โพธิ์ ส่งศรี (ถึงแก่กรรมแล้ว)

นายโพธิ์ ส่งศรีเกิดที่อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี เมื่อปี พ.ศ.2429 เป็นบุตรของท้าววรสาร (ลุน) ส่งศรี มารถดา ชื่อนางไข มีพี่น้องร่วมกัน 4 คน ชายสามคน หญิงหนึ่งคน เมื่ออายุได้ 22 เศษได้สมรสกับ น.ส.เหม ภาคบุตรี เป็นภรรยา คนแรกมีบุตร 1 คน เมื่อนางเหมถึงแก่กรรมไป ประมาณ 2-3 ปี ได้ทำการสมรสอีกครั้งหนึ่ง กับ น.ส.ลูกจันทน์ ณ อุบล มีบุตรธิดารวมกันทั้งสิ้น 7 คน ถึงแก่กรรมอายุได้ 93 ปี

เมื่ออายุ 11 ปีเศษ ได้สมัครใจบวชเป็นสามเณร โดยความเห็นชอบของบิดามารดาแล้วศึกษาอยู่ที่วัดใต้ เป็นลูกศิษย์ของทานพระครูหนู เจ้าอาวาสซึ่งต่อมาเป็นที่ ท่านเจ้าคุณพระปัญญาพิศาลเถร เจ้าอาวาสวัดปทุมวนาราม กรุงเทพฯ บวชอยู่ 4 ปีก็ได้ลาสิกขาบทจากสามเณรเมื่ออายุ 15 ปีเศษ เพื่อที่จะได้ทำการศึกษาต่าง ๆ มีดังนี้

  1. วิชาภาษาไทย-อักขระขอม และวิชาการก่อสร้างได้ศึกษากับทานพระครูหนู เจ้าอาวาสวัดใต้ และท่านพระครูเสาร์ กันตสีโล เจ้าอาวาสวัดเลียบ ซึ่งอยู่ติดกันกับวัดใต้
  2. วิชาวิจิตรศิลป-ช่างเขียน-ช่างแกะสลัก-ลงรัก ปิดทองล่องชาด ช่างหล่อ-ช่างกลึง-ได้ ศึกษาจากท่านพระครูวิโรจน์ (พระครู อุดรพิทักษ์คณะเดช) ซึ่งต่อมาเป็นท่านเจ้าคุณ พระวิโรจน์(รอด) รัตโนบล เจ้าอาวาสวัดทุ่งศรีเมือง ซึ่งท่านเจ้าคุณองค์นี้ได้เคยลงไปศึกษาวิชาช่างวิจิตร์ศิลปกับช่างหลวง-ช่างสิบหมู่ ในกรุงเทพฯ มาก่อนในสมัยนั้น
  3. วิชาทางพุทธศาสน์ ได้ศึกษากับพระปรมาจารย์ทางธุดงค์กรรมฐานทั้งสิ้น เช่น พระครูหนู พระครูเสาร์ และพระปรมาจารย์ใหญ่ คือ ท่านพระครูสีทาแห่งวัดบูรพา ซึ่งเป็นพระอาจารย์ของท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต เป็นต้น การปฏิบัติทางธุดงควัตร์ ก็ได้เริ่มตั้งแต่เริ่มบวชเป็นสามเณร คือ ต้องออกธุดงค์ติดตามเหล่าคณาจารย์ทั้ง 4 องค์ ดังกล่าวแล้วเป็นประจำทุกปี
  4. วิชาช่างทองรูปพรรณ ได้ศึกษากับบิดาตลอดมาเริ่มแต่สมัยยังเด็ก และก็ได้ยึดถือวิชาชีพช่างทอง – ช่างเงินนี้ เป็นหลักในการประกอบอาชีพสืบต่อมา

