เรื่องผีในอีสาน: ความเชื่อและพิธีกรรมที่เกี่ยวข้องกับผีของกลุ่มชาติพันธุ์ลาว เขมร ส่วย และเวียดนามที่อาศัยอยู่ในบริเวณอีสานใต้ของประเทศไทย

หัวหน้าโครงการ : ชาญชัย คงเพียรธรรม

ผู้ร่วมรับผิดชอบโครงการ : สิริวงษ์ หงษ์สวรรค์, อภินันท์ สงเคราะห์

ชาวไทยเชื้อสานเขมรที่อาศัยอยู่ในบริเวณอีสานใต้มีความเชื่อเรื่องผีและนับถือผีมาก่อนที่จะนับถือศาสนาพราหมณ์และศาสนาพุทธ ชาวไทยเชื้อสายเขมรเรียกผีว่า “โขมจ” และแบ่งผีออกเป็น 3 กลุ่มด้วยกัน คือ 1)ผีดี ผีกลุ่มนี้ถ้าเซ่นดีพลีถูกก็จะให้คุณ แต่ถ้าไม่ดีก็จะให้โทษ เช่น ผีเนียะตา ผีอารักษ์ เป็นต้น 2) ผีร้าย ผีกลุ่มนี้มีแต่ให้โทษแก่มนุษย์ เช่น ผีอ๊าบ ผีทฺมบ ผีจอตฺวง เป็นต้น และ 3) ผีไม่ดีไม่ร้าย เช่น ผีกระจอกงอกง่อย เป็นต้น วิถีชีวิตคนไทยเชื้อสายเขมรมีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับผีตั้งแต่เกิดจนตาย ความเชื่อเรื่องผีทำให้สายสันพันธ์ในครอบครัวสนิทแนบแน่นขึ้น เพราะในช่วงเดือนสิบทางจันทรคติของทุกปี คนไทยเชื้อสายเขมรจะทำพิธี “แซนโฎนตา” เพื่อแสดงกตัญญูกตเวทิตาต่อบรรพชนผู้ล่วงลับ ลูกหลานไม่ว่าจะอยู่แห่งหนใดจะพากันกลับบ้านเพื่อเข้าร่วมพิธีนี้ ความเชื่อเรื่องผีทำให้ชุมชนเข้มแข็ง เพราะในแต่ละชุมชนจะจัดพิธี “แซนเนียะตา” ขึ้นในช่วงเดือน 6 ก่อนฤดูทำนาจะมาถึง เชื่อกันว่า เนียะตาเป็นผู้คุ้มครองคนในชุมชนให้อยู่เย็นเป็นสุข ฝนฟ้าตกต้องตามฤดูกาล พืชพันธุ์ธัญญาหารอุดมสมบูรณ์ คนในชุมชนต่างร่วมแรงร่วมใจจัดงานดังกล่าว เพราะถือว่า ต่างก็มีเนียะตาตนเดียวกันเป็นศูนย์รวมจิตใจความเชื่อเรื่องผีช่วยสร้างแปงเมือง เห็นได้จากการยกวีรบุรุษในท้องถิ่นขึ้นเป็นผีบ้านผีเมือง เช่น เชียงปุม หรือพระยาสุรินทร์ภักดีณรงค์จางวาง อดีตเจ้าเมืองสุรินทร์ เป็นต้น

