การสืบอายุพระศาสนา

เรื่องสืบอายุพระศาสนานี้ ผมจะพูดกับผู้เป็นเจ้านาคที่จะบวชเป็นพระทุกคราวไป ขอให้บวชเป็นการปฏิบัติของตนเป็นการแทนพระคุณบิดามารดา แล้วก็ให้เป็นการสืบอายุ พระศาสนา บวชกี่วันกี่เดือนก็ตามใจ ให้มันเป็นการสืบอายุพระศาสนาเสมอไป บวชตลอดไปก็สืบตลอดไปจนสิ้นชีวิต แต่ถ้าบวชได้เพียงปีเดียว เดือนเดียว ก็สืบตามจำนวนปีจำนวนเดือน ขอให้การบวชนั้นเป็นการสืบอายุพระศาสนาด้วย ทีนี้ก็จะพูดให้มันหมดจดสิ้นเชิงว่าให้ทุกคนสืบอายุพระศาสนาได้ด้วยกันทั้งนั้น แม้ไม่ใช่เป็นผู้บวชเป็นภิกษุ ภิกษุณี อะไรนี้ ก็ให้เป็นการสืบอายุพระศาสนาได้ด้วยกันทั้งนั้น เพราะว่าการสืบอายุพระศาสนานั้น มันไม่ได้มีแต่เรื่องการเผยแผ่ สั่งสอนอย่างเดียว มันต้องกินความไปถึงการช่วยเหลือให้ทำอย่างนั้นได้ด้วย ถ้าไม่มีการช่วยเหลือให้ทำอย่างนั้น มันก็ไม่มีการเผยแผ่ ทีนี้ขอให้นึกให้ไกลไปถึงว่า สืบกันมาอย่างไร พระพุทธเจ้าทุกพระองค์ ได้สืบพระพุทธศาสนาต่อ ๆ กันทุก ๆ พระองค์ ท่านสอนเรื่องเดียวกัน ไม่แตกต่างกันเลย คือสอนเรื่องความทุกข์กับความดับทุกข์ ขยายออกอีกก็เป็นเรื่อง อริยสัจทั้งสี่ พระพุทธเจ้าทุกพระองค์สอนสืบกันมาอย่างเดียวกันหมดเลย การสืบอายุพระศาสนา เป็นพระพุทธประสงค์ ขอให้ทำไปเพื่อประโยชน์ทุกฝ่าย ตนเองได้รับประโยชน์ก่อน แล้วผู้อื่นก็ได้รับประโยชน์ แล้วสนองพระพุทธประสงค์ เพราะพระพุทธองค์ทรงประสงค์อย่างยิ่งว่าสาวกทั้งหลายจะช่วยกันสืบอายุพระศาสนา มารเคยมาทูลให้นิพพาน พระพุทธเจ้าตรัสตอบว่า ตลอดเวลาที่สาวกภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ยังไม่รู้ธรรมะยังไม่บอกเล่าธรรมะแก่กันและกันได้ ไม่ช่วยเหลือซึ่งกันและกันให้ออกจากทุกข์ได้ เราจะยังไม่ปรินิพพาน อ่านต่อ…

พุทธทาสภิกขุ. (2536). การสืบอายุพระศาสนา. ม.ป.ท. : ม.ป.พ.