญิงสาวตกใจ จึงยอมทนให้หยิกหัวจนจนเลือดไหล จวนสว่างจึงรีบกลับวัดไปนอนคลุมโปงบอกเณรน้อยว่าท่านไม่สบายเณรน้อยด้วยความสงสัยจึงแกล้งกระชากจีวรออกดู เนื่องจากว่าหัวหลวงพ่อปลงผมใหม่ ๆ หัวจึงติดจีวร ทำให้หลวงพ่อกระเด็นไปชนเสาจนหัวแตกอีก หลวงพ่อจึงให้เณรน้อยไปหายามารักษาท่าน เณรน้อยได้ทีคิดอุบายกลั่นแกล้งได้จึงเอาขมิ้นใส่เกลือและบีบน้ำมะนาวใส่ไปให้หลวงพ่อ อ้างว่าเป็นยา พอทาเสร็จเท่านั้นหลวงพ่อยิ่งแสบร้อนเป็นทวีคูณอีก ต่อมาตอนเช้า ชาวบ้านอาหารมาถวายหลวงพ่อออกมารับไม่ได้เณรน้อยจึงรับแทนและยังฉันอาหารจนหมดอีก พร้อมกับบอกชาวบ้านว่าหลวงพ่อไม่ฉันอย่างอื่นนอกจากมะเขือเท่านั้น อาหารที่เหลือให้โยมเอากลับไปได้หลวงพ่อจึงได้ฉันแค่มะเขือ วันต่อมาโยมนิมนต์หลวงพ่อไปฉันที่ทุ่งนา หลวงพ่อหวังจะแก้เผ็ดเณรน้อยจึงแกล้งบอกให้เณรน้อยไปนอนใต้ต้นขนุนหวังจะให้ลูกขนุนหล่นใส่หัวเณรน้อย ส่วนเณรน้อยรู้ทันก็บอกให้หลวงพ่อไปนอนใต้ต้นมะกอกบังเอิญว่าฤดูนั้นเป็นฤดูที่มะกอกสุกพอดี ลูกมะกอกจึงหล่นใส่หัวหลวงพ่อเจ็บอีก

ความขบขันในเรื่องนี้เกิดจากการที่หลวงพ่อตื่นบิณฑบาตกลางคืน การที่หลวงพ่อถูกหยิกหัวแต่ร้องไม่ได้เพราะกลัวโยมจะตกใจ การที่เณรน้อยกระชากจีวรหลวงพ่อออกและดึงเอาหัวหลวงพ่อไปถูกเสาจนแตก การที่เณรน้อยแกล้งเอาขมิ้นใส่เกลือและมะนาวให้ทาหัวที่เป็นแผลโดยหลอกหลวงพ่อว่าเป็นยา การที่หลวงพ่อจะแก้เผ็ดเณรน้อยแต่กลับถูกเณรน้อยหลอกให้ไปนอนใต้ต้นมะกอกจนมะกอกหล่นใส่หัวอารมณ์ขันเกิดจากทฤษฎีข่มท่าน

6. หลวงพ่อก่ำ 

หลวงพ่อชื่อ ก่ำ อยู่กับเณรน้อยชื่อว่า อี๋ หลวงพ่อบวชตอนแก่จึงไม่ได้เรียนหนังสือ ส่วนเณรน้อยได้ไปเรียนหนังสือในตัวเมืองจึงมีความรู้ วัดนี้โยมไม่ค่อยศรัทธาเพราะหลวงพ่อไม่ได้หนังสือ วันหนึ่งหลวงพ่อจึงปรึกษาเณรน้อยว่ามีอุบายให้โยมมาศรัทธาเลื่อมใสหรือไม่ เณรน้อยจึงคิดอุบายอย่างหนึ่งให้ โดยออกไปข้างวัดเห็นไถชาวนาวางไว้จึงแอบเอาไปซ่อนไว้ ชาวนากลับมาไม่เห็นไถจึงถามเณรน้อย แต่เณรน้อยจึงบอกให้ไปถามหลวงพ่อก่ำท่านเป็นพระหมอดู พอชาวนาจึงไปถามหลวงพ่อที่วัด หลวงพ่อจึงทำทีบวกลบคูณหารแล้วบอกว่า “นับจากที่วางไถไปสิบก้าวจะเห็นไถ” ชาวนาได้พบไถตามที่หลวงพ่อบอก ทำให้ชื่อเสียงหลวงพ่อก่ำขจรไปอีก จนชาวบ้านเกิดศรัทธานำอาหารมาถวายมากมาย ต่อมาเด็กวัดคนหนึ่งชื่อ ก่ำ ขโมยเงินหลวงพ่อรูปหนึ่งชื่อ ผาง ท่านจึงให้เด็กวัดคนนั้นไปตามหลวงพ่อก่ำมาช่วย ในขณะที่กำลังเดินทางไปวัดนั้นเด็กวัดชื่อ ก่ำ เดินนำหน้า หลวงพ่อขี่ม้าอยู่กลาง เณรน้อยเดินตามหลังหลวงพ่อบ่นว่า “ตายแน่ไอ้ก่ำคราวนี้” เด็กวัดที่ชื่อก่ำเหมือนกัน ได้ยินเข้าก็คิดว่าหลวงพ่อรู้ว่าตนเป็นคนขโมย จึงรับสารภาพว่าตนเอาไปซ่อนไว้ใต้อาสนะ หลวงพ่อก่ำจึงบอกหลวงพ่อผางว่าเงินอยู่ใต้อาสนะ หลวงพ่อผางเห็นเงินจึงดีใจทำให้ชื่อเสียงหลวงพ่อก่ำจึงขจรไปอีก ต่อมามีทหารคนหนึ่งทำปืนหาย มาขอร้องให้หลวงพ่อก่ำให้ช่วย หลวงพ่อไม่ทราบจึงขอผลัดให้ทหารมาอีกสามวัน เมื่อครบวันที่สาม หลวงพ่อคิดว่าตัวเองต้องถูกเปิดโปงแน่ จึงคิดฆ่าตัวตายและไปปรึกษาเณรน้อย เณรน้อยได้ทีจึงแนะให้ไปกระโดดน้ำตายหน้าวัด ในขณะที่หลวงพ่อกระโจนลงน้ำไปมือบังเอิญคว้าถูกปืนในน้ำได้พอดี จึงบอกเณรน้อยให้รีบไปช่วยดำน้ำเอาปืนขึ้นมา วันรุ่งขึ้นทหารมาพร้อมเพื่อนฝูง พบว่า เป็นปืนของตัวเองจริง ๆ ทำให้ชื่อเสียงของหลวงพ่อก่ำขจรไปอีก ต่อมาเจ้าเมืองทำบุญประจำปีอยากนิมนต์พระดังมาเทศน์ จึงมานิมนต์หลวงพ่อก่ำมาเทศน์ หลวงพ่อได้ข่าวแทบเป็นลมเพราะอ่านหนังสือไม่ออก ปรึกษาเณรน้อย เณรน้อยจึงออกอุบายให้ว่า พอออกจากวัดไปให้จำชื่อต้นไม้ให้ได้มาก ๆ พอขึ้นเทศน์ให้ไล่เรียงชื่อต้นไม้ บอกว่าเป็นตอนหนึ่งในกัณฑ์มัทรีของพระเวสสันดรชาดก ส่วนที่เหลือบอกว่าจะให้เณรน้อยเทศน์ต่อ หลวงพ่อทำตามที่เณรน้อยบอก เณรน้อยมีไหวพริบเทศน์เก่งมากจนชาวบ้านชอบใจถามชื่อเสียงเรียงนาม หลวงพ่อได้ทีจึงบอกชาวบ้านว่า ที่เณรน้อยเทศน์เก่งนั้นเป็นเพราะตัวเองสอนให้ แต่บัดนี้ตัวเองแก่แล้วต่อไปจะให้เณรน้อยจะเทศน์แทน เพื่อป้องกันไม่ให้โยมนิมนต์ไปเทศน์ครั้งต่อไป ขากลับโยมถวายเกลือ เณรน้อยเป็นคนหาบ หลวงพ่อขี่ม้าตามหลัง เณรน้อยรู้สึกหนักจึงแสร้างทำเป็นหลับเดินเซไปมา หลวงพ่อจึงเห็นว่าเณรน้อยสบายจึงขอเปลี่ยนกับเณรน้อย เณรน้อยพอได้ม้าก็รีบควบกลับวัด ส่วนหลวงพ่อหาบแล้วจึงรู้สึกว่ามันหนักจึงคิดว่าจะเอาเกลือไปซ่อนในบ่อน้ำก่อนแล้วกลับวัดไปบอกเณรน้อยวันหลัง เณรน้อยจึงชวนหลวงพ่อกลับมาเอาเกลือแต่พอยกขึ้นจากบ่อน้ำไม่มีเกลือแล้ว เณรน้อยจึงแกล้งกล่าวโทษหลวงพ่อว่าเอาเกลือไปขาย หลวงพ่อจึงบอกว่าคงจะเป็นปลากินเกลือหมด ทั้งคู่จึงช่วยกันวิดน้ำออกเห็นปลาดิ้นไปมา เณรน้อยเห็นปลาช่อนตัวเล็กก็ตบหูมันให้มันตาย แต่พอเห็นปลาดุกตัวใหญ่ เณรน้อยบอกให้หลวงพ่อตบหูมัน แต่เงี่ยงปลาดุกเสียบมือ หลวงพ่อเจ็บปวดทรมานมาก หลังจากที่ได้ปลาแล้วหลวงพ่อสั่งให้เณรน้อยเอาไปปลาไปต้ม เสร็จแล้วตนก็นอนพักผ่อน พอต้มสุกเณรน้อยก็กินเนื้อปลาจนหมดและเปิดฝาหม้อให้แมลงวันบินเข้าไปแล้วปิดฝาเอาไปวางไว้ใกล้ที่นอนหลวงพ่อ พอหลวงพ่อตื่นนอนมาหิวจึงบอกให้เณรน้อยเอาต้มปลามาให้ พอเปิดหม้อดูเห็นแมลงวันบินออกจึงถามเณรน้อยว่า “ต้มปลาไปไหน” เณรน้อยจึงบอกว่า “แมลงวันกินหมดแล้ว” หลวงพ่อโกรธมากจึงใช้ไม้ตะพดวิ่งไล่ตีแมลงวัน บังเอิญมีแมลงวันตัวหนึ่งบินมาจับที่จมูกท่าน หลวงพ่อจึงบอกให้เณรน้อยใช้ไม้สี่เหลี่ยมที่บันไดฟาดที่จมูกจนท่านสิ้นใจตาย 