ความเชื่อเรื่องผีของคนไทยเชื้อสายส่วยที่อาศัยอยู่ในบริเวณอีสานใต้มีความเชื่อเรื่องผีไม่แตกต่างจากชาวไทยเชื้อสายเขมร คนไทยเชื้อสายส่วยเรียกผีว่า “กะโมจ” “มาร” หรือ “คอล” และแบ่งผีออกเป็น 3 กลุ่ม คือ 1) ผีดี เช่น ผีมอ ผีปะกำอะจีง เป็นต้น 2) ผีร้าย เช่น ผีมะนะห์ ผีจฺราบ เป็นต้น และ 3) ผีที่ไม่ดีไม่ร้าย เช่น ผีอะตุ๊บอะตั๊บ เป็นต้น เช่นเดียวกับคนไทยเชื้อสายเขมรมีการจัดพิธี “แซนยุจุ๊” เหมือนที่คนไทยเชื้อสายเขมรมีพิธีแซนเนียะตา มีการเล่นผีมอ หรือแกล มอ เพื่อรักษาโรคภัยไข้เจ็บ เหมือนที่คนไทยเชื้อสายเขมรมีการเล่นผีเมมด แต่มีผีอยู่ชนิดหนึ่งที่มีเฉพาะในกลุ่มชาวไทยเชื้อสายส่วยเท่านั้น คือ “ผีปะกำอะจีง” ซึ่งเป็นที่เคารพนับถือกันในกลุ่มที่เลี้ยงช้างเท่านั้น ไม่พบในส่วยกลุ่มที่ทำนาหรือตีเหล็กแต่อย่างใด (คำว่า “ปะกำ” หมายถึง เชือกหนัง ที่ทำมาจากหนังควาย ส่วนคำว่า “อะจีง” นั้นเป็นภาษาส่วย แปลว่า ช้าง ปะกำอะจีง จึงแปลว่า เชือกคล้องช้าง) ชาวไทยเชื้อสายส่วยจะไหว้ผีปะคำอะจีงก่อนออกไปคล้องช้าง เมื่อคล้องช้างได้แล้วก็จะเซ่นไหว้อีกครั้งหนึ่ง หรือเมื่อต้องนำช้างออกไปจากหมู่บ้าน เช่น พาช้างไปขอทานที่กรุงเทพฯ ก็ต้องเซ่นไหว้ ปัจจุบันมีการเซ่นไหว้ในพิธีแต่งงานด้วย ทำให้ความเชื่อเรื่องผีปะกำอะจีงยังดำรงอยู่ แม้ว่าคนไทยเชื้อสายส่วยหลายครอบครัวจะเลิกเลี้ยงช้างไปแล้วก็ตาม

คำว่า ผี หรือวิญญาณในกลุ่มชาติพันธุ์ไทยลาว มี 2 ความหมาย ความหมายแรก ผี หมายถึงวิญญาณผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว แต่ยังไม่ได้ไปเกิด เพราะต้องคอยปกปักรักษาคุ้มครองลูกหลายและคนในสายตระกูล และความหมายที่สอง หมายถึง วิญญาณที่ปรากฏทั่วไปซึ่งให้คุณและโทษแก่มนุษย์ โดยภาพรวมแล้วพอจะจำแนกผีตามความเชื่อของชาวไทยลาวออกเป็น 3 ประเภท คือ 1) ผีชั้นสูง หรือผีดี ได้แก่ จำพวก “เทพ” หรือ “เทวดา” 2) ผีชั้นกลาง หรือผีกึ่งดีกึ่งร้าย ซึ่งแบ่งได้หลายกลุ่ม ได้แก่ ผีประจำหมู่บ้าน ผีประจำเมือง ผีบรรพบุรุษ ผีวีรบุรุษ เป็นต้น และ 3) ผีชั้นต่ำ หรือผีร้าย ซึ่งแบ่งออกได้เป็นผีร้ายที่มีอยู่ในธรรมชาติทั่วไป เช่น ผีพราย ผีร้ายที่ปรากฏทั่วไป เช่น ผีกระสือ ผีปอบ และผีร้ายที่อยู่ในนรก เช่น ผีเปรต ความเชื่อเรื่องผีของกลุ่มชาติพันธุ์ไทยลาว ก่อให้เกิดพิธีกรรมมากมาย เพื่อเป็นการเซ่นสรวงบูชาและวิงวอนให้ผีที่ตนนับถือได้ช่วยเหลือให้พ้นจากเหตุร้ายต่าง ๆ และดลบันดาลให้ชีวิตประสบแต่ความสุขความเจริญ ความหวังในสิ่งที่ปรารถนา โดยภาพรวมแล้วพอจะจำแนกพิธีกรรมเกี่ยวกับการนับถือผีของชาวไทยลาวออกอย่างกว้าง ๆ ได้เป็น 2 ลักษณะใหญ่ ๆ คือ 1) พิธีกรรมเกี่ยวกับการประกอบอาชีพ เช่น พิธีกรรมเกี่ยวกับการทำนา เป็นต้น และ 3) พิธีกรรมที่เกี่ยวกับการดำรงชีวิต เช่น พิธีกรรมเกี่ยวกับการรักษาโรค เป็นต้น

