ค้นหมี่..ทำเส้นพุ่ง

เส้นพุ่ง หมายถึง เส้นไหมตามแนวนอนของผืนผ้า ผ้าไหมมัดหมี่ที่มีลวดลายที่เส้นพุ่งนั้นเกิดจากการมัดลายที่เส้นพุ่งตามลวดลายที่ออกแบบ เมื่อทำการมัดเรียบร้อยแล้ว ก็จะนำไปย้อมสีที่ผู้ออกแบบลายได้กำหนดไว้ ซึ่งในการให้สีเส้นพุ่งนั้น ควรพิจารณาดูสีของเส้นยืนประกอบด้วย ถ้าสีของเส้นพุ่งกับเส้นยืนผสมกัน หรือพุ่งตัดกันจะต้องให้สีกลมกลืนกันให้อยู่ในโทนเดียวกัน เช่น สีดำและสีแดง เมื่อตัดกันแล้วก็จะเกิดเหลือบมันขึ้น แต่ถ้าเส้นยืนสีดำและเส้นพุ่งเป็นสีเขียวหรือฟ้า สีก็จะไม่เข้ากัน ทำให้ผ้าผืนนั้นได้สีที่ไม่สวยงามพอ

การค้นหมี่ ทำเส้นพุ่ง บ้านสมพรรัตน์
เส้นพุ่งสอดในกระสวย ถักทอเป็นผืนผ้

การค้นหัวหมี่หรือการเตรียมเส้นพุ่ง

เริ่มด้วยการเลือกลายก่อน แล้วทำการวัดความยาวของฟันหวีฟืม เช่น ถ้าใช้ขนาดของฟันหวี 42 นิ้ว ให้ใช้โฮงหมี่ขนาดน้อยกว่าฟันหวี 1 เซนติเมตร เพื่อให้หัวหมี่ที่มีขนาดสั้นกว่าความยาวของฟันหวี เพราะในขณะที่ทอผ้านั้นจะเกิดแรงตึงของเส้นพุ่ง ทำให้หน้ากว้างผืนผ้าของฟันหวี 42 นิ้ว นั้นมีขนาดเท่ากับความยาวของหัวหมี่พอดี ส่งผลให้ผ้าเรียบสม่ำเสมอทั้งผืนและไม่เกิดส่วนเกินของเส้นไหมทางเส้นพุ่งที่ริมขอบผืนผ้าทั้งด้านซ้ายและขวา หรือที่เรียกกันว่า ถั่วงอก

เริ่มการค้นหมี่ จะใช้อุปกรณ์ที่เรียกว่า เครื่องค้นหมี่หรือโฮงค้นหมี่ ซึ่งมีลักษณะเป็นกรอบไม้รูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าขนาดกว้าง 60-80 เซนติเมตร ยาว 1.02 เมตร (ความยาวเท่ากับความกว้างของผ้าที่ทอสำเร็จแล้ว) การค้นจะจัดแบ่งเส้นไหมออกเป็นลำแต่ละลำจะมีเส้นไหมเท่ากันยกเว้นลำแรกและลำสุดท้ายจะมีจำนวนเส้นไหมเท่ากับครึ่งหนึ่งของลำอื่น ๆ จำนวนลำหมี่จะขึ้นอยู่กับลายหมี่ อยู่ระหว่าง 21-65 ลำโดยจำนวนลำจะเป็นเลขคี่เสมอ มัดหมวดหมู่เส้นไหมด้วยเชือกฟาง

การค้นหมี่ ทำเส้นพุ่ง บ้านสมพรรัตน์
การค้นหมี่ ด้วยโฮงค้นหมี่

วิธีการค้นหมี่ จะเอาเส้นไหมที่เตรียมไว้แล้วมามัดกับหลักหมี่ด้านล่างก่อน แล้วพันรอบหลักหมี่ไปเรื่อย ๆ เรียกว่า การก่อหมี่ การค้นหมี่จะต้องค้นจากล่างขึ้นบน หรือบนลงล่างจนกว่าจะครบรอบที่ต้องการ จะเรียกแต่ละจำนวนว่าลูกหรือลำ ถ้าก่อหมี่ผูกเส้นไหมด้านขวา ก็ต้องวนซ้ายมาขวาทุกครั้ง ควรผูกเส้นไหมทุกลูกไว้ด้วยสายแนม เพื่อไม่ใหม่หมี่พันกันหรือหลุดออกจากกัน

การค้นหมี่ ทำเส้นพุ่ง บ้านสมพรรัตน์
มือหนึ่งหมุนโฮงค้นหมี่ อีกมือหนึ่งจับเส้นไหมเรียงเป็นลำ
การค้นหมี่ ทำเส้นพุ่ง บ้านสมพรรัตน์
เรียงเส้นไหมหลบไปหลบมา ให้เป็นลำตามลำดับ

การผูกสายแนม หรือการสาน หรือการไพลำไหม เพื่อแยกเส้นไหมแต่ละลำออกจากกันนั้น ถ้าเราไพแน่น จะมีผลทำให้การฟอกสีหรือย้อมสีเส้นไหมไม่ทั่วถึง เมื่อนำไปเส้นไหมนั้นไปทอจะได้ผืนผ้าที่ไม่เรียบ สีไม่สม่ำเสมอ เนื่องจากเส้นไหมที่ย้อมได้มีทั้งเส้นไหมอ่อนและแข็ง

