สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (มานิต ถาวโร)

สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (มานิต ถาวโร)

สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (มานิต ถาวโร) เป็นพระสุปฏิปันโนที่ได้ชื่อว่า “ผู้ปักธง กัมมัฏฐาน กลางมหานคร” มีวัตรปฏิบัติเรียบง่าย งดงาม น่าเลื่อมใส ดุจเดียวกับพระกัมมัฏฐาน ที่ครั้งหนึ่งเคยเดินธุดงค์ไปบนเส้นทางเดียวกับพระกัมมัฏฐานสายหลวงปู่มั่นภูริทตฺโต เน้นการปฏิบัติภาวนาพร้อมกับการปฏิบัติเคร่งครัดตามพระธรรมวินัย ก่อนจะหันเหชีวิตมุ่งหน้าสู่การเรียนพระปริยัติธรรมตามแนวทาง “คันถธุระ” จนประสบผลสำเร็จสูงสุด ได้เปรียญธรรม 9 ประโยค และได้น้อมนำหลักธรรมคำสอนของพระพุทธองค์มาสู่การปฏิบัติ อบรมสั่งสอนพุทธบริษัท บริหารการคณะสงฆ์ นำความ
เจริญรุ่งเรืองให้กับพระพุทธศาสนาโดยรวม มีความเป็นพระวิปัสสนาธุระและพระคันถธุระไปพร้อมกัน สามารถ
ผสมผสานองค์ความรู้ทางด้านทฤษฎี (คันถธุระ) และองค์ความรู้ด้านปฏิบัติ (วิปัสสนาธุระ) ได้อย่างลงตัวและเหมาะสมสมควรได้รับการยกย่อง สรรเสริญ เชิดชูเป็น “ปราชญ์” ของชาวอุบลราชธานีอย่างแท้จริง

สมเด็จพระมหามุนีวงศ์ (สนั่น จนฺทปชฺโชโต)

สมเด็จพระมหามุนีวงศ์ (สนั่น จนฺทปชฺโชโต)

สมเด็จพระมหามุนีวงศ์ (สนั่น จนฺทปชฺโชโต ) เป็นผู้มีความขยันหมั่นเพียร ใฝ่รู้ ใฝ่เรียน เป็นผู้ “คิดกว้าง คิดไกล ใฝ่ดี” ท่านสามารถสอบเปรียญธรรม 3 ประโยค ได้ตั้งแต่ยังเป็นสามเณรและสอบเปรียญธรรม 9 ประโยคได้ในที่สุด ซึ่งหาได้ไม่ง่ายนัก นอกจากนั้นก็เรียนภาษาต่างประเทศจนสามารถ ฟัง พูด อ่าน เขียนภาษาอังกฤษ ภาษาฝรั่งเศส และภาษาเยอรมันได้เป็นอย่างดี ท่านได้ดำรงตำแหน่งที่สำคัญและมีผลงานมากมาย ได้แก่ เป็นเจ้าคณะภาค 8 และภาค 10 (ธ) เป็นสมาชิกสังฆสภา เป็นครูสอนพระปริยัติธรรมในสeนักวัดต่าง ๆ เป็นกรรมการ มหามกุฏิราชวิทยาลัย กรรมการ
ตรวจธรรมและบาลีสนามหลวง เป็นกรรมการตรวจชำระพระไตรปิฎก สร้างศาสนสถานและศาสนวัตถุที่สำคัญ เป็นผู้ที่รักถิ่นเกิดและวิถีชีวิต ขนบธรรมเนียมประเพณี ศิลปวัฒนธรรมและวรรณคดีอีสาน ท่านได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นสมเด็จพระราชาคณะที่ “สมเด็จพระมหามุนีวงศ์” ซึ่งนับเป็นสมเด็จพระราชาคณะรูปที่ 3 ของจังหวัดอุบลราชธานี จึงเห็นสมควรยกย่องเชิดชูเกียรติ ให้เป็น “ปราชญ์” ของเมืองอุบลราชธานี

พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (จันทร์ สิริจันฺโท)

พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (จันทร์ สิริจันฺโท)

พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (จันทร์ สิริจนฺโท) ผลงานโดดเด่นของท่าน ได้แก่ การก่อตั้งวัด การปกครองวัดในฐานะเจ้าอาวาส การปกครองคณะในฐานะเจ้าคณะมณฑล การตั้งโรงเรียน “อุบลวิทยาคม” โรงเรียนสอนหนังสือไทยแห่งแรกที่จัดสอนอย่างเป็นระบบที่ได้จัดตั้งขึ้นในเมืองอุบลราชธานีที่วัดสุปัฏนาราม และจัดตั้งโรงเรียนสอนหนังสือไทยขึ้นในวัดต่าง ๆ ในบริเวณเมืองอุบลราชธานีและเมืองใกล้เคียงอีกเป็นหลายโรงเรียน ท่านได้ประพันธ์ร้อยแก้วและร้อยกรองว่าด้วยกาพย์ต่าง ๆ เพื่อให้ความรู้ ให้คติสอนใจด้วยถ้อยคำไพเราะ และท่านยังเป็นนักเทศน์ เป็นผู้เคร่งครัดในภารกิจ
พระสงฆ์ ท่านจะแสดงพระธรรมเทศนาอบรมสั่งสอนประชาชนอย่างสม่ำเสมอโดยเฉพาะ ในวันธรรมสวนะในระหว่างเข้าพรรษา คำบรรยายในการแสดงพระธรรมเทศนาดังกล่าวคณะศิษยานุศิษย์น่าไปจัดพิมพ์เผยแผ่กว่าร้อยเรื่อง

พระครูวิเวกพุทธกิจ (เสาร์ กนฺตสีโล) วัดดอนธาตุ

พระครูวิเวกพุทธกิจ (เสาร์ กนฺตสีโล) วัดดอนธาตุ

พระครูวิเวกพุทธกิจ (เสาร์ กนฺตสีโล) เป็นพระภิกษุฝ่ายธรรมยุติกนิกาย ชาวจังหวัดอุบลราชธานี ผู้เป็นบูรพาจารย์สายพระป่าในประเทศไทย ท่านเป็นอาจารย์ของพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต เป็นพระนักปฏิบัติที่อ่อนน้อม สุขุม พูดน้อย เคร่งครัดในพระธรรมวินัย ท่านได้ธุดงค์ปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานไปตามป่าดงพงเขาทั้งในประเทศไทยและประเทศลาว ได้รับยกย่องเป็น “ปรมาจารย์สายพระกรรมฐาน”

พระอาจารย์สีทา ชยเสโน วัดศรีอุบลรัตนาราม

พระอาจารย์สีทา ชยเสโน วัดศรีอุบลรัตนาราม

พระอาจารย์สีทา ชยเสโน ท่านมีฝีมือทางการช่าง โดยการแกะสลักไม้ ประตูหน้าต่างที่สำคัญท่านได้เอาใจใส่ในวิปัสสนาธุระ ท่านเป็นพระกรรมวาจาจารย์ ของหลวงปู่เสาร์ กันตสีโล และหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต ท่านเป็นเจ้าอาวาสวัดศรีทอง (วัดศรีอุบลรัตนาราม) วัดใต้ และวัดบูรพา จังหวัดอุบลราชธานี

พระอาจารย์มั่น ภูริทัตตเถระ วัดภูหล่น

พระอาจารย์มั่น ภูริทัตตเถระ วัดภูหล่น

พระอาจารย์มั่น ภูริทัตตเถระเป็นพระภิกษุฝ่ายธรรมยุติกนิกาย ชาวจังหวัดอุบลราชธานี ผู้เป็นบูรพาจารย์สายกรรมฐานพระป่า ท่านปฏิบัติตนตามแนวทางคำสอนของพระวินัยสงฆ์ และยึดถือธุดงควัตรด้วยจริยวัตรอย่างเคร่งครัด ท่านได้วางแนวทางในการปฏิบัติสมถะและวิปัสสนาตามหลักธรรมคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาพุทธเจ้าให้แก่คนทั่วไปอย่างกว้างขวาง จนมีพระสงฆ์และฆราวาสเป็นลูกศิษย์จำนวนมาก แนวคำสอนของท่านเป็นที่รู้จักกันดี มีผู้สนใจในธรรมปฏิบัติได้ติดตามศึกษา อบรมจิตใจมากมาย ศิษยานุศิษย์ของท่าน ได้แพร่กระจายไปทั่วทุกภาคของประเทศไทย ธรรมะของหลวงปู่มั่นเป็นธรรมะที่ออกมาจากใจ เฉียบคมเต็มไปด้วยข้อคิด ปัญญา เป็นมรดกตกทอดมาให้ลูกหลานชาวพุทธจนถึงทุกวันนี้