จากการศึกษาดังกล่าวแล้ว จึงเป็นผู้รอบรู้เชี่ยวชาญในวิชาการช่างทุกสาขา ชาวเมืองเรียกกันว่า “ช่างโพธิ์” เป็นผู้มีฝีมือและความคิดก้าวหน้าในด้านการช่างเป็นเลิศ ทั้งเป็นผู้มีความซื่อสัตย์ตรงไปตรงมากับลูกค้า ผลงานทุกชิ้นทุกอันมีความประณีตและสวยงาม เป็นที่ประทับใจแก่ผู้พบเห็นทั่วไป ในสมัยที่พระยาศรีธรรมศกราช เป็นเทศาภิบาลประมาณ 50 ปี ที่แล้วมา ได้เห็นความสามารถและฝีมืออันประณีตงาม จึงได้สนับสนุนให้นำเครื่องทองเครื่องเงินรูปพรรณส่งไปประกวดที่โคราช ซึ่งเป็นมณฑลนครราชสีมาในสมัยนั้น ได้รับรางวัลที่หนึ่งหลายประเภท

ในสมัยต่อมาได้เป็นผู้ริเริ่มพัฒนาการทอผ้าไหม ให้มีคุณภาพและสีทันสมัยขึ้น โดยใช้ลายไทยดัดแปลงให้เป็นลายผ้าซิ่นหมี่ที่ชาวเมืองทำกันอยู่เดิมให้มีลวดลาย ดอก ลายเครือ ตลอดจนรูปสัตว์ต่าง ๆ ด้วยสีที่สวยงามแปลกตาไปกว่าเดิมที่เคยทำกันอยู่ รวมทั้งเริ่มผลิตผ้าไหมทอด้วยดิ้นเงิน-ดิ้นทอง เรียกว่าผ้ายกซึ่งชาวเมืองไม่เคยทำกันมาก่อน ทำให้จังหวัดอุบลฯ มีชื่อเสียงโด่งดังมาก
และได้เผยแพร่ความรู้-วิธีการในการทอผ้าแปลก ๆ ใหม่ ๆ โดยไม่ปิดบังให้แก่ชาวบ้านทั่วไป จนสามารถทอผ้ากันได้อย่างสวยงามมีคุณภาพดีสีสวยกันทั้งเมือง ได้รับเชิญให้ส่งผลิตภัณฑ์สิ่งทอหลายอย่างเข้าประกวดในงานฉลองรัฐธรรมนูญ และงานฉลองอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารีที่นครราชสีมาหลายครั้ง ได้รับรางวัลที่หนึ่งทุกประเภทและรางวัลอื่น ๆ อีกมากติดต่อกัน 2 ปีหยุดส่งเพราะเกรงว่าถ้าส่งไปประกวดอีกก็จะทำให้คนอื่นไม่ได้รับรางวัล อาจจะหมดกำลังใจก็ได้ ซึ่งเหมือนกับเป็นเรื่องคุย แต่ก็เป็นความจริง สำหรับงานด้านการทอผ้าและการผลิตผ้าออกสู่ตลาดนี้ ได้มอบให้ภรรยาและบุตรเป็นผู้ดำเนินการและควบคุมแต่ก็คอยเอาใจใส่ดูแลด้วยตนเองอยู่เสมองานประจำ นอกจากงานวัด งานก่อสร้างแล้วก็ยังมีงานช่างทองเนื่องจากมีผู้มาขอเรียนด้วย จึงได้รับสอนให้แก่ผู้ที่สนใจงานด้านนี้ขึ้นที่บ้าน มีศิษย์มาขอเรียนปี-สองปีต่อคน ก็ให้เรียนโดยไม่คิดค่าสอนมีแต่ค่ายกครูคนละหกสลึงเท่านั้น แล้วก็เรียนไปเป็นลูกมือไปจน 3-4 ปี ก็จะสามารถทำขันเงินพานเงินและอื่น ๆ ได้ เมื่อชำนาญแล้วก็แยกย้ายไปประกอบอาชีพต่างจังหวัด ศิษย์ที่มาจากต่างจังหวัด-ต่าง
อำเภอบางคนขอพัก-อาศัยด้วยที่บ้านโดยไม่ได้เสียค่าใช้จ่าย กว่าจะเรียนจบไปประกอบอาชีพได้ก็เป็นเวลาหลายปีจึงมีความสัมพันธ์กันเหมือนญาติสนิท