การค้นหมี่ ทำเส้นพุ่ง บ้านสมพรรัตน์
ผูกสายแนม สานไจแยกเส้นไหมแต่ละลำ

การคำนวณจำนวนเส้นพุ่ง

ประภากร สุคนธมณี ได้นำเสนอสูตรในการคำนวณจำนวนเส้นพุ่งไว้ ซึ่งมีความแม่นยำประมาณ 95% โดยการคาดการจากความต้องการผ้าทอกี่เมตร ซึ่งจะทำให้ทราบจำนวนลำและจำนวนเส้นของเส้นพุ่งตามลำดับ ความคาดเคลื่อนที่เกิดขึ้นจากการคำนวณโดยใช้สูตรนี้เกิดจากหลาย ๆ ปัจจัย เช่น เกิดจากฝีมือการทอของช่างทอแต่ละคนที่เวลากระทบฟืมหนักเบาของมือไม่เท่ากัน ถ้ากระทบแน่นจำนวนเส้นต่อเซนติเมตรก็จะยิ่งมากขึ้น หรือเกิดจากความหนาบางของเส้นไหม ถ้าเป็นไหมหลืบหรือไหมเปลือกจะมีความแตกต่างของเส้นไหมที่ไม่แน่นอน เป็นต้น

จำนวนลำ = (ความกว้างของลวดลายที่ต้องการ x เส้นพุ่ง) / จำนวนเส้นต่อ 1 ลำ

ความกว้างของลวดลายที่ต้องการ (เซนติเมตร) พิจารณาจากแบบร่างที่ออกแบบไว้ว่าต้องการให้แต่ละลายมีความกว้างเท่าใดในผืนผ้า ตัวอย่างเช่น ผ้าหนึ่งผืนจะทอให้มีความยาว 200 เซนติเมตร ต้องการทอดอกไม้ 1 ดอก ให้มีขนาด 30 เซนติเมตร ดังนั้นความกว้างของลาย คือ 30 เซนติเมตร

เส้นพุ่ง พิจารณาจากประเภทของเส้นไหมที่จะใช้ทำเส้นพุ่ง ถ้าเป็นไหมน้อย ให้นำ 24 มาเป็นตัวคูณ ถ้าเป็นไหมเปลือกหรือไหมหลืบให้นำ 15 มาเป็นตัวคูณ ไหมน้อยจะมีขนาดเส้นที่เล็กและละเอียดกว่าไหมเปลือก ใน 1 เซนติเมตร ไหมน้อยจะมีจำนวนเส้นเยอะกว่าไหมเปลือกโดยประมาณ (ไหมน้อยจะทอได้ 24 เส้นต่อ 1 เซนติเมตร ส่วนไหมเปลือกจะทอได้ 15-16 เส้นต่อ 1 เซนติเมตร)

จำนวนเส้นต่อ 1 ลำ ใน 1 ลำ จะใช้ไหมเส้นพุ่งตั้งแต่ 2,4,6,8,10 เส้น หรือมากกว่าก็ได้ แต่ต้องเป็นจำนวนคู่ ยิ่งจำนวนเส้นต่อลำมีน้อยจะทำให้มีความละเอียดมากเท่านั้น

หมายเหตุ : สูตรการคำนวณนี้เหมาะกับการสร้างลายผ้าที่เป็นลายประยุกต์ที่ทั้งผืนผ้ามีลายเดียวมากกว่าลายดั้งเดิมที่ทอซ้ำ ๆ กันทั้งผืน 

ถ้าเป็นลายดั้งเดิมใน 1 ลายจะกว้างประมาณ 5-10 เซนติเมตร หรือมากน้อยกว่านี้ก็แล้วแต่ จะทอซ้ำ ๆ กันไปจนจบผืน การซ้ำกันของลายจะเกิดขั้นตอนของการค้นหมี่ ที่เรียกว่า “ขีน” หรือการไขว้กันของเส้นไหมระหว่างการค้น ลายที่ต้องการทอซ้ำกันจะค้นหมี่ให้ขีนกัน เพื่อให้เกิดการซ้ำของลวดลาย เวลามัดลายก็จะมัดเพียงครั้งเดียว (1 ขีน สามารถทอออกมาได้ 2 ลาย ถ้าต้องการลายซ้ำ ๆ 20 ลาย ก็ต้องนับขีนระหว่างการค้นหมี่ให้ได้ 10 ขีน)

การค้นหมี่ ทำเส้นพุ่ง บ้านสมพรรัตน์
เส้นไหมไขว้กัน เรียกว่า “ขีน”

การค้นหมี่เพื่อทำผ้าไหมลายดั้งเดิมจะมีจำนวนลำอยู่ที่ 25-35 ลำ ลำละ 4 เส้น (ลายจะกว้างประมาณ 8 เซนติเมตร) เพราะตัองการความละเอียดของลายมาก สมมุติว่ามี 31 ลำก็จะนับตั้งแต่1-31 ลำกับหน้าของหลักค้นหมี่ พอครบ 31 ลำ ก่อนนับย้อนให้นับซ้ำที่ 31 อีกครั้ง แล้วนับย้อน 30-29-28-27… ลงมาเรื่อย ๆ จนสิ้นสุดการนับ 1 ทำให้เส้นไหมทั้งขาไปขากลับทับซ้อนกัน ซึ่งเรียกว่าขีน 1 ขีน จะทอได้ 2 ลายที่เหมือนกัน ผืนหนึ่งจะใช้ประมาณ 10 ขีน ก็จะมี 20 ลายซ้ำ ๆ กันทั้งผืนผ้า

บรรณานุกรม

  • ประภากร สุคนธมณี. (2551). เรื่องราวความนุกสนานของการทอผ้าไหมมัดหมี่. กรุงเทพฯ : ภาควิชาประยุกตศิลปศึกษา คณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร.
  • ศิริพร บุญชู และนันทวรรณ รักพงษ์. (2555). ภูมิปัญญาการผลิตเส้นไหมไทยพื้นบ้านอีสาน. กรุงเทพฯ : กรมหม่อนไหม.