ความขบขันในเรื่องเกิดจากความบังเอิญ การที่หลวงพ่อทายเรื่องไถหายถูกเพราะหลอกชาวบ้าน การที่หลวงพ่อทายเรื่องเงินหายถูกโดยความบังเอิญ การที่หลวงพ่อทายเรื่องปืนหายถูกโดยความบังเอิญ การที่หลวงพ่อเทศน์ได้โดยการจำชื่อต้นไม้และบอกว่าเป็นตอนหนึ่งในกัณฑ์มัทรีเป็นอุบายหลอก  การที่เณรน้อยหลอกให้หลวงพ่อหาบเกลือเพราะหนัก การที่หลวงพ่อซ่อนเกลือในน้ำด้วยความโง่เขลา การที่เณรน้อยหลอกหลวงพ่อตบเงี่ยงปลาดุกการที่เณรน้อยหลอกหลวงพ่อว่าแมลงกินปลาหมด การที่หลวงพ่อถูกตีจมูกจนตายเพราะความโง่เขลาของตัวเอง ทั้งหมดนี้ความขบขันเกิดจากทฤษฎีการผิดฝาผิดตัว ทฤษฎีข่มท่าน

7. หลวงพ่ออยากกินหมากน้ำ

หลวงพ่ออยากกินลูกน้ำเต้า จึงบอกเณรน้อยปลุกตั้งแต่เช้ามืด เพราะเกรงว่าตนเองจะตื่นสายไปบิณฑบาตไม่ทัน บังเอิญว่าวันนั้นเป็นคืนพระจันทร์เต็มดวงพอดี เณรน้อยได้ทีจึงคิดอุบายปลุกหลวงพ่อให้ตื่นมาตอนดึก พอหลวงพ่อตื่นมาเห็นพระจันทร์ก็เข้าใจว่าใกล้สว่างจริงก็คว้าบาตรและจีวรเข้าไปบิณฑบาตในหมู่บ้าน แต่ไม่มีใครตื่นมาใส่บาตรแม้แต่คนเดียว มีแต่เสียงหมาหอนตลอดทาง หลวงพ่อจะกลับวัดก็กลัวเสียหน้าจึงแอบไปนอนใต้ต้นน้ำเต้าของบ้านหลังหนึ่ง ใกล้สว่างยายของเจ้าบ้านลงมาหาลูกน้ำเต้าอ่อน ๆ โดยใช้มือหยิกดู พอดีหยิกไปหยิกถูกหัวหลวงพ่อเข้าก็เลยเคาะดูว่าเป็นลูกอ่อนหรือแก่ หลวงพ่อแม้จะเจ็บแต่กลัวโยมจะตื่นตระหนก ก็ไม่ปริปากร้อง พอยายเจ้าของบ้านกลับขึ้นบ้านไปจึงรีบกลับวัดและบอกเณรน้อยว่า “วันนี้หลวงพ่อไม่สบายให้เณรน้อยทำพิธีแทนได้เลย” ตอนเช้าชาวบ้านมาที่วัดถามหาหลวงพ่อ เณรน้อยบอกโยมว่า “ท่านไม่สบายพักผ่อนในห้อง” โยมจึงถวายอาหารให้เณรน้อย ส่วนเณรน้อยก็ฉันเกือบหมดเหลือให้หลวงพ่อนิดเดียว ต่อมาหลวงพ่อให้เณรน้อยเอาขมิ้นมาทาหัวให้เหลือง แต่กลัวโยมจะเห็นเข้า จึงหลบไปซ่อนตัวในพงหญ้าพอดีโยมเดินมาเจอเห็นเป็นสีเหลืองเข้าใจผิดคิดว่าเป็นกองขี้จึงขุดดินถมหลวงพ่ออีก เณรน้อยบอกให้หลวงพ่อนิ่งอย่าส่งเสียงดัง พร้อมทั้งเอาสุ่มไก่มาครอบหลวงพ่อไว้และบอกให้โยมมาดูไก่ตัวผู้หัวเหลือง บังเอิญที่ใกล้กันก็มีสุ่มไก่ตัวผู้ทาขมิ้นสีเหลืองจริง ๆ ส่วนเณรน้อยเกรงว่าโยมจะเห็นสภาพหลวงพ่อจึงเอาจีวรมาคลุมหลวงพ่อไว้อีกทีหนึ่ง

ในเรื่องนี้ ความขบขันเกิดจากการที่เณรน้อยหลอกให้หลวงพ่อตื่นขึ้นไปบิณฑบาตตอนดึก การที่หลวงพ่อหัวเจ็บหัวปวดแต่ร้องไม่ได้กลัวโยมตกใจการที่หลวงพ่อเอาขมิ้นทาหัวจนเหลืองและหลบไปซ่อนที่กอหญ้า การที่โยมเอาดินกลบหลวงพ่อเพราะเข้าใจว่าเป็นกองขี้ การที่เณรน้อยเอาสุ่มไก่มาครอบหลวงพ่อไว้ให้เหมือนขังไก่ การที่เณรน้อยเอาจีวรมาคลุมหลวงพ่อไว้เพราะกลัวคนอื่นเห็น เป็นการสร้างอารมณ์ขันแบบทฤษฎีผิดฝาผิดตัว และทฤษฎีข่มท่าน

8. หลวงพ่อกระทอ

หลวงพ่อชักชวนเณรน้อยเข้าป่าไปหาใบตองมาขัดเรียงทำเป็นฝาผนังกุฏิ พอไปถึงแนวป่าหลวงพ่อก็คิดเอาเปรียบเณรน้อยโดยบอกให้เณรน้อยไปเก็บใบตองใส่กะทอให้เต็ม ส่วนตัวเองก็แอบไปหลับอยู่ใต้โคนต้นไม้ ส่วนเณรน้อยก็เก็บใบตองคนเดียวจนเต็มกระทอ รู้สึกเหน็ดเหนื่อยและโกรธให้หลวงพ่อที่มัวแต่หลับ ก็เลยคิดอุบายที่จะแก้เผ็ดหลวงพ่อโดยตนเองเข้าไปนั่งในกระทอแล้วเอาใบตองคลุมไว้ไม่ให้หลวงพ่อเห็น หลวงพ่อพอตื่นขึ้นมาไม่เห็นเณรน้อย จึงเรียกหาแต่ก็ไม่ได้ยินเสียงตอบ รอนานเข้าหลวงพ่อทนรอไม่ได้ จึงตตัดสินใจว่าจะกลับวัดก่อน โดยปล่อยให้เณรน้อยอยู่ในป่าคนเดียว หลวงพ่อจึงหาบกระทอที่เณรน้อยนั่งอยู่ข้างในกลับวัด พอกลับถึงวัดหลวงพ่อจึงเปิดกระทอออกเห็นเณรน้อยในกระทอก็เลยบ่นในใจว่านึกสงสัยอยู่ว่าทำไมกระทอใส่ใบตองจึงหนักอยู่ข้างเดียวแบบผิดปกติที่แท้ตนเองนั้นโดนเณรน้อยหลอกให้หาบกลับวัดจึงฉวยเอาไม้คานไล่ตีเณรน้อยแต่ก็ไล่ไม่ทันได้แต่บ่นอย่างนั้นเอง

ในเรื่องนี้ ความขบขันเกิดจากการที่หลวงพ่อเอาเปรียบเณรน้อยก่อนโดยการนอนหลับไม่ช่วยทำงาน และหลวงพ่อถูกเณรน้อยหลอกให้หาบกลับวัดเป็นการแก้เผ็ด เป็นการสร้างอารมณ์ขันตามทฤษฎีข่มท่าน

9. หลวงพ่อน้องควาย

หลวงพ่อชื่อโหยอยู่กับเณรน้อยชื่อหิว วันหนึ่งหลวงพ่อฉันเช้ากับเณรน้อย ในภาชนะของหลวงพ่อมีแกงอ่อมรกควาย แต่ในภาชนะของเณรน้อยไม่มี เณรน้อยอยากฉันแกงอ่อมบ้าง จึงขอแบ่งกับหลวงพ่อ แต่หลวงพ่อตระหนี่ไม่แบ่งให้เณรน้อยและกินหมดคนเดียว ทำให้เณรน้อยเกิดความแค้นเคืองอย่างยิ่ง วันต่อมาเณรน้อยรู้นิสัยหลวงพ่อดีว่าอยากฉันแกงอ่อมรกควายอีก คิดอุบายแก้เผ็ดหลวงพ่อได้จึงชวนหลวงพ่อไปทุ่งนาเพื่อไปหารกควายกัน พอไปถึงทุ่งเห็นควายตัวหนึ่งกำลังขี้อยู่พอดี เณรน้อยได้ทีจึงรีบบอกหลวงพ่อ ให้เอามือล้วงไปเอารกควายในตูดควาย โดยอ้างว่าตนเองมือสั้นล้วงเข้าไม่ถึง ส่วนหลวงพ่อมือยาวสามารถล้วงเข้าไปถึง หลวงพ่อโหยหลงเชื่อจึงเอามือล้วงเข้าไปในตูดควาย ส่วนควายตกใจหุบตูดลงจนทำให้มือหลวงพ่อโหยติดตูดพาหลวงพ่อวิ่งเตลิดไปไกล ส่วนเณรน้อยหิวเห็นเช่นนั้น ก็หัวเราะชอบใจ จึงตะโกนบอกให้หลวงพ่อโหยให้แยคันทัน แต่หลวงพ่อโหยไม่เข้าใจว่า “แยคันทัน” นั้นคือทำอย่างไร จนกระทั่งควายกระโดดข้ามคันนาไป หลวงพ่อจึงเอาเท้ายันคันนามือหลวงพ่อจึงหลุดออกจากตูดควายมาได้ ส่วนเณรน้อยหิวก็หัวเราะมากเกินไปจนท้องแข็งขาดใจตาย

