ปลูกหม่อน..เอาใบไปเลี้ยงหนอน

ชาวบ้านสมพรรัตน์จะปลูกหม่อนเลี้ยงไหมเพื่อทอผ้าไหมเอง เริ่มแรกชาวบ้านจะปลูกหม่อนพันธุ์พื้นเมือง ภายหลังเมื่อเกิดโครงการส่งเสริมการปลูกหม่อน ศูนย์ศิลปาชีพ อ.บุณฑริก จ.อุบลราชธานีขึ้น ซึ่งสนับสนุนโดย สำนักงานเกษตรอำเภอบุณฑริก ศูนย์หม่อนไหมเฉลิมพระเกียรติฯ อุบลราชธานี และองค์การบริหารส่วนตำบลหนองสะโน โครงการนี้จึงได้ส่งเสริมให้ชาวบ้านปลูกหม่อนพันธุ์บุรีรัมย์ 60 ซึ่งจะให้ผลผลิตได้มากกว่าพันธุ์พื้นเมือง โดยชาวบ้านที่เป็นสมาชิกของโครงการฯ จะได้รับการจัดสรรที่ดินที่อยู่ภายในศูนย์ศิลปาชีพซึ่งมีทั้งหมดจำนวน 25 ไร่ แบ่งให้สมาชิกจำนวน 32 ราย โดยการจับสลาก ชาวบ้านแต่ละรายจะปลูกและดูแลให้ต้นหม่อนเจริญเติบโตตามแปลงที่ได้รับการจัดสรร การปลูกหม่อนของชาวบ้านจะปล่อยให้ต้นหม่อนเจริญเติบโตเองตามธรรมชาติ และจะไม่ใช้สารเคมีโดยเด็ดขาดเพราะสารเคมีจะตกค้างและมีผลกระทบต่อการเลี้ยงหนอนไหม ชาวบ้านสมพรรัตน์จะทอผ้าไหมเป็นหลัก การปลูกหม่อนเลี้ยงไหมเองนั้นยังให้ผลผลิตน้อยไม่เพียงพอต่อการทอผ้า ผลิตภัณฑ์ผ้าไหมของชาวบ้านจึงใช้ทั้งเส้นไหมที่เลี้ยงเองและไหมจากโรงงาน

หม่อน (Mulberry) เป็นพืชอยู่ในวงศ์ Maraceae เป็นไม้ยืนต้นประเภทพุ่ม ลำต้นมีสีเขียวแก่หรือสีน้ำตาล มีตาข้างมากมาย ใบมีสีเขียวเข้ม ดอกตัวเมียเมื่อได้รับการผสมแล้วจะเปลี่ยนเป็นผล ซึ่งมีลักษณะเป็นผลรวม (aggregate fruit) หม่อนเป็นพืชกึ่งร้อน (subtropical) ซึ่งมีถิ่นกำเนิดอยู่ในแถบเอเชีย สามารถปลูกได้ทั่วไปในประเทศไทย เจริญเติบโตได้ดีที่สุดในฤดูฝน การเจริญเติบโตจะลดน้อยลงไปเรื่อย ๆ จนเข้าหน้าแล้ง พันธุ์หม่อนพื้นเมืองของไทยได้มีการรวบรวมไว้ ได้แก่ หม่อนน้อย หม่อนสร้อย หม่อนแดง หม่อนแก้วชนบท หม่อนไผ่ หม่อนคุนไพ หม่อนแก้วอุบล หม่อนใหญ่อุบล หม่อนตาดำ เป็นต้น หนอนไหมมีความสามารถในการเปลี่ยนโปรตีนจากใบหม่อนเป็นเส้นใยไหมได้ดีกว่าการเลี้ยงด้วยพืชชนิดอื่น ใบหม่อนเพียง 108-120 กิโลกรัม สามารถเปลี่ยนเป็นรังไหมได้ประมาณ 6-7 กิโลกรัม เมื่อนำมาสาวเป็นเส้นไหมจะได้ประมาณ 1 กิโลกรัม

