ประเพณีส่วงเฮือ

การส่วงเฮือเป็นกีฬาของชาวอีสานโบราณที่มีภูมิลำเนาอยู่ใกล้ลำห้วย ลำคลอง หนอง บึง แม่น้ำ อาจเป็นคนในหมู่บ้านละแวกเดียวกันหรือไกลออกไป แต่มีเส้นทางคมนาคมทางน้ำติดต่อกันเพื่อสะดวกในการเดินทางไปมาหาสู่กัน

เฮือส่วง (เรือแข่ง) ได้จากวัด ไม่มีการซื้อขาย เกิดจากแรงศรัทธาบุกป่าฝ่าดงลึกเข้าไปตัดไม้ชักลากลงมาแล้วจึงปลูกโฮงเฮือน (โรงเรือน) เก็บรักษาไว้ที่วัด เฮือส่วงที่ได้จากหมู่บ้านที่ไม่มีวัดแต่ปรารถนามีไว้สำหรับใช้เส็ง (แข่งขัน) กับหมู่บ้านอื่นๆ จึงร่วมกันลงแขก ค้นหา สรรหา หรือซื้อหา

การขุดเฮือส่วง ในสมัยโบราณการขุดเฮือส่วงใช้ไม้เนื้อแข็งในการขุดเรือ ได้แก่ไม้จิก (ไม้เต็ง) ไม้แคน (ตะเคียน) ทั้งนี้ช่างขุดส่วนใหญ่ให้ความเห็นตรงกันว่าไม้แคนเป็นไม้ที่เหมาะสมเพราะขนาดยาวใหญ่ เนื้อแน่น ลักษณะคงทน สามารถอยู่ในน้ำได้นานหลายปี เฮือส่วงขนาดใหญ่บางลำมีขนาดยาวเกือบ 30 เมตร

การเล่นส่วงเฮือ เล่นในเทศกาลออกพรรษา เพราะชาวนาหมดภาระการทำนา พระภิกษุสามเณรออกพรรษา แล้วมีประเพณีปล่อยเฮือไฟ (เรือไฟ) หรือไหลเฮือไฟควบคู่กันไป ปัจจุบันจังหวัดต่าง ๆ ในภาคอีสานที่มีแม่น้ำสายสำคัญไหลผ่านมีเฮือส่วงไว้สำหรับเส็งในเทศกาลออกพรรษา ประเทศเพื่อนบ้าน เช่น สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวได้เชื่อมสัมพันธไมตรีกับประเทศไทยโดยการเส็งเฮือส่วงกันเกือบทุกปี

การเดินทางไปแข่งขันยังท้องถิ่นอื่นเพื่อเป็นสิริมงคลและเอาฤกษ์เอาชัยพึงมีพิธีกรรมเกี่ยวกับเฮือส่วง ซึ่งหัวหน้าคณะควรดำเนินการก่อนนำไปแข่งขัน ส่วนสิ่งของที่มช้ในพิธีกรรมประกอบด้วย ข้าวตอกดอกไม้บูชาบนหัวเรือ มีขันห้า ขันหมากเบ็งซ้ายขาว มีหมอนใบเล็กๆ วางไว้บนหัวเรือ มีสาด (เสื่อ) หมอนปู มีพระพุทธรูปวางหากไม่มีพระสงฆ์นั่งที่หัวเรือ

การแข่งขัน เป็นเรื่องของฝีพายหนุ่ม ๆ ที่ได้รับการคัดเลือกและฝึกซ้อมเป็นอย่างดี หลังจากแข่งขันเสร็จแล้วฝ่ายแพ้หรือชนะย่อมขึ้นจากเรือ นำด้วยฆ้อง กลอง ฉาบ พร้อมคนร้องรำทำเพลง เป็นการเล่นที่สนุกสนานไม่ถือเขาถือเราเหมือนกับคำกล่าวที่ว่า "ตกตาเล่น เล่นให้มันม่วน ตกตากวน กวนสาให้มันขุ่น กวนขุ่นแล้ว ซิวกุ้งหากซิงอม" หมายความว่าเล่นอะไรก็เล่นให้มันสนุก ให้มันถึงที่ถ้าคิดจะเล่น

boat_rally (1) boat_rally (2)  boat_rallyboat_rally (3) แข่งเรือ