ในเรื่องนี้ ความขบขันเกิดจากการที่หลวงพ่อถูกเณรน้อยหลอกให้ล้วงตูดควายเอารกควายเพราะความโลภของตัวเอง การที่ควายตกใจหุบตูดทำให้มือหลวงพ่อติดไปด้วย การที่เณรน้อยใช้คำผวนว่า “แยคันทัน ยันคันแท” (ยันคันนา) เพื่อให้มือหลวงพ่อหลุดจากตูดควายแต่หลวงพ่อไม่เข้าใจความหมาย ซึ่งเนื้อหาเป็นสร้างอารมณ์ขันตามทฤษฎีข่มท่านและการใช้คำผวน

10. เกลือเป็นเหตุ

หลวงพ่อกับเณรน้อยเดินทางไปเยี่ยมบ้านโยมอุปัฏฐากของตนเองโดยการขี่ม้าแก่ ๆ ตัวหนึ่ง หลวงพ่อเห็นว่าม้่แก่แล้วจึงตกลงกับเณรน้อยว่าจะผลัดกันขึ้นขี่เพื่อไม่ให้ม้าเหนื่อยเกินไป เมื่อตกลงกันเรียบร้อยแล้วจึงเดินทางถึงบ้านโยมอุปัฏฐาก ขากลับเณรน้อยได้ห่อข้าวและเกลือห่อใหญ่ จากนั้นจึงทั้งสองจึงออกจากหมู่บ้าน พอออกนอกหมู่บ้าน หลวงพ่อเอาเปรียบเณรน้อยโดยขึ้นขี่ม้าและให้เณรน้อยหาบเกลือและข้าวของ ส่วนตัวเองขี่ม้าล่วงหน้าไปก่อน เณรน้อยหาบเกลือตามมาด้วยความเหนื่อยจึงคิดอุบายจะให้หลวงพ่อลองหาบดูบ้างจึงทำท่าหลับตาทำทีเหมือนไม่หนัก หลวงพ่อด้วยความสงสัยจึงถามเณรน้อยว่า “ไม่รู้สึกหนักหรือ” เณรน้อยจึงบอกว่า “ไม่หนักและหลับได้สบายไม่เหมือนขี่ม้าที่หลับไม่ได้เพราะว่าม้ากระโดดไปมา” หลวงพ่อจึงอยากลองหาบดูบ้าง เณรน้อยพอได้ขี่ม้าก็รีบควบม้ากลับวัด หลวงพ่อพอหาบดูจึงรู้ว่าหนักและรู้ว่าตัวเองเสียทีเณรน้อย โกรธมากจึงคิดว่าจะไม่ให้เณรน้อยได้กินของฝากและเกลือ คิดว่าจะเอาเกลือไปซ่อนไว้ในที่ที่เณรน้อยจะไม่เห็น คิดได้ว่าตรงบ่อหลังกุฏิลึกพอที่เณรน้อยจะไม่เห็น ซ่อนเสร็จจึงเดินไปบอกเณรน้อยว่าตัวเองเอาเกลือกับของฝากไปซ่อนไว้ในบ่อน้ำแล้ว เณรน้อยรู้ทันจึงแกล้งบอกว่า “ปลากินหมดแล้ว ถ้าไม่เชื่อให้หลวงพ่อลงไปเอาเกลือขึ้นมาดู” พอหลวงพ่อเอาเกลือขึ้นมาดูพบว่าเกลือหายไปหมดแล้วจริง หลวงพ่อโกรธว่าปลากินเกลือหมดจึงให้เณรน้อยวิดน้ำทิ้ง เห็นปลาดิ้นไปมาจึงช่วยกันจับ เณรน้อยพอเห็นปลาช่อนจึงตบหูมัน แต่พอเห็นปลาดุกจึงบอกให้หลวงพ่อตบหูมัน จนเงี่ยงปักมือหลวงพ่อ จากนั้นหลวงพ่อจึงใช้เณรน้อยให้เอาปลาไปต้ม พอต้มเสร็จเณรน้อยก็กินปลาจนหมดแล้วเปิดฝาหม้อให้แมลงวันบินเข้าไปแล้วปิดฝาหม้อแล้วยกไปให้หลวงพ่อแล้วบอกว่า “แมลงวันกินหมดแล้ว” หลวงพ่อพอเปิดหม้อออกเห็นแมลงบินออกเหลือแต่ก้างปลาและเศษอาหาร ก็โกรธและบอกให้เณรน้อยไล่ฆ่าแมลงวันให้ตาย บังเอิญแมลงวันตัวหนึ่งบินไปจับที่จมูกหลวงพ่อ ท่านจึงชี้บอกให้เณรน้อยตีมันเณรน้อยได้ที่จึงใช้ไม้ตีไปที่จมูกหลวงพ่ออาการสาหัสปางตาย

ในเรื่องนี้ความขบขันเกิดจากการที่หลวงพ่อเอาเปรียบเณรน้อยแล้วถูกหลอกว่าการหาบเกลือนั้นไม่หนัก การที่หลวงพ่อหวังจะซ่อนเกลือในน้ำจนเกลือละลายเพราะความโง่ การที่หลวงพ่อถูกเณรน้อยหลอกให้ตบปลาดุกจนเงี่ยงปักมือ การที่เณรน้อยกินปลาหมดแล้วหลอกหลวงพ่อว่าแมลงวันกินหมด การที่หลวงพ่อใช้ให้เณรน้อยตีแมลงวันที่ไปจับจมูกตนเองจนเจ็บหนักเพราะความโง่ ความขบขันจึงเกิดเพราะทฤษฎีข่มท่าน และการเอาเปรียบและการถูกหลอก

11. หลวงพ่อหัวขี้กลาก 

หลวงพ่อเลี้ยงม้าไว้ตัวหนึ่ง เพื่อใช้ขี่ไปเทศน์ตามสถานที่ต่าง ๆ ส่วนเณรน้อยมีหน้าที่หาหญ้าให้ม้า อาบน้ำให้ม้า และอุปัฏฐากหลวงพ่อ วันหนึ่งกลับจากเทศน์มาหลวงพ่อจึงเรียกเณรน้อยให้เอาม้าไปกินหญ้ากินน้ำ เณรน้อยทำประจำจึงเกิดความเบื่อหน่ายและขี้เกียจจึงปฏิเสธที่จะทำและคิดหาวิธีที่จะได้ม้าของหลวงพ่อจึงบอกหลวงพ่อว่า ถ้ายกม้าให้ตนเองก็จะขยันทำงาน หลวงพ่อจึงตอบตกลงว่าจะให้แต่มีข้อแม้ว่าถ้าเณรน้อยหลอกให้ท่านลงจากหลังม้าได้ท่านก็จะยกม้าให้ เณรน้อยได้ทีคิดอุบายได้ จึงบอกหลวงพ่อว่า ตนหลอกให้หลวงพ่อลงจากหลังม้าไม่ได้แต่ตนสามารถหลอกให้หลวงพ่อขึ้นหลังม้าได้ หลวงพ่อหลงกลจึงลงจากหลังม้า จึงแพ้เสียม้าให้แก่เณรน้อยไป วันต่อมาหลวงพ่อรับกิจนิมนต์แต่ไม่มีม้าขี่ไปงานกิจนิมนต์เหมือนเดิม จึงเดินฝ่าน้ำหมอกน้ำค้างไปกิจนิมนต์ โดยยกชายสบงขึ้นพันไว้ที่เอว ทำให้อวัยวะเพศถูไถไปกับดอกหญ้าและน้ำค้าง พอไปถึงงาน ได้เวลาเทศน์พอดี หลวงพ่อจึงรีบขึ้นนั่งธรรมาสน์ แต่ลืมเก็บชายสบงจนอวัยวะเพศโผล่ โยมผู้หญิงเห็นเข้าจึงนิ่งไม่ไหว้และไม่อาราธนาให้เทศน์ หลวงพ่อจึงถามโยมผู้หญิงว่า “ได้เวลาแล้วทำไมโยมจึงไม่อาราธนาให้เทศน์” โยมผู้หญิงจึงบอกว่า “ที่พวกตนไม่ไหว้เพราะพระนั่งไม่ระวังจนอวัยวะเพศโผล่” หลวงพ่อจึงก้มลงดูเห็นว่า อวัยวะเพศตนเองโผล่จริง รู้สึกละอายต่อชาวบ้านจึงไม่นั่งฉันข้าวรีบกลับวัดทันที

ในเรื่องนี้ ความขบขันเกิดจากการที่ หลวงพ่อถูกเณรน้อยหลอกให้ลงจากหลังม้าจนเสียม้า และ การที่หลวงพ่อนั่งไม่ระมัดระวังจนอวัยวะเพศโผล่จนเกิดความอับอายหนีกลับวัดไป ซึ่งในเรื่องนี้ความขบขันเป็นไปตามทฤษฎีข่มท่าน และ ทฤษฎีปลดปล่อยตามแนวจิตวิทยา เป็นการใช้สัญลักษณ์เรื่องเพศในการสื่อสาร

12. หลวงพ่อปวดตด 

ในวันพระจะมีชาวบ้านมาทำบุญที่วัดมากมาย ในขณะที่กำลังรอให้ชาวบ้านอาราธนาศีลอยู่นั้นปรากฏว่าหลวงพ่อเกิดอยากผายลมกะทันหัน แต่ก็ละอายไม่กล้าจะปล่อยออกมา จะปล่อยแรงก็เกรงว่าโยมจะได้ยินเสียง จึงกลั้นตดโดยนั่งทับส้นเท้าบิดไปบิดมา ต่อมาไม่นานก็มีเสียงดังแป๊ดออกมายาว ๆ เณรน้อยที่นั่งอยู่ใกล้ ๆ ได้ยินเสียงและได้ดมกลิ่นเหม็น ในขณะเดียวกันจึงเอ่ยขึ้นมาว่า “หลวงพ่อครับ ตดหลวงพ่อหอมเหมือนส่วนผสมข้าวเกรียบ” หลวงพ่อไม่ทันฉุกคิดว่าเณรน้อยหลอกด่าตนเอง จึงถามไปว่า “ตดหลวงพ่อหอมขนาดนั้นเชียวหรือเณรน้อย” หลวงพ่อลืมนึกไปว่า ส่วนผสมข้าวเกรียบนั้นคืออะไร ได้ยินแต่ว่าหอมก็หลงดีใจว่าเณรน้อยชมตดของตนเองว่าเป็นตดหอม แต่พอคิดได้ภายหลังว่าส่วนผสมข้าวเกรียบคือเครือตดหมา จึงรู้ว่าตนเองนั้นโดนเณรน้อยหลอกด่าเสียแล้ว

