สวน คูณผล (ถึงแก่กรรมแล้ว)

คุณพ่อสวน คูณผล อดีตครูใหญ่โรงเรียนประจำตำบลปทุม “อุบลวิทยาคม” นอกจากเป็นครูใหญ่ที่เคร่งครัดต่อหน้าที่การงานจนเป็นที่เกรงขามแก่บรรดาศิษย์แล้ว ยังเป็นช่างฝีมือในการทำเทียนพรรษาเข้าประกวด ได้รับรางวัลชนะเลิศเป็นประจำ ได้รับการเขียนประวัติด้านเทียนพรรษาในหน้า 127 “หนังสืออุบลราชธานี 200 ปี และหนังสือ “เลิศล้ำเลอค่าเทียนพรรษาเมืองอุบล หน้า 66 และด้านผ้าทอเมืองอุบลฯ ในหน้า 156 หนังสือเล่มเดียวกันที่ระบุชื่อคุณแม่สงวนศักดิ์ คูณผล เป็นช่างทอผ้า และแหล่งทอผ้าในจังหวัดอุบลราชธานีนั้น ซึ่งโดยทั่วไปผู้ที่ออกแบบไหมมัดหมี่ ออกแบบผ้าซิ่นไหมยกเงิน ยกทอง (ผ้าเยียรบับ) ตลอดจนดำเนินการทุกขั้นตอน คือ คุณพ่อสวน คูณผล นี่เอง ได้ออกแบบไหมมัดหมี่ส่งให้ช่างทอผ้าตามบ้านต่าง ๆ ทอเสร็จแล้วส่งไปขายที่บริษัท ไทยอุตสาหกรรมและร้านเพิ่มภูษาไทย ที่กรุงเทพฯ ต่อมามีผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดอุบลฯ ชื่อ คุณหลวงอรรถไพศาลศรุดี ช่วงปี 2491-2494 ไปรับซื้อผ้าไหมที่ร้านด้วยตนเอง งานที่ภาคภูมิใจที่สุด คือ การออกแบบ “ผ้าซิ่นไหมเงินยกดอก ลายดอกพิกุล” ทูลเกล้าถวายพระบาทสมเจพระเจ้าอยู่หัวฯ และสมเด็จพระนางเจ้าฯ เนื่องในพระราชพิธีราชาภิเษกสมรส 28 เมษายน 2493 ในนามชาวอุบลราชธานี ซึ่งอีก 5 ปีต่อมา สมเด็จพระนางเจ้าฯได้ฉลองพระองค์ด้วยผ้าซิ่นนี้ เมื่อเสด็จเยี่ยมชาวอุบลฯ 17 พฤศจิกายน 2498 ซึ่งสมเด็จฯ รับสั่งว่า “นุ่งผ้าซิ่นของชาวอุบลฯ ให้คนอุบลฯ เขาดู”

นอกจากผลงานด้าน “การทำเทียนพรรษาและการผ้าทอ” แล้ว คุณพ่อสวน ยังมีฝีมือเกี่ยวกับ “งานศิลปหัตถกรรม”ทุกด้าน โดยเฉพาะแนวความคิดการออกแบบแต่ละชิ้นงาน แสดงออกถึง “ความสร้างสรรค์สูงมาก” เป็นที่ประทับใจผู้ชมผลงามตลอดมา จะเห็นได้ว่าผลงานที่ยังมีการกล่าวถึงแนวความคิดอันลึกซึ้งก็คือ “ภูมิปัญญาด้านศิลปหัตถกรรมในการประกวดการแต่งร้านงานฉลองรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2482 ”อนุชนรุ่นหลัง 68 ปี ต่อมา ได้นำผลงานเผยแพร่ด้วยความซาบซึ้งในฝีมือบรรพชนคนอุบลฯ ในครั้งนั้นเป็นอย่างยิ่ง โดยโครงการ “ฮักแพง-แปงอุบล” และหนังสือในวาระ “ครบรอบ 100 ปี โรงเรียนอุบลวิทยาคม” ในปี พ.ศ.2550

นายสวน คูณผล เป็นผู้มีฝีมือทางช่างและศิลปะหลายอย่าง ผลงานของท่านเท่าที่ทราบ มีดังนี้

  1. ผลงานด้านออกแบบก่อสร้าง เคยออกแบบร้านในงานฉลองรัฐธรรมนูญ ได้รับรางวัลชนะเลิศทุกปี ทั้งประเภทความคิดและประเภทสวยงาม
  2. ผลงานด้านการทำเทียนพรรษา ชนะเลิศทุกปี
  3. ผลงานด้านการทอผ้าและมัดหมี่ สามารถทอเป็นลวดลายต่าง ๆ ได้สวยงาม งานบางชิ้นสามารถทำได้ประณีต

ช่างฝีมือผู้เจริญรอยตามนายสวน คือ นางสงวน คูณผล ผู้เป็นภรรยา เดิมเคยรับราชการเป็นครู เช่นเดียวกับสามี และเป็นครูโรงเรียนเดียวกันด้วย งานฝีมือและงานศิลปะใดที่นายสวนทำจะได้นางสงวนทำได้อย่างเคียงบ่าเคียงไหล่ รวมทั้งการทำเทียนพรรษาด้วย

ในช่วงปี พ.ศ.2480-2494 เป็นช่วงที่ศิลปะการทำเทียนพรรษาและงานช่างศิลป์ต่าง ๆ ได้รับการทำนุบำรุงปรับปรุงเปลี่ยนแปลง ทั้งแนวความคิด รูปแบบ และองค์ประกอบด้านศิลปะในส่วนที่เกี่ยวกับการแห่เทียนพรรษา การใช้ล้อเลื่อนและเกวียนเข้าขบวนแห่เริ่มซบเซาลงมีการใช้รถเป็นพาหนะแทน การตกแต่งประดับประดารถและขบวนแห่ ก็สามารถทำได้พิสดารขึ้น

เมื่อครั้งที่นายสวน คูณผล ยังมีชีวิตอยู่ การทำเทียนพรรษามีชีวิตชีวามาก เพราะเป็นช่างฝีมือคนสำคัญ ประกอบกับภรรยาของท่านสามารถช่วยงานอีกแรงหนึ่งด้วย ครั้นเมื่อนายสวนได้เลิกราการทำเทียนไป วงการช่างทำเทียนพรรษาก็ซบเซา นางสงวน คูณผล ผู้เป็นภรรยาก็ยุ่งอยู่กับการประกอบอาชีพทางอื่น ช่างผู้มีฝีมือทางด้านนี้จึงหายาก ประกอบกับทางราชการก็ไม่ได้เห็นความสำคัญเท่าที่ควรครั้นเมื่อปี พ.ศ.2495 ได้มีการฟื้นฟูศิลปะด้านการทำเทียนพรรษาและการแห่เทียนพรรษาของจังหวัดอุบลราชธานีขึ้นใหม่ การประกวดเทียนพรรษาครั้งนั้น คณะกรรมการได้จัดการให้มีการประกวดต้นเทียน 2 ประเภท คือ

  1. ประเภทมัดรวมติดลาย
  2. ประเภทติดพิมพ์

ใส่ความเห็น