ความเชื่อและพิธีกรรมที่เกี่ยวข้องกับผีของกลุ่มชาติพันธุ์เวียดนามที่อาศัยอยู่ในบริเวณอีสานใต้ของประเทศไทย พบว่า ประเภทของผีที่กลุ่มชาติพันธุ์เวียดนามหรือคนไทยเชื้อสายเวียดนาม ซึ่งในงานเขียนดังกล่าวผู้เขียนใช้คำว่า “เหวียด เกี่ยว” (Overseas Vietnamese) ให้ความเคารพและกราบไหว้บูชามากที่สุดคือ “ผีบรรพบุรุษ” เนื่องจากเชื่อว่าการมีหิ้งบูชาเพื่อไหว้บรรพบุรุษในบ้านเป็นการแสดงความกตัญญูรู้คุณต่อบรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว รวมทั้งยังเป็นการบูชาเพื่อขอพรให้บรรพบุรุษช่วยปกปักรักษา และดูแลลูกหลานให้ปลอดภัยและเจริญรุ่งเรืองในภายภาคหน้าด้วย ส่วนการไหว้ผีชนิดอื่น ๆ เช่น ผีบ้าน ผีเรือนหรือเทพธรณี (คนไทยเรียกพระแม่ธรณี) จะมีการไหว้เพียงบางกลุ่มเท่านั้น ซึ่งแตกต่างจากที่เวียดนามที่จะมีการไหว้ผีบรรพบุรุษและเทพธรณีควบคู่กันไป ส่วนผีประจำหมู่บ้านก็ไม่ได้มีเหมือนที่เวียดนามแล้ว หากไหว้ก็จะไหว้ผีประจำหมู่บ้านตามแบบไทย ส่วนพิธีกรรมที่เกี่ยวข้องกับความเชื่อเรื่องผีที่ยังคงอนุรักษ์ไว้อยู่ คือ ฌาปนกิจศพ ส่วนพิธีกรรมบางอย่าง เช่น การทรงเจ้า จะทำเฉพาะกลุ่มเท่านั้น ดังนั้น ความเชื่อและพิธีกรรมที่เกี่ยวข้องกับผีของเหวียด เกี่ยวในจังหวัดอุบลราชธานีจึงมีทั้งความเชื่อและพิธีกรรมที่ยังสมารถอนุรักษ์ไว้ตามแบบฉบับของเวียดนาม แต่หลายอย่างก็เปลี่ยนไปตามกาลเวลา เนื่องจากพวกเขาได้เข้ามาอาศัยอยู่ที่ประเทศไทยเป็นเวลานานแล้ว จึงได้รับอิทธิพลความเชื่อและพิธีกรรมเรื่องผีจากคนไทย โดยเฉพาะไทยอีสานผสมผสานเข้าไปด้วย

 

รายละเอียดเพิ่มเติม : เรื่องผีในอีสาน: ความเชื่อและพิธีกรรมที่เกี่ยวข้องกับผีของกลุ่มชาติพันธุ์ลาว เขมร ส่วย และเวียดนามที่อาศัยอยู่ในบริเวณอีสานใต้ของประเทศไทย รายงานโครงการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ปี 2556