แนวคิดทางการศึกษาของขบวนการศาสนาพุทธขบวนการหนึ่ง (ชาวอโศก)

กิจกรรมการศึกษาในสถาบันการศึกษาต่าง ๆ ทุกวันนี้ได้ก่อให้เกิดความแปลกแยก และสร้างความเป็นปฏิปักษ์ต่อสรรพสิ่งรอบตัวให้เกิดขึ้นกับชีวิตของมนุษย์ ศาสตร์ ความรู้แขนงต่าง ๆ เมื่อขาดพื้นฐานของคุณธรรมรองรับ ก็มีฐานะไม่ต่างอะไรกับ “ศาสตร์” หรือ อาวุธ ที่ผู้เข้ารับการศึกษานำไปใช้ในการแย่งชิงลาภ ยศ สรรเสริญ และโลกียสุข อันนำไปสู่การเบียดเบียนตนเองและเบียดเบียนผู้อื่น จนก่อให้เกิดปัญหาต่าง ๆ ตามมามากมาย ถ้าขาดรากฐานของคุณธรรมรองรับแล้ว การปล่อยให้ผู้คนในสังคมมีโอกาสแข่งขันกันร่ำเรียนสูง ๆ ก็เท่ากับเป็นการติดอาวุธให้กับโจรบัณฑิตออกมาปล้นชิง เอารัดเอาเปรียบสังคม ด้วยวิธีการที่ยิ่งเพิ่มความฉ้อฉล ซับซ้อน แยบยล จนคนทั่วไปรู้ตามได้ยากเท่านั้น หลักไตรสิกขาที่เป็นปรัชญาการศึกษาในทางพุทธศาสนา จึงควรจะถือเป็นรากฐานของศาสตร์ ความรู้แขนงต่าง ๆ ที่จะช่วยกำกับให้ “ศาสตร์” ทั้งหลายเหล่านั้นไม่กลายสภาพเป็น “ศาสตรา” ที่สร้างความเป็นปฏิปักษ์และสร้างความแปลกแยกให้เกิดขึ้นกับชีวิตมนุษย์ ภายใต้เต้าโครงความคิดทางการศึกษาที่กล่าวมาทั้งหมด รูปแบบของการศึกษาเช่นนี้จะเกิดขึ้นได้ต่อเมื่ออาศัยศีลธรรม เป็นแกนกลางของการจัดองค์กรทางการศึกษา โดยเฉพาะสถาบันสงฆ์ต้องเป็นตัวแบบหลัก ซึ่งทั้งนี้พระภิกษุสงฆ์จะต้องหันกลับมาเรียนรู้และปฏิบัติให้เข้าถึง “สิกขาบท” ต่าง ๆ โดยเฉพาะ ไตรสิกขา ไม่ใช่ดิ้นรนที่จะสร้างรูปแบบการศึกษาในระบบใหม่ขึ้นแข่งขันกับสถาบันการศึกษาทางโลก อันเป็นการเอาจุดอ่อนของตนไปแข่งกับจุดแข็งของโลก ซึ่งยากที่จะอาศัยทิศทางการศึกษาเช่นนี้ยกระดับศักดิ์ศรีฐานะของสถาบันสงฆ์ให้คืนกลับมาได้ ต่อเมื่อสถาบันสงฆ์หันกลับมาหารากฐานปรัชญาการศึกษาของพุทธศาสนาตามหลักไตรสิกขาอันเป็นการใช้จุดแข็งของตน ไปแข่งกับจุดอ่อนของการศึกษาในทางโลกเท่านั้น นั่นจึงเป็นหนทางในการดึงเอาเกียรติภูมิและศักดิ์ศรีของสถาบันสงฆ์ให้คืนกลับมาสู่ความรุ่งเรืองไพบูลย์เหมือนในอดีต แล้วเมื่อนั้นสถาบันพุทธศาสนาก็จะดำรงบทบาทในการเป็นผู้ชี้นำสังคม เป็นผู้นำทางสติปัญญาของสังคมเป็นที่พึ่งของสังคม และนำมนุษยชาติไปสู่จุดหมายแห่งความสงบ สันติ ร่มเย็น เพื่อประโยชน์ (พหุชนหิตายะ) เพื่อความสุข (พหุชนสุขายะ) แก้มหาชนส่วนใหญ่อย่างแท้จริง สมดังพุทธประสงค์ที่ตรัสไว้เมื่อคราวส่งสาวก 60 รูปแรกออกประกาศพรหมจรรย์ เพื่อสถาปนาพุทธศาสนาไว้เป็นสมบัติของโลกภิภพแห่งนี้ อ่านต่อ…

–. (2531). แนวคิดทางการศึกษาของขบวนการศาสนาพุทธขบวนการหนึ่ง (ชาวอโศก). กรุงเทพฯ : มูลนิธิธรรมสันติ.