สำหรับงานทางด้านประเพณีที่เกี่ยวกับศาสนานั้น ประมาณปี พ.ศ.2480 ได้เป็นผู้ริเริ่มประดิษฐ์ตกแต่งต้นเทียนสำหรับถวายวัดประจำพรรษา จากของเดิมซึ่งเป็นเทียนพาราฟินหล่อเป็นแท่งกลม ๆ ผิวเกลี้ยง ๆ ธรรมดามาเป็นต้นเทียนแบบหล่อด้วยขี้ผึ้งแท้ และใช้ขี้ผึ้งอัดลายเป็นดอกดวงลาดลายต่าง ๆ กัน แล้วตัดสายนั้นประดับบนต้นเทียนทำให้สวยงามขึ้นมาก แบบลายที่เป็นแม่พิมพ์นั้น ได้พยายามแกะลวดลายต่าง ๆ ไว้ในแผ่นหินอ่อนและไม้พุดเป็นจำนวนหลายสิบแบบ โดยได้ขอให้ลูกศิษย์ส่งหินอ่อนมาให้จากเมืองอัตตะบือ แขวงเมืองนครจำปาศักดิ์ เพราะหินอ่อนที่อุบลฯ ไม่มี และในปีถัดมาก็ได้ริเริ่มชักชวนให้มีการประกวดและฉลองต้นเทียนและจัดให้มีขบวนแห่กันเป็นที่ครึกครื้น เมื่อแห่กันไปรอบเมืองแล้ว จึงแยกย้ายกันไปถวายตามวัดต่าง ๆ เป็นประเพณีตลอดมาทุกปีในวันเข้าพรรษา

การปฏิบัติศาสนกิจในกลางพรรษา ได้เป็นผู้ริเริ่มแนะนำและชักชวนชาวเมืองเข้าวัด นอกจากการทำบุญถวายภัตตาหารและฟังเทศน์เป็นปกติวิสัยทุกวันพระแล้ว ได้มีการฝึกสมาธิและอบรมธรรมเพิ่มขึ้น กิจกรรมนี้เรียกว่า “อุโบสถสามัคคี” โดยได้อาราธนาพระอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญในด้านการปฏิบัติมาเป็นผู้อบรม เมื่อพระอาจารย์ท่านให้การอบรมเสร็จแล้ว ก็เป็นผู้ให้การอบรมต่อด้วยตนเองโดยให้ถามและตอบปัญหาธรรมต่าง ๆ เป็นประจำเหล่าอุบาสกอุบาสิกาทั้งหลายเรียกกันว่า ท่านอาจารย์บ้าง พ่อบ้าง การอุโบสถสามัคคี ได้ย้ายเปลี่ยนไปตามวัดต่าง ๆ ปฏิบัติหมุนเวียนกันไปเช่นนี้หลายวัด เพื่อให้ชาวบ้านในย่านวัดนั้น ๆ จะได้ปฏิบัติธรรมได้สะดวก ทำให้เกิดความพอใจและสมใจแก่ชาวบ้านนั้น ๆ เป็นอันมาก เป็นกิจกรรมทางศาสนาที่ได้ปฏิบัติกันมาเป็นประจำทุกวันอุโบสถ และเป็นปกติสำหรับผู้ที่ใฝ่ธรรมมักจะไปปรึกษาในปัญหาธรรมต่าง ๆที่สงสัยไม่เข้าใจที่บ้านอยู่เป็นประจำ ไม่เลือกวัน ไม่เลือกเวลา ก็ได้ช่วยอธิบายแก้ข้อข้องใจต่าง ๆ ให้ด้วยดีเสมอมา

