ภูมิปัญญาการใช้ทรัพยากรประมงในแม่น้ำมูลของชาวบ้านบริเวณแม่น้ำมูลตอนล่าง

หัวหน้าโครงการ : ธนาทิพย์ แหลมคม

ภูมิปัญญาเกี่ยวกับการทำประมงในแม่น้ำมูล

จากประสบการณ์การหาปลามาเป็นเวลานาน ชาวบ้านได้เรียนรู้ถึงความสัมพันธ์ของชนิดปลา พื้นที่ และฤดูกาล ดังนี้

1.การทำประมงในช่วงฤดูแล้ง (เดือนมกราคม-เมษายน)

ช่วงนี้จะเป็นช่วงที่น้ำลด ฝนจะมีการทิ้งช่วงระยะหนึ่ง จึงทำให้ปริมาณน้ำในแม่น้ำมูลค่อนข้างนิ่ง และมีปริมาณน้อย เกาะและแก่งจึงสามารถโผล่พ้นน้ำได้ และน้ำจะมีความใส จะพบลักษณะทางกายภาพของพื้นแม่น้ำมูลที่มีความหลากหลายมากขึ้น ได้แก่ ขุม เวิน คัน ถ้ำ แปวน้ำ ร่องน้ำลึก ร่องน้ำตื้น ชาวบ้านจะเรียนรู้ถึงกระแสการไหลของน้ำในแต่ละพื้นที่ และมีการพายเรือไปตามร่องน้ำเพื่อเข้าไปยังเกาะแก่งต่าง ๆ

fishery5

ปลาที่พบในช่วงนี้ จะมีขนาดไม่ใหญ่มากนัก เป็นปลาที่ค้างอยู่ในแม่น้ำมูล ไม่อพยพกลับแม่น้ำโขงหรืออพยพกลับแม่น้ำโขงไม่ทัน อาจเรียกว่า “ปลาค้างวัง” ชาวบ้านมีการเตรียมข่ายที่มีขนาดช่องตา 2-8 ซม. ชนิดปลาที่ถูกพบในช่วงนี้ ได้แก่ ปลายอน ปลาเผาะ ปลาซวน ปลาขบ ปลาค้าว ปลานาง ปลาสร้อย ปลาปาก ปลากด ปลาแข้ ปลาอีก่ำ ปลาดุก ปลาหมอ ปลาเสือลายน้อย ปลาบู่ และปลาช่อน

2.การทำประมงในช่วงฤดูฝน (เดือนพฤษภาคม-สิงหาคม)

ปริมาณน้ำไหลมาจากต้นน้ำจำนวนมาก มีการพัดพาสิ่งต่าง ๆ ลงมาสู่แม่น้ำ ได้กา ตะกอนดิน สารอาหาร สารพิษจากการเกษตร ทำให้น้ำขุ่นมาก หรือ เรียกว่า “ฤดูน้ำแดง” กระแสน้ำจะค่อนข้างแรง น้ำจะท่วมเข้าไปยังป่าบุ่ง ป่าทาม และพื้นที่ราบลุ่มได้ ปลาจะมีการวางไข่และเกิดตัวอ่อนบริเวณป่าบุ่ง ป่าทาม และลำน้ำสาขาของแม่น้ำมูล ในช่วงที่แม่น้ำมูลมีปริมาณน้ำที่สูง ในช่วงนี้เป็นช่วงเดียวกันกับน้ำจากแม่น้ำโขงที่หนุนเข้ามาในแม่น้ำมูล ปลาจะมีการว่ายทวนน้ำเข้าสู่แม่น้ำมูลได้ ชาวบ้านเรียนรู้ว่าปลาขนาดเล็ก ได้แก่ ปลากด จะมีการอพยพเข้ามาในเดือนพฤษภาคม ในขณะที่ปลาขนาดใหญ่ ได้แก่ ปลาเคิง ปลาเค้า จะมีการอพยพเข้ามาในเดือนมิถุนายน-กรกฎาคม ชาวบ้านมีการเตรียมข่ายขนาดช่องตา 12-16 ซม. ชนิดปลาที่พบ ได้แก่ ปลากด ปลาค่าว ปลาซวย ปลาปึ่ง ปลาหนู ปลากระแหยง ปลานาง ปลาเคิง ปลายอน และปลาโจก

fishery2

3.การทำประมงในช่วงปลายฤดูฝน (เดือนกันยายน-ธันวาคม)

ชาวบ้านจะรอจนถึงเดือนพฤศจิกายน ซึ่งน้ำมีการลดระดับลง ปลาที่วางไข่เสร็จสิ้นแล้ว จะมีการอพยพกลับไปสู่แม่น้ำโขง หรือเรียกว่า “ปลาล่อง” รวมทั้งลูกปลาที่เกิดในช่วงวางไข่จะมีการว่ายน้ำเป็นฝูง ช่วงนี้จึงมีการพบปลาหลากหลายชนิด ได้แก่ ปลาอีตู๋ ปลาซวย ปลาโจก ปลากด ปลาเสือ ปลาปึ่ง ปลาหนู ปลาคูณ ปลาชะโด ปลาก่า ปลาหลาด ปลาเลิน ปลากะแยง ปลาบู่ ปลาอีไห และ ปลานาง

ในการลงพื้นที่ในช่วงเดือนพฤศจิกายน พบว่า ชาวบ้านจะมาจับปลาในแม่น้ำมูลบริเวณแม่น้ำมูลบริเวณพื้นที่บ้านวังสะแบงเหนือจำนวนมาก โดยชาวบ้านจะมีการรวมเงินทำการจ้างชาวประมงที่มีความสามารถในการดำน้ำเพื่อหาตำแหน่งของขอนไม้และก้อนหิน และลากขึ้นไปบริเวณฝั่ง หรือ เรียกว่า “ซาวลวง” จากนั้นชาวบ้านจะขับเรือไปบริเวณเหนือน้ำของพื้นที่หมู่บ้าน และปล่อยให้เรือไหลมาตามน้ำ พร้อมกับมอง หรือเรียกว่า “ไหลมอง” ปลาที่ว่ายน้ำมาบริเวณมองจะเข้ามาคิกได้จำนวนมาก ได้แก่ ปลากาดำ ปลาเคิง และปลากด เมื่อจับปลาได้ ชาวบ้านจะนำมาชั่งน้ำหนักและขายที่บริเวณริมฝั่ง ที่มีแม่ค้าคนกลางรอรับซื้อ และกำหนดราคาตามชนิดปลา

fishery3

fishery6

รายละเอียดเพิ่มเติม : ภูมิปัญญาการใช้ทรัพยากรประมงในแม่น้ำมูลของชาวบ้านบริเวณแม่น้ำมูลตอนล่าง รายงานโครงการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ปี 2553