พระอริยวงศาจารย์ญาณวิมลอุบลสังฆปาโมกข์ (สุ้ย) วัดทุ่งศรีเมือง

พระอริยวงศาจารย์ญาณวิมลอุบลสังฆปาโมกข์ (สุ้ย) วัดทุ่งศรีเมือง

พระอริยวงศาจารย์ญาณวิมลอุบลสังฆปาโมกข์ (สุ้ย) เป็นพระเถระองค์แรกที่มีความรู้ความสามารถ ความเชี่ยวชาญทั้งในด้านการศึกษาที่เป็นการศึกษาสงฆ์แบบดั้งเดิม และการศึกษาสงฆ์ที่ปรับปรุงขึ้นใหม่ จนสำเร็จการศึกษาเป็นเปรียญธรรม 3 ประโยค ด้านการปกครอง ได้ศึกษาแบบอย่างการบริหารการคณะสงฆ์ในส่วนกลาง (กรุงเทพฯ) จนมีความรู้ความเข้าใจ เป็นที่ไว้วางพระราชหฤทัยในพระมหากษัตริย์ จึงได้รับพระราชทานสมณศักดิ์ที่พระอริยวงศาจารย์ญาณวิมลอุบลสังฆปาโมกข์ นับเป็นพระราชาคณะ (เจ้าคุณ) องค์แรกของเมืองอุบลราชธานีในขณะนั้น และรับตำแหน่งเจ้าคณะเมืององค์แรก เช่นเดียวกันด้านการเผยแผ่ แม้จะเป็นฝ่ายคันถธุระก็ได้มิได้ละทั้งฝ่ายวิปัสสนาธุระ คงส่งเสริมพระสงฆ์ผู้มุ่งมั่นในด้านนี้ดำเนินไปโดยไม่ขัดข้องและด้านสาธารณูปการได้สร้างผลงานไว้มากมายทั้งภายในวัดมณีวนาราม (ป่าน้อย) และวัดทุ่งศรีเมือง ที่สำคัญที่สุด คือ การส่งเสริมจุดประกายพัฒนาการศึกษาในเมืองอุบลราชธานีให้กระจายไปอย่างกว้างขวาง ทั้งในตัวเมืองและนอกเมือง โดยส่งเสริมควบคู่กันไปทั้งการศึกษาแบบดั้งเดิม (มูลกัจจายน์) และแบบใหม่ (บาลีไวยากรณ์) อันเป็นมูลเหตุสำคัญที่ทำให้เมืองอุบลราชธานี เป็นศูนย์กลางการศึกษาทุก ๆ ด้าน จนมีผู้สนใจมาศึกษาเล่าเรียนจากทั่วสารทิศ ต่อมาจึงกลายเป็นศูนย์รวมของ “ผู้รู้” “ผู้มีปัญญา” และ “เมธี” มากมาย จนได้ชื่อว่า “เมืองแห่งนักปราชญ์” ในโอกาสต่อมา ดังนั้น พระอริยวงศาจารย์ฯ จึงสมควรได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติให้เป็น “ปราชญ์” ผู้บุกเบิกของอุบลราชธานีอย่างแท้จริง

พระสุทธิธรรมรังสีคัมภีรเมธาจารย์ (ชาลี ธมฺมธโร)

พระสุทธิธรรมรังสีคัมภีรเมธาจารย์ (ชาลี ธมฺมธโร)