ในเทศกาลออกพรรษา เป็นฤดูน้ำนองตลิ่ง ได้เป็นผู้ฟื้นฟูให้มีการแข่งเรือขึ้นมาอีก หลังจากได้เลิกราไป 10 กว่าปี เป็นที่พอใจของหมู่ชาวบ้านและชาววัดที่มีเรืออยู่เดิมแล้วเป็นอันมาก มีเรือขนาดตั้งแต่ 20-30 ถึง 45 ฝีผาย จากหมู่บ้านและอำเภอต่าง ๆ เข้าแข่งมากมาย ได้เป็นหัวหน้าทีมนำเรือลงเข่งเองหลายครั้ง ฝีพายก็ คือ ศิษย์ช่างทองบ้าง และช่างไม้บ้าง เรือที่ใช้แข่งเองเป็นประจำเป็น
เรือเข็ม 6 ฝีพาย ลำแรกที่ขอซื้อมาแต่ไม่พอใจเลยหาไม้ในป่ามาขุดเอง เพื่อแก้ไขในส่วนที่เห็นว่าไม่เหมาะสมและได้ชัยชนะหลายครั้ง พร้อม ๆ กันก็ได้ขุดเรือขายให้แก่คนอื่นด้วย เพราะทนต่อการอ้อนวอนไม่ได้ จนปีต่อ ๆ มาไม่สามารถชนะเรือที่ขุดขายให้คนอื่นเขาไปก็มี

สิงงที่ได้เป็นผู้ริเริ่มให้มีขึ้นและถือว่าเป็นประเพณีที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งในเทศกาลออกพรรษานี้ก็คือ ได้ริเริ่มให้มีการลอยกระทงขึ้น โดยปีแรก ๆ ได้ชักชวนชาวบ้านร่วมกับคณะกรรมการจังหวัดทำกระทงใบใหญ่ โดยใช้เรือพายทั้งลำแทนกระทงสำหรับหมู่บ้านหนึ่ง ๆ ประดับและตกแต่งด้วยกาบกล้วย ทางมะพร้าวกระดาษสีต่าง ๆ ประดับเป็นซุ้มใหญ่โต บางหมู่บ้านใช้เรือ 2 ลำ ทำให้กระทงใหญ่โตมาก ส่วนไฟที่ใช้ประดับกันในปีแรก ๆ ก็คือได้และเทียน จุดสว่างไสวไปทั้ง 2 ฝั่งแม่น้ำมูลในปีถัดมาได้พัฒนาให้ดีขึ้นโดยใช้แบตเตอรี่ให้แสงสว่างแทน เริ่มปล่อยจากท่าน้ำหน้าวัดสุปัฏวนาราม ให้ไหลผ่านหน้าเมืองลาไปทางใต้เป็นระยะทางประมาณ 1 กิโลเมตรเศษ ประเพณีนี้ได้จัดติดต่อกันมาทุกปีโดยจัดให้มีการประกวดด้วยเช่นกัน ในปีแรก ๆ เนื่องจากเป็นกระทงใหญ่ชาวบ้านจึงพากันเรียกว่าพิธี “ไหลเรือไฟ” และได้เปลี่ยนมาเป็น “ลอยกระทง” ในสมัยต่อมาพิธีการได้ทำกันในคืนก่อนเข่งเรือหนึ่งคืนหรือบางครั้งก็หนึ่งสัปดาห์แล้วแต่จะสมควร