ในเรื่องนี้ ความขบขันเกิดจากการที่เณรน้อยใช้คำพูดที่มีความหมายอ้อมว่าส่วนผสมข้าวเกรียบก็คือ เครือตดหมา ซึ่งมีกลิ่นเหม็นมาก สามารถตีความในมุมมองของเณรน้อยก็คือตดหลวงพ่อนั้นเหม็นมาก เป็นการพูดให้ดูดีแต่เป็นการด่าไปในตัวเป็นไปตามทฤษฎีการปลดปล่อย การใช้ภาษาเป็นการใช้คำที่มีความหมายแบบความหมายอ้อม

13. หลวงพ่อเสกมัน

หลวงพ่อรูปหนึ่งมีวิชาเสกหินให้เป็นมันร้อน วันไหนที่หลวงพ่อบิณฑบาตไม่ได้ท่านก็จะใช้วิธีการเอาหินมาเสกเป็นมันร้อนฉันประทังชีวิตเรื่อยมา อยู่ต่อมามีชาวบ้านเอาลูกชายมาบวชเป็นเณรน้อยอยู่คอยอุปัฏฐากรับใช้ หลวงพ่อก็ยังปฏิบัติอยู่เช่นเคย วันไหนที่บิณฑบาตไม่ได้ท่านก็จะใช้ให้เณรน้อยไปเก็บหินมาเสกเป็นมันร้อนฉัน เวลาที่ท่านเสกหินท่านก็จะร่ายคาถาดัง ๆ ว่า “อิติปิโส ภะคะวือ” แค่นี้ก้อนหินจะกลายเป็นมันร้อนให้ท่านฉันทันที ต่อมาเณรน้อยได้ไปเรียนหนังสือในตัวเมืองสอบได้เป็นเปรียญรู้ภาษาบาลีเป็นอย่างดี กลับมาเยี่ยมบ้าน จึงไปกราบหลวงพ่อที่วัด หลวงพ่อดีใจที่เณรน้อยกลับมาแต่ไม่มีอาหารเลี้ยง วันนั้นคิดว่าจะเสกหินให้เป็นมันให้เณรน้อยกิน จึงใช้ให้เณรน้อยไปเก็บหินมาให้ พอหลวงพ่อได้หินมาก็ร่ายคาถาเก่าดัง ๆ ว่า “อิติปิโส ภะคะวือ” แต่เณรน้อยที่ไปเรียนภาษาบาลีมา ได้ยินเข้าจึงแย้งหลวงพ่อไปว่า “หลวงพ่อ คำว่า อิติปิโส ภะคะวือ นั้นผิด ที่ถูกคือ คำว่า อิติปิโส ภะคะวา แปลว่า พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น” หลวงพ่อได้ฟังดังนั้น จึงเกิดความลังเลสงสัยในมนต์ตัวเอง คิดว่าวันก่อนร่ายคาถานี้ ก็เสกหินให้เป็นมันได้อยู่ และวันนี้ก็ร่ายคาถาเดิมไปจะผิดพลาดไปได้อย่างไร วันหลังเพราะความสงสัยในมนต์ตัวเองหลวงพ่อจึงไม่สามารถเสกหินให้เป็นมันร้อนได้เหมือนเดิม

ในเรื่องนี้ ความขบขันเกิดจากการที่หลวงพ่อเกิดความสงสัยในมนต์ตัวเอง จนขาดความเชื่อมั่น จึงไม่สามารถเสกหินให้เป็นมันเหมือนเดิม ความขบขันจึงเป็นไปตามทฤษฎีความขัดแย้งสองจิตสองใจ และทฤษฎีผิดฝาผิดตัว

14. หลวงพ่อหมากฮอร์ส

หลวงพ่อชื่อเฉยกับเณรน้อยชื่อจ่อย ทุกวันทั้งสองก็จะออกไปรับบิณฑบาต พอฉันเสร็จเพลเสร็จทั้งคู่ก็จะจำวัดกัน วันหนึ่งหลังฉันเพลเสร็จหลวงพ่อนึกสนุกจึงชวนเณรน้อยเล่นหมากฮอร์ส หลวงพ่อจึงทำกระดานหมากฮอร์สขึ้นมาและให้เณรน้อยไปขอฝาขวดน้ำอัดลมที่ร้านค้ามานั่งเล่นหมากฮอร์สอย่างสนุกสนาน ต่างฝ่ายต่างผลัดกันแพ้ผลัดกันชนะ ต่างฝ่ายต่างก็ไม่ยอมกัน จนตกเย็นก็ไม่เลิกเล่น น้ำก็ไม่อาบ พักแค่ดื่มน้ำและเข้าห้องน้ำเท่านั้น ทำวัตรเย็นก็ไม่ทำ เล่นกันจนดึกก็ไม่เลิกจนทั้งคู่หลับคากระดานหมากฮอร์ส เณรน้อยตื่นก่อนเพราะร่างกายสดกว่า เพื่อจัดเตรียมที่ฉันและตีระฆังเพื่อออกบิณฑบาต หลวงพ่อได้ยินเสียงระฆังก็ตกใจรีบตื่นมาล้างหน้าล้างตาจึงคว้าจีวรถือบาตรลงจากกุฏิไปรับบิณฑบาตในหมู่บ้านทั้งที่ยังสะลืมสะลือ ตามปกติพอเดินรับบาตรหลวงพ่อก็ถามไถ่สารทุกข์สุกดิบกับชาวบ้าน แต่วันนี้หลวงพ่อไม่ได้ถามเหมือนเคย เพราะเดินหลับในไป คิดแต่เรื่องเดินหมากฮอร์สเพื่อแก้เกมกับเณรน้อย ขณะที่ยืนรอรับบาตรในใจหลวงพ่อก็คิดแต่เรื่องการเดินหมากฮอร์สเพราะแพ้ให้แก่เณรน้อยหลายครั้ง พอดีโยมจะเอาอาหารใส่บาตร แต่หลวงพ่อก็ไม่ยอมเปิดบาตรเสียที โยมจึงนิมนต์ให้ท่านเปิดบาตร นิมนต์อยู่หลายครั้งหลวงพ่อก็ยังไม่ยอมเปิด เณรน้อยยืนอยู่ข้าง ๆ จึงใช้มือสะกิดให้หลวงพ่อเปิดบาตร หลวงพ่อก็ยังยืนนิ่งเฉย สุดท้ายเณรน้อยจึงพูดขึ้นว่า “หลวงพ่อเปิด” หลวงพ่อคิดถึงเรื่องเดินหมากฮอร์สได้ยินว่าเปิด จึงพูดว่า “ถ้าเปิดก็ถูกเณรน้อยกินสองเข้าฮอร์สนะสิ”

ในเรื่องนี้ ความขบขันเกิดจากการที่หลวงพ่อกับเณรน้อยเล่นหมากฮอร์สกันจนลืมทำวัตรอาบน้ำพักผ่อน การที่หลวงพ่อหลับในไปบิณฑบาตตอนเช้า การที่หลวงพ่อละเมอคิดถึงเรื่องเดินหมากฮอร์ส การที่หลวงพ่อไม่ยอมเปิดบาตรเพราะมัวแต่คิดถึงเรื่องเปิดทางหมากฮอร์ส ซึ่งเป็นคนละเรื่องกัน จึงเป็นไปตามทฤษฎีปลดปล่อย

15. เณรน้อยตีดัมมี่

ในช่วงเข้าพรรษามีพระเณรน้อยอยู่จำพรรษาหลายรูปพอออกพรรษาพระหนุ่มก็ลาสิกขาหมดเหลือเฉพาะเณรน้อย 3-4 รูป กับหลวงพ่อหนึ่งรูป เป็นธรรมดาที่เณรน้อยอยู่ด้วยกันหลายรูปก็จะดื้อและซุกซนและจับกลุ่มกันเล่นไพ่เป็นงานอดิเรกเสมอ ฝ่ายหลวงพ่อก็ดุว่าไม่ได้ขาดแม้แต่วันเดียว วันหนึ่งหลังจากฉันเพลเสร็จพวกเณรน้อยได้ทีก็ตั้งวงเล่นไพ่กันอีกตามเคย เณรน้อยอีกคนอยากเล่นด้วยแต่รอไม่ไหวจึงส่งเสียงดังว่า “ให้ตีดัมมี่เสียที คนอื่นจะได้เล่นบ้าง” แต่เสียงดังว่าตีดัมมี่ ได้ยินไปถึงหูหลวงพ่อ ด้วยความที่หลวงพ่อไม่เคยรู้มาก่อนว่าการตีดัมมี่นั้นคืออะไร จึงไปถามเณรน้อยที่หน้าห้องว่า “พวกเณรน้อยในห้องพากันเล่นไพ่กันอยู่ใช่หรือไม่” พวกเณรน้อยที่อยู่ในห้องได้ยินจึงเงียบไปครู่หนึ่ง ต่อมาคิดอุบายได้ ถ้าจะบอกตรง ๆ ก็กลัวหลวงพ่อจะดุด่า จึงโกหกแบบเล่นลิ้นว่า “เปล่าครับหลวงพ่อ พวกผมกำลังตีดัมมี่กันอยู่” หลวงพ่อได้ยินเช่นนั้นจึงบอกว่า “ไม่เป็นไรหรอกหลวงพ่อคิดว่าพวกเณรน้อยกำลังเล่นไพ่กันอยู่ ถ้าเณรน้อยกำลังตีดัมมี่กันอยู่ก็ให้เณรน้อยตีดัมมี่กันต่อไปได้” พวกเณรน้อยจึงตอบว่า “ครับหลวงพ่อ พวกเราจะไม่เล่นไพ่แต่จะตีดัมมี่เท่านั้น”

ในเรื่องนี้ ความขบขันเกิดจาก ความโง่ของหลวงพ่อที่ไม่รู้ว่าการตีดัมมี่ นั่นคือ การเล่นไพ่อย่างหนึ่ง จึงไม่ดุด่าแถมยังอนุญาตให้เณรน้อยเล่นไพ่กันต่อไปได้อีก จึงเป็นไปตามทฤษฎีการปลดปล่อยของนักจิตวิทยา ทฤษฎีการผิดฝาผิดตัว