พระสุทธิธรรมรังสีคัมภีรเมธาจารย์ (ชาลี ธมฺมธโร) เกิดที่บ้านหนองสองห้อง ตำบลยางโยภาพ อำเภอม่วงสามสิบ จังหวัดอุบลราชธานี เป็นพระเถระฝ่ายวิปัสสนาธุระสายพระอาจารย์มั่นอีกรูปหนึ่ง ที่กำเนิดมาเพื่อพระพุทธศาสนาโดยแท้ เป็นผู้มีบุพเพกตปุญญตา ปฏิบัติได้รวดเร็ว เป็นวิปจิตัญญูบุคคลทำคุณประโยชน์แก่พระศาสนา โดยการอบรมสั่งสอนพุทธศาสนิกชน ให้ตั้งอยู่ในสัมมนาปฏิบัติเป็นแก่นสารอเนกประการ เป็นที่ปรากฏแพร่หลายมาตราบเท่าทุกวันนี้ เป็นผู้ทรงไว้ซึ่งภูมิธรรมและภูมิปัญญา ที่ทำคุณประโยชน์ต่อพระพุทธศาสนาและสังคมอย่างแท้จริงองค์หนึ่ง เป็นสัทธิวิหาริกใกล้ชิด พระบูรพาจารย์หลายท่านซึ่งล้วนแต่เป็นชาวอุบลราชธานี แม้ว่าท่านจะไปสร้างชื่อเสียง เป็นที่เลื่อมใสศรัทธาของบรรดาศิษยานุศิษย์อย่างมากในถิ่นอื่นเป็นส่วนใหญ่ แต่คนอุบลราชธานีก็ให้ความเคารพเลื่อมใสมาก จึงเชิดชูท่านเป็น “ปราชญ์” อย่างแท้จริง

พระศาสนดิลก (เสน ชิตเสโน) วัดศรีอุบลรัตนาราม

พระศาสนดิลก (เสน ชิตเสโน) วัดศรีอุบลรัตนาราม

พระศาสนดิลก (เสน ชิตเสโน) เป็นพระเถระด้านคันถธุระที่ส่าคัญองค์หนึ่งของเมืองอุบลราชธานีในยุคแรก ๆ ที่ได้นำรูปแบบการปกครอง การศึกษาสงฆ์ และขนบธรรมเนียมปฏิบัติในเมืองหลวงออกสู่หัวเมืองในภูมิภาค ทำให้กุลบุตรผู้ใฝ่เรียนทั้งหลายในรุ่นหลังได้มีโอกาสศึกษาเล่าเรียนทั้งคดีธรรม และคดีโลก จนมีความรู้แตกฉานในพระธรรมวินัยและบาลีมากขึ้นเป็นลำดับ นับได้ว่าท่านได้ท่าคุณประโยชน์ต่อพระพุทธศาสนา ประชาชน และชาติบ้านเมืองให้เจริญรุ่งเรืองเป็นอย่างมาก สมควรได้รับยกย่อง เชิดชูให้เป็น “ปราชญ์” เมืองอุบลราชธานีอย่างแท้จริง

พระราชรัตโนบล (พิมพ์ นารโท) วัดทุ่งศรีเมือง

พระราชรัตโนบล (พิมพ์ นารโท) วัดทุ่งศรีเมือง

พระราชรัตโนบล (พิมพ์ นารโท) ท่านเป็นพระเถระฝ่ายคันถธุระที่ทรงไว้ซึ่งภูมิธรรม ภูมิปัญญารอบด้านมีผลงานเป็นที่ประจักษ์แก่สาธารณชนจำนวนมากมาย ทั้งทางคดีโลกและคดีธรรม ท่านมีความสามารถพิเศษในการเผยแผ่พระพุทธศาสนา ขนบธรรมเนียมประเพณีและวัฒนธรรมไทยได้รับการยกย่องว่าเป็นพระธรรมกถึกที่มีความสามารถเป็นเลิศในการแสดงพระธรรมเทศนา บรรยายธรรมปาฐกถาธรรม ฝึกอบรม มีความลุ่มลึกในเทศนาโวหาร มีความมุ่งมั่น อดทนอย่างสูงในการเผยแผ่อบรมสั่งสอนประชาชนในพื้นที่ทุกแห่งในจังหวัดอุบลราชธานี และจังหวัดอื่น ๆ ท่านได้สร้างคุณประโยชน์แก่พระพุทธศาสนา และพุทธศาสนิกชนทั้งในจังหวัดอุบลราชธานีและจังหวัดอื่น ๆ ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือสมควรได้รับการยกย่องเป็นยอดแห่ง “ผู้รู้” หรือ “ปราชญ์” อย่างแท้จริง