การปลูกหม่อน บ้านสมพรรัตน์
ผลหม่อน

หม่อนพันธุ์บุรีรัมย์ 60

กรมหม่อนไหม ให้ข้อมูลไว้ว่า หม่อนพันธุ์บุรีรัมย์ 60 นั้นมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Morus alba l. หม่อนสายพันธุ์นี้เกิดจากการที่ผู้อำนวยการสถานีทดลองหม่อนไหมบุรีรัมย์ (คุณเธียรศักดิ์ อริยะ) และผู้อำนวยการสถานีทดลองหม่อนไหมศรีสะเกษ (คุณไชยยงค์ สำราญถิ่น) ได้นำท่อนพันธุ์หม่อนหมายเลข 44 มาจากสาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งเป็นพันธุ์ที่มีการเจริญเติบโตดี ใบใหญ่ หนา ข้อปล้องถี่ ให้ผลผลิตต่อไร่สูง แต่มีข้อเสีย คือ ขยายพันธุ์โดยใช้ท่อนพันธุ์ปักชำในแปลงโดยตรงไม่ได้ เพราะอัตราการออกรากต่ำ และหม่อนน้อย ซึ่งเป็นหม่อนพันธุ์พื้นเมืองที่เกษตรกรนิยมปลูกกันอย่างแพร่หลาย การเจริญเติบโตดี ขยายพันธุ์โดยการตัดกิ่งปักชำในแปลงได้โดยตรง ดังนั้น สถานีทดลองหม่อนไหมบุรีรัมย์ จึงได้นำหม่อนทั้ง 2 พันธุ์มาผสมพันธุ์กัน โดยมีเป้าหมายหลักในอันที่จะใช้ท่อนพันธุ์ปักชำหรือปลูกในแปลงโดยตรง จากการคัดเลือกลักษณะดีเด่นของหม่อนลูกผสมมากกว่า 36 พันธุ์ ปรากฏว่าหม่อนพันธุ์บุรีรัมย์ 60 (บร. 9) เป็นพันธุ์ที่มีอัตราการออกรากดี ให้ผลผลิตต่อไร่สูง ลักษณะใบอ่อนนุ่มเหมาะแก่การเลี้ยงไหมเป็นอย่างมาก

ลักษณะเด่นของบุรีรัมย์ 60

  1. มีผลผลิตต่อไร่สูง 4,327.96 กิโลกรัม/ไร่/ปี
  2. มีอัตราการออกรากสูงถึงร้อยละ 90 สามารถใช้ท่อนพันธุ์ที่มีอายุ ตั้งแต่ 6-10 เดือน ปักชำหรือ ปลูกในแปลงได้โดยตรง หรือใช้วิธีการติดตา เสียบกิ่ง หรือเสียบรากก็ได้
  3. การแตกกิ่งและการเจริญเติบโตอายู่ในเกณฑ์ดี โดยมีค่าเฉลี่ยของจำนวนกิ่ง หลังตัดต่ำ 8.9 กิ่ง/ต้น เมื่อหม่อนมีอายุ 2 ปีขึ้นไป และให้ความยาวของกิ่งหลังตัดต่ำเฉลี่ย 170.6 เซนติเมตร
  4. ลักษณะของใบ ใบไม่มีแฉก ขนาดใบใหญ่ หนา อ่อนนุ่ม ไม่เหี่ยวง่าย พื้นที่ใบมาก เป็นหม่อนเพศเมีย
  5. ลักษณะทรงพุ่มและการตัดแต่งกิ่งเป็นพันธุ์ที่มีทรงพุ่มดี มีลักษณะตั้งตรงหลังเก็บเกี่ยวหรือตัดแต่งกิ่ง มีการแตกกิ่งเร็วไม่พักตัวในทุกฤดูกาลจึงทำให้มีใบเลี้ยงไหมได้ตลอดปี
  6. เป็นพันธุ์ที่ปลูกได้ดีในทุกสภาพพื้นที่
  7. ตอบสนองต่อปุ๋ย
  8. ทนทานต่อโรคราแป้งและโรคใบด่างได้ดี

ข้อจำกัดของบุรีรัมย์ 60

  1. เป็นพันธุ์ที่ไม่เหมาะสมกับการปลูกในลักษณะพื้นที่ที่ดินมีความอุดมสมบูรณ์ต่ำ และพื้นที่ขาดการปรับปรุงบำรุงดิน หรือปริมาณน้ำฝนไม่เพียงพอ
  2. เมื่ออุณหภูมิต่ำกว่า15 องศาเซลเซียส จะมีการพักตัว

แหล่งเรียนรู้เพิ่มเติม

บรรณานุกรม

  • กรมหม่อนไหม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์. พันธุ์หม่อน-ไหม พันธุ์ดี. [แผ่นพับ]. กรุงเทพฯ : กรมหม่อนไหม
  • feng_shui (2550). “หม่อน”…หยาดเพชรในใจของทุกคน . [ออนไลน์]. สืบค้นจาก http://www.oknation.net/blog/print.php?id=29241.