16. หวยใต้ดิน

หลวงพ่ออยู่กับเณรน้อย หลังจากฉันเช้าเสร็จแล้วก็ลงจากศาลามานั่งคุยกันต่อที่กุฏิ บังเอิญว่าวันนั้นเป็นวันหวยออกพอดี เณรน้อยก็เลยยกเรื่องหวยออกมาเป็นหัวข้อสนทนา เณรน้อยเริ่มด้วยการถามหลวงพ่อว่า “ถ้าหลวงพ่อถูกหวยจะเอาเงินรางวัลไปทำอะไร”  หลวงพ่อจึงตอบว่า “ถ้าถูกหวยจริง ๆ ก็จะเอาเงินรางวัลไปซื้อม้ามาเลี้ยงตัวหนึ่ง” เณรน้อยจึงเตือนหลวงพ่อไปว่าถ้าหลวงพ่อจะซื้อม้ามาเลี้ยงไว้หลวงพ่อต้องระวังดูแลม้าตัวเองให้ดี ๆ ด้วย หลวงพ่อสงสัยจึงถามว่า “เป็นเพราะอะไรท่านจึงต้องระวังมากเช่นนั้น” เณรน้อยจึงบอกว่า “เพราะว่าถ้าตนเองถูกหวยตนจะเอาเงินรางวัลไปซื้อผักมาปลูกและม้าจะมากินผักที่ตนปลูก” หลวงพ่อก็บอกว่า “ถ้าเป็นเช่นนั้น ใครเป็นคนซื้อผักมาปลูกคนนั้นก็ดูแลผักของตัวเอง”  เณรน้อยไม่พอใจจึงเอ่ยขึ้นมาว่า “ถ้าเช่นนั้นจะมีปัญหากันแน่” หลวงพ่อกับเณรน้อยคุยกันไม่ลงตัวโต้แย้งกันไปมาเรื่องเลี้ยงม้ากับปลูกผัก จนถึงขั้นลงมือชกต่อยกันอุตลุด ท้ายที่สุดชาวบ้านจึงมาช่วยจับแยกออกและสอบถามสาเหตุที่เกิดการชกต่อยกัน ได้ความว่า หลวงพ่อกับเณรน้อยคุยกันเรื่องหวยถูกใต้ดินว่า ใครถูกหวยแล้วจะเอาเงินไปทำอะไร ชาวบ้านจึงลงมติให้ขับไล่หลวงพ่อกับเณรน้อยให้ลาสิกขาเสีย

ในเรื่องนี้ ความขบขันเกิดจากการที่หลวงพ่อกับเณรน้อยคุยกันเรื่องหวยใต้ดิน ซึ่งยังไม่มีใครซื้อและยังไม่ใครถูกหวยแม้แต่คนเดียว แต่ทั้งคู่ต้องมาทะเลาะกันถึงเรื่องในอนาคตซึ่งยังไม่เกิดขึ้นถึงขั้นชกต่อยกันเพราะตกลงกันไม่ได้ ซึ่งตามปกติการเล่นหวยพนันเป็นเรื่องที่ผิดวินัยสงฆ์ ความขบขันจึงเป็นไปตามทฤษฎีการปลดปล่อย

17. หลวงพ่อหมากส้มโอ

หลวงพ่อเป็นคนตระหนี่ใครจะมายืมของก็ไม่ให้แต่ถ้าใครพูดถูกใจก็จะให้ฟรี ๆ วันหนึ่งหลวงพ่อไปได้เมล็ดส้มโอมา จึงเอามาปลูกไว้ในวัด โดยสั่งให้เณรน้อยเป็นคนดูแลรดน้ำพรวนดินให้ดี ต่อมาหลวงพ่อชวนเณรน้อยไปขอรับบริจาคขี้วัว ขี้ควาย ขี่เป็ดขี้ไก่มาใส่เป็นปุ๋ยให้ต้นส้มโอ หลวงพ่อมีแต่สั่งการให้เณรน้อยทำแต่ตนเองไม่ยอมทำ จนเณรน้อยโกรธแค้นคิดหาอุบายแก้เผ็ดหลวงพ่อในปีนั้นเอง ส้มโอออกลูก หลวงพ่อจึงให้เณรน้อยดูแลให้ดีและทำเครื่องหมายไว้ที่ลูกโต ๆ พอถึงเวลาที่ส้มโอใกล้จะสุก หลวงพ่อก็ไปเยี่ยมเพื่อนที่อยู่ต่างถิ่น ชักชวนให้มากินส้มโอด้วยกัน สามอาทิตย์ต่อมา ก่อนถึงวันที่เพื่อนหลวงพ่อจะมาถึง เณรน้อยก็แอบขโมยเจาะลูกส้มโอที่หลวงพ่อทำเครื่องหมายไว้ กินเนื้อหมดแล้วยัดเอานุ่น ขี้วัวขี้ควายและขี้ไก่ใส่ไว้แทน เย็บไว้แล้วเอาไปห้อยไว้เหมือนเดิม เมื่อถึงวันนัดหมาย เพื่อนของหลวงพ่อก็มาถึงหลวงพ่อจึงใช้ให้เณรน้อยไปเอาส้มโอมาถวายและไล่เณรน้อยออกไปห่าง ๆ พอได้ส้มโอมา หลวงพ่อจึงบอกเพื่อนว่าอย่ารีบฉันให้ดมกลิ่นส้มโอก่อน ทั้งคู่จึงส่งส้มโออีกฝ่ายดมกันไปมา เสร็จแล้วจึงผ่าส้มโอออกเจอลูกส้มโอที่ยัดขี้วัวขี้ควายขี้ไก่ไว้ เพื่อนหลวงพ่อก็บ่นว่าส้มโอลูกนี้เสียแล้ว เจอลูกส้มโอที่ปนทั้งเนื้อส้มโอและขี้ไก่ก็บ่นว่าส้มโอลูกนี้ทั้งหอมทั้งเหม็น หลวงพ่อเห็นดังนั้นจึงรู้ว่าตนเองโดนเณรน้อยหลอก คิดจะตีเณรน้อยให้สาแก่ใจตอนกลับวัด ส่วนเณรน้อยรู้ทันจึงแสร้งทำขาหักให้ศิษย์วัดอุ้มกลับวัดหลวงพ่อเห็นว่าเณรน้อยบาดเจ็บจึงไม่ตี ต่อมาหลวงพ่อก็เป็นคนดูแลส้มโอด้วยตนเอง

ในเรื่องนี้ ความขบขันเกิดจากการที่เณรน้อยแอบกินเนื้อส้มโอลูกที่หลวงพ่อหวงแหนจนหมดแล้วยัดนุ่นและมูลสัตว์ไว้ข้างในแทนที่ การที่หลวงพ่อและเพื่อนผลัดกันดมกลิ่นส้มโอเน่าไปมาแล้วบอกว่าทั้งหอมทั้งเหม็น การที่หลวงพ่อและเพื่อนกินเนื้อส้มโอที่ปนมูลสัตว์ การที่เณรน้อยหลอกหลวงพ่อว่าบาดเจ็บจึงไม่ถูกตีในเรื่องนี้ความขบขันจึงเป็นไปตามทฤษฎีข่มท่าน และทฤษฎีผิดฝาผิดตัว

18. หลวงพ่อกับก้อนเกลือเผา 

หลวงพ่ออยู่กับเณรน้อยรูปหนึ่ง วัดนี้ชาวบ้านไม่ค่อยมาทำบุญนักทำให้อาหารการขบฉันอัตคัด วันหนึ่งเณรน้อยเห็นกองไฟมีถ่านสีแดง จึงเอาก้อนเกลือไปเผาไฟจนเป็นสีแดงเหมือนถ่านไฟ และเขี่ยออกรอจนก้อนเกลือเย็นลงเป็นสีดำเหมือนตับควาย เณรน้อยจึงกัดชิมดู พบว่ารสชาติไม่เค็มนักจึงเอามาฉันกับข้าว หลวงพ่อเดินมาพอดีเห็นเข้า จึงถามเณรน้อยว่าฉันข้าวกับอะไร เณรน้อยได้ทีจึงแกล้งตอบไปว่า “ฉันตับควาย” หลวงพ่อจึงลองชิมดูพบว่าอร่อยจึงถามเณรน้อยว่า “หมดหรือยัง” เณรน้อยบอกว่า “หมดแล้ว” หลวงพ่อจึงถามว่าทำ “ถ้าอยากฉันอีกทำอย่างไร” เณรน้อยได้ทีจึงคิดอุบายกลั่นแกล้งหลวงพ่อ โดยบอกว่า “ไม่ยาก พอเห็นควายขี้เวลามันกำลังเบ่งตูดออกให้รีบเอามือล้วงไปในตูดของมันแล้วล้วงเอาตับมันออกมา” วันรุ่งขึ้นเณรน้อยจึงชวนหลวงพ่อไปทุ่งนา มองหาควายที่กำลังขี้ พอเห็นควายตัวหนึ่งกำลังขี้เณรน้อยก็บอกให้หลวงพ่อเอามือล้วงไปในตูดควาย ควายตกใจจึงหุบตูดวิ่งหนีเตลิดไปทำให้มือหลวงพ่อติดไปกับตูดควายดึงออกไม่ได้ ควายวิ่งพาหลวงพ่อไกลพอควรเณรน้อยจึงบอกหลวงพ่อให้ “แยคันทัน” หลวงพ่อไม่ทราบว่าให้ทำอะไร จึงถูกควายวิ่งพาไปไกลกว่าจะหลุดมาได้ฝ่ายเณรน้อยก็ยืนหัวเราะท้องแข็งจนตายคาที่ พอมือหลุดมาได้หลวงพ่อจึงโกรธเณรน้อยมาก จึงหักไม้รวกจะไปตีเณรน้อยให้เข็ด พอมาถึงตัวเณรน้อย ก็ใช้ไม้เรียวหวดตัวเณรน้อย ส่วนเณรน้อยที่ยืนแข็งตายอยู่ก็ล้มลงตรงนั้น

