การเก็บรักษาพันธุกรรมและขยายพันธุ์กล้วยไม้สกุลม้าวิ่ง

หัวหน้าโครงการ : กาญจนา รุ่งรัชกานนท์

ผู้ร่วมโครงการ : ศรีประไพ ธรรมแสง, ภาคภูมิ สืบนุการณ์, วรงค์ นัยวินิจ

Doritis (5)

กล้วยไม้สกุลม้าวิ่ง (Doritis) หรือ หญ้าดอกหิน ละเม็ด แต่นิยมเรียกว่าม้าวิ่ง เป็นกล้วยไม้ประเภท Monopodium พบตามพื้นดิน หรือบนหินที่มีอินทรียวัตถุทับถมกันหนา ๆ (Lithophytic orchid) มีลักษณะใบแบน สีเขียว หรือเขียวอมม่วง ดอกมีสีแดงอมม่วง พบกระจายพันธุ์อยู่ในพม่า ไทย อินโดจีน และสุมาตรา กล้วยไม้สกุลม้าวิ่งเป็นกล้วยไม้สกุลเล็ก ๆ มีไม่กี่ชนิดในโลก ชนิดที่มีการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยและเป็นที่รู้จักกันดี คือ กล้วยไม้ม้าวิ่ง (Doritis pulcherrima) กล้วยไม้ม้าบิน (Doritis pulcherrima var. chumpornnesis) และกล้วยไม้แดงอุบล (Doritis pulcherrima var. buyssoniana) ซึ่งมีดอกใหญ่กว่ากล้วยไม้ชนิดอื่น ๆ ในสกุลเดียวกัน พบตามธรรมชาติและมีโครโมโซมเป็น 4n พบเฉพาะบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทยเท่านั้น โดยจะพบปริมาณมากทางตอนใต้ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เช่น จังหวัดอุบลราชธานี จากการสำรวจและเก็บรวบรวมพันธุ์กล้วยไม้แดงอุบลในปี 2541-2542 พบว่า กล้วยไม้แดงอุบลมีการกระจายตัวอยู่ในพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานี ในเขตอำเภอตระการพืชผล กุดข้าวปุ้น โขงเจียม และนาจะหลวย

Doritis (2)

จากการเก็บรักษาพันธุกรรมของกล้วยไม้สกุลม้าวิ่งที่อยู่ในสภาพโรงเรือน พบว่า กล้วยไม้แดงอุบล เมื่อถึงฤดูออกดอก คือ เดือนมิถุนายน-สิงหาคม เกิดการแทงช่อดอกและออกดอกจำนวนมาก ซึ่งลักษณะช่อดอกในแต่ละต้นที่เกิดขึ้นมีความแตกต่างกัน เมื่อทำการจำแนกลักษณะของช่อดอกกล้วยไม้แดงอุบลตามลักษณะของความยาวช่อทั้งหมด ความยาวช่อช่วงที่มีดอก (บาน-ตูม) ความยาวช่อดอกช่วงที่มีดอกบานจำนวนดอกที่บาน จำนวนดอกต่อช่อ และระยะห่างระหว่างแต่ละดอก สามารถแบ่งออกได้เป็น 13 กลุ่ม โดยลักษณะของช่อดอกกล้วยไม้แดงอุบลกลุ่มที่ 1 มีลักษณะช่อดอกสั้นและมีการเรียงตัวของดอกแน่น ซึ่งมีความแตกต่างอย่างเห็นได้ชัดเจนกับกล้วยไม้แดงอุบลกลุ่มที่ 2 และ 8 ที่มีลักษณะช่อดอกที่ยาวมากและมีการเรียงตัวของดอกแบบหลวม ๆ

Doritis (3) Doritis (4)

รายละเอียดเพิ่มเติม : การเก็บรักษาพันธุกรรมและขยายพันธุ์กล้วยไม้สกุลม้าวิ่ง รายงานโครงการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ปี 2556