งานที่เกี่ยวกับพระศาสนาอีกอย่างหนึ่งนั้น คือ การบูรณะซ่อมองค์พระธาตุพนม จังหวัดนครพนม เมื่ออายุ 13 ปีเศษ สามเณรโพธิ์ ได้มีโอกาสอาสาติดตามท่านพระอาจารย์ พระครูวิโรจน์(รอด) รัตโนบล ไปทำการบูรณะซ่อมแซมด้วย ตรงกับบันทึกในหนังสือประวัติพระธาตุพนม ในการซ่อมครั้งที่ 6 เมื่อ ปี พ.ศ.2444 โดยได้ร่วมเป็นผู้ขึ้นไปทำความสะอาดต้นพืช-ต้นโพธิ์-ต้นไทร ที่ขึ้นรกอยู่ตามรอยแตกขององค์พระธาตุ และตรวจเคาะรอบ ๆ องค์พระธาตุ เพื่อจะได้ทราบว่าบริเวณใดที่ปูนฉาบกะเทาะหรือที่เรียกว่า “สทาย” หลุดไม่จับกับเนื้ออิฐก็ขีดเครื่องหมายเอาไว้ แล้วก็สกัดกะเทาะออก เพื่อการฉาบหรือโบกสะทายใหม่ นอกนั้นยังได้โบกสะทายและซ่อมลายปูนปั้นบริเวณฐานองค์พระธาตุทางด้านทิศเหนือด้วย ผู้ที่พระอาจารย์ได้เลือกให้ขึ้นไปทำงานบนองค์พระธาตุนั้นมีเพียง 5 องค์ เท่านั้น เป็นพระ 3 และ เณร 2 ส่วนชาวบ้านนั้นไม่กล้าแตะต้องแม้แต่การผูกไม้คาดสะเพา (ไม้นั่งร้าน)

สำหรับงานที่เกี่ยวกับพระบรมสารีริกธาตุนี้ นอกจากได้มีโอกาสร่วมบูรณะองค์พระธาตุพนมแล้ว ยังได้เป็นช่างบรรจุพระบรมสารีริกธาตุไว้ในพระเกศของพระประธานในโบสถ์วัดสุปัฎนารามและวัดอื่นๆ อีก 2-3 แห่งโดยถอดพระเกศออกมาแล้วทำาเป็นช่องที่ประดิษฐานไว้ในพระเกศบ้าง บนพระเศียรบ้าน และในโอกาสวันฉลองครบรอบ 100 ปี ของวัดสุปัฏนารามนั้น ประมาณ ปี พ.ศ.2496 ท่านพระอาจารย์ลี ธัมมธโร แห่งวัด อโศการาม สมุทรปราการ ได้เป็นผู้อบรมธรรมและสมาธิ เวลาประมาณเที่ยงคืนขณะที่นั่งสมาธิอยู่ในโบสถ์ ได้มีนิมิตดีเกิดขึ้น โดยปรากฏว่าพระบรมสารีริกธาตุ ซึ่งเสด็จมาโดยทางอากาศหนึ่งพระองค์หล่นลงข้าง ๆ ตัว รุ่งเช้าจึงได้นิมนต์ท่านพระอาจารย์ลี ธัมมะโร (ท่านพ่อลี) หรือท่านเจ้าคุณพระสิทธิธรรมรังสีคัมภีรเมธาจารย์ พร้อมด้วยท่านเจ้าคุณธรรม (พิม) แห่งวัดพระศรีมหาธาตุ บางเขน ซึ่งต่อมาเป็นที่ สมเด็จพระมหาวีระวงค์ ทั้ง 2 พระองค์เป็นผู้อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุองค์ที่ได้นั้น จากวัดสุปัฏฯ ไปไว้สักการบูชาที่บ้านจนถึงทุกวันนี้ และในตอนที่พระธาตุพนมชำรุดพังลงเมื่อ 11 สิงหาคม 2518 นั้น คณะกรรมการดำเนินการหาทุนซ่อมสร้างองค์พระธาตุพนมขึ้นใหม่ได้จัดงานขึ้นที่หอสมุดแห่งชาติ ท่าวาสุกรีกรุงเทพฯ ก็ได้เชิญให้ไปเป็นผู้อาวุโสทำพิธีผูกข้อมือสู่ขวัญให้แก่ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช นายกรัฐมนตรีในสมัยนั้น เรียกได้ว่าเป็นผู้ที่ได้เกี่ยวข้องผูกพันกับพระพุทธศาสนาและพระบรม
สารีริกธาตุตลอดมา เริ่มตั้งแต่เยาว์วัย-กลางวัย และวัยชราอันเป็นช่วงสุดท้ายของชีวิต อนึ่งเมื่อคราวพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในรัชกาลปัจจุบัน ได้เสด็จไปเยี่ยมพศกนิกรที่จังหวัดอุบลฯ เป็นครั้งแรกนั้น ได้มีโอกาสเป็นผู้ถาวายพิธีสู่พระขวัญซึ่งเป็นพิธีสำคัญอย่างยิ่งของพสกนิกรชาวจังหวัดอุบลราชธานี ที่น้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวายแด่องค์ประมุขแห่งชาติด้วย