ในเรื่องนี้ ความขบขันเกิดจากการที่หลวงพ่อถูกเณรน้อยหลอกว่าก้อนเกลือสีดำคือตับควาย การที่เณรน้อยหลอกให้หลวงพ่อล้วงตูดควายเอาตับควาย การใช้คำผวนว่า “แยคันทัน ยันคันแท” (ยันคันนา ในภาษาอีสาน) การที่หลวงพ่อเข้าใจผิดคิดว่าเณรน้อยแกล้งตายด้วยการตีเบา ๆ ทั้ง ๆ ที่เณรน้อยหัวเราะจนท้องแข็งตายไปเอง

19. หลวงพ่อปอดปลาขาว 

หลวงพ่อเป็นคนที่ไม่ยอมเสียเปรียบเณรน้อย วันหนึ่งไปบิณฑบาตด้วยกัน โยมใส่ปลา 4 ตัวที่ยังไม่ได้หมักเกลือให้หลวงพ่อกลับวัดฉันข้าวเสร็จหลวงพ่อก็ชวนเณรน้อยไปดายหญ้าแต่หลวงพ่อนึกขึ้นได้ว่ายังไม่ได้หมักปลาจึงใช้เณรน้อยให้ไปขอดเกล็ดปลาและหมักปลา แต่เณรน้อยไม่รู้วิธีทำ แต่ก็ขัดขืนไม่ได้ จึงเอาปลามาขอดกลัดผ่าท้องเอาขี้ทิ้ง พอผ่าถึงตัวที่สามเณรน้อยเห็นลูกแก้วในกระเพาะปลา เณรน้อยจึงหยิบขึ้นมาดูเห็นเป็นแก้วสีใส ๆ ทราบว่าเป็นแก้ววิเศษจึงอมไว้ในปากอธิษฐานให้พาไปเที่ยวที่โน่นที่นั่น ลูกแก้วก็พาเหาะไปเที่ยวได้ตามต้องการเณรน้อย จึงนำความไปบอกหลวงพ่อ หลวงพ่อจึงถามเณรน้อยว่าเหลือปลากี่ตัว เณรน้อยบอกว่าเหลือ 1 ตัว หลวงพ่อจึงรีบไปขอดเกล็ดและผ่าท้องปลาตัวสุดท้ายก็พบเห็นปอดปลากับลูกแก้ว ดีใจว่าตนเองได้เปรียบเณรน้อยอยู่ พอฉันเสร็จทั้งคู่ก็จำวัดพอตื่นขึ้นมาเณรน้อยก็อมลูกแก้วอธิษฐานให้พาเหาะไปเที่ยวแล้วก็กลับมาเล่าให้หลวงพ่อฟัง แต่หลวงพ่อได้ยินก็ตื่นเต้นอยากจะไปบ้างแต่เก็บลูกแก้วกับปอดปลาไว้อย่างดี คิดว่าจะรอให้ออกพรรษาแล้วจึงจะไปเที่ยว พอถึงวันออกพรรษาหลวงพ่อจึงบอกลาชาวบ้านว่าตัวเองได้ลูกแก้ววิเศษที่จะพาไปเที่ยวได้ จึงขอลาไปเที่ยวประมาณ 2 เดือนจึงจะกลับ พอถึงวันที่หลวงพ่อจะลาไปเที่ยว ชาวบ้านจึงพากันมาวัดกันมากมาย พอได้เวลาหลวงพ่อจึงบอกลาชาวบ้านแล้วก็ขึ้นกุฏิไปเอาห่อลูกแก้วกับปอดปลา แก้ห่อออกก็พบว่าลูกแก้วได้เปลี่ยนสีไปแล้วและปอดปลาก็ถูกหนอนเจาะแล้ว พอหลวงพ่ออมลูกแก้วกับปอดปลาขึ้นหอระฆังกางปีกออก ลูกแก้วก็ไม่สามารถพาหลวงพ่อเหาะไปเที่ยวได้ทำให้หลวงพ่อหล่นลงพื้นบาดเจ็บสาหัส

ในเรื่องนี้ ความขบขันเกิดจากการที่หลวงพ่อเก็บลูกแก้วและปอดปลาไว้นานจนเน่าและเปลี่ยนสี การที่หลวงพ่อบอกชาวบ้านว่าตนมีลูกแก้ววิเศษที่จะไปเที่ยวได้และประกาศต่อหน้าชาวบ้านว่าตนจะลาไปเที่ยว 2 เดือน การที่หลวงพ่อพลาดตกหอระฆังบาดเจ็บสาหัสต่อหน้าชาวบ้านความขบขันเป็นไปตามทฤษฎีข่มท่าน ที่หลวงพ่อเป็นฝ่ายเสียเปรียบเณรน้อย และทฤษฎีผิดฝาผิดตัว

20. หลวงพ่อบ่มักหวาน

หลวงพ่อชอบของหวาน วันหนึ่งไปรับบิณฑบาตในบ้าน ยายของเณรน้อยถวายปลาดุกให้หลวงพ่อ คิดว่าท่านจะแบ่งให้หลานเณรน้อยด้วย แต่หลวงพ่อเป็นคนตระหนี่พอกลับแอบไปกินปลาดุกคนเดียวในห้อง เณรน้อยเจ็บใจจึงไปบอกยาย ยายได้ฟังก็ไม่พอใจหลวงพ่อ จึงคิดอุบายแก้เผ็ดหลวงพ่อ วันต่อมายายเณรน้อยจึงปิ้งปลาแล้วตัดหางปลาผูกกับขวานห่อใส่ใบตองแล้วใส่บาตรให้หลวงพ่อ หลวงพ่อดีใจได้ปิ้งปลาเหมือนเดิม กลับวัดเข้ากุฏิเปิดห่อใบตองออกเห็นเป็นขวานกับหางปลาด้วยความโมโห จึงขว้างขวานไปชนเสาเด้งกลับมาถูกคิ้วแตก พอเณรน้อยได้ยินเสียงจึงถามว่าเกิดอะไรขึ้นหลวงพ่อกลัวเสียหน้าจึงโกหกไปว่า ตนถูกปลากัด วันต่อมายายของเณรน้อยใส่กล้วยให้หลวงพ่อและปลาดุกให้เณรน้อย หลวงพ่ออยากฉันปลาดุก จึงคิดอุบายเดินนำพอถึงสะพานก็หันกลับมาถามเณรน้อยว่า “ขอแบ่งปลาได้ไหม” บังเอิญเท้าข้างหนึ่งก้าวพลาดหลวงพ่อจึงตกสะพานไป วันต่อมา โยมได้นิมนต์หลวงพ่อกับเณรน้อยให้ไปฉันเพลที่บ้าน วันนั้นของหวานมีถ้วยเดียวโยมจึงเอาไปถวายเฉพาะหลวงพ่อ เณรน้อยกลัวไม่ได้ฉันของหวาน จึงพูดดักว่า “ไม่ต้องเอาของหวานไปถวายหลวงพ่อเพราะหลวงพ่อไม่ชอบหวาน” ฝ่ายหลวงพ่อจะพูดค้านในที่บ้านโยมก็อายชาวบ้านเพราะตัวเองอาวุโสกว่า พอกลับถึงวัดด้วยความโมโหจัดจึงเปลื้องจีวรท้าเณรน้อยชกต่อย

ในเรื่องนี้ ความขบขันเกิดจาการที่หลวงพ่อถูกโยมของเณรน้อยถวายขวานที่ผูกกับหางปลาเพื่อแก้เผ็ดหลวงพ่อที่เป็นคนตระหนี่ การที่หลวงพ่อขว้างขวานไปชนเสาเด้งมาถูกคิ้วตัวเองแตก การที่หลวงพ่อพูดแก้เขินด้วยคำว่าถูกปลากัดเมื่อถูกเณรน้อยถาม การที่หลวงพ่อเดินพลาดตกสะพานเพราะมัวแต่เหลียวหลัง การที่เณรน้อยพูดดักคอว่าหลวงพ่อไม่ชอบหวานทั้ง ๆ ที่หลวงพ่อชอบหวาน ความขบขันจึงเป็นไปตามทฤษฎีข่มท่าน

21. หลวงพ่อมีหาง 

หลวงพ่อมีเพื่อนคนหนึ่งชื่อพ่อคำ เพื่อนหลวงพ่อคนนี้มีหลานสาวคนหนึ่งอยู่ในวัยแรกรุ่น หญิงสาวคนนี้แอบชอบพอกันกับเณรน้อยตามประสาหนุ่มสาว แต่ต่อมาเณรน้อยได้ไปเรียนหนังสือในตัวเมือง หลวงพ่อจึงมีโอกาสได้พบกับหญิงสาวทุกวันเกิดจนชอบพอกันเข้า ส่วนเณรน้อยพอทราบข่าวว่าหลวงพ่อแอบชอบหญิงสาวที่ตนชอบกันอยู่จึงไม่พอใจ จึงคิดอุบายวางแผนให้ทั้งสองคนเกิดความระแวงกันและกัน เณรน้อยจึงกลับมาที่วัดแล้วไปบอกหลวงพ่อว่าหญิงสาวเป็นปอบและบอกให้หลวงพ่อสังเกตว่าคนเป็นปอบมักจะมองซ้ายมองขวา เสร็จแล้วเณรน้อยก็ไปบอกหญิงสาวว่าหลวงพ่อเป็นคนมีหางหลวงพ่อต้องการพิสูจน์ความจริงด้วยตนเอง ตกเย็นวันนั้นท่านจึงได้ไปเยี่ยมบ้านที่เป็นเพื่อนกัน เมื่อไปถึงบ้านหญิงสาวจึงตักน้ำมาถวายในขณะเดียวกันก็พยายามมองซ้ายขวาเพื่อหาหางหลวงพ่อ ฝ่ายหลวงพ่อก็เห็นว่าหญิงสาวกำลังมองซ้ายมองขวาอยู่ ก็คิดคงจะเป็นปอบจริง ทั้งสองจึงเกิดความระแวงต่อกันขึ้น พอเณรน้อยทราบว่าทั้งสองคนเกิดความระแวงกันแล้ว วันต่อมาเณรน้อยจึงรีบไปขออนุญาตหลวงพ่อเพื่อลาสิกขามาแต่งงานกับหญิงสาว หลวงพ่อทราบดังนั้น จึงบอกเณรน้อยว่า หญิงสาวคนนั้นเป็นปอบจริงดังที่เณรน้อยว่า แต่เณรน้อยก็ได้ตอบหลวงพ่อไปว่า ถึงแม้ว่าหญิงคนนั้นเป็นปอบเป็นจริงแต่เมื่อคืนวานตนได้ไปปราบเรียบร้อยแล้ว