พระราชภาวนาวิกรม (เลี่ยม ฐิตธมฺโม) วัดหนองป่าพง

พระราชภาวนาวิกรม (เลี่ยม ฐิตธมฺโม) วัดหนองป่าพง

พระราชภาวนาวิกรม (เลี่ยม ฐิตธมฺโม) เป็นพระภิกษุผู้ก้าวเข้าสู่ร่มกาสาวพัสตร์ด้วยความมุ่งมั่นตั้งใจ เพื่อหวังถอดถอนละกิเลสตัณหา มีปฏิปทา เป็นผู้มีความอดทนอดกลั้น มักน้อย สันโดษ ถ่อมตัว ไม่ยินดี ยินร้ายในลาภยศ สรรเสริญ เมื่อมามอบตัวเป็นศิษย์ของพระโพธิญาณเถร (ชา สุภทฺโท) ก็ใช้ความวิริยะอุตสาหะ พากเพียรแผดเผากิเลส เคร่งครัดในพระธรรมวินัย มีวัตรปฏิบัติที่งดงาม ตามแบบอย่าง ครูอาจารย์จึงเป็นที่เคารพศรัทธาของพุทธศาสนิกชนทั่วไป นอกจากนี้ยังได้ทำหน้าที่เผยแผ่พระพุทธศาสนาทั้งภายในและต่างประเทศ ยังความสุข สงบเย็นแก่ผู้สนใจใฝ่ธรรม จนได้รับความไว้วางใจจากพระโพธิญาณเถร (ชา สุภทฺโท) และคณะสงฆ์ให้เป็นผู้ปกครองและดูแลพระภิกษุสามเณรของวัดหนองป่าพง และเป็นที่ปรึกษาของสาขาวัดหนองป่าพงทั้งในและต่างประเทศ ถึงแม้จะไม่ได้กำเนิดที่เมืองอุบลราชธานี แต่ก็อยู่มานานสร้างคุณูปการแก่จังหวัดอุบลราชธานีอย่างอเนกอนันต์ ด้วยคุณลักษณะดังกล่าว
จึงยกย่องเชิดชูเกียรติพระราชภาวนาวิกรม (เลี่ยม ฐิตธมฺโม) เป็น “ปราชญ์ เมืองอุบลราชธานี”

พระราชธรรมโกศล (สวัสดิ์ ทสฺสนีโย) วัดใต้พระเจ้าใหญ่องค์ตื้อ

พระราชธรรมโกศล (สวัสดิ์ ทสฺสนีโย) วัดใต้พระเจ้าใหญ่องค์ตื้อ

พระราชธรรมโกศล (สวัสดิ์ ทสฺสนีโย) เป็นพระเถระฝ่ายคันถธุระที่เอาภารธุระในพระพุทธศาสนามากมาย ด้านการศึกษาให้ความสำคัญทั้งการศึกษาทางปริยัติธรรม (ธรรมบาลี) และการศึกษาทางโลก โดยให้การสนับสนุนการศึกษาเยาวชนตั้งแต่ระดับอนุบาลจนถึงระดับสูง ด้านการปกครองในฐานะเจ้าคณะจังหวัดอุบลราชธานี (ธรรมยุติ) ให้ความสำคัญในการควบคุม ดูแล และพัฒนาคณะสงฆ์ในเขตการปกครองได้เป็นอย่างดี ด้านสาธารณูปการถือได้ว่าท่านมีความโดดเด่นในการก่อสร้างบูรณะ ปฏิสังขรณ์เสนาสนะภายในวัด และวัดในเขตปกครองได้อย่างดียิ่ง มีสถาปัตยกรรม ศิลปกรรมใหม่ ๆ และแปลก ๆ อยู่เสมอ บ่งบอกถึงความเป็นผู้รู้และเชี่ยวชาญด้านนี้มาก และด้านการเผยแผ่ ท่านก็มีความสามารถเป็นพิเศษ จะเห็นได้จาก คณะศิษยานุศิษย์จ่านวนมากให้ความศรัทธา เลื่อมใสในตัวท่าน และเข้ามาทำบุญและปฏิบัติธรรมที่วัดใต้ พระเจ้าใหญ่องค์ตื้อมิได้ขาดโดยเฉพาะอย่างยิ่งในเทศกาลสำคัญ จึงถือได้ว่าเป็นพระเถระที่มีความรู้ ความสามารถ สืบสานมรดกความเป็น “ปราชญ์” ให้คงอยู่กับเมืองอุบลราชธานีตลอดไป