ศึกษาการใช้ประโยชน์จากแมลงในการดำรงชีวิตของคนในจังหวัดอุบลราชธานี

หัวหน้าโครงการ : สุกัญญา คลังสินศิริกุล

จากการสำรวจพบชนิดของแมลงกินได้ ที่คนในจังหวัดอุบลราชธานีบริโภค จำนวน 30 ชนิด แมลงที่นำมาบริโภค สามารถแบ่งได้ 2 ประเภทตามที่มา คือ แมลงที่ได้จากการเพาะเลี้ยง และแมลงที่ได้จากการล่าจากธรรมชาติ แมลงที่นำมารับประทาน สามารถนำมาประกอบอาหารได้หลายประเภท เช่น นึ่ง คั่ว ทอด หมก ลาบ ก้อย ยา แกง หรือทำน้ำพริก หรือชาวบ้านเรียกป่น ผู้บริโภคแมลงแบ่งเป็น 2 รูปแบบ คือ ซื้อแมลงสด และนำแมลงไปบริโภคโดยนำไปประกอบอาหาร ตามภูมิปัญญา และความชอบ เช่น นำไปแกง คั่ว ทำน้ำพริก หรือบริโภคโดยซื้อแมลงปรุงสำเร็จ ซึ่งการบริโภคดังกล่าว จะเห็นได้ว่า แมลงส่วนใหญ่ จะนำเข้าจากประเทศเพื่อนบ้าน หรือบางส่วนได้จากการเพาะเลี้ยง และมีเจ้าของกิจการรายใหญ่ ส่วนผู้ประกอบการค้ารายย่อยที่เห็นตามตลาดสด มักจะไปรับแมลงจากรายใหญ่ และนำมาทอด คั่วขาย

ตัวอย่างแมลงที่พบ

insect

ชื่อสามัญ แมลงนูน แมลงนูนหลวง

ชื่อท้องถิ่น อินูน กินูน กินูนหม่น

ชื่อสามัญภาษาอังกฤษ Scarab beetle

ชื่อวิทยาศาสตร์ Holotrichia sp.

อันดับ Coleoptera วงศ์ Scarabaeidae

รูปร่างลักษณะ

เป็นแมลงปีกแข็ง ส่วนใหญ่มีสีน้ำตาล บางชนิดมีสีเขียว เรียกว่า กินูนเขียว แมลงนูนมีขนาดค่อนข้างใหญ่ โดยวัดเส้นผ่านความยาวของลำตัวได้ประมาณ 2-4 เซนติเมตร โดยขนาดขึ้นอยู่กับชนิด กลางวันหลบซ่อนอยู่ในดินหรือใต้กองใบไม้ กลางคืนบินออกมากินใบอ่อนพืช

วิธีการจับ หรือล่า

การล่าแมลงกินูน ของชาวบ้านทำได้โดย ในเวลากลางคืน ชาวบ้านจะออกล่าแมลงนูนโดยใช้ไฟส่องต้นไม้ที่เป็นอาหารของตัวเต็มวัยแมลงนูน แล้วใช้มือจับโดยตรงหรือใช้กระบอกไม้ไผ่จ่อที่ตัวแมลง แมลงจะปล่อยตัวตกลง หรือใช้ผ้า กระสอบปุ๋ยรองใต้ต้นไม้ และเขย่า หรือใช้ไม้เคาะ สั่นกิ่งไม้ เพื่อให้แมลงนูนตกลงมาบนผ้าที่รองอยู่ จึงเก็บรวบรวมแมลงเพื่อนำมาขาย หรือประกอบอาหาร

พืชอาหารของแมลงนูน ใบต้นพอก ใบมะขาม

รูปแบบการนำไปบริโภค

นำไปคั่ว ทอด นึ่ง แกง หรือนำมาทำน้ำพริก (ชาวบ้านทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือเรียกว่า “การป่น” )

insect2

ชื่อสามัญ จิ้งหรีดหัวโต

ชื่อท้องถิ่น จิโปม จิหล่อ

ชื่อสามัญภาษาอังกฤษ Short tailed cricket

ชื่อวิทยาศาสตร์ Brachytrupes portentosus Licht

อันดับ Orthoptera วงศ์ Gryllidae

รูปร่างลักษณะ

จิ้งหรีดหัวโต มีลำตัวสีน้ำตาล มีส่วนหัว และอกกำยำ โดยวัดความยาวของลำตัวได้ประมาณ 4 เซนติเมตร อาศัยขุดรูอยู่ในดินตามคันนา หรือไร่ สวน พบมากในฤดูหนาว โดยจะพบลักษณะการทำเนินดินคลุมปากหลุม

วิธีการจับ หรือล่า

เนื่องจากจิ้งหรีดหัวโตอาศัยขุดรูอยู่ในดินตามคันนา ทุ่งหญ้า ในเวลากลางวัน ชาวบ้านจะทำการจับโดยใช้เสียม หรือจอบขุดดินลงไปจนพบตัว และจับโดยตรง กลางคืนบินออกมา เล่นแสงไฟ

รูปแบบการนำไปบริโภค

รับประทานได้ โดยนำมา คั่ว ทอด ชุบแป้งทอด เสียบไม้ย่าง หรือนึ่ง หรือนำมาตำเป็นน้ำพริก

รายละเอียดเพิ่มเติม : ศึกษาการใช้ประโยชน์จากแมลงในการดำรงชีวิตของคนในจังหวัดอุบลราชธานี รายงานโครงการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ปี 2553