ในเรื่องนี้ความขบขันเกิดจากการที่พระเณรน้อยทำผิดวินัยไปจีบสาว การที่หลวงพ่อถูกเณรน้อยหลอกว่าหญิงสาวเป็นปอบและบอกหญิงสาวว่าหลวงพ่อมีหาง การที่หลวงพ่อและหญิงสาวหลงกลเณรน้อยและเชื่อว่าอีกฝ่ายเป็นไปตามที่เณรน้อยวางแผนไว้ การที่หลวงพ่อบอกว่าหญิงเป็นปอบแต่เณรน้อยบอกว่าเณรน้อยได้ปราบปอบไปแล้ว ความขบขันจึงเป็นไปตามทฤษฎีผิดฝาผิดตัว

22. โง่จนไม่รู้ว่าตัวเองโง่ 

หลวงพ่ออยู่ด้วยกันกับเณรน้อยสามสี่รูป วันหนึ่งเณรน้อยได้ยินข่าวว่าชาวบ้านพากันนินทาว่าพระเณรน้อยขี้เกียจ ไม่ทำงาน ตื่นมาก็กิน กินแล้วไปขี้ในส้วม ไม่ทำอะไรเลย หลวงพ่อได้ยินจึงแย้งว่าไม่ถูกต้อง เพราะว่าท่านยังทำงานอยู่ พวกเณรน้อยจึงชวนหลวงพ่อเดินทางไปทุ่งนาเพื่อหางานทำ เดินไปสักพักก็เห็นชาวนาเอาไซดักปลา หลวงพ่อจึงว่า “โยมเป็นคนวัดทำไมทำฆ่าสัตว์” ชาวนาบอกว่า “ไม่ฆ่าสัตว์ก็ไม่มีอะไรกิน” เณรน้อยอีกคนเห็นด้วยจากนั้นทั้งหมดก็เดินต่อไปคุยกันไปมาเรื่องว่าใครเป็นคนผิด พอกลับถึงวัด เย็นวันนั้นหลวงพ่อตั้งกติกาไว้ว่า ใครพูดก่อนเป็นหนอน ตกกลางคืนหลวงพ่อกับเณรน้อยมีตะเกียงพายุคนละดวงบังเอิญลมแรงทำให้ตะเกียงของเณรน้อยรูปหนึ่งดับ เณรน้อยกลัวผีแต่ถ้าจะพูดขึ้นก็กลัวผิดกติกา แต่แล้วคนแรกก็อดทนไม่ได้พูดขึ้นว่าตะเกียงตนเองดับ อีกรูปก็พูดเหมือนกัน สุดท้ายหลวงพ่อจึงพูดเช่นกันว่ามีแค่หลวงพ่อคนเดียวที่ไม่พูด ต่อมาหลวงพ่อซื้อวัวมา 10 ตัวและให้เณรน้อยเป็นคนไล่ต้อน ตนเองเป็นคนขี่ตัวหน้าและผ่านเนินใหญ่หลวงพ่อนับวัวดูแล้วไม่ครบ 10 ตัว เณรน้อยจึงบอกให้หลวงพ่อลงมานับดูก็จะครบ 10 ตัว หลวงพ่อจึงลงมานับดูก็ได้ครบพอดี แต่พอขึ้นขี่มันนับดูก็ไม่ครบอีก หลวงพ่อจึงตัดสินใจไม่ขึ้นขี่วัวอีก พอกลับถึงวัดเณรน้อยคนหนึ่งเกิดปวดฉี่กะทันหัน หาที่ไม่ได้จึงฉี่รดกำแพงวัด หลวงพ่อเห็นเข้าจึงหลอกด่าโดยบอกให้เณรน้อยยกขาขึ้นข้างหนึ่ง พอฉี่เสร็จเณรน้อยก็วิ่งมาหาเพื่อนพร้อมกับบอกว่าเกือบโดนหลวงพ่อด่า พวกเณรน้อยจึงถามว่าหลวงพ่อว่าอย่างไร เณรน้อยคนที่ฉี่จึงตอบว่าท่านบอกให้ยกขาขึ้นอีกข้าง เพื่อนเณรน้อยจึงหัวเราะแล้วบอกว่านั่นหมายความว่าหลวงพ่อด่าว่าเณรน้อยเป็นหมา

ในเรื่องนี้ ความขบขันเกิดจากการที่หลวงพ่อตั้งกฎว่าจะไม่พูดแต่เป็นคนพูดเสียเอง การที่หลวงพ่อนับวัวไม่ถึงสิบตัวเพราะไม่ได้นับตัวที่ตนเองขี่อยู่ การที่หลวงพ่อหลอกด่าเณรน้อยที่กำลังฉี่รดกำแพงด้วยการให้ยกขาขึ้นข้างหนึ่งเหมือนหมาฉี่ ความขบขันเป็นไปตามทฤษฎีผิดฝาผิดตัว

23. ลักกินข้าวแลง 

หลวงพ่อกับเณรน้อยนอนร่วมห้องในกุกุฏิเดียวกัน วันหนึ่งหลังจากบิณฑบาตเสร็จแล้ว ทั้งหลวงพ่อและเณรน้อยต่างก็วางแผนที่จะเก็บอาหารไว้ฉันในยามวิกาล อย่างไรก็ตาม ต่างฝ่ายต่างก็ระแวงว่าอีกฝ่ายจะทราบเรื่องเข้า พอตกกลางคืนทั้งคู่ก็คิดตรงกันอีกว่าอีกฝ่ายคงจะหลับแล้วจึงคิดจะเอาข้าวในบาตรมาฉัน เณรน้อยเป็นคนเริ่มก่อน ยื่นมือออกนอกมุ้งไปกระทบฝาบาตร เสียงดังขึ้นกลัวหลวงพ่อจะล่วงรู้จึงแกล้งทำเสียงแมว หลวงพ่อจึงบอกให้เณรน้อยไล่แมวไปเสีย ต่อมาหลวงพ่อก็เป็นฝ่ายลงมือบ้าง จึงยื่นมือออกนอกมุ้งไปกระทบฝาบาตรเสียงดังขึ้นอีกเหมือนกัน กลัวเณรน้อยจะล่วงรู้ จึงแกล้งทำเสียงแมวเณรน้อยจึงบอกให้หลวงพ่อไล่แมวไปเสีย ต่อมาทั้งคู่คิดตรงกันว่าอีกฝ่ายคงจะหลับไปแล้ว จึงยื่นมือออกนอกมุ้ง บังเอิญว่ามือของหลวงพ่อกับเณรน้อยไปชนกันในระหว่างพอดี ต่างฝ่ายก็คิดจะชักมือกลับแต่ก็เกรงว่าอีกฝ่ายจะล่วงรู้แต่ท้ายที่สุดหลวงพ่อเป็นฝ่ายยอมเสียหน้า จึงเอ่ยถามเณรน้อยว่า “เณรน้อยก็อยากจะฉันเย็นกับหลวงพ่อเหมือนกันหรือ”

ในเรื่องนี้ความขบขันเกิดจากการที่หลวงพ่อและเณรน้อยวางแผนที่จะเก็บอาหารบิณฑบาตไว้ฉันเย็นซึ่งเป็นการผิดวินัยสงฆ์ การที่ทั้งสองฝ่ายทำเสียงบาตรดังแล้วกลับทำเสียงแมว การที่ทั้งคู่เอามือไปชนกันในระหว่างโดยบังเอิญจนยากที่จะชักมือกลับได้ทัน การที่หลวงพ่อยอมรับผิดและชวนเณรน้อยเป็นการแก้เขิน เป็นไปตามทฤษฎีการปลดปล่อย และทฤษฎีผิดฝาผิดตัว

24. หลวงพ่อปึก

หลวงพ่ออ่านหนังสือไม่ออก พูดได้แต่คำว่า นะ คำเดียว โยมจึงไม่เลื่อมใส ทำให้อาหารการฉันลำบาก หลวงพ่อจึงคิดอุบายให้โยมมาถวายอาหาร ปกติชาวบ้านจะปล่อยควายไปกินหญ้าเองไม่ต้องดูแล หลวงพ่อจึงคิดอุบายให้เณรน้อยเอาควายชาวบ้านไปซ่อนไว้และให้บอกชาวบ้านให้ไปถามหลวงพ่อ พอชาวบ้านจึงไปถามหลวงพ่อเรื่องควายหาย หลวงพ่อจึงแสร้งทำทีบวกลบคูณหารและบอกตำแหน่งที่ควายหาย เมื่อชาวบ้านไปหาควายเจอตามที่หลวงพ่อบอก จึงเลื่อมใสและนำอาหารมาถวาย ต่อมาเณรน้อยชวนหลวงพ่อไปอาบน้ำในสระน้ำ และบอกให้หลวงพ่อพูดว่า “นะโม” ตอนดำน้ำแล้วผุดขึ้น หลวงพ่อจึงทำตาม ตั้งแต่นั้นหลวงพ่อจึงพูดคำว่า “นะโม” ได้ ชาวบ้านจึงเลื่อมใสยิ่งขึ้น ต่อมาชาวบ้านจึงนิมนต์พระวัดอื่นมาประชันความเก่งกับหลวงพ่อและเณรน้อย หลวงพ่อไม่รู้ว่าจะเอาชนะพระวัดอื่นอย่างไร จึงปรึกษาเณรน้อย ได้ข้อตกลงกันว่าจะไปหาน้ำคราม ปู และ กระด้งใบใหญ่มาใช้เป็นเครื่องมือ พอได้ครบทั้งสามแล้วหลวงพ่อก็จะเอาปูจุ่มน้ำครามแล้วปล่อยให้ปูเดินลงในกระด้งที่มีใบลาน โดยให้เณรน้อยเป็นคนอ่านไปตามว่า “จ่ามคุม (จุ่มคาม) โต่งได้(ไต่ด้ง) ปานไต่ใบลู่ (ปูไต่ใบลาน) เมื่อถึงวันแข่งขันจริง ไม่มีพระเณรน้อยวัดไหนสามารถอ่านข้อความในใบลานเพราะปูไต่เลาะไปหมด นอกจากเณรน้อยของหลวงพ่อที่ตกลงกันไว้เป็นอย่างดี ทำให้พระวัดอื่นต้องยอมแพ้อย่างราบคาบ

