แม่เล่าให้ฟัง

เมื่อจำความได้แม่ก็อยู่ที่ธนบุรีแล้ว ที่ซอยซึ่งปัจจุบันเป็นซอยวัดอนงค์ “บ้าน” นั้นเหมือนห้องแถวชั้นเดียวแต่มีหลายห้อง แทนที่จะเป็นห้องเดียว “บ้าน” จะเป็นส่วนหนึ่งของอาคารซึ่งก่อด้วยอิฐ หลังคาเป็นกระเบื้อง และประกอบด้วยหลายชุด (Unit) ด้านหนึ่งของบ้าน มี 4-5 ชุด ซึ่งมีคนอยู่ อีกด้านหนึ่งพังไปแล้วและร้าง “บ้าน” ที่อยู่นั้นเก่าพอใช้และอยู่ในสภาพไม่ดีเพราะไม่มีการซ่อมแซมเลย บ้านนั้นเป็นบ้านเช่าแต่เช่าเพียงกำแพง ผนัง และหลังคา ทุกสิ่งทุกอย่างที่เป็นไม้ เช่น พื้นนั้นผู้เช่านำมาเอง “บ้าน” อยู่ระหว่างบ้านพ่อชูและวัดอนงคาราม เดินสัก 5 นาทีก็ถึงวัด และ 10 นาทีก็ถึงบ้านเก่าของพ่อชู ข้างหน้าบ้านมีระเบียง พื้นเป็นไม้ปิดข้าง ๆ และมีหลังคามุงจาก ส่วนนอกก่อนถึงถนนเป็นอิฐแล้วจึงเป็นถนน เมื่อเข้าไปในบ้านแล้วจะมีห้องโล่ง ๆ ด้านขวามียกพื้นซึ่งเป็นทั้งห้องพระและห้องประกอบอาชีพของพ่อแม่ ทุกเช้าผู้ใหญ่จะถวายข้าวพระพุทธรูป และหลังเที่ยงแม่จะเป็นผู้สวด “เสสังมังคะลังยาจามิ” เพื่อลาของถวายและนำอาหารที่บรรจุอยู่ในถ้วยชามเล็ก ๆ มากิน ถัดไปมีห้องซึ่งเป็นห้องนอนและข้างหลังจะมีห้องครัวยาวตลอดซึ่งกั้นด้วยกำแพง หลังกำแพงนี้มีที่โล่ง ๆ ซึ่งจะไปถึงได้ถ้าอ้อมไป เพราะทางครัวไม่มีประตูออก ในบ้านไม่มีห้องน้ำ การอาบน้ำนั้นอาบกันที่หน้าบ้าน ตุ่มน้ำตั้งอยู่ที่ระเบียง หรือไปอาบที่คลองสมเด็จเจ้าพระยา ถึงแม่จะว่ายน้ำไม่เป็นก็ชอบเล่นน้ำที่คลอง ครั้งหนึ่งแม่คำไม่อยากให้ไปแต่แม่อ้อนวอนจนยอม แต่สั่งว่าจะบ้วนน้ำหมากลงพื้น ถ้ากลับมาเมื่อน้ำหมากแห้งแล้วจะถูกตี แม่ก็สามารถไปเล่นน้ำอย่างเร็วพอที่จะไม่ถูกตี ผู้ใหญ่บอกว่าในน้ำมีสัตว์ร้าย ก่อนลงน้ำแม่จะต้องสวด “นโมนมัส กำจัดออกไป อย่าเข้ามาใกล้ เสมามณฑล ออกไปให้พ้น วินาศสันติ” สำหรับส้วมนั้นก็ไม่มีในบ้าน ต้องไปที่ตึกร้างซึ่งอยู่ถัด “บ้าน” ไป หรือที่ห้องน้ำสาธารณะซึ่งเป็นกระต๊อบไม้บนคลอง และนับว่าเป็นห้องน้ำที่สะอาดและไม่มีกลิ่น พ่อชูมีอาชีพเป็นช่างทอง ทั้งแม่คำและป้าซ้วยจะเป็นผู้ช่วยพ่อชู ในห้องที่มียกพื้นและตั้งพระพุทธรูปมีเตากลม ๆ อยู่หนึ่งเตา เป็นเตาถ่านมีสูบติดอยู่สำหรับเป่าให้ถ่านร้อน ตรงกลางมีเบ้าหนึ่งเบ้า (ถ้วยดินเผาขนาดถ้วยแก้ว) สำหรับใส่ทอง แม่จำเตาได้ แต่จำไม่ได้ว่าเคยเห็นพ่อแม่ใช้ ถึงอย่างไรก็ดีแม่มีแหวนทองคำฝังเพชรเล็ก ๆ หนึ่งวง เป็นผลงานของพ่อแม่ซึ่งรักษาไว้ได้มาจนให้ข้าพเจ้า เมื่อพ่อชูถึงแก่กรรม คงไม่มีการใช้เตานี้อีก แม่ไม่ทราบว่าทั้งครองครัวทำมาหากินอย่างไร เมื่อแม่คำถึงแก่กรรมแล้ว ป้าซ้วยรับจ้างมวนบุหรี่ นำยามาวางบนแผ่นกระดาษบาง ๆ ก่อน แล้วม้วนให้แน่น เอากระดาษออกและมวนด้วยใบตองอ่อนหรือกลีบบัว บางครั้งแม่ได้ช่วยตัดปลายบุหรี่ให้เรียบและเท่ากัน นอกนั้นป้าซ้วยทำขนมขายบ้าง อ่านต่อ…

กัลยาณิวัฒนา, สมเด็จพระพี่นางเธอ. (2525). แม่เล่าให้ฟัง.กรุงเทพฯ : กระทรวงศึกษาธิการ.