มาเมื่อปี พ.ศ.2520 นายโพธิ์ ส่งศรี อายุได้ 90 ปี สังขารร่างกายและความจำต่าง ๆ ได้เริ่มเสื่อมถอยลงไปตามสภาวธรรม ลูก ๆ และหลานได้ปรึกษาหารือกันถึงความตั้งใจและเจตนาที่บิดาได้เคยปรารภไว้เมื่อก่อนว่า หากมีโอกาสก็มีความปรารถนาอย่างยิ่ง ที่จะชวนลุกหลายช่วยกันทำต้นเทียนพรรษาเพื่อถวายพระแก้วมรกต เป็นพุทธบูชาหนึ่ง และขอน้อมเกล้ากระหม่อมถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ด้วยพระบารมีปกเกล้าอีกหนึ่ง เพราะต้นเทียนนี้เป็นพุทธศิลปะอีกแบบหนึ่ง ซึ่งสมควรส่งเสริมและสนับสนุนให้คงรักษากันไว้เป็นประเพณีสืบไป มาในปี พ.ศ.2520 ลูก ๆ และหลานจึงได้ร่วมมือร่วมในกันประดิษฐ์และตกแต่งต้นเทียนขึ้นต่อหน้าพ่อ และได้
ประดิษฐ์ตกแต่งไปตามที่ได้เคยร่วมทำกันมาเมื่อสมัยก่อนเป็นจำนวน 2 ต้น น้อมเกล้าน้อยกระหม่อมถวาย เพื่อพระราชทานให้แก่วัดในเทศกาลพรรษา ตามแต่พระราชประสงค์

ตามข้อความที่บันทึกมาแล้วข้างต้นนั้น จะเห็นว่านายโพธิ์ ส่งศรี เป็นชาวอุบลที่มีความสัมพันธ์กับบุคคลหลายชั้นหลายอาชีพแม้เป็นเพียงชาวบ้านธรรมดา แต่ก็เป็นที่เคารพนับถือของชาวบ้านและข้าราชการตลอดทุกระดับ ทางราชการจะมีงานอะไรเกี่ยวข้องกับประเพณีขนบธรรมเนียมของชาวอุบล นายโพธิ์ ส่งศรี จะได้รับเกียรติเชิญเป็นที่ปรึกษาหารือตลอดมา สิ่งเหล่านี้ทำให้นายโพธิ์ ส่งศรี ภูมิใจมาก จึงได้พยายามอบรมสั่งสอนลูกหลายเสมอมา ว่าการทำงานให้ตั้งใจทำจริง ทำตนให้เป็นที่รักที่ไว้วางใจของผู้บังคับบัญชาแห่งตน ความดีนั้นต้องสนองเราไม่วัดใดก็วันหนึ่ง ข้างหน้า ทั้งให้เป็นผู้รู้จักมีกตัญญูกตเวที เคารพต่อบิดามารดาผู้นั้นย่อมมีความสุข
ตลอดไป

อีกประการหนึ่ง เลือดช่างอันเข้มข้นทุกแขนงของนายโพธิ์ ส่งศรี ยังตกทอดถึงชั้นลูกหลาน และได้ศึกษาเล่าเรียน ยึดเป็นอาชีพกันตลอดมา ตามความถนัดของแต่ละคนด้วยความสัตย์สุจริต โดยถือว่า “ซื่อกินไม่หมด คดกินไม่นาน”

ใส่ความเห็น