ในเรื่องนี้ความขบขันเกิดจากการที่หลวงพ่อมีคนเลื่อมใสเพราะใช้กลอุบายซ่อนควายแล้วให้เณรน้อยไปบอกชาวบ้าน การที่หลวงพ่อพูดว่านโมได้เพราะเณรน้อยสอนให้ดำน้ำแล้วผุดขึ้นมาก็พูดว่า โม การที่หลวงพ่อกับเณรน้อยเอาชนะพระเณรน้อยวัดอื่นโดยการอ่านคำผวนไปตามการเดินของปูบนใบลานในกระด้ง

25. หลวงพ่อบ่ได้ยถา 

หลวงพ่อเป็นคนโง่เขลา อ่านหนังสือไม่ออก จึงต้องอาศัยเณรน้อยที่รู้หนังสืออยู่ตลอดเวลา วันหนึ่งเดินไปพบคนตากผ้าอยู่กระท่อมนาจึงถามเณรน้อยว่า “มันคืออะไร” เณรน้อยตอบว่า “ชายคามุ้งแพร” เดินไปอีกพบวัวพันหลักจึงถามเณรน้อยว่า “มันคืออะไร” เณรน้อยตอบว่า “วัวเกี้ยวพันธะนัง” เดินไปอีกพบคนชันเข่า จึงถามเณรน้อยว่า “มันคืออะไร” เณรน้อยตอบว่า “หัวเขาโสนงเนง” เดินไปอีกเห็นปรักควาย จึงถามเณรน้อยว่า “มันคืออะไร” เณรน้อยตอบว่า “โพ่โล่หลุดโบก” เดินต่อไปเห็นควายไม่เห็นเจ้าของเณรน้อยจึงบอกให้หลวงพ่อไล่ควายไปไว้ในป่าทึบพอชาวบ้านกลับมาไม่เจอควาย เณรน้อยจึงบอกชาวบ้านไปหาหลวงพ่อโดยบอกว่าท่านเป็นหมอดู ชาวบ้านจึงไปหาหลวงพ่อและพูดตามที่เณรน้อยบอกไว้ว่า “ชายคามุ้งแพรวัวเกี้ยวพันธะนัง หัวเข่าสโนงเนง โพ่โล่หลุดโบก ควายอยู่ในป่าทึบ” ชาวบ้านไปหาเจอควายตามที่หลวงพ่อว่าจึงเกิดความเลื่อมใส ต่อมาฝนไม่ตกชาวบ้านจึงมาหาหลวงพ่ออีก หลวงพ่อไปตอบไม่ได้จึงเดินไปที่ทุ่งนาได้ยินเสียงเขียดร้องว่า ฝนจะตกตอนขึ้น 3 ค่ำ น้ำจะท่วมบันไดพระยา 3 ขั้น จึงไปบอกชาวบ้านเช่นนั้น บังเอิญว่าฝนตกตามนั้นพอดี ทำให้หลวงพ่อได้ชื่อว่าหลวงพ่อเก่งทุกทาง

ในเรื่องนี้ ความขบขันเกิดจากการที่หลวงพ่อกล่าวได้หลายประโยคเพราะจำถ้อยคำที่เณรน้อยบอก และการที่หลวงพ่อกลายเป็นหมอดูตามกลอุบายของเณรน้อย การที่หลวงพ่อทำนายฝนตกได้ถูกต้องเพราะได้ยินเสียงกบเขียดร้อง เป็นการใช้ปรากฏการณ์พิเศษเช่นฟังเสียงเขียดรู้เรื่องมาสร้างเรื่องให้หลวงพ่อทำนายถูกฝนตกได้ถูกต้อง

26. หลวงพ่อขี้ไก่

หลวงพ่อเลี้ยงไก่หลายตัวไว้ในวัด เวลาไปไหนมาไหนหลวงพ่อก็กำชับเณรน้อยให้ดูแลให้ดีอย่าให้ไก่มาขี้บนศาลาได้ วันหนึ่งเณรน้อยเผลอนอนหลับไปไก่จึงขึ้นมาขี้บนศาลาหลวงพ่อกลับมาเห็นเข้าจึงโกรธและสั่งให้เณรน้อยทำความสะอาดและขู่สำทับไว้ว่าคราวหน้าถ้ายังขืนปล่อยให้ไก่ขึ้นมาขี้บนศาลาอีกจะให้เณรน้อยใช้ปากเลียทำความสะอาด เณรน้อยรู้สึกเจ็บใจคิดอุบายแก้เผ็ดหลวงพ่อ โดยซื้อน้ำตาลปี๊บมาทำเป็นเหมือนขี้ไก่หยอดบนศาลาพอหลวงพ่อกลับมาเห็นเข้าจึงโกรธมาก สั่งลงโทษให้เณรน้อยใช้ปากเลียกินให้หมด เณรน้อยได้ทีแสร้งทำท่าไม่อยากทำเพื่อลวงให้หลวงพ่อตายใจ เสร็จแล้วจึงใช้ปากเลียน้ำตาลอย่างเอร็ดอร่อยหลวงพ่อเห็นดังนั้นจึงถามเณรน้อยว่าไม่เหม็นหรืออย่างไร ส่วนเณรน้อยบอกว่าไม่เหม็นกลับหวานเสียอีก ด้วยความสงสัยหลวงพ่อจึงลองชิมดูจึงรู้ว่าขี้ไก่มีรสหวานจริง วันหลังหลวงพ่อจึงบอกเณรน้อยถ้าไก่ขึ้นมาขี้บนศาลาอีก เณรน้อยไม่ต้องไล่ไก่ปล่อยให้มันขี้ หลวงพ่อจะทำความสะอาดเอง เณรน้อยได้ทีจึงปล่อยให้ไก่ขึ้นมาขี้บนศาลา หลวงพ่อกลับมาเห็นขี้ไก่เต็มศาลาจึงรีบบอกเณรน้อยว่าไม่ต้องทำความสะอาด ตนจะจัดการเองแต่พอหลวงพ่อพอใช้ปากเลียขี้ไก่กองแรกเท่านั้น ก็รู้สึกเหม็นแทบอาเจียน จึงถามเณรน้อยว่าวันนี้ทำไมขี้ไก่จึงมีรสชาติเหม็นนัก เณรน้อยบอกว่ามันเป็นไก่คนละฝูงกัน หลวงพ่อจึงถามว่าทำไมขี้ไก่ฝูงนี้จึงเหม็นไม่เหมือนขี้ไก่ฝูงก่อน เณรน้อยจึงบอกความจริงว่า ที่ไม่เหมือนกันเพราะขี้ไก่ฝูงก่อนเป็นขี้ไก่น้ำตาลปี๊บแต่ขี้ไก่ฝูงนี้เป็นขี้ไก่จริง ๆ

ในเรื่องนี้ ความขบขันเกิดจากการที่เณรน้อยคิดอุบายให้หลวงพ่อตายใจว่าขี้ไก่หวานโดยใช้น้ำตาลปี๊บแทนขี้ไก่ การที่หลวงพ่อหลงเชื่อแล้วบอกเณรน้อยให้ปล่อยให้ไก่ขึ้นมาขี้บนศาลาได้โดยหลวงพ่อจะใช้ปากทำความสะอาดเอง การที่หลวงพ่อถูกเณรน้อยหลอกให้กินขี้ไก่จริง ๆ จนแทบอาเจียน

บรรณานุกรม

กรมศิลปากร กองโบราณคดี. (2531). ตำนานและนิทานพื้นบ้านอีสาน. กรุงเทพฯ : กองโบราณคดี กรมศิลปากร.

กุหลาบ มัลลิกะมาศ. (2518). คติชาวบ้าน. กรุงเทพฯ: ชวนพิมพ์สำราญราษฎร์.

สมศักดิ์ พันธ์ศิริ. (2560). กลวิธีการสร้างอารมณ์ขันในนิทานมุขตลกพื้นบ้านอีสานเรื่องหัวพ่อกับจัวน้อย. วิวิธวรรณสาร 1(3) กันยายน-ธันวาคม. หน้า 53-84

อภิฤดี จันทะเดช. (2560). การพัฒนาออนโทโลยีนิทานพื้นบ้านอีสาน. วิทยานิพนธ์ ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการจัดการสารสนเทศ. ขอนแก่น. บณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยขอนแก่น.

 

 

Tag

การทอผ้าไหม การทำต้นเทียนพรรษา การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม การปฏิบัติธรรม การแกะสลักเทียนพรรษา ครูภูมิปัญญาไทย บุญมหาชาติ บุญเดือนแปด ชุมชนทำเทียนพรรษา บ้านชีทวน พักผ่อนหย่อนใจ พิพิธภัณฑ์พื้นบ้าน พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น ดนตรีพื้นบ้าน ดนตรีพื้นเมืองอีสาน ต้นเทียนพรรษาประเภทติดพิมพ์ ต้นเทียนพรรษาประเภทแกะสลัก ประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ประเพณีท้องถิ่น ประเพณีอีสาน ประเพณีแห่เทียนพรรษา วัดหนองป่าพง วิถีชีวิตคนอีสาน วิปัสสนากรรมฐาน ศิลปกรรมญวน ศิลปกรรมท้องถิ่นอีสาน ศิลปะญวน สถาปัตยกรรมท้องถิ่น สถาปัตยกรรมท้องถิ่นอีสาน สถาปัตยกรรมในพุทธศาสนา สาขาวัดหนองป่าพง สิม หัตถกรรมการทอผ้า อำเภอพิบูลมังสาหาร อำเภอตระการพืชผล อำเภอน้ำยืน อำเภอม่วงสามสิบ อำเภอวารินชำราบ อำเภอเขมราฐ อำเภอเขื่องใน อำเภอเดชอุดม อำเภอเมืองอุบลราชธานี อุบลราชธานี อุโบสถ ฮีตสิบสอง